24 ธ.ค. เวลา 14:03

สรุปใน 7 ข้อ มาตรการ “Easy E-Receipt 2.0” ช็อปลดหย่อนภาษี สูงสุด 50,000 บาท เริ่ม 16 ม.ค. ปีหน้า

- วันนี้คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการมาตรการลดหย่อนภาษี ชื่อว่า Easy E-Receipt 2.0
สำหรับคนที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการช็อปปิงไปลดหย่อนภาษี โดยใช้สิทธิ์ช็อปได้สูงสุด 50,000 บาท
- มาตรการนี้คล้ายกับ Easy E-Receipt ที่เคยใช้มาก่อนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ Easy E-Receipt 2.0 มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขบางอย่างให้แตกต่างจากเดิมเล็กน้อย
ซึ่ง MarketThink สรุปให้ใน 7 ข้อ
1. ระยะเวลาของโครงการนี้
เริ่มช่วงต้นปีหน้า คือปี 2568 โดยสามารถเอายอดช็อปตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568
2. เงื่อนไขในการใช้สิทธิ์ของโครงการนี้
สามารถช็อปเพื่อใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท โดยแบ่งออกเป็น
- ลดหย่อนตามที่ใช้จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับการซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (มี e-Tax Invoice) หรือผู้ที่ไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่มี e-Receipt เป็นหลักฐาน
- ลดหย่อนได้เพิ่มอีกตามจำนวนที่ใช้จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือบริการที่มี e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เป็นหลักฐาน
1
โดยจำกัดสินค้าหรือบริการเฉพาะ 3 ประเภทต่อไปนี้
- สินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน
- สินค้าหรือบริการจากวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร
- สินค้าหรือบริการจากวิสาหกิจเพื่อสังคมที่จดทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในกลุ่มสินค้า OTOP, วิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจเพื่อสังคม สามารถใช้ลดหย่อนได้ทั้งในส่วนแรก (30,000 บาท) และส่วนเพิ่ม (20,000 บาท) โดยรวมกันต้องไม่เกินวงเงินสูงสุด 50,000 บาท
สรุปเงื่อนไขแบบภาษาเข้าใจง่าย ๆ อีกทีคือ
- เราสามารถใช้สิทธิ์ช็อปเพื่อลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท
- แบ่งเป็นซื้อสินค้าทั่วไปให้ครบ 30,000 บาท เพื่อใช้สิทธิ์ลดหย่อนในส่วนแรก และถ้าอยากช็อปเพิ่มอีก 20,000 บาท ต้องซื้อสินค้า OTOP และบริการจากวิสาหกิจชุมชน
- หรืออีกทางคือ จะซื้อสินค้า OTOP และบริการจากวิสาหกิจชุมชน ให้ครบ 50,000 บาท ทีเดียวเลยก็ได้
3. เงื่อนไขที่จะนำมาคำนวณได้ ต้องมีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือต้องมีใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เท่านั้น ไม่สามารถใช้รูปแบบกระดาษแทนได้
4. เราไม่ต้องเก็บรักษาใบกำกับภาษี เพราะข้อมูลจะถูกส่งเข้าฐานข้อมูลของกรมสรรพากรอัตโนมัติตามหมายเลขผู้เสียภาษีของเรา
และที่สำคัญคือ e-Tax Invoice และ e-Receipt จะต้องระบุ ชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของเราด้วย
1
5. หากซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ขายที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำมาลดหย่อนได้เฉพาะในกรณีเป็นค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร รวมถึง e-Book และสินค้าวิสาหกิจชุมชน หรือบริการที่เข้าเงื่อนไขตามที่กำหนด (รอติดตามเงื่อนไขที่ชัดเจนอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้)
6. การลดหย่อนสูงสุด 50,000 บาท ไม่ได้หมายความว่า ยอดช็อปทั้งหมดจะถูกนำไปหักลดหย่อนภาษีเต็มจำนวน
แต่สามารถเอาไปลดหย่อนภาษีได้มากสุด ตามอัตราภาษีที่เราต้องเสีย
ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามียอดใช้จ่ายครบ 50,000 บาท
- คนที่เสียภาษีในอัตรา 5% สามารถลดค่าใช้จ่ายทางภาษีได้มากสุด 2,500 บาท
- คนที่เสียภาษีในอัตรา 10% สามารถลดค่าใช้จ่ายทางภาษีได้มากสุด 5,000 บาท
- คนที่เสียภาษีในอัตรา 15% สามารถลดค่าใช้จ่ายทางภาษีได้มากสุด 7,500 บาท
- คนที่เสียภาษีในอัตรา 20% สามารถลดค่าใช้จ่ายทางภาษีได้มากสุด 10,000 บาท
พูดง่าย ๆ คือ คนที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมมาตรการนี้ก็ได้
7. ตัวอย่างสินค้าที่ไม่เข้าเงื่อนไขลดหย่อนภาษีตามมาตรการนี้ เช่น
- สุรา, เบียร์, ไวน์, ยาสูบ
- ซื้อรถยนต์, จักรยานยนต์
- น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่าน้ำประปา, ค่าไฟฟ้า
- ค่าบริการสัญญาณมือถือ-บริการอินเทอร์เน็ต
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
#EasyEReceipt
#ลดหย่อนภาษี
#ลดหย่อนภาษี68
______________________________________
โฆษณา