Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Timeless History (ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา)
•
ติดตาม
26 ธ.ค. 2024 เวลา 04:05 • ประวัติศาสตร์
ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในจีน เมื่อพ่อแม่ต้องกินเนื้อบุตรหลานตนเองเพื่อความอยู่รอด
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา โลกได้ผ่านพ้นทั้งสงคราม โรคระบาด และภัยธรรมชาติต่างๆ มากมาย
แต่สำหรับภัยธรรมชาติที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งนั้นเกิดขึ้นทางเหนือของประเทศจีนในช่วงปลายศตวรรษที่ 19
เหตุเภทภัยนี้คือเหตุการณ์ทุพภิกขภัยในภาคเหนือของจีนในช่วงระหว่างค.ศ.1876-1879 (พ.ศ.2419-2422) ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง โดยเริ่มมาจากเหตุการณ์ภัยแล้งในต้นปีค.ศ.1876 (พ.ศ.2419) ส่งผลให้การเพาะปลูกล้มเหลว
จากประชากรทั้งหมด 108 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 13 ล้านคน
เรื่องราวเป็นอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟังครับ
ในช่วงศตวรรษที่ 19 นับเป็นช่วงเวลาที่ชาวจีนเรียกว่า “ศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู (Century of Humiliation)”
ราชสำนักชิงนั้นพ่ายแพ้ในสงครามต่อต่างชาติเกือบจะทุกสมรภูมิ และต้องขุดทรัพยากรทั้งหมดที่มีเพื่อปราบปรามกลุ่มกบฏ
เงินในท้องพระคลังแทบจะหมดเกลี้ยง อีกทั้งยังเกิดการกบฏและความวุ่นวายภายในประเทศอีกหลายครั้ง ทำให้เสบียงของแต่ละท้องที่ที่เก็บสำรองไว้ลดลงอย่างฮวบฮาบ
เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่จีนไม่พร้อมจะเจอกับภัยธรรมชาติเลย แค่ลำพังความวุ่นวายที่ผ่านมาก็ทำให้แทบจะไปต่อไม่ได้แล้ว
แต่แล้วในช่วงต้นปีค.ศ.1876 (ค.ศ.2419) ภาคเหนือของจีนก็ต้องเผชิญกับภัยแล้งครั้งใหญ่ ทำให้การเพาะปลูกตายสนิท
ที่ผ่านมา จีนก็เคยผ่านช่วงทุพภิกขภัยมาแล้วหลายครั้ง โดยรัฐบาลจีนได้ออกกฎให้มีการกักตุนเสบียง ชาวนาชาวไร่ต้องกักตุนเสบียงสำรองไว้เป็นจำนวนหนึ่งปีต่อการเพาะปลูกสามปี
2
แต่ในเวลานี้ เสบียงสำรองที่กักตุนไว้ก็แทบจะหมดเกลี้ยง ทำให้ในบริเวณที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ราคาอาหารนั้นพุ่งสูงกว่าเดิมกว่าสิบเท่า
ในไม่ช้า ประชาชนก็ตระหนักได้ว่าสถานการณ์นั้นแย่เกินกว่าที่จะแก้ไขได้ และหากรัฐบาลยังไม่ช่วยเหลือ พวกตนต้องตายแน่
ด้วยเหตุนี้ทำให้ครอบครัวหลายครอบครัวต้องตัดสินใจเลือกว่าจะเลี้ยงปากท้องของใคร และใครในครอบครัวที่จำเป็นต้องทอดทิ้ง โดยกลุ่มแรกที่ถูกทอดทิ้งก็คือเหล่าบุตรสาว
2
แต่ถึงอย่างนั้น ปัญหาขาดแคลนเสบียงก็เลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สุดท้ายทุกคนก็ได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด และความช่วยเหลือจากรัฐบาลก็คือสิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุด
อันที่จริง รัฐบาลจีนสามารถนำเข้าเสบียงผ่านทางใต้ของแมนจูเรียหรือมองโกเลีย แต่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 รัฐบาลก็แทบไม่มีเงินเหลือ ทำให้ต้องเน้นงบประมาณไปกับการป้องกันพื้นที่ทางใต้และแนวชายฝั่งทะเลมากกว่าจะสนใจปากท้องของประชาชนทางเหนือ
แต่ถึงอย่างนั้น รัฐบาลก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ทำอะไรเลย มีการส่งเงินจำนวนมากไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ หากแต่ในเวลานั้นเงินก็แทบไม่มีความหมายอะไร เนื่องจากไม่มีอาหารให้ซื้อ
นั่นจึงทำให้ในพื้นที่ที่อดอยาก เงินก็ไม่ต่างอะไรกับเศษกระดาษ ไม่ใข่สิ่งที่จะทำให้อิ่มท้อง
2
