18 ม.ค. เวลา 02:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ChatGPT กับการวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของสหรัฐอเมริกาจากนโยบายของ Trump

ก่อนการเลือกตั้งจนถึงหลังเลือกตั้งใหม่ ๆ นโยบายเศรษฐกิจและสังคมของทรัมป์ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง แต่ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา นโยบายเกี่ยวกับ ปานามา กรีนแลนด์ และคานาดา ทำให้สื่อและคนส่วนใหญ่หันมาสนใจนโยบายนี้แทน
อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ผมสนใจในประเด็นเศรษฐกิจและสังคม และนโยบายเหล่านี้ของ Trump ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากทั้งในทางบวกและทางลบ รวมถึงมีนักวิเคราะห์หลายท่านออกมาทำการวิเคราะห์กันจำนวนมากหลังจากที่ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งใหม่ๆ ในโอกาสที่เหลืออีกไม่กี่วันที่ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่ง ผมจึงลองให้ ChatGPT ช่วยวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายสำคัญของ Trump ในด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อไว้รอดูผลที่จะเกิดขึ้นจริงในวันข้างหน้า
เริ่มจากนโยบายเศรษฐกิจ
เริ่มต้นผมขอให้ ChatGPT ช่วยวิเคราะห์ผลกระทบเชิงบวกและลบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจากนโยบายด้านผู้อพยพ การกีดกันทางการค้าและภาษีได้ผลดังนี้
1. นโยบายบายด้านแรงงานอพยพผิดกฎหมาย
นโยบายที่ถูกกล่าวถึงมากเป็นอันดับต้นๆ ของทรัมป์ในช่วงหาเสียงคือนโยบายส่งกลับแรงงานอพยพผิดกฎหมาย ซึ่งทรัมป์บอกว่ามาแย่งงานคนอเมริกันทำ แถมยังจะยกเลิกการให้สัญชาติโดยกำเนิดกับเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่ใช่คนอเมริกันแต่มาเกิดในแผ่นดินอเมริกา เพื่อตัดแรงจูงใจในการอพยพเข้าประเทศอีกทางหนึ่ง ซึ่งก็ได้ใจคนอเมริกันจำนวนมาก
และถ้าฟังตามที่นักวิเคราะห์ทั่วไปวิพากษ์วิจารณ์กันต่างเห็นว่านโยบายดังกล่าวน่าจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดีเพราะจะทำให้แรงงานในประเทศลดลงและกดดันให้ค่าจ้างแรงงานในประเทศสูงขึ้น จนอาจทำให้ระดับราคาสินค้าสูงขึ้นตามค่าจ้างแรงงาน ซึ่งเมื่อให้ ChatGPT ลองวิเคราะห์ผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ก็ได้ผลคล้ายๆ กันกับที่นักวิเคราะห์คิด
ตารางที่ 1 นโยบายด้านแรงงาน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าไปอ่านรายละเอียดของนโยบายอย่างละเอียด พบว่าพร้อมๆ กับนโยบายนี้ ทรัมป์กลับสร้างแรงจูงใจให้กับแรงงานทักษะสูงโดยให้ Green Card แก่แรงงานทักษะสูงที่มาเรียนและจบการศึกษาในสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะในสาขาที่ขาดแคลนเช่น STEM ซึ่งส่งผลดีต่อการเติบโตและเพิ่มศักยภาพด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี
ด้วยความที่นโยบายนี้ตัวทรัมป์เองไม่ได้พูดถึงมากนักเพราะรู้ว่าไม่ได้ดึงดูดความสนใจมาก อีกทั้งอาจจะสร้างความสับสนให้กับคนโดยไม่จำเป็น เราจึงไม่เห็นสื่อมวลชนเล่นข่าวนี้ แต่นโยบายนี้ก็ทำให้เห็นว่าสิ่งที่ทรัมป์คิดนั้น น่าจะลึกกว่าเพียงแค่การคืนตำแหน่งงานให้กับคนในประเทศ เพราะในความเป็นจริง ตำแหน่งงานเหล่านั้นจำนวนมาก คนในประเทศก็ไม่ทำ ทำให้ผมเดาเอาเองว่าสิ่งที่ทีมนโยบายของทรัมป์คิดอยู่ในใจคือการยกระดับศักยภาพของแรงงานโดยรวมของระบบเศรษฐกิจที่ติดหล่มอยู่กับแรงงานราคาถูก
1
(เหมือนกับประเทศไทยที่ใช้แรงงานราคาถูกจากเพื่อนบ้าน แต่หนักกว่าสหรัฐอเมริกา เพราะสหรัฐอเมริกามีนวัตกรรมตลอดเวลา แต่ของเราไม่มี)
