Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
•
ติดตาม
30 ธ.ค. 2024 เวลา 03:00 • ข่าว
คดีแห่งปี “ดิไอคอนฯ” จะไม่ใช่แชร์ลูกโซ่สุดท้าย หากสังคมและรัฐยังไม่เปลี่ยน
ข่าวใหญ่ที่สุดในปี พ.ศ. 2567 คงไม่มีเรื่องไหนเกิน การทลายอาณาจักร “ดิ ไอคอน กรุ๊ป” ก่อนนำตัวเหล่า “บอส” พร้อมดารานักแสดงดังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มีผู้เสียหายนับหมื่นคน มูลค่าความเสียหายเกิน 3 พันล้านบาท ..
●
แม้การสำรวจการสื่อสารออนไลน์ โดย Wisesight ร่วมกับ Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ก็พบว่า ประเด็น ดิไอคอน ได้รับความสนใจสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในเดือนตุลาคม 67 ด้วยยอด Engagement สูงถึง 103.9M
●
กลไกทางจิตวิทยาอะไรที่อยู่เบื้องหลังความสูญเสียมหาศาลเช่นนี้ “เหยื่อ” คือเฉพาะคนที่โลภอย่างเดียวจริงไหม หรือ ใครๆก็มีโอกาสเป็นเหยื่อได้
เปิด “กลไกทางจิตวิทยา” ที่มิจฉาชีพใช้ในการชักชวนคนเข้าสู่วงการ ก่อนจะกลายมาเป็น “เหยื่อ” ที่มีคดี “ดิไอคอน” เป็นกรณีล่าสุด และกลายเป็นสุดยอดข่าวแห่งปี พ.ศ. 2567 เพราะผู้เสียหายนับหมื่น มูลค่ารวมกันเกิน 3 พันล้านบาท
การชักชวนเข้าสู่ธุรกิจอะไรบางอย่างที่ฟังดูยากจะเข้าใจ แต่ให้ข้อมูลชัดเรื่องผลตอบแทนที่ดีมากกว่าที่ได้จากการลงทุนแบบอื่น ทั้งไม่เน้นการขายสินค้าหรือบริการ (ถึงจะมีให้ขาย) แต่ให้หาคนมาร่วมลงทุนเยอะ ๆ แทน ฟังผ่าน ๆ ก็น่าจะพอรู้กันใช่ไหมว่า นี่คือ “แชร์ลูกโซ่” ที่หลายฝ่ายส่งเสียงเตือนกันมาเป็นสิบปี
แต่เชื่อหรือไม่ว่า 85% ของคนที่ได้รับการชักชวน ถึงจะรู้อยู่แล้วว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ก็ยังกล้าที่จะเสี่ยง ปัจจัยสำคัญมาจาก “ผลตอบแทน” ที่นำเสนอ (อ้างอิง1: งานวิจัยเรื่อง “นวัตกรรมการป้องกันแชร์ลูกโซ่ออนไลน์” ของ DSI เผยแพร่ปี พ.ศ. 2565)
ยิ่งธุรกิจนั้น นำเหล่าดารานักแสดงหรือคนดังมาช่วยการันตี พร้อมกับสร้าง story ซึ้ง ๆ จากคนเคยจนมาตั้งตัวได้เพราะการลงทุนนี้ พร้อมกับถ้อยคำเด็ด ๆ โดนใจจนติดหูผู้ฟังด้วยแล้ว – ยากมากที่เหยื่อทั้งหลายจะไม่ตก “หลุมพราง” เข้าสู่วงจรการหลอกลวงนี้ กว่าจะรู้ตัวก็เสียทรัพย์สินไปมากมาย บางคนถึงขั้นล้มละลาย เงินเก็บทั้งชีวิตหายไปในพริบตา
ปี พ.ศ. 2567 คงไม่มีข่าวไหนดังไปกว่าการทลายอาณาจักร “ดิไอคอนกรุ๊ป” ที่หลายคนคงเคยได้เห็นการโฆษณาผ่านป้ายในรถไฟฟ้า ในย่านธุรกิจสำคัญ หรือบนบิลบอร์ดยักษ์มาหลายปี พร้อมกับตั้งคำถามในใจว่า นี่คือธุรกิจอะไรกันแน่? นอกเหนือจากหน้าตาของดารานักแสดงชื่อดังที่ปรากฎอยู่ในนั้น ก่อนความจริงจะมาเฉลยในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 ว่า นี่อาจเป็นธุรกิจ “แชร์ลูกโซ่” ตามคำกล่าวหาของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แม้ผู้เกี่ยวข้องจะยังปฏิเสธ
