24 ธ.ค. 2024 เวลา 07:54 • ศิลปะ & ออกแบบ
ท่าพิพิธภัณฑ์

“ท่าพิพิธภัณฑ์ (Museum Pier)”

พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งเดียวในประเทศไทยที่กำลังจัดแสดงประวัติศาสตร์ศิลปะไทยร่วมสมัยกว่า ๒๐๐ ปี ตั้งแต่ขรัวอินโข่ง ศิลปินชื่อดังในสมัยรัชกาลที่ 4 จนถึง Crybaby Molly ในชื่อ “200 Years Journal through Thai Modern Art History”
ท่าพิพิธภัณฑ์ หรือ Museum Pier ก่อตั้งโดยคู่สามีภรรยา พิริยะ-กรกมล วัชจิตพันธ์ ซึ่งสนใจศึกษาศิลปะสมัยใหม่ของไทยอย่างจริงจังจนกลายเป็นนักสะสมผลงานศิลปะตัวยง พร้อมกับก่อตั้งบริษัทประมูลงานศิลปะ The Art Auction Center ด้วยความตั้งใจที่จะปะติดปะต่อชิ้นส่วนประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ของไทยให้เกิดภาพรวมชัดเจนในรูปแบบพิพิธภัณฑ์เพื่อสาธารณชน เพราะเชื่อว่าผลงานศิลปะที่ไม่ตาย คือผลงานศิลปะที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้ร่วมสัมผัส
นิทรรศการในอาคารสามชั้น ในโครงการท่าช้าง-วังหลวง แบ่งออกเป็น 8 โซน จัดแบ่งแต่ละพื้นที่ด้วยสีที่แตกต่าง เล่าเนื้อหาอย่างเข้าใจง่าย สนุกไปกับการเรียนรู้ทีละโซน
ชั้นที่ 1 โซนสีเหลือง เริ่มต้นเล่าย้อนที่มา 200 ปีก่อน ศิลปะสมัยใหม่เข้าสู่เมืองไทยได้อย่างไร
เริ่มต้นจาก ชั้นที่ 1 โซนสีเหลือง ชื่อ “เคลื่อนสู่ปฐมศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย” นำสายตาเราด้วยภาพสีฝุ่นบนแผ่นไม้ของ ขรัวอินโข่ง (ราวสมัยปลายรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 4) ผู้ริเริ่มแหวกขนบการเขียนภาพแบบประเพณีไทยนิยมโดยสร้างมิติของภาพด้วยหลักทัศนียภาพแบบศิลปะของตะวันตกผสานกับงานจิตรกรรมฝาผนังและใช้สัญลักษณ์เป็นปริศนาธรรมแทนการวาดพุทธประวัติ
ต่อมารัชกาลที่ 5 ทรงสนพระราชหฤทัยในการปฏิรูปบ้านเมืองให้มีความก้าวหน้าอย่างนานาอารยประเทศ เพื่อให้สยามรอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ทรงว่าจ้างช่างชาวยุโรปเข้ามาเป็นสถาปนิกออกแบบงานสถาปัตยกรรมต่างๆ
ชั้นเดียวกัน โซนสีน้ำเงิน ชื่อ “อิทธิพลตะวันตกต่องานศิลปะในราชสำนักสยาม” เล่าเรื่องการเข้ามาของกล้องถ่ายรูปซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในราชสำนักสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 กิจกรรมถ่ายภาพได้รับความนิยมอย่างมากในราชสำนักและชนชั้นสูง ทรงโปรดการฉายพระบรมฉายาลักษณ์และทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ส่งพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ให้ศิลปินในยุโรปวาดภาพจิตรกรรมสีน้ำมัน
"อิทธิพลตะวันตกต่องานศิลปะในราชสำนักสยาม”
ลุถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงสืบสานพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ทรงว่าจ้างศิลปินจากยุโรป เช่น กาลิเลโอ คินี คาร์โล ริโกลี วิตโตริโอ โนวี เข้ามาทำงานตกแต่งพระราชวังและพระที่นั่งต่างๆ
ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงสนพระราชหฤทัยในทางศิลปะ ทรงมีพระราชดำริให้ตั้ง กรมศิลปากร และ โรงเรียนเพาะช่าง ขณะที่ในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการลดค่าใช้จ่ายในการจ้างศิลปินผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจหลังสงครามโลก ส่งผลให้ศิลปินไทยมีบทบาทมากยิ่งขึ้น
ภาพเหมือน ฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 6
เดินขึ้นบันไดชั้นที่ 2 โซนสีแดงร้อนแรง ชื่อ “ศิลปะแนวเหมือนจริง หรือ ศิลปะสัจนิยม” ศิลปะแนวนี้เริ่มปรากฎในไทยตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 4 แต่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 งานศิลปะแนวเสมือนจริงที่เคยจำกัดอยู่แต่ในราชสำนักได้แพร่หลายสู่ชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง และมวลชน