2. นโยบายด้านภาษี
เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบในช่วงแรกจากนโยบายด้านแรงงาน ทรัมป์ได้ประกาศขึ้นภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าเพื่อยกระดับราคาสินค้าให้กับผู้ประกอบการในประเทศ รวมถึงลดภาระให้กับผู้ประกอบการด้วยการลดภาษีนิติบุคคลจาก 21% เหลือ 15%
ในขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่แพงขึ้นจากการขึ้นภาษีนำเข้าด้วยการลดภาษีบุคคลธรรมดา ยกเว้นภาษี tips สำหรับพนักงานบริการ และยกเว้นภาษี OT สำหรับคนทำงานทุกคน รวมถึงยกเลิกภาษี social security ซึ่งจะช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบจากค่าแรงที่สูงขึ้นและช่วยเหลือแรงงานที่จะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น
ตารางที่ 2 นโยบายด้านภาษี
ทั้งนี้ นโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้าทุกประเภทนี้ ทรัมป์มีความคิดว่า การขึ้นภาษีจะช่วยทำให้การผลิตสินค้าจำนวนมากที่เคยสู้ต่างประเทศไม่ได้จะกลับมาเกิดใหม่หรือขยายตัวในประเทศมากขึ้น ทรัมป์จึงดูมุ่งมั่นกับนโยบายนี้มากโดยจะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น
และเมื่อเติมด้วยนโยบายภาษีด้านอื่นเพื่อแรงจูงใจให้ธุรกิจและคนทำงาน ทรัมป์เชื่อว่าจะช่วยทำให้เศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกากลับมาดีขึ้นกว่าเดิม
และเมื่อบวกกับเหตุผลด้านความมั่นคงทรัมป์จึงออกมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีเพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทสัญชาติอเมริกันจะอพยพกลับบ้าน
ตารางที่ 3 นโยบายแบนบริษัท
อย่างไรก็ตาม มีบางนโยบายด้านภาษีที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมาก เช่น นโยบายลดภาษีให้กับคนอเมริกันที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศซึ่งเป็นนโยบายที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าจะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกากันแน่ ผมจึงลองให้ ChatGPT ทำเปรียบเทียบออกมาได้ดังนี้ครับ
ตารางที่ 4 นโยบายภาษีคนอเมริกันที่ทำงานต่างประเทศ
ในขณะที่การนำนโยบายด้านภาษีเช่น State and Local Tax (SALT) Deduction กลับมาใช้นั้นแม้จะดูเหมือนดีกับผู้เสียภาษีเพราะอนุญาตให้ผู้เสียภาษีในสหรัฐอเมริกาสามารถนำภาษีรัฐและท้องถิ่น (เช่น ภาษีเงินได้, ภาษีทรัพย์สิน) มาหักลดหย่อนในการเสียภาษีให้กับรัฐบาลกลางได้
แต่การที่ทรัมป์ในปี 2017 เคยกำหนดเพดานลดหย่อนไว้ที่ $10,000 ต่อปีในการนำ SALT กลับมาใช้โดยที่ก่อนหน้านี้ไม่เพดานดังกล่าว ส่งผลให้ผู้เสียภาษีในรัฐที่มีภาษีสูง (ซึ่งส่วนใหญ่เป็น blue state หรือรัฐที่โหวดให้พรรค Democrat เช่น แคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก) ต้องจ่ายภาษีรัฐบาลกลางเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกรณีไม่มีเพดานการลดหย่อน ซึ่ง ChatGPT ได้สรุปข้อดีข้อเสียของนโยบายนี้ไว้ดังนี้
ตารางที่ 5 นโยบาย SALT
จะเห็นได้ว่านโยบายนี้ ที่จริงแล้วก็คือนโยบายการดึงเงินจากคนรายได้สูง (ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรัฐ blue state) ไปช่วยคนรายได้น้อย (ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรัฐ red state) และอาจทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานของประชากรจากรัฐ blue state ไปรัฐ red state นโยบายนี้จึงเป็นนโยบายที่ส่งผลทางการเมืองโดยตรง
3. นโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยในส่วนที่ควบคุมได้โดยรัฐบาล
