Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลงทุนแมน
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
23 ธ.ค. 2024 เวลา 03:51 • หุ้น & เศรษฐกิจ
วิเคราะห์ความสำเร็จ เวียดนาม อินโดนีเซีย 2 ประเทศเนื้อหอม ที่ต่างชาติเข้าลงทุน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในตอนนี้ เวียดนาม และ อินโดนีเซีย คือ 2 ประเทศที่นักลงทุนกำลังพูดถึงกันอย่างมาก เพราะต่างประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ และมีตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด
โดยเฉพาะการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ ที่เรียกได้ว่ามาแรงที่สุดในภูมิภาค
2 ประเทศเพื่อนบ้านเรานี้ ใช้อะไรเป็นเครื่องมือในการดึงดูดนักลงทุน และพัฒนาประเทศให้เติบโต ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เริ่มกันที่เวียดนาม ที่มี 2 พระเอกหลักของความสำเร็จ คือ การเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว
การเติบโตในภาคอุตสาหกรรมของเวียดนาม มีสาเหตุหลักมาจาก การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ที่ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ยอด FDI ของเวียดนาม เพิ่มขึ้นเป็น 369,792 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
โดยมากกว่า 3 ใน 5 ของยอด FDI นี้ เป็นการลงทุนด้านการผลิต โดยเฉพาะสินค้าอย่างอิเล็กทรอนิกส์, เซมิคอนดักเตอร์ และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์
ถ้าถามว่าประเทศไหน ที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามมากที่สุด คำตอบก็คือ “สิงคโปร์”
ที่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีการเข้าไปลงทุนในเวียดนาม รวมมากถึง 312,954 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 29% ของยอด FDI ทั้งหมดของเวียดนาม
รองลงมาก็คือ “เกาหลีใต้” ที่มีการลงทุนคิดเป็น 12% ของยอด FDI ทั้งหมดของเวียดนาม
แต่ที่น่าสนใจก็คือ อันดับ 3 อย่าง จีน กำลังมาแรงเป็นอย่างมาก เพราะตอนนี้เป็นประเทศที่ได้รับใบอนุญาตโครงการใหม่มากที่สุด หรือมากกว่า 1 ใน 4 ของทั้งหมด
ซึ่งก็เป็นผลมาจากกลยุทธ์ของจีน ที่ต้องการใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตนอกประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์
ส่วนอันดับที่ 4 และ 5 ที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม ก็คือ ฮ่องกงและญี่ปุ่น
ตัวเลขนี้ทำให้เห็นได้ว่าส่วนใหญ่แล้ว FDI ของเวียดนามนั้น มาจากในประเทศเอเชียเป็นหลัก โดยคิดเป็น 3 ใน 4 ของทั้งหมดเลยทีเดียว
และเมื่อดูจากยอดส่งออกแล้วจะพบว่า สินค้าหลัก ๆ ที่เหล่าบริษัทข้ามชาติเข้ามาใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตและส่งออก ก็คือ สมาร์ตโฟน, คอมพิวเตอร์ และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์
เมื่อดูสัดส่วนของสินค้ากลุ่มนี้ในมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม จะพบว่า
ปี 2554 คิดเป็น 12% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
ปี 2557 คิดเป็น 24% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
ปี 2566 คิดเป็น 33% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
หรือก็คือ เวียดนามกำลังส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนตอนนี้ก็มีมูลค่าถึง 1 ใน 3 ของยอดการส่งออกทั้งหมด
ในด้านมูลค่า สินค้าเหล่านี้ก็มีมูลค่ารวมมากถึง 4,016,000 ล้านบาท ในปี 2566 ซึ่งคิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 27% ต่อปี
นอกจากการดึงดูด FDI แล้ว อีกอย่างหนึ่งที่เวียดนามประสบความสำเร็จอย่างมากในปีนี้ ก็คือเรื่องของการท่องเที่ยว
เพราะถ้านับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เวียดนามมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 15.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 41% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
