24 ธ.ค. เวลา 03:39 • ความคิดเห็น

อยากได้กลิ่นเลือด ต้องถามฉลาม

เจฟ ฮอฟแมน มหาเศรษฐีผู้สร้าง start up ระดับโลกมาหลายบริษัทเคยเล่าเรื่องการขอคำแนะนำที่ถูกต้องไว้ โดยเกิดจากการที่วันหนึ่งเจฟไปนั่งดูอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัยเล็กๆ อยู่ ควอเตอร์แบคที่เล่นวันนั้นเล่นได้ดีมาก
คนรอบข้างก็พูดกันว่าคนนี้คอยดูสิ วันหนึ่งต้องไประดับอาชีพได้แน่ ในสนามก็มีเชียร์ลีดเดอร์ที่เด่นและสวยมากๆอยู่คนหนึ่ง ผู้คนรอบๆ ก็บอกว่าคนนี้ต่อไปต้องได้เป็นดาราดังแน่
คุณเจฟก็มานั่งคิดสิ่งที่ได้ยิน และคิดต่อว่า ในวันนั้นน่าจะมีฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัยนี้แข่งพร้อมๆ กันอยู่หลายพันคู่ แทบทุกสนามก็จะมีเสียงร่ำลือว่าคนนี้จะเทินโปร คนนั้นน่าจะเป็นดาราเหมือนกัน แต่คนพูดทั้งหลายไม่ได้มีคุณสมบัติใดๆที่จะสามารถทำนายทายทักได้เลย ไม่มีใครเป็นเจ้าของทีมฟุตบอล ไม่มีใครเป็นแมวมองมืออาชีพ
เขาเลยเริ่มตระหนักว่า ไม่ว่าจะเป็นการหาเมนเทอร์ หรือการต้องการคำแนะนำในเรื่องธุรกิจใดๆ จะต้องหาคนที่รู้จริงและมีประสบการณ์จริงเท่านั้น
1
จากหลักการนี้ ถ้าใครอยากลงทุนในบริษัทเล็กๆที่เป็น start up หรือ SME ควรจะไปถามใครว่าอะไรคือหัวใจสำคัญที่ควรตัดสินใจลงทุนหรือไม่ลงทุน แน่นอนว่านักลงทุนระดับ Shark อย่างคุณบาร์บาร่า คอเคอรัน (Barbara Corcoran) ในวัยเจ็ดสิบห้าที่เป็นนักลงทุนในรายการ shark tank มากว่าสิบห้าปี ได้เห็น ได้ฟัง ได้ลงทุนกับบริษัทมาหลายร้อยหลายพันบริษัท ก็น่าจะเป็นคนที่รู้จริงและมีประสบการณ์จริงคนหนึ่งที่น่าถามอยู่ไม่น้อย
ในรายการสัมภาษณ์ พิธีกรในรายการถามบาร์บาร่าว่าผู้ประกอบการที่ดีที่น่าลงทุนนั้นมีลักษณะอย่างไรจากการที่เธอได้เห็นมาทั้งหมด คุณบาร์บาร่าบอกว่าผู้ประกอบการที่เก่งนั้นจะเหมือนกับตุ๊กตาเด้งได้ที่โผล่มาจากกล่อง (jack in the box) ไม่ว่าเราจะยัดจะกดมันกลับไปในกล่องกี่ครั้ง มันก็จะเด้งกลับมาใหม่เสมอ
1
เพราะหลายครั้งที่คุณบาร์บาร่าลงทุนไป ที่ไม่รอดคือคนที่พลาดแล้วลุกไม่ขึ้น ความอึดถึกทน ล้มแล้วลุกได้ (resilience) จึงเป็นคุณสมบัติหลัก ไม่จำเป็นต้องฉลาดก็ได้ แต่ต้องไม่ยอมแพ้ เป็นคนที่มองโลกในแง่ดี ไม่โทษโน่นโทษนี่ และมองไปข้างหน้าเสมอ
ในประเทศไทย ชาร์คหมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ หรือหลายคนรู้จักในนาม หมู ookbie ก็เป็นนักลงทุนที่เจอบริษัทเล็กใหญ่มากมาย ตั้งแต่เป็นคนร่วมก่อตั้งกองทุน 500 tuktuk ลงทุนใน SME ส่วนตัวก็หลายบริษัทก่อนมาเป็นชาร์คในรายการต่ออีกหลายปี
ผมเคยถามหมูว่าเวลาตัดสินใจลงทุนใน startup นี่ใช้เกณฑ์อะไรเพราะ startup ส่วนใหญ่ผลประกอบการก็ยังไม่มี ข้อมูลอะไรก็หาได้ยาก ไม่มีอะไรให้วิเคราะห์เลย
หมูบอกว่าเวลาดูก็ดูทั้งคนและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์คือก็ต้องไปลองใช้เองด้วยถ้าทำได้ ในส่วนคนก็คือดูว่าคนที่เป็นเจ้าของอยู่จะสามารถสร้างการเติบโตให้กับผลิตภัณฑ์นี้ได้หรือไม่ และมีศักยภาพพอที่จะดึงคนเก่งๆมาร่วมงานได้หรือไม่ คุยแล้วถ้าย้อนเวลาไปตอนเราเด็กๆ เราอยากเป็นลูกน้องคนนี้รึเปล่า ดูมีเมตตา สอนงานเราได้รึเปล่า
เพราะคนที่มีคาแรกเตอร์แบบนี้ถึงจะสามารถดึงน้องเก่งๆมาร่วมงานด้วยได้
แล้วลองคิดต่อว่า ถ้าจะต้องทำแข่งกับเขาโดยใช้ทีมงานเรา เราจะมีโอกาสชนะหรือไม่ ไม่ว่าในมุมเทคโนโลยี ความรู้ลึกๆ หรือความทุ่มเท ถ้าดูแล้วยากก็แสดงว่าคนอื่นก็มาแข่งด้วยยาก ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งในการตัดสินใจลงทุนในธุรกิจ startup ที่ไม่ได้มี track record อะไรให้พิจารณาได้เท่าไหร่นัก
ถ้าใครกำลังจะลงทุนในบริษัท startup หรือ SME ที่ยังไม่รู้จะใช้เกณฑ์อะไรตัดสิน บทเรียนจากชาร์คทั้งสองที่คร่ำหวอดกับการลงทุนมานาน ลองผิดลองถูกจนเป็นผู้เชี่ยวชาญในระดับชาร์ค ก็น่าจะช่วยชี้ทาง ชี้ปัจจัยประกอบการลงทุนได้บ้าง
ในทางกลับกัน การที่จะเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ คำแนะนำของชาร์คก็น่าจะซ่อนคำตอบอะไรบางอย่างอยู่ในนั้นเช่นกัน
โฆษณา