เมื่อวาน เวลา 12:51 • ธุรกิจ

แนะไอเดีย 8 โมเดลธุรกิจน่าสนใจ โอกาส SME นำไปต่อยอดจากเทรนด์นวัตกรรม รถยนต์ไฟฟ้า (EV)

ในช่วงปีที่ผ่านมา การเข้ามาของนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV เปรียบเสมือนการปฏิวัติวงการขนส่ง ทั้งในเรื่องของรถยนต์นั่ง รถโดยสาร รถขนส่งมวลชน รถขนส่งสินค้า มอเตอร์ไซค์เพื่องานบริการต่าง ๆ รวมไปถึงการใช้งานเป็นรถส่วนตัวในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะสร้างโอกาสและโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ อีกมากมาย
ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจ SME ต่อตลาด EV จึงขอนำเสนอ 8 Business Model น่าสนใจที่เกิดขึ้นจากนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจต่อไป
นวัตกรรม EV เติบโตก้าวกระโดด
ปัจจุบันข้อมูลการลงทุนล่าสุดเมื่อปลายปี 2023 จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรม EV จำนวน 103 โครงการ เงินลงทุนรวม 77,192 ล้านบาท
• รถยนต์ EV 18 โครงการ 40,004 ล้านบาท
• รถจักรยานยนต์ EV 9 โครงการ 848 ล้านบาท
• รถบัส EV และรถบรรทุก EV 3 โครงการ 2,200 ล้านบาท
• แบตเตอรี่สำหรับรถ EV และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) 39 โครงการ 23,904 ล้านบาท
• ชิ้นส่วนสำคัญ 20 โครงการ 6,031 ล้านบาท
• สถานีอัดประจุไฟฟ้า 14 โครงการ 4,205 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากนโยบายภาษีในการสนับสนุนรถยนต์ขนาดใหญ่ อย่าง รถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) ผู้ประกอบการสามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยมาตรการนี้จะมีผลตั้งแต่พระราชกฤษฎีกาที่กระทรวงการคลังจะออกมาประกาศใช้ไป จนถึงสิ้นปี 2025
คาดว่า จะมีรถยนต์ EV ทั้ง 2 ประเภท ในโครงการนี้ โดยแบ่งเป็นรถบัสประมาณ 6,000 คัน และรถบรรทุกประมาณ 4,000 คัน และยังมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนในโรงงานแบตเตอรี่ที่ BOI และคณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พิจารณาตามเงื่อนไขอยู่อีกด้วย จากปัจจัยเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าเป้าหมาย 30@30 นั้นเป็นโอกาสที่เป็นไปได้ โดยจะต้องได้รับการสนับสนุนร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ขานรับแนวทาง 30@30 ของภาครัฐ
หลายคนอาจสงสัยว่า 30@30 คืออะไร เป็นนโยบายของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่ตั้งเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศไทย ภายในปี 2030 เพื่อผลักดันประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยมีนโยบายส่งเสริม ดังนี้
1. ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ
2. ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งมาตรการทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี
3. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับยานยนต์ไฟฟ้า เช่น สถานีอัดประจุและสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ พัฒนากฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ให้เหมาะกับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้ จากการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับ SME โดยจะสร้างโอกาสเข้าร่วมในห่วงโซ่อุปทานของ EV แต่อาจต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงธุรกิจเดิมเพื่อรองรับเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ สิ่งที่ SME ควรทำ ได้แก่
1. ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับแนวทาง 30@30 เพื่อหาช่องทางโอกาสและพิจารณาจุดแข็งของธุรกิจ เพื่อปรับธุรกิจให้เตรียมตอบสนอง และมีความพร้อมอยู่เสมอ
2. ประเมินศักยภาพของธุรกิจ เมื่อพบช่องทางแล้วจึงประเมินศักยภาพ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางได้
3. พัฒนากลยุทธ์ พัฒนากลยุทธ์เพื่อเข้าร่วมในห่วงโซ่อุปทานของ EV กำหนดเป้าหมาย แนวทาง และวิธีการดำเนินการ
4. เตรียมตัวตอบรับการสนับสนุน หาข้อมูลและขอการสนับสนุนหรือพัฒนาร่วมกันกับพันธมิตรทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน หาแหล่งเงินทุนและสถาบันทางการเงินที่จะช่วยหนุนให้การพัฒนาธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น
แต้มต่อ SME ไทย จากมาตรการส่งเสริมการลงทุน
