24 ธ.ค. เวลา 04:31 • ข่าวรอบโลก

“จักรวรรดินิยมยุคใหม่” ทรัมป์ขู่จะยึด “คลองปานามา” และวาระซื้อ “กรีนแลนด์” กลับมาพูดถึงอีกครั้ง

วิเคราะห์เหตุผลที่แท้จริง ทำไม “ทรัมป์ 2.0” ถึงต้องการดินแดนเหล่านี้
2
“โดนัลด์ ทรัมป์” ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขู่ว่าสหรัฐฯ จะทำการเข้ายึด “คลองปานามา” ดูแลเอง ตามที่สหรัฐฯ ได้เคยส่งมอบคลองขุดเชื่อมต่อระหว่างสองมหาสมุทรใหญ่ให้ปานามาในปี 1999 ซึ่งเป็นคลองสำคัญที่ใช้ควบคุมการเดินเรือเพื่อย่นระยะทางและเวลา โดยทรัมป์กล่าวเช่นนี้ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ซึ่งสร้างความช็อกสำหรับคนฟังในงาน AmericaFest 2024 ที่เมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา เมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน [1]
เครดิตภาพ: The Indian Express
“หากหลักการทั้งทางศีลธรรมและกฎหมายจากของขวัญล้ำค่านี้ [จากสหรัฐอเมริกาที่ส่งมอบให้กับปานามา] ไม่ถูกยึดถือ เราก็จะเรียกร้องให้คืนคลองปานามากลับให้เราโดยสมบูรณ์ ทันที โดยไม่ต้องสงสัย” ทรัมป์กล่าวกับผู้สนับสนุนในงานดังกล่าว
ทรัมป์กล่าวว่า “ปานามาได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการผ่านทางใช้คลองนี้สูงเกินไป” และ “จีนกำลังใช้อิทธิพลผ่านการดำเนินการเหนือเส้นทางเดินเรือผ่านคลองดังกล่าว” ทรัมป์สัญญาว่าจะไม่ยอมให้คลองนี้ตกไปอยู่ใน “มือคนผิด” ตามที่รอยเตอร์ระบุ จีนไม่ได้เข้ามาควบคุมหรือจัดการคลองนี้ แต่บริษัทลูกของ CK Hutchison Holdings ในฮ่องกงกำลังดำเนินการธุรกิจท่าเรือสองแห่งที่ตั้งอยู่ที่ทางเข้าคลองปานามา
หลังจากงานจบลง โดนัลด์ ทรัมป์ ได้โพสต์ภาพคลองปานามาพร้อมธงชาติอเมริกาที่โบกสะบัดบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก Truth Social ของเขา ตามรูปด้านล่างนี้
เครดิตภาพ: Truth Social @realDonaldTrump
ภายหลังจากคำปราศรัยของทรัมป์ ประธานาธิบดี “โฮเซ ราอุล มูลิโน” แห่งปานามาได้โพสต์แถลงการณ์บนโซเชียลมีเดีย X โดยระบุว่าเอกราชของปานามาไม่ใช่เรื่องที่ต้องถกเถียงกัน (ไม่ใช่เอามาล้อเล่นกัน) และยืนยันว่าจีนไม่มีอำนาจอิทธิพลเหนือการบริหารจัดการคลองปานามา ประธานาธิบดีปานามาได้ปกป้องภาษีศุลกากรที่กำหนดไว้สำหรับเส้นทางการผ่านคลองปานามา [2]
“พื้นที่ทุกตารางเมตรของคลองปานามาและพื้นที่โดยรอบเป็นของปานามาและจะยังคงเป็นของปานามาต่อไป” ประธานาธิบดีมูลิโนกล่าว ในการตอบโต้คำแถลงของฝั่งปานามา รอยเตอร์สรายงานว่า ทรัมป์กล่าวว่า “เราจะรอดูเรื่องนี้!”