และตัวเลขนี้ก็เทียบได้กับครึ่งหนึ่งของไทยเลยทีเดียว ที่เราทำได้ 32 ล้านคนนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักของเวียดนาม ก็คือ
- ชาวเกาหลีใต้ 4.1 ล้านคน
- ชาวจีน 3.3 ล้านคน
- ชาวไต้หวัน 1.1 ล้านคน
- ชาวอเมริกัน 0.7 ล้านคน
เห็นได้ว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่ไปเวียดนาม ก็คือชาวเอเชียนั่นเอง โดยครองสัดส่วนถึง 80% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดของเวียดนาม
1
นักท่องเที่ยวจำนวนนี้ ก็ทำเงินให้กับเวียดนามอย่างมหาศาลในช่วงที่ผ่านมา และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างก้าวกระโดด
และนอกจากเวียดนามแล้ว ก็ยังมีอินโดนีเซีย อีกหนึ่งประเทศ ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศอย่างมาก
และความสำเร็จที่เด่นชัดก็คือ เรื่องของการดึงดูดการลงทุนของต่างชาติเช่นเดียวกับเวียดนาม เพราะอินโดนีเซีย คือประเทศที่ดึงดูด FDI ได้มากที่สุดในอาเซียน นับตั้งแต่เกิดสงครามการค้ามา
ทำให้ในตอนนี้ FDI ของอินโดนีเซีย กำลังอยู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 512,000 ล้านบาท (ณ ไตรมาส 3 ปี 2567)
โดยความสำเร็จนี้ก็เป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จึงออกกฎห้ามการส่งออกนิกเกิล ซึ่งเป็นแร่ที่สำคัญในการทำแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า
ผลของกฎนี้คือทำให้เหล่าบริษัทต่างชาติ ต้องแห่กันเข้าไปตั้งโรงงานในอินโดนีเซีย เพื่อให้ได้เข้าถึงแหล่งแร่นิกเกิลสำรองของอินโดนีเซีย ที่มีอยู่อย่างมหาศาลและมากที่สุดในโลก
1
โดยประเทศหลักที่เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย ก็คือ สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ตามลำดับ
1
นอกจากภาคอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จแล้ว อินโดนีเซีย ยังมีภาคการขนส่ง ที่ก็กำลังประสบความสำเร็จเช่นกัน
เพราะช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา อินโดนีเซียได้มีการเปิดใช้งานโครงการรถไฟความเร็วสูง Jakarta-Bandung High-Speed Rail ที่นอกจากจะถือเป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกของอินโดนีเซียเองแล้ว ยังถือเป็นสายแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
โดยรถไฟสายนี้ ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางระหว่าง 2 เมืองสำคัญอย่างกรุงจาการ์ตา ที่เป็นเมืองหลวงของประเทศ และบันดุง ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ และมีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของประเทศ
จากเวลาเดินทางปกติ 3 ชั่วโมง เหลือเพียง 40 นาที เท่านั้น จึงช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล
โดยถ้านับตั้งแต่มีโครงการนี้มา ก็ช่วยสร้าง GDP ให้กับประเทศไปแล้วถึง 192,000 ล้านบาท
จากเรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าการพัฒนาอย่างรวดเร็วของทั้ง เวียดนาม และ อินโดนีเซีย ในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลจากความสำเร็จในการวางกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม
เวียดนาม ดึงดูดอุตสาหกรรมการผลิต ที่กำลังเป็นเทรนด์สำคัญของโลกมาไว้กับตัว
อินโดนีเซีย ต่อยอดจุดแข็งที่มีทั้งทรัพยากรธรรมชาติและขยายโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศ
ก็เป็นที่น่าติดตามว่าต่อไป ในยุคที่มีความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้น เวียดนาม และ อินโดนีเซีย จะยังสามารถก้าวผ่านอุปสรรคนี้ได้หรือไม่ และจะเติบโตต่อไปได้อีกมากแค่ไหน..
References
-
https://www.adb.org
-
https://tradingeconomics.com
-
https://www.kasikornresearch.com
-
https://www.vietnam-briefing.com
-
https://www.aseanbriefing.com
-
https://www.imf.org
12 บันทึก
33
5
17
12
33
5
17
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย