23 ธ.ค. 2024 เวลา 02:31 • ประวัติศาสตร์

"เพชรบูรณ์" เกือบเป็นเมืองหลวง

ย้อนไปสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ภายใต้การบริหารประเทศของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขณะที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เตรียมดำเนินการย้ายเมืองหลวง จากกรุงเทพฯ ไปยังเพชรบูรณ์ อยู่ในช่วงปี 2484 – 2488 ที่ญี่ปุ่นยกพลเข้าไทย และกดดันให้เป็นแนวร่วมฝ่ายอักษะ ในเวลานั้น ไทยจึงจำยอมประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ต่อมาในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นเริ่มอ่อนล้า จอมพล ป. เห็นโอกาส ที่จะขับไล่ญี่ปุ่น จึงได้วางแผนย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปยังเพชรบูรณ์ โดยเหตุผลก็เพื่อทำสงคราม
ในเวลานั้นเพชรบูรณ์เป็นพื้นที่ป่า มีภูเขาล้อมรอบ เหมาะใช้ตั้งฐานทัพบัญชาการรบ รัฐบาลไทยได้ออกตรวจพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ ญี่ปุ่นจึงเริ่มระแคะระคาย ฝ่ายไทยจึงอ้างว่า เป็นการเตรียมการเพื่ออพยพประชาชนหนีการทิ้งบอมบ์จากฝ่ายสัมพันธมิตร การย้ายเมืองหลวงไปยังเพชรบูรณ์ในช่วงปี 2486 - 2487 มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมอย่างเด่นชัด เพียงแต่ยังไม่ได้ประกาศออกมาเท่านั้น โดยรัฐบาลไทยได้วางผังเมือง และสร้างสถานที่ราชการ อาทิ โรงพิมพ์ธนบัตร บ้านพักข้าราชการ โรงไฟฟ้า โรงผลิตน้ำประปา สถานีวิทยุกระจายเสียง ฯลฯ
จุดพลิกผัน
ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2487 จอมพล ป. ได้เสนอ พ.ร.ก.ให้เพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ ต่อสภาผู้แทนราษฎร แต่สุดท้ายก็แพ้ ด้วยเหตุผลว่า เพชรบูรณ์เต็มไปด้วยป่าเขาและไข้ป่า มีโรคภัยมากมาย ไม่เหมาะเป็นเมืองหลวง มีรายงานระบุว่า ในการเกณฑ์แรงงานเพื่อย้ายเมืองหลวง มีผู้ที่ถูกเกณฑ์ 127,281 คน ได้รับบาดเจ็บ 14,316 คน เสียชีวิตด้วยไข้ป่า 4,040 คน ฝ่ายรัฐบาลเองก็ไม่อาจให้เหตุผลที่แท้จริง เพราะไม่ต้องการให้ความลับรั่วไหลไปถึงทหารญี่ปุ่น ต่อมา จอมพล ป. จึงได้ประกาศลาออก ตามกติกาประชาธิปไตย
ว่ากันว่า เหตุผลที่แท้จริงที่จอมพล ป. ลาออก คือ ในขณะนั้นญี่ปุ่นกำลังจะแพ้ หากจอมพล ป. ผู้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ยังเป็นผู้นำประเทศอยู่ ไทยก็อาจถูกเหมาเป็นประเทศแพ้สงครามไปด้วย ดังนั้นจึงอาจมองได้ว่า การลาออกของจอมพล ป. เป็นการเปิดทางให้เสรีไทยเข้ามาช่วยแก้วิกฤต และทำให้ไทยไม่ต้องเป็นประเทศที่แพ้สงคราม
อ้างอิง
โฆษณา