25 ธ.ค. เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สรุปมหากาพย์ แย่งชิงหุ้น Nissan ในโพสต์เดียว

ข่าวใหญ่วงการรถยนต์ช่วงนี้ คงหนีไม่พ้น Nissan ที่เตรียมควบรวมกิจการกับ Honda และอาจรวมถึง Mitsubishi ที่มาร่วมด้วยอีกราย
แต่กว่าจะตกลงกันได้ ก็มีตัวละครเข้ามาร่วมช่วงชิงหุ้น Nissan มากมาย จนกลายเป็นเรื่องราวที่ยืดเยื้อกว่าสัปดาห์
การแย่งชิงหุ้น Nissan ดุเดือดแค่ไหน ?
และมีตัวละครอะไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เรื่องนี้มีตัวละครหลักอยู่ 4 กลุ่ม นั่นคือ
- กลุ่ม Renault แบรนด์รถยนต์ฝรั่งเศส
- กลุ่ม Honda แบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่น
- กลุ่ม Mitsubishi แบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่น
- กลุ่ม Foxconn แบรนด์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
แล้ว 4 ตัวละครนี้ เกี่ยวอะไรกับ Nissan บ้าง ?
เริ่มกันที่กลุ่ม Renault
หลายคนอาจจะไม่คุ้นชื่อมากนัก เพราะไม่ใช่แบรนด์ยอดนิยมที่คนไทยใช้กัน
แต่สรุปสั้น ๆ ก็คือเป็นบริษัทรถยนต์ฝรั่งเศส ที่มีมูลค่าราว 470,000 ล้านบาท
2
แม้จะเป็นแบรนด์รถยนต์ที่อยู่ไกลถึงฝรั่งเศส
แต่สุดท้ายก็มาเจอกับแบรนด์รถญี่ปุ่นอย่าง Nissan ในปี 1999
1
ที่ในเวลานั้น Nissan กำลังเจอปัญหาเรื่องการชำระหนี้
โดยมีเงินกู้ยืมระยะสั้น และหนี้ที่ถึงกำหนดชำระใน 1 ปี
ราว 569,000 ล้านบาท
2
และถ้าเราไปดูกระแสเงินสดอิสระ ที่คิดจากเงินสดจากการดำเนินงาน หักรายจ่ายจากการลงทุน (Capital Expenditures) แล้ว จะพบว่า
2
- ปี 1997 กระแสเงินสดอิสระ 82,091 ล้านบาท
- ปี 1998 กระแสเงินสดอิสระ 66,365 ล้านบาท
- ปี 1999 กระแสเงินสดอิสระ 96,044 ล้านบาท
แปลได้ว่า หนี้สินที่ Nissan ต้องจ่าย มากกว่ากระแสเงินสดที่บริษัทสร้างได้จริงเกือบถึง 5 เท่า
สุดท้าย Nissan ก็ไปจับมือกับ Renault จากฝรั่งเศส
โดยให้ Renault เข้ามาถือหุ้นใหญ่ 43.4% เพื่อนำเงินมาชำระหนี้มหาศาลของตัวเอง
Renault จึงกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของ Nissan มาจนถึงทุกวันนี้
แต่ดีลนี้ ก็ไม่ใช่ว่า Nissan ได้ประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว เพราะ Renault ได้ความเชี่ยวชาญด้านการเจาะตลาดอเมริกาเหนือของ Nissan ที่ตัวเองยังเจาะไม่ได้
นอกจากนี้ การเป็นพันธมิตรของทั้งคู่ ก็เรียกได้ว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัว โดยฝั่ง Nissan เด่นเรื่องเทคโนโลยีการผลิตรถ ส่วน Renault ก็เด่นเรื่องการออกแบบดิไซน์ที่ล้ำสมัย
ซึ่งการร่วมมือในครั้งนั้น ทาง Renault ก็ได้ส่งคุณ Carlos Ghosn มาเป็น CEO คนใหม่ของ Nissan ด้วย
2
เขาคนนี้ โปรไฟล์ไม่ธรรมดาด้วยฉายา Le Cost Killer หรือจอมชุบกิจการตัวยง ที่สามารถพลิกกิจการจากขาดทุนให้กลับมามีกำไรได้
ตั้งแต่การเป็น CEO ของ Michelin ที่บราซิลในปี 1985 ตามมาด้วยการเป็น CEO ที่ Renault ในปี 1996
ก็ทำให้บริษัททั้งสองพลิกมามีกำไรใน 1-2 ปีเท่านั้น
1
และเมื่อเขามาเป็น CEO ของ Nissan แค่ปีเดียว ก็ทำให้บริษัทกลับมามีกำไรและฟื้นตัวได้อีกครั้ง
และ Nissan เองก็ได้มาถือหุ้นใน Renault กลับบ้าง
ด้วยสัดส่วนราว 15% กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 จนถึงตอนนี้
สายสัมพันธ์ระหว่าง Nissan และ Renault ก่อตัวมาเรื่อย ๆ จนไปเชื่อมโยงกับกลุ่ม Mitsubishi ในปี 2016
ในปีนั้น คุณ Carlos Ghosn ตัดสินใจนำ Nissan เข้าไปถือหุ้นใหญ่ใน Mitsubishi Motors ด้วยสัดส่วน 34%
ซึ่งเป็นจังหวะที่ Mitsubishi Motors เจอข่าวฉาวเรื่องเทคโนโลยีรถยนต์ที่ไม่ได้ประหยัดน้ำมันจริง ๆ ทำให้ Nissan อาศัยจังหวะนี้ เข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัทแทน
5
และหลังจากดีลนี้สำเร็จ Nissan ก็สร้างพันธมิตร 3 กลุ่มรถยนต์ Renault-Nissan-Mitsubishi เพื่อแลกเปลี่ยนการพัฒนาเทคโนโลยีของรถระหว่างกัน
1
เรื่องนี้ก็ดูจะส่งผลดี เพราะในปี 2016 ยอดขายรถยนต์ทั่วโลกของทั้งกลุ่ม Renault-Nissan-Mitsubishi รวมกันอยู่ที่ 9.96 ล้านคัน อยู่ในอันดับ 4 ของโลก
1
ผ่านไปแค่ปีเดียว กลุ่มนี้มียอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 10.61 ล้านคัน ไต่อันดับขึ้นมาเป็นที่ 2 ของโลกได้ในปี 2017
แซงหน้า Toyota และเป็นรองเพียงกลุ่ม Volkswagen เท่านั้น..
แต่ในปีถัดมา คุณ Carlos Ghosn กลับถูกจับกุมในข้อหารายงานรายได้น้อยกว่าความเป็นจริง และใช้เงินบริษัทไปกับเรื่องส่วนตัว จนสุดท้ายเขาหลบหนีออกนอกญี่ปุ่น
และหลังจากนั้น กลุ่มพันธมิตรนี้ ก็มียอดขายรถยนต์ที่ลดลงเรื่อย ๆ
1
ถึงตรงนี้ ถ้าสรุปความสัมพันธ์กันอีกรอบ ก็คือ
- Renault ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ใน Nissan
- Nissan ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ใน Renault
- Nissan ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ใน Mitsubishi Motors
เรื่องราวของ 3 พันธมิตรก็ดำเนินเรื่อยมา
จนกระทั่ง Nissan เกิดปัญหาวิกฤติธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา ทั้งหนี้สินที่พอกพูน และยอดขายรถที่พลาดเป้า
1
พันธมิตรที่เคยแน่นแฟ้น ก็เริ่มค่อย ๆ เหินห่าง
เพราะ Nissan ตัดสินใจขายหุ้น 10% ใน Mitsubishi Motors เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อหาเงินมาเสริมสภาพคล่อง
แถม Renault เอง ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Nissan ก็มีแผนลดการถือหุ้นใน Nissan ลงเรื่อย ๆ
พอเป็นแบบนี้ Nissan เริ่มมองหาพาร์ตเนอร์บริษัทรถยนต์อื่น ๆ เข้ามาช่วย ทดแทนพันธมิตรเดิมที่กำลังเหินห่าง
สุดท้ายก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นอย่าง Honda นั่นเอง
ที่ผ่านมา Nissan ได้จับมือกับ Honda เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ในรถยนต์ร่วมกัน และเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม เริ่มมีข่าวว่าทั้งคู่ มีแผนที่จะควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน
ซึ่งถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด การเจรจาเพื่อควบรวม ก็คงราบรื่นไปได้ด้วยดี
แต่วันถัดมา กลับมีอีกตัวละครหนึ่งที่เข้ามา นั่นคือ Foxconn จากไต้หวัน..