ประธานาธิบดี “โฮเซ ราอุล มูลิโน” แห่งปานามา (ซ้าย) เครดิตภาพ: Hindustan Times
  • ​วิเคราะห์เหตุผลทำไมทรัมป์จึงอยากได้คลองปานามา
ในปี 1903 สหรัฐอเมริกาได้เข้ายึดปานามาซึ่งตอนนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโคลัมเบีย ซึ่งหลังจากปานามาประกาศเอกราชแล้ว ก็ได้ส่งมอบคลองที่ยังขุดไม่เสร็จให้กับวอชิงตันทันที ตามสนธิสัญญาปี 1903 สหรัฐอเมริกาได้รับ “พื้นที่ดินและผืนดินใต้น้ำบริเวณคลองที่ยังขุดไม่เสร็จ” พร้อมกับ “สิทธิในการจัดการดินแดนในฐานะผู้มีอำนาจอธิปไตย”
สหรัฐอเมริกาได้ขุดคลองนี้จนเสร็จและดำเนินการคลองปานามาเป็นเวลาหลายทศวรรษหลังจากเปิดใช้ในปี 1920 เขตคลองปานามาอยู่ภายใต้การบริหารของสหรัฐฯ เป็นเวลาหลายปี ซึ่งมีการรับประกันความเป็นกลางของเส้นทางเดินเรือ แต่หลังจากความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศมานานหลายทศวรรษ ในที่สุดรัฐบาลของประธานาธิบดีคาร์เตอร์ก็ลงนามในสนธิสัญญาสองฉบับกับผู้บัญชาการกองทัพเรือปานามา โอมาร์ ตอร์ริโฮส ในปี 1977 เพื่อโอนการควบคุมเส้นทางเดินเรือที่สำคัญให้กับหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่
สหรัฐอเมริกาและปานามาลงนามในข้อตกลงในปี 1977 ซึ่งจะทำให้คลองนี้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของปานามา หลังจากบริหารจัดการร่วมกันเป็นเวลาหลายปี สหรัฐอเมริกาจึงส่งมอบคลองนี้ให้กับปานามาในปี 1999 แต่สหรัฐฯ ยังคงมีสิทธิ์ในการ “ป้องกันคลองจากภัยคุกคามใดๆ ต่อความเป็นกลางในการเดินเรือผ่าน” ตลอดเวลาที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกายังคงเป็นผู้ใช้คลองปานามารายใหญ่ที่สุด โดยคิดเป็นประมาณ 75% ของสินค้าที่ผ่านเส้นทาง 82 กิโลเมตรในแต่ละปี
1
เครดิตภาพ: CEPR
แล้วอะไรเป็นแรงกระตุ้นให้ทรัมป์อยากได้คลองปานามาในตอนนี้? จีน? ในขณะที่ปักกิ่งได้ขยายอิทธิพลเข้ามาในละตินอเมริกาในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา และบริษัทในฮ่องกงดำเนินการท่าเรือสองแห่งที่ปลายคลองทั้งสองฝั่ง แต่ทว่าไม่มีหน่วยงานการค้าภายใต้รัฐบาลจีนใดที่มีบทบาทโดยตรงในการจัดการการขนส่งทางน้ำบริเวณดังกล่าว
ดูเหมือนว่าทรัมป์ “ต้องการสร้างบรรทัดฐาน” หากในที่ใดที่หนึ่งบนโลก สิ่งที่สร้างขึ้นโดยชาวอเมริกันเริ่ม “ไม่ทำงานอย่างที่ควรจะเป็น” พวกเขาต้องการรู้สึกว่ามีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องสิ่งนั้นกลับคืนมาตามที่พวกเขาเรียกว่า “ระเบียบตามกฎเกณฑ์”
เขากำลังนำมาใช้กับรัสเซีย? ยกตัวอย่างในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกที่เป็นส่วนหนึ่งของ CMEA (The Council for Mutual Economic Assistance) กำลังการผลิต การขนส่ง และพลังงานจำนวนมหาศาลถูกสร้างขึ้นด้วยความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตเป็นหลักในอดีต ตอนนี้สิ่งเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในทางที่ไม่เป็นมิตรกับรัสเซียเองแบบไม่ควรจะเป็น อย่างในยูเครนอุตสาหกรรมด้านพลังงานหลักถูกสร้างขึ้นในช่วงหลายปีที่สหภาพโซเวียตมีอำนาจ
เครดิตภาพ: Military TV
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทรัมป์พิจารณาเรื่องการขยายอาณาเขตของสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน 2024 ทรัมป์ก็ออกมาพูดสนับสนุนให้แคนาดาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนนายกทรูโดของแคนาดาออกมานอยด์และติงเขาหลายหนแล้ว [3]