BOI พร้อมส่งเสริมการลงทุนของ SME ไทยให้เติบโตไม่ว่าจะเป็นการกำหนดการลงทุนขั้นต่ำ 5 แสนบาท อีกทั้งยังให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลถึง 2 เท่า เพื่อสร้างแต้มต่อและผลักดันศักยภาพของผู้ประกอบการ SME ไทยให้แข่งขันได้ไม่ใช่เพียงแต่ธุรกิจสำหรับ EV เท่านั้น ยังรวมไปถึงธุรกิจอื่น ๆ อีก 400 กว่าประเภทกิจการอีกด้วย
8 ธุรกิจที่น่าสนใจ ที่ SME ควรรีบคว้าโอกาสจากนวัตกรรม EV
สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในสถานการณ์ที่โอกาสทางธุรกิจกำลังเปิดกว้าง SME สามารถใช้ประโยชน์จากเทรนด์นี้ในการพัฒนาแนวคิดและโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ที่ไม่เพียงสร้างรายได้แต่ยังเสริมสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ในระยะยาว รวมถึงมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของระบบนิเวศ EV ของประเทศไทยให้แข็งแกร่งในอนาคต โดย 8 ธุรกิจจากนวัตกรรม EV ที่น่าสนใจและมีแนวโน้มเติบโตอีกมาก มีดังนี้
1. สถานีชาร์จไฟฟ้า หัวใจสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า ที่ถือเป็น EV Ecosystem ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ผู้ประกอบการสามารถลงทุนตั้งสถานีชาร์จได้ทั้งแบบ Fast Charge หรือ Normal Charge ในจุดยุทธศาสตร์ เช่น ห้างสรรพสินค้า ปั๊มน้ำมัน ร้านอาหาร หรือถนนสายหลัก รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม เป็นต้น
2. อู่ซ่อมบำรุงรถ EV เนื่องจากรถ EV มีระบบไฟฟ้าที่ซับซ้อนกว่ารถยนต์ทั่วไป การเปิดอู่บริการซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้า จึงเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการที่ได้รับการอบรมจากผู้ผลิตรถ EV และมีเครื่องมือที่ทันสมัย จะสามารถให้บริการทางด้านนี้ได้ หรืออาจเป็นโมเดลธุรกิจที่เติบโตได้มาก หากร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตรถ EV และสร้างศูนย์อบรมด้านการซ่อมบำรุงมาตรฐาน กระจายผู้เชี่ยวชาญไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้
3. ธุรกิจดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า (EV Conversion) เป็นการนำรถยนต์เก่าที่ใช้น้ำมัน มาเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนใหม่ เพื่อเปลี่ยนจากการเติมน้ำมันมาเป็นระบบไฟฟ้า 100% โดยเปลี่ยนทั้งเทคโนโลยีที่ใช้จำนวนชิ้นส่วนจากชิ้นส่วนรถน้ำมัน 30,000 ชิ้น เมื่อเป็น EV จะลดลงเหลือเพียง 3,000 ชิ้นให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของ SME ไทย ในการต่อยอดสร้างธุรกิจได้อย่างน่าสนใจ
อีกทั้งเปนทางเลือกให้บรรดานักสะสมรถยนต์สะสมและบรรดารถยนต์คลาสสิกได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เพราะว่าบริษัทเกิดใหม่มีไอเดียในการแปลงรถยนต์คลาสสิกเหล่านี้ให้หันมาขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าได้จนกลายเป็นธุรกิจใหม่ขึ้นมา
4. บริการด้านแบตเตอรี่ หัวใจหลักของรถ EV ธุรกิจนี้ครอบคลุมทั้งการขาย แลกเปลี่ยน และเช่าแบตเตอรี่ การผลิตแบตเตอรี่ OEM ผู้ประกอบการควรศึกษาเทคโนโลยีแบตเตอรี่อย่างละเอียด และสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เพื่อสามารถให้บริการได้อย่างครอบคลุม ยกตัวอย่าง การตั้งสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่แบบเร็ว ๆ (Swapping Battery) คล้ายการเติมน้ำมัน โดยผู้รับบริการอาจมีค่ามัดจำแบตเตอรี่ลูกแรกเอาไว้ ซึ่งจะทำได้ต่อเมื่อรถที่รับบริการมีแบตเตอรี่ในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ง่ายและเร็วกว่าสำหรับรถมอเตอร์ไซค์
5. ตลาดอุปกรณ์เสริม EV : ตัวช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างความแตกต่าง เป็นโอกาสทองสำหรับ SME ด้วยความนิยมของ EV ที่เพิ่มขึ้น ความต้องการอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ก็เพิ่มตาม เช่น สายชาร์จที่ทนทาน รองรับการใช้งานหนักทุกสภาพอากาศ หรือแท่นชาร์จที่ติดตั้งง่ายและปลอดภัยในบ้าน รวมถึงอุปกรณ์ที่เพิ่มความสะดวกสบายในการขับขี่ การพัฒนาและจำหน่ายอุปกรณ์เสริมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว โดยเน้นคุณภาพ ความทนทาน และการออกแบบที่ใช้งานได้จริง จะช่วย SME เจาะตลาดที่กำลังเติบโตนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. แพลตฟอร์ม รวบรวมข้อมูลสถานีชาร์จ บริการเช่ารถ EV และบริการอื่น ๆ บนแพลตฟอร์มเดียว (Aggregator) จะช่วยให้ผู้บริโภคค้นหาและใช้งานรถ EV ได้สะดวก โดยคาดว่า แพลตฟอร์มดังกล่าวนี้ จะได้รับควานิยมอย่างมากจากผู้บริโภคในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะรถยนต์ไฟฟ้ากำลังเติบโตแบบก้าวกระโดดนั่นเอง