Foxconn เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ให้แบรนด์ต่าง ๆ มากมาย เช่น Apple, Sony, Xiaomi รวมทั้งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 22% ใน Sharp จากญี่ปุ่นด้วย
ดูแค่นี้ เรียกได้ว่า Foxconn แทบไม่เกี่ยวอะไรกับธุรกิจรถยนต์เลยด้วยซ้ำ
แต่ปัจจุบัน Foxconn มีแผนขยายธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งการเป็นเจ้าของ Sharp ก็ช่วยให้ Foxconn เข้าถึงการผลิตอุปกรณ์ในรถยนต์
และในวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา คุณ Jun Seki ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์รถยนต์ไฟฟ้าของ Foxconn ที่เคยเป็นผู้บริหารของ Nissan ได้บินไปเจรจากับ Renault ที่ฝรั่งเศส
ซึ่งคาดกันว่า ด้วยการที่ Renault เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Nissan อยู่แล้ว การทำแบบนี้ก็ยิ่งเห็นชัดว่า Foxconn อาจกำลังอยากเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แทน
เพราะการเป็นเจ้าของ Nissan จะทำให้ Foxconn สามารถพัฒนาธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าได้รวดเร็วมากขึ้น
เมื่อข่าวออกมาแบบนี้ Honda จึงออกมาตอบโต้และขู่ว่า หาก Nissan ไปร่วมเป็นพันธมิตรกับ Foxconn ทั้งคู่จะตัดขาดการเป็นพันธมิตรด้วยกันทันที..
แต่การทำแบบนี้ของ Foxconn ก็ทำให้การเจรจาควบรวมกิจการระหว่าง Nissan และ Honda ถูกเร่งมากขึ้น
จนสุดท้าย ก็ลงนามตกลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 ธันวาคม
1
โดยจะจัดตั้งบริษัทโฮลดิงขึ้นมา ซึ่งอาจมี Mitsubishi เข้ามาร่วมด้วย ให้กลายเป็นกลุ่มพันธมิตรใหม่ Honda-Nissan-Mitsubishi
ทั้งหมดนี้ ก็คือเรื่องราวการแย่งชิงหุ้น Nissan ระหว่าง Foxconn และ Honda
ซึ่งก็ได้เกี่ยวข้องกับ Renault และ Mitsubishi ที่ได้กลายมาเป็นหนึ่งในตัวละครหลัก ที่ส่งผลกับเรื่องนี้ด้วย
1
โดยเฉพาะฝั่ง Renault ที่เป็นผู้กุมอำนาจคนสำคัญในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Nissan หาก Renault ตัดสินใจขายหุ้นให้ Foxconn จริง เกมนี้ก็อาจจะเปลี่ยนได้
ดังนั้น Renault ก็ยังเป็นตัวละครหลักที่ Honda กับ Nissan ต้องไปเจรจาอยู่ดี เพื่อให้การควบรวมกิจการระหว่างกันเป็นไปอย่างราบรื่น
สุดท้ายแล้ว เกมนี้ดูเหมือนว่า Renault อยู่เหนือทุกคน เพราะไม่ต้องทำอะไร ก็ต้องมีคนเข้าหา เพราะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ใน Nissan อยู่แล้ว
3
ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า หลังจากนี้ Renault จะทำอย่างไรต่อ จะขายหุ้น Nissan ทั้งหมดทิ้ง หรือจะยอมร่วมกับพันธมิตรใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ไปด้วยกัน..
โฆษณา