ดิไอคอนฯ ก่อตั้งโดย “บอสพอล-นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล” เมื่อปี พ.ศ. 2561 อ้างว่าทำธุรกิจขายตรง จำหน่ายอาหารเสริมเพื่อสุขภาพและความงามผ่านตัวแทนจำหน่ายซึ่งเรียกกันว่า “พ่อทัพ–แม่ข่าย” แต่แทนที่จะเน้นการจำหน่ายสินค้า กลับมุ่งหาคนมาเป็น “ดาวน์ไลน์” ด้วยการเสนอสิ่งจูงใจสารพัดเพื่อให้ “เปิดบิล” ในเรต 2,500 บาท, 25,000 บาท ไปจนถึง 250,000 บาท ทั้งมีการจ้างดารานักแสดงชื่อดังมาร่วมสร้างความน่าเชื่อถือ เช่น “กันต์–กันต์ กันตถาวร” “มีน–พิชญา วัฒนามนตรี” “แซม–ยุรนันท์ ภมรมนตรี” “บอย–ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์” ฯลฯ
พร้อมกับวลีติดปากที่น่าจะโดนใจคนวัยทำงาน “ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย!”
เมื่อพูดถึงแชร์ลูกโซ่ เรามักคิดกันว่า “ความโลภ” เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนจำนวนมากตกเป็น “เหยื่อ” แต่เชื่อหรือไม่ว่า ไม่ว่าจะกรณีแชร์ลูกโซ่, ฉ้อโกง, ปั่นหุ้น หรืออาชญากรรมทางเศรษฐกิจอื่น เช่น คอลเซ็นเตอร์, โรแมนซ์สแกม ที่ลงเอยด้วยการสูญเสียทรัพย์สิน แค่ความ “อยากได้-อยากมี” อาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้คนตกเป็นเหยื่อ ไม่ว่าจะรวยหรือจน ต่างก็มีโอกาสสูญเสียไม่ต่างกัน เช่นนั้น ปัจจัยอะไรบ้างที่อาจทำให้ใคร ๆ ก็อาจเป็นเหยื่อได้ – แม้กระทั่งตัวคุณเองชวนติดตามไปพร้อมกัน
กับดักทางจิตวิทยา
SPRiNG รวบรวมคดี “แชร์ลูกโซ่” ที่ DSI รับเป็นคดีพิเศษ หรือสื่อมวลชนพูดถึงซ้ำ ๆ นับแต่คดีแชร์แม่ชม้อย. แชร์ชาร์เตอร์, เสมาฟ้าคราม, แชร์บลิสเชอร์ มาจนถึงดิไอคอนฯ ได้กว่า 30 คดี ความเสียหายรวมกันกว่า 25,000 ล้านบาท มีผู้เสียหายรวมกันอย่างน้อย 84,000 คน
ยังไม่รวมถึงคดีอื่น ที่อาจจะมีชื่อเสียงหรือเป็นข่าวน้อยกว่าใน DSI อีก 118 คดี (ช่วงปี 2547 – 2566) รวมความเสียหายอีกกว่า 42,000 ล้านบาท (อ้างอิง2: ข่าวประชาสัมพันธ์จาก DSI เมื่อปี พ.ศ. 2566) หากประมวลจาก 2 แหล่งข้อมูลข้างต้น เป็นคดีแชร์ลูกโซ่ทั้งสิ้นอย่างน้อย 148 คดี รวมความเสียหายกว่า 67,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 1 คดี สร้างความเสียหายประมาณ 400 ล้านบาท ถือเป็นเงินที่มหาศาลไม่น้อย
ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงแชร์ลูกโซ่อื่น ที่วงยังไม่ล่มจนกลายเป็นคดีความ หรือมีมูลค่าความเสียหายไม่มาก ซึ่งอาจอยู่นอกเหนือจากเรดาร์ของสื่อฯ หรือภาครัฐ ที่ยังไม่รู้ว่าจะมีอีกมากน้อยเพียงใด ทั้งจำนวนคดี, มูลค่าความเสียหาย, จำนวนผู้เสียหาย ที่มหาศาลทุกชุดข้อมูล ชวนให้สงสัยว่า มิจฉาชีพเหล่านั้นใช้วิธีการใดในการดึงคนเข้าสู่ขั้นตอนการถูกหลอกลวงได้?
ทั้งที่รัฐบาลประกาศให้การแก้ไขปัญหานี้เป็น “วาระแห่งชาติ” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 พร้อมระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยหาทางออก มีการรณรงค์ให้ความรู้อย่างต่อเนื่องยาวนาน
ดร.รพีพงค์ ยังวราสวัสดิ์ นักจิตวิทยาและนักจิตบำบัดการเงิน ให้คำอธิบายกับ SPRiNG ว่า สำหรับคนส่วนใหญ่ “เงิน” มันสำคัญกับชีวิตของพวกเขา และแทรกซึมในทุกอณูของจิตใจ หรือกระทั่งสัญชาตญาณ โดยเฉพาะคนที่มีความอ่อนไหวทางการเงิน
จากที่เคยให้คำปรึกษามา คนที่จะเป็นเหยื่อสามารถแบ่งได้เป็น 7 กลุ่มใหญ่
●
กลุ่มแรก คนที่ไม่มีความรู้ทางการเงินการลงทุน หรือมีความรู้ใน money game น้อย
●
กลุ่มที่สอง คนที่ขาดประสบการณ์ในการเงินการลงทุน
●
กลุ่มที่สาม คนที่ขาดความฉลาดรู้เท่าทันเกมการเงินการลงทุน คืออาจจะมีความรู้ มีภูมิต้านทานระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้แปลว่าเขาจะทันเกม หรือคนที่มีประสบการณ์ก็อาจจะไม่ทันเล่ห์เหลี่ยม
●
กลุ่มที่สี่ คนที่ขาดการควบคุมความรู้สึก
●
กลุ่มที่ห้า คนที่มีปัญหาทางการเงิน เช่น เพิ่งตกงาน อย่างเคสดิไอคอนฯ ก็มีเหยื่อหลายคนที่เพิ่งตกงานจากโควิด
●
กลุ่มที่หก คนที่มีปัญหาชีวิต เช่น ผู้สูงอายุที่มีปัญหากับลูกหลาน รู้สึกตัวเองไม่มีค่า ต้องพึ่งเงินลูกหลาน ก็อาจจะเป็นเหยื่อได้
●
กลุ่มที่เจ็ด การเล่นกับ “อำนาจ” หรือจุดอ่อน โดยเฉพาะการโชว์ว่ามีอำนาจเงินกว่า มีอิสรภาพทางการเงิน ชีวิตที่ดี ซึ่งทำให้คนเหล่านั้น ถ้าไม่มี self-esteem หรือเห็นคุณค่าในตัวเอง ก็เป็นจุดที่ทำให้มิจฉาชีพเล่นงาน
“คนที่ตกเป็นเหยื่อ อาจจะมีข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อปนกันได้ มิจฉาชีพเขาจะเก่งในเรื่องการหลอกล่อมุมที่เหยื่ออ่อนไหว ซึ่งแต่ละคนจะอ่อนไหวไม่เหมือนกัน บางคนเป็นเรื่องความโลภ บางคนเป็นเรื่องความกลัว บางคนก็จะใช้ความรัก”
บทบาทคนดังกับโซเชียลฯ ในการช่วยหลอกลวง
ทำไม มิจฉาชีพหลายรายถึงมักแสดงไลฟ์สไตล์หรูหรา โชว์ความร่ำรวย อยู่ในแวดวงไฮโซผู้มีชื่อเสียง จนแทบจะเป็น “ท่ามาตรฐาน”
ดร.รพีพงค์ให้คำอธิบายว่า มันเป็นวิธีหนึ่งในการแสดง “อำนาจ” การสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีดูรวย เหมือนเป็นการ dominant เพื่อทำให้เหยื่อคล้อยตาม การเอาเหล่าดารานักแสดงหรือคนดังมาโปรโมต ก็ช่วยในเรื่องของการโฆษณาชวนเชื่อ เสมือนการ “สะกดจิต” ให้เหยื่อหลงเชื่อโดยง่าย และตกเข้ามาสู่ในวังวนของขบวนการ ในมุมของนักจิตวิทยา มี 3 ด่านที่มิจฉาชีพทางการเงิน โดยเฉพาะขบวนการแชร์ลูกโซ่จะใช้ เพื่อทะลวงเข้าไปในจิตใจและเปลี่ยนคนธรรมดาให้กลายเป็นเหยื่อ
