23 ธ.ค. 2024 เวลา 07:54 • ประวัติศาสตร์

ปีที่อังกฤษไร้ “วันคริสต์มาส”

มะรืนนี้ก็เป็นวันคริสต์มาสแล้ว
2
ผมเชื่อว่าหลายๆ คนนั้นชื่นชอบคริสต์มาส เฝ้ารอเทศกาลนี้มาถึง รู้สึกถึงความอบอุ่นท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น ทุกอย่างดูสวยงาม ยินดีไปหมด
1
แต่ที่อังกฤษในสมัยศตวรรษที่ 17 มีการแบนวันคริสต์มาส ซึ่งกินระยะเวลายาวนานนับสิบปี ส่วนที่สก็อตแลนด์นั้น ก็แบนยาวนานถึงปีค.ศ.1958 (พ.ศ.2501) เลยทีเดียว
เรื่องราวเป็นอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟังครับ
แต่ก่อนที่เราจะไปรู้ว่าทำไมจึงมีการสั่งแบนวันคริสต์มาส เรามาดูสถานการณ์การเมืองของอังกฤษในสมัยศตวรรษที่ 17 กันก่อน
ที่อังกฤษในสมัยศตวรรษที่ 17 นั้น เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่โกลาหลวุ่นวาย
“สงครามกลางเมืองอังกฤษ (English Civil War)” นั้นยาวนาน เริ่มตั้งแต่ค.ศ.1642 (พ.ศ.2185) กว่าจะจบก็คือค.ศ.1651 (พ.ศ.2194) โดยเป็นสงครามระหว่างกลุ่มรอยัลลิสต์ผู้ภักดีต่อราชวงศ์กับรัฐสภา และทำให้อังกฤษลุกเป็นไฟ
รัฐสภาต้องการจะถอดถอนกษัตริย์ออกจากบัลลังก์ และปรับโครงสร้างรัฐบาลอังกฤษ สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์ ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มรอยัลลิสต์ไม่ยินยอม
“พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ (Charles I of England)” องค์พระประมุขแห่งอังกฤษก็ไม่ทรงยินยอมเช่นกัน และทรงเป็นผู้นำกลุ่มรอยัลลิสต์ ในขณะที่ฝ่ายรัฐสภานั้น มีผู้นำคือ “โทมัส แฟร์แฟกซ์ (Thomas Fairfax)” และ ”โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell)”
แต่บทสรุปนั้น ฝ่ายพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงพ่ายแพ้ในปีค.ศ.1649 (พ.ศ.2192) และถูกประหาร ทำให้ในปีค.ศ.1653 (พ.ศ.2196) ครอมเวลล์ได้แต่งตั้งตนเป็นเจ้าผู้อารักขาแห่งเครือจักรภพ
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ (Charles I of England)
แล้วทั้งหมดนี้เกี่ยวอะไรกับคริสต์มาสด้วย?
นั่นก็เพราะพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ก็ไม่ต่างอะไรกับหลายๆ คน นั่นคือพระองค์ทรงโปรดเทศกาลคริสต์มาสเป็นอย่างมาก
พระองค์ทรงส่งเสริมการแลกของขวัญและใช้จ่ายในเทศกาล ซึ่งกลุ่ม “พิวริตัน (Puritan)” ที่เป็นกลุ่มคริสต์ศาสนิกชนที่สนับสนุนความเชื่อทางปรัชญาและการกระทำพิธีทางศาสนาที่บริสุทธิ์และเคร่งครัด รู้สึกรังเกียจเทศกาลนี้
กลุ่มพิวริตัน (Puritan)
กลุ่มพิวริตันสนับสนุนการยกเลิกเทศกาลคริสต์มาสมาตั้งแต่ก่อนสงครามกลางเมืองอังกฤษแล้ว ซึ่งในกลุ่มพิวริตันก็ยังแบ่งแยกออกเป็นสองกลุ่มอีก
กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ไม่เชื่อในทฤษฎีที่ว่า “พระเยซู (Jesus)” ศาสดาแห่งศาสนาคริสต์ประสูติในวันที่ 25 ธันวาคม ซึ่งในคัมภีร์ไบเบิ้ลก็ไม่ได้ระบุ ดังนั้นพวกเขาจึงไม่เห็นความจำเป็นต้องฉลองในวันนี้ และมองว่าเทศกาลนี้เป็นเพียงสิ่งที่พระสันตะปาปาสร้างขึ้นเท่านั้น