7. ธุรกิจให้บริการแอปพลิเคชันเรียกรถโดยสารและรถขนส่ง (Ride-hailing) ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว เหมาะกับการใช้งานในเขตเมือง ธุรกิจนี้สามารถขยายฐานลูกค้าด้วยการจับมือกับบริษัทขนส่ง หรือห้างสรรพสินค้า หรือแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ต่าง ๆ
8. ธุรกิจจัดการแบตเตอรี่รถ EV ที่หมดอายุ (Recycling) ให้ใช้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด โดยทั่วไปแล้ว รถ EV จะมีอายุการใช้อยู่บนท้องถนนเฉลี่ยประมาณ 10-15 ปี แต่แบตเตอรี่สามารถใช้งานได้ยาวนานกว่านั้น หลังจากใช้งานไปได้ 10 ปี หากแบตเตอรี่อยู่ในสภาพดีจะยังกักเก็บไฟฟ้าได้ราว 70-80% ของความจุที่กำหนดเดิม
Cr.ภาพจาก Facebook วีระศักดิ์ แป้นวงศ์
ซึ่งสามารถถอดแบตเตอรี่ออกจากรถเพื่อนำมาใช้ทำอย่างอื่นต่อได้ เช่น ทำเป็นสถานีชาร์จและกักเก็บพลังงานหมุนเวียน ที่สามารถนำไปใช้ในร้านซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือในที่อยู่อาศัย หรือทำเป็นเครื่องสำรองไฟ (UPS) หรือมอเตอร์ไซด์ ที่ใช้แบตเตอรี่จากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้ว ซึ่งในอนาคต คาดว่าจะเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้อย่างมากทีเดียว
สนใจอ่านบทความบับเต็มได้ที่ :
SME ที่สนใจลงทุนต่อยอด ในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ควรพิจารณาอะไรบ้าง
สำหรับ SME ที่สนใจลงทุนในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มีแนวทางพัฒนาธุรกิจ EV ดังนี้
1. ศึกษาตลาดและเทคโนโลยีรถ EV อย่างละเอียด
- วิเคราะห์แนวโน้มตลาดรถไฟฟ้าในประเทศและต่างประเทศ
- ติดตามความก้าวหน้าเทคโนโลยีแบตเตอรี่และระบบขับเคลื่อน
- ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและความต้องการใช้รถ EV
- ประเมินคู่แข่งและช่องว่างทางการตลาด
2. เลือก Business Model ที่เหมาะสม เช่น
- โมเดลการผลิตรถ EV
- โมเดลให้บริการชาร์จแบตเตอรี่
- โมเดลการดัดแปลงรถยนต์เก่าเป็น EV
- โมเดลผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ EV
- พิจารณาจากทรัพยากร ความเชี่ยวชาญ และงบประมาณของบริษัท
3. สร้างเครือข่ายพันธมิตร
- ประสานกับผู้ผลิตแบตเตอรี่
- เชื่อมโยงกับโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
- ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยวิจัย
- สร้างพันธมิตรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
4. พัฒนากลยุทธ์ดึงดูดลูกค้า
• นำเสนอจุดเด่นด้านประหยัดพลังงาน
• สร้างบริการหลังการขายที่ครอบคลุม
• ให้คำปรึกษาและอบรมการใช้งาน EV
• สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อการสื่อสาร
• จัดทำโปรโมชันและสิทธิประโยชน์พิเศษ
5. ปรับตัวตามเทรนด์และกฎระเบียบ
• ติดตามนโยบายภาครัฐเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า
• เตรียมพร้อมรับมาตรฐานความปลอดภัย
• ปรับกระบวนการผลิตตามข้อกำหนดสิ่งแวดล้อม
• พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ทันเทคโนโลยี
6. แหล่งเงินทุนและสนับสนุนทางการเงิน
• กู้เงินจากธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อ เพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Transition) สู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
• ขอรับการค้ำประกันจาก บสย.
• สมัครรับทุนจากหน่วยงานนวัตกรรม
• แสวงหานักลงทุนร่วม
• สำรวจแหล่งเงินทุนระหว่างประเทศ
ข้อมูลเหล่านี้ เมื่อต้องนำไปวางแผนอย่างรอบคอบ ติดตามเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง และมีความยืดหยุ่นพร้อมปรับตัว ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการต่อยอดธุรกิจ และทำให้การลงทุนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นว่า การเติบโตของนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทำให้ภาพรวมของการคมนาคมเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งทางด้านการขนส่งส่วนบุคคล หรือขนส่งมวลชน มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองกับความก้าวหน้าของพลังงานไฟฟ้า หากผู้ประกอบการ SME เล็งเห็นศักยภาพในการเติบโตนี้ ก็จะสามารถต่อยอดให้เกิดโอกาสธุรกิจได้อีกมากมาย
อ้างอิง
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน
โฆษณา