ด่านแรก “เปิดใจ” เป็นขั้นตอนที่ยากสุด ส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีพูดกันปากต่อปาก หรือใช้คนใกล้ตัวมาชักชวน
ด่านที่สอง “เชื่อใจ” เมื่อลองเปิดใจแล้ว อีกวิธีที่จะช่วยให้โอกาสสำเร็จของมิจฯ มากขึ้น คือการทำให้เชื่อใจ ซึ่งหนึ่งในวิธียอดนิยมคือการชวนไปฟังงานสัมมนา ให้เห็นความสำเร็จ ให้เชื่อว่าถ้าเข้ามาร่วมแล้วจะมีรายได้
ดร.รพีพงค์กล่าวว่า มิจฉาชีพเหล่านั้นมักจะสร้าง “เรื่องราว” ที่เน้นความแฟนตาซี เพื่อให้เห็นว่าหากมาร่วมมีโอกาสประสบความสำเร็จ เช่น เคยขับวินมอเตอร์ไซค์มาร่วมลงทุนไม่นานก็ร่ำรวย พร้อมกับวลีเด็ด ๆ ที่โดนใจคน อาทิ
“ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย”
“ธุรกิจนี้ไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นทางรอด”
“คนไม่ให้โอกาสเราอะไม่น่าเสียดายเท่าเราไม่ให้โอกาสตัวเอง”
“ถ้าเราอยากสําเร็จเราก็ต้องทําตามคนที่สําเร็จ”
ด่านสุดท้าย “ศรัทธา” ซึ่งคำว่าศรัทธา-ลุ่มหลง–งมงาย มันเป็นเส้นบางๆ แต่ใครที่เกิดความศรัทธาแล้วก็มักจะพร้อม all-in หรือทุ่มหมดหน้าตัก ยอมขายบ้าน ขายรถ หรือสร้างหนี้สินมาลงทุน เพราะศรัทธา
การใช้ดารานักแสดงหรือผู้มีชื่อเสียงก็เป็นส่วนสำคัญในการทำให้คนตกเป็นเหยื่อ “เงินมันจะอยู่ทุกอณูของจิตใจเรา พอเวลามันไปคลิ๊กเราตรงไหนปุ๊บอ่ะ เราจะรู้สึกว่ามันอ่อนไหว แล้วเราก็รู้สึกว่ามันใช่ พอฟังบ่อย ๆ เราก็เริ่มเชื่อ เค้าถึงชอบให้เรามาฟังสัมมนา เพราะว่าเวลาฟังสัมมนาบ่อย ๆ มันซึม ยิ่งได้ดาราด้วย ความสวยหล่อของดารามันก็เป็นตัวสะกดจิตเหมือนกันนะครับ เพราะว่ามีบางคนที่ sensitive กับเรื่องความสวยหล่อ
“ถ้าสะกดจิตได้ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง ทำให้เปิดใจเร็วขึ้น ก่อนจะไปสู่สเต็ปถัดไป คือเชื่อใจหรือศรัทธาตาม level สมมุติเต็มสิบ บางคนไม่ต้องถึงสิบ แค่สาม ก็เอาเงินออกจากกระเป๋าได้แล้ว แต่บางคนต้องให้ไปถึงสิบเสียก่อน มันมีเรื่องความเข้มแข็งทางจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งแต่ละคนจะมีไม่เหมือนกัน
“กรณีแชร์ลูกโซ่ จะ sensitive กับความโลภ เขาจึงเน้นความร่ำรวย ความลำบากในการทำงานหาเงิน เขาจะเน้นเรื่องการได้เงินง่าย ๆ สร้างแรงจูงใจให้เหยื่อมาเข้าร่วม แล้วก็ปิดเกมเหยื่อให้เร็วที่สุด” ดร.รพีพงค์กล่าว