ในช่วงดำรงตำแหน่งสมัยแรกของทรัมป์ (2017–2021) เขามีความคิดที่จะให้สหรัฐฯ “ซื้อเกาะกรีนแลนด์” แต่เดนมาร์กปฏิเสธเขาอย่างแบบตอกหน้ากลับก่อนที่เขาจะเริ่มต้นการเจรจาเสียอีก ทรัมป์กลับมาพูดถึงการซื้อกรีนแลนด์อีกครั้งในวันที่ 22 ธันวาคม 2024 “สหรัฐอเมริกาเชื่อว่าการเป็นเจ้าของและควบคุมกรีนแลนด์มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติและเสรีภาพทั่วโลก” ทรัมป์กล่าวเรื่องนี้ในการประกาศเลือก “เคน โฮเวอรี” เป็นทูตสหรัฐประจำเดนมาร์ก (กรีนแลนด์ปัจจุบันเป็นดินแดนของเดนมาร์ก) [4]
ล่าสุดนายก “มูเต เอเกเด” ของดินแดนกรีนแลนด์ภายใต้ราชอาณาจักรเดนมาร์ก ได้ตอบโต้ข้อเสนอซื้อเกาะกรีนแลนด์ของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยระบุว่า “กรีนแลนด์เป็นของเรา เราไม่ใช่ของซื้อของขาย และเราจะไม่มีวันเป็นสินค้าขายให้ใคร เราต้องไม่ยอมแพ้การต่อสู้เพื่ออิสรภาพที่ยาวนานของเรา” เขากล่าวในแถลงการณ์ [5]
”มูเต เอเกเด” นายกของดินแดนกรีนแลนด์ (ซ้าย) เครดิตภาพ: Reuters / NASA
  • ​วิเคราะห์เหตุผลทำไมทรัมป์จึงอยากได้เกาะกรีนแลนด์
ทรัมป์ไม่ใช่ประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่บุกเบิกที่นี่ ในปี 1946 รัฐบาลของประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมนของสหรัฐฯ ประกาศว่าเกาะนี้ “มีความสำคัญต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ” เพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียตที่เพิ่มมากขึ้น และเสนอเงิน 100 ล้านดอลลาร์ให้เดนมาร์กเพื่อซื้อเกาะนี้ โดยก่อนหน้านั้นสหรัฐฯ เคยพิจารณาแนวคิดในการเข้าซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์กเป็นครั้งแรก พร้อมกับอลาสกาจากรัสเซียในปี 1867
ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยกับ “รัสเซีย” เหมือนในยุคโซเวียต ถ้าสหรัฐได้เกาะนี้ ที่นี่จะกลายเป็นฐานทัพทหารที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ เอง (ไม่ต้องพึ่งพันธมิตรยุโรป) เพื่อใช้ติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางโจมตีรัสเซีย เหมือนเป็นการชุบชีวิตใหม่ของโครงการ Iceworm ของกองทัพสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งถูกพับแผนไปจนถึงปัจจุบัน
1
ปัจจุบันเกาะแห่งนี้เป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศ Thule ของสหรัฐฯ (เช่าพื้นที่กรีนแลนด์) ซึ่งใช้สำหรับป้องกันสกัดขีปนาวุธ (จากรัสเซีย) แต่ตอนนี้กรีนแลนด์อาจกลายเป็นฐานทัพสำหรับเครื่องบินทิ้งระเบิดเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ อีกครั้ง ถ้าเข้ามาซื้อจริงๆ
1
กรีนแลนด์เองซึ่งมีสถานะเป็นเขตปกครองตนเองภายในราชอาณาจักรเดนมาร์ก โคเปนเฮเกนทำการตัดสินใจเฉพาะประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศ การเงิน และการป้องกันประเทศ ส่วนประเด็นที่เหลือจะอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลของรัฐบาลท้องถิ่น (กรีนแลนด์) ดังนั้นจากมุมมองทางกฎหมายการซื้อกรีนแลนด์ไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับสหรัฐฯ แต่อยู่ที่การโน้มน้าวใจหรือตามสไตล์ของทรัมป์คือ ใช้แรงกดดันเข้าช่วย
1
ทางเพจได้เคยลงบทความเกี่ยวกับ “กรีนแลนด์” กับการเข้ามามีอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา สามารถอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้
เรียบเรียงโดย Right Style
24th Dec 2024
  • ​เชิงอรรถ:
<เครดิตภาพปก: (พื้นหลัง) – CATO Institute (กรอบสี่เหลี่ยม-บน) – EB (กรอบสี่เหลี่ยม-ล่าง) – The Washington Post>
โฆษณา