เมื่อวาน เวลา 08:34 • ข่าว

แม่สอดพบผู้ป่วยอหิวาฯ 2 ราย เร่งเพิ่มการคุมเข้มชายแดน

แพทย์หญิงณัฐกานต์ ชื่นชม อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลแม่สอด เปิดเผยว่า
ขณะนี้มีผู้ป่วยโรคอหิวาตกโรคเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแม่สอดจำนวน 2 ราย โดยทีมแพทย์โรงพยาบาลแม่สอด และหน่วยงานสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องได้เตรียมตั้งรับและออกสอบสวนควบคุมโรคอย่างเต็มความสามารถ ขอความร่วมมือประชาชนในการสอบสวนโรค และช่วยกันป้องกันการแพร่กระจายโรคอหิวาตกโรคอย่างเคร่งครัด ไม่นานคาดว่าจะสามารถควบคุมโรคได้
นอกจากนี้ นายปริญญา สายโรจน์ นายอำเภอแม่ระมาด จ.ตาก มอบหมายให้ นายประเสริฐ วชิรญาณุวัฒน์ ปลัดอำเภอแม่ระมาด ฝ่ายความมั่นคง นำกำลังสมาชิกกองร้อย อส.อ.แม่ระมาดที่ 6 ร่วมกับทหารกองร้อยทหารพราน 3506 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35 อ.แม่สอด ออกลาดตระเวนเฝ้าระวังป้องกันการลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดนบริเวณท่าข้ามทางธรรมชาติ ที่บ้านวังผา หมู่ 4 ต.แม่จะเรา อ.แม่ระมาด
นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 2 กล่าวถึงข่าวมีผู้ป่วยและเสียชีวิตจากอหิวาตกโรค ในเมืองฉ่วยโก๊โก่ จังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา ว่า ในปัจจุบันพบผู้ป่วยที่มีอาการอุจจาระร่วงอย่างรุนแรงรวมแล้ว 300 ราย ในฝั่งฉ่วยโก๊โก่ จังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา ในจำนวนนี้กำลังรักษาตัวในหอผู้ป่วยใน 56 ราย และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย
โรงพยาบาลฉ่วยโก๊โก่ได้ขอคำปรึกษาจากโรงพยาบาลแม่ระมาด ซึ่งได้สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์บางส่วนเพื่อรักษาป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่แล้ว นอกจากนี้ ทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคอำเภอแม่ระมาด ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก ได้ลงพื้นที่สอบสวนโรคและเตรียมความพร้อมป้องกันการระบาดของอหิวาตกโรค
อหิวาตกโรคเกิดจากเชื้อ Vibrio cholerae ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ติดสีแกรมลบ รูปร่างเป็นแท่งงอ มี flagellum 1 เส้นที่ปลายทำให้สามารถเคลื่อนที่ได้รวดเร็ว และไม่สร้างสปอร์ antigen ในการจำแนกเชื้อออกเป็น serogroup ต่างๆ ได้มากกว่า 200 serogroups โดย serogroup ที่เคยก่อโรคในไทยคือ serotype Ogawa ร้อยละ 64 และ serotype Inaba ร้อยละ 36
การระบาดในไทยในนยุคหลัง จากข้อมูลทางระบาดวิทยาย้อนหลัง พบว่าประเทศไทยมักมีการระบาดของอหิวาตกโรคเกิดขึ้นปีเว้น 2 ปี โดยเริ่มจากปี พ.ศ. 2538 ที่มีการระบาดครั้งใหญ่ หลังจากนั้นก็เกิดการระบาดขึ้นทุก 3 ปี โดยเฉลี่ยอัตราการระบาดอยู่ที่ 3-7 ต่อแสนประชากร ปีที่พบว่ามีการระบาดต่อมาคือ 2541
2544, 2547, 2550,2553 และยังไม่พบการระบาดในวงกว้างเพิ่มอีก
อาการสำคัญของอหิวาคือ อุจจาระร่วงเฉียบพลันอย่างรุนแรง อุจจาระจะมีสีขาวเหมือนน้ำซาวข้าว (rice-water appearance) ปริมาณมาก ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ หากมีอาการรุนแรงอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องรุนแรง ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง ความดันโลหิตต่ำ โพแทสเซียมในเลือดต่ำ เลือดเป็นกรด และน้ำตาลในเลือดต่ำ และทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว
การป้องกันโรคอหิวาตกโรคทำได้โดย การดื่มน้ำที่สะอาด และรับประทานอาหารที่ปรุงสุก การล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังรับประทานอาหาร และภายหลังการเข้าห้องน้ำ รวมถึงการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล แม้จะมีวัคซีนป้องกัน แต่ก็ยังไม่ได้รับการแนะนำในวงกว้าง ผู้ที่อยู่บริเวณชายแดนโดยเฉพาะชายแดนประเทศเมียนมาร์ ควรปฏิบัติตนตามมาตรการโดยเคร่งครัดและติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด
อ้างอิง
โฆษณา