25 ธ.ค. 2024 เวลา 08:03 • ข่าว

จับเทรนด์ปี 68 “ทอง” ขาขึ้น ลุ้นแตะ 3,000 เหรียญ ทะลุบาทละ 50,000

4 ผู้ค้าทองรายใหญ่ จับกระแสทองคำปี 2568 ลุ้นทุบสถิติใหม่ มองยังเป็น “ขาขึ้น” แต่ไม่ร้อนแรงเท่าปี’67 “ฮั่วเซ่งเฮง” ลุ้นทองโลกแตะ 3,000 ดอลลาร์ จับตาปัจจัย “สงคราม-เฟดลดดอกเบี้ย” เป็นแรงหนุน “YLG” มองทองไทยมีโอกาสไปถึง 50,000 บาท ผลแรงกระแทกนโยบายทรัมป์กดบาทอ่อน “โกลเบล็ก” มองทองคำแกว่งไซด์เวย์แนวรับ 2,420 ดอลลาร์ จับตาโรคระบาดใหม่ปัจจัยหนุน “ออสสิริส” คาดไตรมาส 1-2 ทองปรับฐานที่ 2,500 ดอลลาร์ แนะเป็นจังหวะสะสม
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากปี 2567 ถือเป็นปีที่ร้อนแรงของสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง “ทองคำ” โดยราคาทองคำพุ่งทำสถิติ All Time High หลายครั้ง และทำสถิติสูงสุดที่ 2,790 ดอลลาร์/ออนซ์ ช่วงเดือนตุลาคม 2567 ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ขณะที่ราคาทองไทยสูงสุดที่ 44,550 บาท และช่วงเดือนพฤศจิกายนราคาก็เริ่มย่อตัว
นางศิริลักษณ์ ปโกฏิประภา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ราคาทองคำโลกในปี 2567 ปรับเพิ่มขึ้นได้ค่อนข้างสูง Gold Spot ทำนิวไฮแตะ 2,790 ดอลลาร์/ออนซ์ และสามารถทำผลตอบแทนได้สูงสุดในประวัติการณ์ที่ 35% โดยมากกว่าตอนที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่ให้ผลตอบแทนได้ประมาณ 31% และมากกว่าช่วงวิกฤตโควิด-19
โดยสาเหตุที่ทำให้ปี 2567 ราคาทองคำปรับขึ้นได้สูงมาจาก 1.ประเด็นความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ในการทำสงครามระหว่างอิหร่าน-อิรัก 2.ตลาดมองว่าแนวโน้มดอกเบี้ยที่เป็นขาลง 3.ประเด็นความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ราคาทองคำมักจะเพิ่มขึ้นก่อนการเลือกตั้ง เป็นต้น
ปี’68 ลุ้นแตะ 3,000 เหรียญ
ส่วนปี 2568 ประเมินว่าราคาทองจะแกว่งตัวได้ค่อนข้างสูง โดยมองว่าราคาทองคำน่าจะปรับขึ้นได้สูงสุดที่ 3,000 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยมองกรอบกว้าง ๆ ปีหน้า 2,400-3,000 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากปัจจัยที่จะสนับสนุนราคาทองคำให้พุ่งสูงได้ คือความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่คาดการณ์ได้ค่อนข้างยาก รวมถึงกระแส Dedollarization หรือการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ อาจจะสนับสนุนราคาทองคำ
ขณะที่ปัจจัยที่อาจส่งผลลบต่อราคาทองคำในปีหน้า ได้แก่ การเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของโดนัลด์ ทรัมป์ โดยจะสังเกตได้ว่าหลังจบการเลือกตั้ง ราคาทองคำปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากตลาดมองว่าการเข้ามาของทรัมป์จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้น และจะทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นจากนโยบายการทำสงครามการค้า ซึ่งจะทำให้สินค้าของสหรัฐเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ หากเงินเฟ้อสหรัฐเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการลดดอกเบี้ยได้ในปีหน้า ซึ่งหลังการประชุมเฟดครั้งล่าสุด ได้มีการส่งสัญญาณว่าจะชะลอการปรับลดดอกเบี้ย เหลือเพียง 2 ครั้ง จากเดิมที่มองว่าจะปรับลดลงถึง 4 ครั้ง
นางศิริลักษณ์กล่าวว่า ในระยะสั้นแน่นอนว่านโยบายของทรัมป์ส่งผลลบกับราคาทองคำ แต่ถ้ามองไปถึงระยะยาว สิ่งที่เกิดขึ้นคือสหรัฐจะขาดดุลงบประมาณมากขึ้น และจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกกับราคาทองคำในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามว่านโยบายที่หาเสียงไว้กับการบริหารประเทศจริง ๆ จะเป็นอย่างไร
“การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดมีผลกับราคาทองคำค่อนข้างมาก โดยปีนี้ดอกเบี้ยเฟดเป็นปัจจัยบวกกับทองคำ แต่ปีหน้าอาจจะกลายเป็นปัจจัยลบ หรืออาจเป็นปัจจัยที่ไม่แน่นอน สมมุติเศรษฐกิจสหรัฐไม่ดีแบบที่คิดไว้ คนตกงานเพิ่มขึ้น เฟดอาจจะลดดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดไว้ก็ได้ ทั้งนี้ จากสถิติทองคำมักจะปรับขึ้นช่วงต้นเดือนมกราคม โดยจังหวะที่ทองปรับตัวลงแนะนำทยอยซื้อได้ ที่แนวรับ 2,540 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งมองว่าราคาทองคำจะรีบาวนด์ขึ้นได้”
YLG มองทองยังขาขึ้น
ด้าน นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) กล่าวว่า นักวิเคราะห์จากธนาคารชั้นนำหลายแห่งยังคงให้น้ำหนักทองคำในปีหน้าว่าจะมีโอกาสขึ้นไปที่ 3,000 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากยังมีปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ ประเด็นความเปราะบางทางเศรษฐกิจ และเรื่องการซื้อทองคำของธนาคารกลางทั่วโลก สนับสนุนให้ทองคำยังคงได้รับความสนใจในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย แม้ว่าระยะสั้นจะสลับมาแกว่งตัวสร้างฐานบ้าง
ส่วนราคาทองคำในประเทศไทย YLG มองว่า ปี 2568 จะมีโอกาสไปถึง 50,000 บาท เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐ จึงตกเป็นประเทศเป้าหมายที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะดำเนินนโยบายภาษีนำเข้า จึงอาจจะส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยปีหน้าเคลื่อนไหวไปในทิศทางอ่อนค่า และส่งผลดีต่อราคาทองคำในประเทศ
โฆษณา