23 ธ.ค. เวลา 02:59 • ความคิดเห็น

บทเรียนของนักการตลาดมือใหม่

ผมทำงานการตลาดมานานเป็นสิบปีแต่ไม่เคยเรียนอะไรมาด้านการตลาดเลย อาศัยครูพักลักจำมาโดยตลอดเพราะวิชาชีพผมจริงๆคือสายการเงิน เรียนก็เรียนด้านการเงิน ทำงานก็ทำงานด้านการเงินมาหลายปี การเรียนรู้ด้านการตลาดของผมจึงเกิดจากการลองผิดลองถูก ลองสังเกต ทำผิดก็มาก ทำพลาดก็บ่อย แต่ถ้าถามว่ามีเหตุการณ์แรกๆ ที่ทำให้ผมเข้าใจหลักการตลาดจากมนุษย์การเงินที่เห็นแต่ตัวเลขมาตลอดนั้น
ผมจะจำแม่นถึงเหตุการณ์เล็กๆเหตุการณ์หนึ่งได้ดี..
ในตอนนั้นผมเพิ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลธุรกิจโทรศัพท์แบบเติมเงินของดีแทคใหม่ๆ งานหลักๆก็คืองานการตลาดและขาย รวมถึงทำแบรนด์ใหม่ที่ชื่อแฮปปี้ในตอนนั้น ผมลองอะไรมั่วๆ ซั่วๆ อยู่หลายอย่าง คิดอะไรก็ลองทำ มีอะไรฮิตก็ลองดูจากความรู้สึกตัวเองก็บ่อย
ในช่วงนั้นผมมีลูกสาวตัวเล็กสองคน ว่างๆก็ดูการ์ตูนกับลูกประจำ เสาร์อาทิตย์ก็ไปตามงานของเด็กเล็กบ่อยๆ ในช่วงนั้นไดโนเสาร์บาร์นี่กำลังฮิตมาก ลูกสาวทั้งสองทั้งดูการ์ตูน ทั้งร้องขอตุ๊กตาบาร์นี่เวลาไปห้าง พอเห็นหุ่นคนใส่บาร์นี่ก็ตื่นเต้นสุดๆ คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็พลอยอินกับลูกไปด้วย รู้สึกว่าบาร์นี่ฮิตมากๆในช่วงนั้น
พอกลับมาที่ทำงาน ผมรีบไปคุยกับป๋อง น้องที่ดูแลเรื่องแบรนด์ให้แฮปปี้ ป๋องเป็นหนุ่มโสดทันสมัยในตอนนั้น ผมบอกป๋องด้วยไอเดียบรรเจิดว่าเราน่าจะทำอะไรกับ “บาร์นี่” มากเลยนะเพราะมันปอบปูล่ามาก ป๋องก็ทำหน้างงๆว่า “บาร์นี่” มันคืออะไรเหรอพี่ ผมก็แปลกใจว่าทำไมป๋องถึงไม่รู้จัก บาร์นี่มันอยู่ทุกที่เลยนะ ไปไหนก็เห็นตลอด ป๋อง อาจจะไม่รู้ชื่อก็ได้เดี๋ยวพรุ่งนี้จะเอาตุ๊กตาบาร์นี่มาให้ดู
ป๋องก็น่าจะร้องอ๋อเมื่อได้เห็นแน่ๆ …ผมมั่นใจ
วันรุ่งขึ้น ผมแบกไดโนเสาร์บาร์นี่ตัวสีม่วงตัวใหญ่ของลูกมาแต่เช้า รีบเรียกป๋องมาดูจะได้เข้าใจและคิดต่อว่าจะทำอะไรกับไดโนเสาร์ยอดฮิตกันดู ป๋องเดินเข้ามาแล้วมองไดโนเสาร์ม่วงอย่างงงๆ แววตาสะท้อนชัดเจนว่าไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นมาก่อน…