กลุ่มต่อมาที่เข้ามาช่วยเหลือก็คือกลุ่มมิชชันนารีที่เริ่มจะมีบทบาทหลังสงครามฝิ่น (Opium Wars) โดยมิชชันนารีชาวอังกฤษได้พยายามจะให้เรื่องนี้เป็นที่รับรู้ในระดับนานาชาติ เพื่อที่ความช่วยเหลือจะได้มาถึงโดยไว
แต่ตลอดระยะเวลายาวนานจนถึงฤดูใบไม้ร่วงค.ศ.1877 (พ.ศ.2420) ก็ไม่มีหิมะหรือฝนตกเลย ทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงจนทะลุเพดาน
เหล่าประชาชนที่อดอยากนั้นสิ้นหวังถึงขนาดที่ต้องแทะรากไม้ กินเศษดินเศษหญ้าประทังชีวิต สัตว์เลี้ยงและวัวที่เลี้ยงไว้ก็ถูกฆ่านำมาประทังชีวิต
และเมื่อฝนไม่มีทีท่าว่าจะตก ความอดอยากก็ยิ่งทวีความรุนแรง และทำให้ประชาชนจำนวนมากเสียชีวิต เกิดกลุ่มโจรก๊กต่างๆ ออกปล้นหมู่บ้าน นักเดินทางถูกปล้นฆ่า
ด้วยเหตุนี้ ทำให้กลุ่มนักธุรกิจชาวตะวันตก นักการทูต และมิชชันนารีทั้งโปรเตสแตนท์และคาทอลิก ต่างตั้งคณะกรรมการเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน และได้เดินทางไปยังมณฑลซานตงเพื่อช่วยเหลือประชาชน
นี่นับเป็นการเยียวยาครั้งแรกๆ ในประวัติศาสตร์ หากแต่ในพื้นที่อื่นๆ ก็ยังวิกฤต ผู้คนอดตายกันวันต่อวัน ศพเกลื่อนกลาดเต็มท้องถนน
ประชาชนต่างกินพืชผักต่างๆ ที่พอหาได้ หนักเข้าก็กินดิน และสิ่งที่ตามมาก็เป็นทางเลือกสุดท้าย
นั่นคือ “กินคน”
การกินเนื้อมนุษย์นั้นนับเป็นอาชญากรรมร้ายแรง มีโทษประหาร หากแต่ในเวลานั้นไม่มีใครสนใจแล้ว ประชาชนที่อดอยากสามารถทำได้แม้แต่ฆ่าคนเพื่อเอาเนื้อมากิน
2
สามีกินเนื้อภรรยา
พ่อแม่กินเนื้อบุตรตนเอง
บุตรหลานกินเนื้อพ่อแม่ตนเอง
มีรายงานว่ามีหลานฆ่าย่าของตนเพื่อเอาเนื้อมาต้มกิน หนักถึงขนาดนั้น
รัฐบาลก็ต้องมาคิดหนักระหว่างทุ่มงบประมาณไปกับการเสริมกำลังป้องกันแนวเขตแดนชายฝั่งทะเล หรือจะเอามาช่วยเหลือประชาชนที่หิวโหย
ในที่สุด รัฐบาลก็รีบดำเนินการเยียวยาประชาชนในช่วงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1877 (พ.ศ.2420) มีการขนส่งเสบียงจากแมนจูเรียและนำไปขายในราคาถูก โดยเหตุผลส่วนหนึ่งที่ต้องรีบดำเนินการ นอกเหนือจากเพื่อช่วยเหลือประชาชนแล้วนั้น ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ของประชาชน ประชาชนจะได้ไม่ต้องอพยพหนีความอดอยาก ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดจลาจลและกบฏซ้ำอีก
นอกจากการกินเนื้อมนุษย์แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นอีกคือ “การค้ามนุษย์”
พ่อแม่มักจะขายบุตรของตน โดยเฉพาะบุตรสาวที่ถูกขายแน่นอน
2
สามีก็มักจะขายภรรยาของตน โดยหญิงสาวที่โชคร้ายเหล่านั้นมักจะถูกซื้อและส่งไปทางใต้เพื่อขายเป็นโสเภณีหรือเป็นเมียน้อยของเหล่าคนรวย
1
เรียกได้ว่าภาคเหนือของจีนแทบจะไม่เหลืออะไรอีกแล้ว
ในไม่ช้า ในต้นปีค.ศ.1879 (พ.ศ.2422) ผู้คนทางเหนือเริ่มอพยพไปใต้
แต่ในไม่ช้า ฝนก็มา ทำให้ทุกข์ภัยของประชาชนคลี่คลาย
พื้นดินกลับมาอุดมสมบูรณ์ ความอดอยากค่อยๆ หายไป
แต่ถึงความอดอยากจะคลี่คลาย แต่จำนวนประชากรก็ลดลงไปกว่าแปดล้านคน ซึ่งเท่ากับประมาณครึ่งหนึ่งของภูมิภาค และคาดการณ์ว่าตัวเลขผู้ประสบภัยจากความอดอยากนี้มีสูงถึง 100 ล้าน-200 ล้านคนเลยทีเดียว
1
นี่ก็เป็นประวัติศาสตร์บทหนึ่งที่ชาวจีนน่าจะลืมไม่ลงเป็นแน่
References:
https://medium.com/lessons-from-history/the-deadliest-china-famine-when-parents-ate-their-children-7aa10853865d
https://www.theguardian.com/world/2013/jan/01/china-great-famine-book-tombstone
https://therevelator.org/china-sparrow-campaign/
https://webarchive.archive.unhcr.org/20241226034021/https://www.refworld.org/docid/52e0d5e35.html
ประวัติศาสตร์
3 บันทึก
25
11
3
25
11
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย