26 ธ.ค. เวลา 12:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

บทบาทของการจัดอันดับด้าน ESG ในการขับเคลื่อนตลาดทุนไทยสู่ความยั่งยืน

โดย ฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืน
สำนักงาน ก.ล.ต.
ปัจจุบันเรื่องการประกอบธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Environmental, Social and Governance: ESG) เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainability) ของบริษัท โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกกล่าวถึงหรือเป็นความคาดหวังจากผู้ลงทุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders) ในทุกภาคส่วน
ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ทำให้เป็นอีกกลไกหนึ่งที่สำคัญนอกเหนือจากกฎเกณฑ์ที่กำหนดโดยหน่วยงานกำกับดูแล ที่กระตุ้นให้บริษัทมีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน เพื่อสื่อสารให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าใจถึงนโยบายเป้าหมาย แผนธุรกิจ การจัดการความเสี่ยงด้าน ESG และผลการดำเนินงานของบริษัท
ซึ่งในปัจจุบันนอกจากบริษัทต้องรับรองความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลที่ได้เปิดเผยเองแล้ว (Internal Assurance) ในระดับสากลยังมีการพูดไปถึงการรับรองการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืน (Sustainability Reporting Assurance)*
โดยหน่วยงานรับรองภายนอก (External Assurance) ที่มีแนวโน้มในการนำมาใช้อีกด้วย เพื่อให้ข้อมูลมีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และช่วยลดปัญหาการฟอกเขียว (Greenwashing)**
แม้ปัจจุบันยังไม่มีคำนิยามหรือคำจำกัดความของ ESG ที่เป็นที่ตกลงร่วมกันในระดับสากล หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มิติ E-S-G ของแต่ละบริษัทอาจมีความหมายที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจ สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และบริการ พันธกิจ วิสัยทัศน์ ตลอดจนคุณค่าหลัก
ของกิจการ
ดังนั้น การประเมินหรือการจัดอันดับด้าน ESG (ESG Ratings) จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่เข้ามามีบทบาทช่วยให้ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีข้อมูลเพื่อสามารถเปรียบเทียบการดำเนินการด้าน ESG ของแต่ละบริษัท สำหรับประกอบการตัดสินใจลงทุนหรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ จากรายงาน Rate the Raters 2023: ESG Ratings at a Crossroadsซึ่งจัดทำโดย The SustainAbility Institute by ERM*** พบว่า ร้อยละ 53 ของผู้ลงทุนสถาบัน นำการจัดอันดับ ESG ของบริษัทมาใช้ในกระบวนการตัดสินใจลงทุน และมากกว่าร้อยละ 94 ใช้การจัดอันดับ ESG อย่างน้อยเดือนละครั้ง
ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 78 ในปี 2561 - 2562 สะท้อนถึงแนวโน้มความต้องการใช้ข้อมูลการจัดอันดับด้าน ESG ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้จัดอันดับด้าน ESG ในระดับสากล (ESG Ratings Provider) มีการจัดอันดับบริษัทจดทะเบียนไทยหลายบริษัทด้วย
ในปี 2564 องค์กรคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นานาชาติ (International Organization of Securities Commissions: IOSCO) ได้เผยแพร่รายงาน Environmental, Social and Governance (ESG) Ratings and Data Products Providers**** ซึ่งได้ศึกษาและทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมและกลไก
ของการจัดอันดับด้าน ESG และการให้บริการข้อมูล ESG ซึ่งจะมีผลเกี่ยวพันต่อระบบนิเวศของการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Ecosystem)
โดย IOSCO ได้ให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้จัดอันดับด้าน ESG ควรกำหนดปัจจัยที่ครบถ้วนเพื่อให้สามารถจัดอันดับที่มีคุณภาพสูง
รวมทั้งเปิดเผยแหล่งข้อมูลที่ใช้ วิธีการจัดอันดับ (Methodologies) การจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ความโปร่งใสระดับสูงในการปฏิบัติงาน และการรักษาความลับของข้อมูล
ส่วนหน่วยงานกำกับดูแลควรให้ความสนใจในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลการจัดอันดับด้าน ESG มากขึ้น ตลอดจนวางแนวทางการกำกับดูแลผู้จัดอันดับด้าน ESG อย่างเหมาะสมกับบริบทและสภาพแวดล้อมในประเทศของตน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบว่า หน่วยงานกำกับดูแลในหลายประเทศได้นำหลักการและข้อเสนอแนะของ IOSCO มาใช้ประกอบการกำหนดแนวทางการกำกับดูแลผู้จัดอันดับด้าน ESG เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือมากขึ้น เช่น สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง
ซึ่งจัดทำหลักจรรยาบรรณ (Codes of Conducts) เพื่อให้ผู้จัดอันดับด้าน ESG นำไปปรับใช้และเปิดเผยผลการปฏิบัติของตนต่อสาธารณะเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในขณะที่สหภาพยุโรปและอินเดีย ได้ออกกฎเกณฑ์ (Regulations) กำหนดให้ผู้จัดอันดับด้าน ESG ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล จึงจะสามารถให้บริการในประเทศของตนได้ เป็นต้น
สำหรับตลาดทุนไทยมีการประเมินหรือจัดอันดับที่นำปัจจัย ESG มาประกอบการพิจารณาด้วยเช่นกันอย่างเช่น โครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies: CGR) โครงการ ASEAN Corporate Governance Scorecard***** ที่ดำเนินการโดย
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors: IOD)
ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment) ที่ได้พัฒนามาสู่ SET ESG Ratings และกำลังจะยกระดับการประเมินด้วยเกณฑ์สากลของ FTSE
Russell ESG Scores ดำเนินการโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น
การประเมินหรือการจัดอันดับดังกล่าวเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่กระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนตระหนักถึงความสำคัญของ ESG ตลอดห่วงโซ่คุณค่า และมีการปรับปรุงการดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและสามารถเปรียบเทียบ (Peer Pressure) กับบริษัทจดทะเบียนอื่น อันจะนำมาซึ่งการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ตอบโจทย์ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนช่วยยกระดับความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนและตลาดทุนโดยรวม
ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและพัฒนานโยบายเพื่อตลาดทุนที่ยั่งยืนได้ตระหนักถึงเรื่องความยั่งยืน ซึ่งเป็นถนนที่ทุกภาคส่วนเดินไปข้างหน้าร่วมกัน จังหวะการก้าวเดินของแต่ละภาคส่วนจึงควรบูรณาการไปด้วยกัน ดังนั้น “ความร่วมมือ” รวมทั้งการติดตามพัฒนาการด้วยความเข้าใจและปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย จึงเป็นสิ่งที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดผลที่ดียิ่งขึ้นเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ (Trust and Confidence) สำหรับตลาดทุนไทยต่อไป
* สามารถศึกษาเพิ่มเติมจากบทความ “ทิศทางการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนและการกำกับดูแลกิจการ” จัดทำโดย
ฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืน สำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 หรือ link : https://www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2567/190767.pdf
** การฟอกเขียว หมายถึง การทำให้ผู้ลงทุนหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าใจผิดว่าบริษัทมีการดำเนินการเพื่อความยั่งยืน
โดยที่ในความเป็นจริงบริษัทมิได้กระทำเช่นนั้น
**** ข้อมูลเพิ่มเติม Link : https://www.iosco.org/library/pubdocs/pdf/IOSCOPD690.pdf
***** หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Capital Market Forum) ได้ริเริ่มให้มีการประเมินและจัดอันดับบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วมการประเมิน 6 ประเทศ ได้แก่
อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
โฆษณา