ศิลปะแนวเหมือนจริง
ชั้น 2 โซนสีเหลืองฝั่งตรงข้าม ชื่อ “ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี บิดาและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร” ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี พัฒนามหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการปูพื้นฐานการศึกษาศิลปะขั้นสูงเพื่อผลิตบุคลากรทางด้านศิลปะในประเทศไทย และสร้างแนวทางการบ่มเพาะความนิยมทางด้านศิลปะให้เกิดในคนไทย
ชีวิตและการทำงานของอาจารย์ศิลป พีระศรี
ผู้เขียนใช้ชีวิต 4 ปี ในรั้ววังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงเข้าถึงโซนนี้มากเป็นพิเศษ นั่งพินิจเวียนวนชื่นชมอยู่นานทีเดียว
นิทรรศการส่วนนี้แสดงตัวอย่างผลงานของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี หลากหลายชิ้น เช่น ต้นแบบเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกนิวัตพระนคร พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ต้นแบบเหรียญกษาปณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ส่วนถัดมา “ศิลปากร : กรม มหาวิทยาลัย และการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ” เล่าเรื่องราวการกำเนิดองค์กรและสถาบันเกี่ยวกับศิลปะของไทยโดยเฉพาะ
เดินขึ้นมาชั้นที่ 3 เราจะพบโซน "ศิลปะร่วมสมัย" ซึ่งน่าจะใกล้ตัวคนรุ่นนี้มากที่สุด ศิลปะร่วมสมัยของไทยถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยสำคัญ เช่น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลให้เกิดการนำเสนอเนื้อหาจากในประเทศสู่นานาชาติได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น กระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบที่แตกต่างและหลากหลาย การซื้อขายผลงานศิลปะก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ศิลปะร่วมสมัยบนชั้นสาม แสดงแนวคิดของศิลปินรุ่นใหม่
ความสนใจในแนวทางการสร้างสรรค์ศิลปะแบบตัวละคร เช่น street art และ toy art ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น
โซนสุดท้ายบนชั้น 3 ชื่อ “ศิลปะไทยสมัยใหม่ และหลังสมัยใหม่” นำเสนอกระแสนิยมในการแสวงหาอัตลักษณ์ความเป็นไทย ในประเด็นที่ศิลปินไทยยุคนี้พยายามขบคิดและแสดงออก
แสวงหาอัตลักษณ์ความเป็นไทยด้วยงานศิลปะ
ปิดท้ายด้วยผลงานของศิลปินร่วมสมัยอย่างคาแรกเตอร์ Crybaby ของ มอลลี่-นิสา ศรีคำดี จมอยู่ในอ่างอาบน้ำขนาดใหญ่และโผล่มาแต่ส่วนหัว แขนและขา โดยมีลูกบอลสีใสเต็มอ่างแทนความหมายของฟองสบู่
สองผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ฝากไว้ว่า “การมาเยี่ยมชมนิทรรศการที่นี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่มาดูงานศิลป์ แต่ผู้ชมยังได้เห็นบริบทที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วงเวลานั้น ๆ รวมถึงอิทธิพลจากภายนอกที่ส่งผลมายังแวดวงศิลปะของบ้านเรา เราอยากเปิดโอกาสให้คนรักงานศิลป์ได้ร่วมกันชื่นชมผลงานศิลปะ เพื่อเป็นการต่อลมหายใจผลงานชิ้นนั้นๆ รวมถึงเชิดชูจิตวิญญาณของศิลปินผู้สร้างให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน”
ผลงาน "Flower and fruits" ของกาลิเลโอ คินี จัดแสดงอยู่ชั้นที่ 1
ท่าพิพิธภัณฑ์ (Museum Pier) อยู่ในโครงการท่าช้าง วังหลวง ใกล้กับวัดพระแก้ว (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) ท่ามหาราช และท่าช้าง โดย นิทรรศการ “200 Years Journal through Thai Modern Art History” สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน 2568 ก่อนจะเปลี่ยนเป็นนิทรรศการหมุนเวียนต่อไป
เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น ค่าเข้าชมคนไทย 100 บาทเท่านั้นค่ะ คุ้มค่ามาก ของที่ระลึกบริเวณชั้น 1 ก็หน้าตาน่ารักน่าซื้อทีเดียว
โฆษณา