อีกกลุ่มคือกลุ่มที่เชื่อว่าพระเยซูประสูติในวันที่ 25 ธันวาคม หากแต่ไม่เห็นด้วยกับการเฉลิมฉลอง และให้ธุรกิจร้านค้าต่างๆ ดำเนินไปได้ตามปกติ
การกำเนิดของพระเยซู (Jesus)
แต่ถึงจะมีความเชื่อต่างกัน แต่พิวริตันทั้งสองกลุ่มก็เห็นตรงกันว่าการแลกของขวัญ ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย และร่าเริงสนุกสนานในวันคริสต์มาส คือสิ่งที่ไม่ใช่สิ่งที่ชาวคริสต์ควรกระทำ เป็นสิ่งที่มีรากฐานมาจากพวกนอกรีต และที่สำคัญ วันคริสต์มาสไม่ควรจะเป็นวันหยุดราชการ
ซึ่งก็ต้องบอกว่าสิ่งที่ชาวพิวริตันกล่าวอ้างก็ไม่ได้ผิดซะทีเดียว
ธรรมเนียมของวันคริสต์มาสหลายๆ อย่างมีรากฐานมาจากเทศกาลในสมัยโรมัน โดยชาวแองโกล-แซกซันฉลองคริสต์มาสในวันที่ 25 ธันวาคม และมีการแลกของขวัญ มีความรื่นเริงต่างๆ
ดังนั้นธรรมเนียมในวันคริสต์มาสหลายๆ อย่างก็มีในอังกฤษก่อนศาสนาคริสต์จะรุ่งเรืองซะอีก
ซึ่งการเข้ามาของธรรมเนียมวันคริสต์มาสนี้ในหมู่ชาวคริสต์ เป็นสิ่งที่ชาวพิวริตันมองว่าเป็นภัยคุกคาม และต้องการให้ยกเลิก ซึ่งการที่พระประมุขอย่างพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงโปรดและสนับสนุนเทศกาลคริสต์มาส ก็ทำให้ชาวพิวริตันหันไปสนับสนุนฝ่ายรัฐสภา ซึ่งฝ่ายรัฐสภาก็ไม่ได้ชอบคริสต์มาสเช่นกัน
สก็อตแลนด์ก็กำหนดให้เทศกาลคริสต์มาสเป็นสิ่งผิดกฎหมายมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 16 ซึ่งราชสำนักก็ทรงมีรับสั่งให้ฟื้นฟูเทศกาลคริสต์มาสอีกครั้งในปีค.ศ.1617 (พ.ศ.2160) ก่อนที่สภาสก็อตแลนด์จะสั่งแบนเทศกาลคริสต์มาสอีกครั้งในปีค.ศ.1640 (พ.ศ.2183)
การอบขนมปังคริสต์มาส ซึ่งเป็นขนมปังรสชาติหอมหวาน กลายเป็นอาชญากรรมร้ายแรงในสก็อตแลนด์
เมื่อสงครามกลางเมืองอังกฤษเกิดขึ้นในปีค.ศ.1642 (พ.ศ.2185) สภาสก็อตแลนด์ก็เข้าร่วมกับรัฐสภาอังกฤษ โดยมีเงื่อนไขคือต้องมีการปฏิรูปคริสตจักรอังกฤษ และต้องมีการแบนเทศกาลคริสต์มาส
25 ธันวาคม ค.ศ.1643 (พ.ศ.2186) กลุ่มเจ้าของร้านค้าชาวพิวริตันในลอนดอนได้เปิดร้านค้าของตนตามปกติ โดยบาทหลวงก็ปิดโบสถ์ ส่วนสมาชิกรัฐสภาก็ไปทำงานตามปกติ
เรียกได้ว่าที่อังกฤษ การโจมตีเทศกาลคริสต์มาสได้เริ่มขึ้นแล้ว
ในปีค.ศ.1645 (พ.ศ.2188) รัฐสภากำหนดให้การฉลองเทศกาลคริสต์มาสมีโทษถึงตาย และบทบัญญัติเรื่องการบูชาเทพเจ้าในที่สาธารณะ ก็ไม่มีการเอ่ยถึงเทศกาลคริสต์มาส
เรียกได้ว่าเทศกาลที่โด่งดังที่สุดในอังกฤษได้ถูกยกเลิกไปแล้ว
เหตุการณ์นี้สร้างความโกรธเคืองแก่กลุ่มรอยัลลิสต์และประชาชนในพื้นที่ที่อยู่ใต้อำนาจของรัฐสภา และเหล่าคนงานก็ปฏิเสธที่จะไปทำงานในวันคริสต์มาส
แต่ถึงจะต่อต้าน แต่กลุ่มรอยัลลิสต์ก็พ่ายแพ้ในสมรภูมิรบ และเมื่อถึงเดือนเมษายน ค.ศ.1646 (พ.ศ.2189) ทหารหลวงก็พ่ายแพ้ เสียดินแดนไปเป็นจำนวนมาก
แต่ชาวอังกฤษก็ยังไม่ยอมทอดทิ้งความรักที่มีต่อเทศกาลคริสต์มาส
10 มิถุนายน ค.ศ.1647 (พ.ศ.2190) รัฐสภาอังกฤษกำหนดให้เทศกาลคริสต์มาสเป็นเทศกาลต้องห้าม และการฉลองคริสต์มาสก็นับเป็นอาชญากรรมร้ายแรง
25 ธันวาคม ค.ศ.1647 (พ.ศ.2190) ได้เกิดการลุกฮือขึ้นของกลุ่มที่สนับสนุนคริสต์มาสในเมืองต่างๆ ของอังกฤษ และเหล่าผู้ประท้วงในลอนดอนก็ไม่สนใจข้อห้าม ยังคงตกแต่งบ้านของตน
เมืองแคนเทอร์บิวรีก็เกิดการลุกฮือขึ้นในปีค.ศ.1648 (พ.ศ.2191) และร้านค้าของชาวพิวริตันที่เปิดในวันคริสต์มาสก็ถูกฝูงชนทำลาย
ในไม่ช้า กลุ่มผู้ประท้วงในแคนเทอร์บิวรีก็ยึดเมืองทั้งเมืองไว้ได้
ชัยชนะของแคนเทอร์บิวรีทำให้เมืองอื่นๆ ลุกขึ้นต่อต้านรัฐสภาบ้าง ซึ่งการลุกฮือขึ้นนี้เกิดขึ้นในช่วงสงครามกลางเมือง ซึ่งก็จบลงที่ความพ่ายแพ้ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1
ความพ่ายแพ้นี้ทำให้ขวัญกำลังใจของประชาชนหดหาย หากแต่จิตวิญญาณของพวกเขายังคงอยู่ และยังไม่ยอมแพ้
เมื่อครอมเวลล์ขึ้นเป็นเจ้าผู้อารักขาแห่งเครือจักรภพในปีค.ศ.1653 (พ.ศ.2196) ครอมเวลล์ยังสั่งให้มีการแบนคริสต์มาสต่อไปเรื่อยๆ แต่ผู้คนก็ยังคงแอบฉลองคริสต์มาสเงียบๆ ในที่พักของตน
ท้ายที่สุด เจตจำนงค์ของประชาชนก็เป็นฝ่ายชนะ
โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell)
“พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ (Charles II of England)” ทรงมีรับสั่งให้ยกเลิกการแบนคริสต์มาสในปีค.ศ.1660 (พ.ศ.2203) หลังจากมีการฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ และทำให้ความรื่นเริงยินดีของเทศกาลคริสต์มาสกลับคืนสู่อังกฤษอีกครั้ง
แต่ถึงกลุ่มพิวริตันจะไม่สามารถโน้มน้าวใจชาวอังกฤษได้ แต่ความเชื่อของพิวริตันก็มีอิทธิพลต่อ 13 อาณานิคมที่ต่อมากลายเป็นสหรัฐอเมริกา
ในคราวที่สหรัฐอเมริกาได้รับอิสรภาพในปีค.ศ.1783 (พ.ศ.2326) เทศกาลคริสต์มาสก็ยังไม่ใช่เทศกาลที่เป็นที่นิยมหรือยอมรับในสหรัฐอเมริกา ยังคงมีการต่อต้านธรรมเนียมต่างๆ ของอังกฤษ
1
แต่ธรรมเนียมต่างๆ ก็กลับมาในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 และรัฐบาลอเมริกันก็กำหนดให้วันคริสต์มาสเป็นวันหยุดราชการในวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ.1870 (พ.ศ.2413)
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ (Charles II of England)
ในทุกวันนี้ คงเป็นการยากที่จะเข้าใจว่าทำไมจะต้องมีการยกเลิกเทศกาลคริสต์มาส เทศกาลแห่งความสุขและรอยยิ้ม แต่ในอดีต เทศกาลนี้เคยเป็นความขัดแย้งรุนแรงมาแล้วดังที่ผมได้เล่าไป
สุดท้ายแล้ว จิตวิญญาณที่บริสุทธิ์ก็เป็นฝ่ายชนะ และนักประวัติศาสตร์หลายคนก็คิดว่าการแบนคริสต์มาสนี้กลับยิ่งทำให้เทศกาลคริสต์มาสได้รับความนิยมมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ
ความล้มเหลวของการพยายามจะแบนคริสต์มาส อาจจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้เห็นว่าการพยายามจะพรากความสุขของปวงชนนั้นจะเป็นอย่างไร
นับว่าเป็นเรื่องดีที่ในปัจจุบัน เหตุการณ์เช่นนั้นคงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อีกแล้ว
โฆษณา