วินาทีนั้นมือใหม่อย่างผมถึงเริ่มเข้าใจหลักการพื้นฐานทางการตลาด เพราะผมสนใจและมีลูกเป็นศูนย์กลาง ผมถึงเห็นอะไรที่ลูกเห็นไปด้วย เห็นสีม่วงก็นึกถึงแต่บาร์นี่ไปหมด แต่ป๋องนั้นเป็นหนุ่มโสด ต่อให้เดินผ่านบาร์นี่ตรงหน้า แต่เพราะไม่ใช่อยู่ในความสนใจของเขา เห็นจึงเหมือนไม่เห็น มองก็จะจำอะไรไม่ได้เลย เช่นเดียวกับลูกค้าของเราที่ไม่มีเด็กเล็ก มีแต่วัยรุ่นหรือคนทำงานที่เพิ่งสร้างตัว น้อยคนมากที่จะมีลูก ไม่มีใครรู้จักบาร์นี่แน่ๆ ต่อให้เอามาตั้งอยู่ตรงหน้าก็ตาม
1
และพอลูกผมเป็นวัยรุ่น จนถึงเดี๋ยวนี้ ผมก็มองไม่เห็นบาร์นี่อีกเลยเช่นกัน
1
ผมถึงเริ่มเข้าใจว่า การเอาตัวเองไปตัดสินนั้นอันตรายยิ่งนักในการทำงานการตลาด การที่เรามีอำนาจในการตัดสินใจได้นั้นยิ่งจะต้องไม่ด่วนตัดสินใจแต่ควรจะต้องฟัง ต้องให้คนที่ “เห็น” ชัดกว่าตัดสินใจแทน และต้องไม่รีบด่วนสรุปโดยใช้อำนาจของตัวเองต่อให้เรา “ไม่เห็น” ก็ตาม
1
หลักการแบบนี้เป็นหลักการเดียวกับที่คุณ jeff hoffman ผู้ที่สร้างธุรกิจระดับโลกหลายธุรกิจก็เคยเตือนไว้ว่าการที่ใช้ข้อมูลของคนรอบตัวนั้นไม่มีประโยชน์ใดๆแถมทำให้เราหลงทิศผิดทางไปไกล คุณเจฟฟเรียกความคิดที่เอาตัวเองและคนรอบตัวเป็นหลักที่นำมาซึ่งการหลอกตัวเองว่า proximity not relevance เป็นข้อห้ามของคนทำธุรกิจหรือการตลาดที่ต้องระลึกไว้ในใจ
1
เราจึงไม่ควรฟังเพื่อนสนิทถ้าเราจะทำ travel app ยกเว้นแต่ว่าเพื่อนเราคนนั้นเป็นนักเดินทางจริงๆ หรือไม่ควรเลือกโฆษณาเองถ้าเราไม่ได้เข้าใจหรืออินกับกลุ่มเป้าหมายนั้นเด็ดขาด หรือไม่ควรให้ควาเห็น UI ตามความคุ้นเคยหรือความชอบของเราถ้า app นั้นมีเป้าหมายที่จะให้เด็กวัยรุ่นใช้งาน
หรือแม้กระทั่งการออกแบบ presentation นำเสนองานที่ต้องมี font ตัวใหญ่หน่อยถ้าคนพิจารณาเป็นบอร์ดอายุเจ็ดสิบ ไม่ใช่แค่เราอ่านออกก็พอ (คุณ guy kawasaki เคยมีกฏทองด้วยซ้ำว่า font ที่ใช้ต้องไม่เล็กกว่าอายุคนที่แก่ที่สุดในห้องหารสอง)
เป็นบทเรียนการตลาดแรกๆของมือใหม่อย่างผมที่นึกถึงทีไรก็เตือนตัวเองได้ดีก่อนตัดสินใจด้านงานการตลาดทุกครั้งเลยครับ…
โฆษณา