นอกจากนโยบายด้านภาษีแล้ว ต้นทุนการเงินที่สำคัญอีกด้านหนึ่งคือดอกเบี้ย แต่เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นอำนาจของธนาคารกลาง ทรัมป์จึงใช้วิธีลดอัตราดอกเบี้ยในส่วนที่รัฐบาลสามารถกำหนดได้เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนให้มากขึ้น
ตารางที่ 6 นโยบายดอกเบี้ยที่รัฐบาลคุมได้
4. นโยบายด้าน deregulation
ภายใต้กรอบความเชื่อเรื่องการลดบทบาทของภาครัฐที่พรรครีพับลิกันยึดถือเป็นแก่นของนโยบาย เพราะเชื่อว่ากลไกตลาดเสรีและการให้เสรีภาพส่วนบุคคลจะนำไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ทรัมป์ในสมัยที่ 2 จึงเสนอแนวทางการลดการควบคุมโดยรัฐไว้หลายวิธี เช่น
1.) การเสนอให้มีการประกวดสร้าง freedom city และให้สิทธิในการสร้างเมืองใหม่นี้แก่ผู้ที่ชนะการประกวด โดยเมืองใหม่นี้จะมีกฎระเบียบที่แตกต่างไปจากเมืองในรูปแบบเดิมและเป็นกฎระเบียบที่ส่งเสริมการเติบโตอย่างรวดเร็วจากความคิดสร้างสรรค์ที่ไร้ขีดจำกัดและการทำงานอย่างมุ่งมั่นของคนรุ่นใหม่
2.) ยกเลิก corporate bailout ไม่ช่วยบริษัทที่ทำธุรกิจล้มเหลว แม้จะเป็นสถาบันการเงินก็ตาม เนื่องจากเห็นว่าความช่วยเหลือทางการเงินอาจส่งเสริมพฤติกรรมที่เรียกว่า Moral Hazard โดยบริษัทอาจดำเนินกิจกรรมที่เสี่ยงโดยหวังว่ารัฐจะช่วยเหลือหากเกิดปัญหา จึงเห็นว่าควรปล่อยให้การแก้ปัญหาเป็นไปโดยกลไกตลาด เช่น การล้มละลายหรือการปรับโครงสร้างหนี้ แทนการแทรกแซงของรัฐ
3.) ยกเลิกกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้เหตุผลว่ากระทรวงนี้ส่งเสริมเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับเชื้อชาติ เพศ และการเมือง หรือที่เรียกว่า "Woke" และเสนอให้การจัดการการศึกษากลับไปอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะของแต่ละพื้นที่และเกิดการแข่งขันระหว่างรัฐซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้านการศึกษา
4.) ให้อำนาจประธานาธิบดีในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง ทรัมป์มองว่าข้าราชการเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามวาระที่ประธานาธิบดีต้องการ ในสมัยแรก ทรัมป์ได้ออกคำสั่งฝ่ายบริหารที่อนุญาตให้ประธานาธิบดีแต่งตั้งบุคคลทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการได้ตามต้องการ ซึ่งถูกยกเลิกไปเมื่อไบเดนเข้ามาเป็นประธานาธิบดี ดังนั้นการกลับมาในครั้งนี้ ทรัมป์มุ่งมั่นในเรื่องนี้อย่างมาก
ตารางที่ 7 นโยบาย deregulation
ที่จริง นอกจากนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจตามที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว ทรัมป์ได้เสนอนโยบายด้านอื่นๆ ครบทุกด้านทั้งด้านสังคม ด้านพลังงาน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านต่างประเทศและการทหาร ซึ่งล้วนแล้วเป็นนโยบายที่เน้นได้ใจประชาชนที่นิยมความเด็ดขาด ชัดเจน และทำให้ทรัมป์ดูเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง รวมถึงน่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แม้ว่านโยบายด้านเศรษฐกิจอาจจะยังสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดผลทั้งด้านบวกและลบพอๆ กัน
และแม้ว่านักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลถึง 23 คนจะออกมาเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนว่า นโยบายเศรษฐกิจของแฮริสจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าทรัมป์ก็ตาม
จดหมายเปิดผนึกของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล
โฆษณา