ส่วนบทบาทของโซเชียลมีเดีย ดร.รพีพงค์มองว่า เป็น 3 ปัจจัยในการช่วยเหลือมิจฉาชีพ ทั้ง 1) ทำให้การเผยแพร่ข้อมูลเข้าถึงคนได้ง่ายขึ้นและในวงกว้างขึ้น 2) ช่วยให้มีข้อมูลใช้ประกอบการดึงคนเข้าสู่วงจร เช่นไปสืบข้อมูลต่าง ๆ ของเหยื่อล่วงหน้า และ 3) ใช้พรางตัวในการหลอกลวง เพราะหลายแพล็ตฟอร์มก็ไม่ได้บังคับให้ต้องเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง
บทสรุป – ทางออก
หนึ่งในวิธีป้องกันเหล่ามิจฉาชีพ หลายฝ่ายมักรณรงค์ให้ประชาชนต้องรู้เท่าทัน อย่างกระทรวงยุติธรรม ก็เคยให้ความรู้ 5 วิธีสังเกตว่าเป็น “แชร์ลูกโซ่”
1.ให้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันสั้น ชวนเชื่อว่าจะได้ผลตอบแทนหรือกำไรจากการลงทุนจำนวนมากอย่างรวดเร็วและง่ายดาย
2.การันตีผลตอบแทนเป็นตัวเลขแน่นอน
3.เร่งรัดให้ตัดสินใจ โดยมักจะเสนอสิทธิพิเศษเฉพาะในช่วงเวลานั้น เพื่อลดโอกาสในการไตร่ตรอง
4.อ้างว่าใคร ๆ ก็ลงทุน ถ้าไม่รีบอาจพลาดตกขบวน หรืออ้างบุคคลที่มีชื่อเสียง
5.ธุรกิจจับต้องไม่ได้ บอกว่าทำธุรกิจแต่ไม่เห็นสินค้า อ้างธุรกิจว่าได้รับการรับรอง แต่ไม่สามารถตรวจสอบธุรกิจได้
พร้อมกับแนะนำ tips (เคล็ดลับ) สร้างเกราะป้องกันภัย “ไม่ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่”
●
ศึกษาหาความรู้ก่อนลงทุน
●
มีสติ คิดก่อนตัดสินใจ
●
รู้ผลกระทบที่มากกว่าเสียเงิน
●
ตื่นตัวและติดตามข่าวสารที่เกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่หรือการหลอกลวงลงทุนต่าง ๆอีกมุมหนึ่ง ก็มีเสียงเรียกร้องให้กำหนดหน่วยงานรัฐที่เป็น “เจ้าภาพหลัก” ในการแก้ไขปัญหา เพราะปัจจุบันมีหลายหน่วยงานมาเกี่ยวข้อง จนทำให้ประชาชนสับสนไปจนถึงการสร้างภาระแก่เหยื่อเมื่อถูกหลอก เช่น
ผู้เสียหายสามารถร้องเรียนต่อ สคบ. ธนาคารแห่งประเทศไทย กลต. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และกระทรวงยุติธรรมได้ แต่หน่วยงานเหล่านี้ไม่มีอำนาจสอบสวน
หากจะร้องเรียนต่อ DSI ก็ต้องถึงเกณฑ์ที่สามารถรับเป็นคดีพิเศษได้ เช่น มีผู้เสียหายเกิน 300 คน หรือมูลค่าความเสียหายเกิน 100 ล้านบาท
จะร้องเรียนกับตำรวจหรือ ปปง. ก็ล่าช้า จนหลายครั้งที่ผู้ก่อเหตุยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปเสียก่อนไปจนถึงกฎหมายแชร์ลูกโซ่ปัจจุบันที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 (พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน) ก็มีบทบัญญัติไม่ทันสมัย รวมไปถึงการกำหนดให้รับโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 20 ปี อาจทำให้มิจฉาชีพมองว่าคุ้มค่าเสี่ยงในการหลอกลวงคนได้เป็นหลักร้อยล้านพันล้านบาท
ในมุมของ ดร.รพีพงค์มองว่า อยากให้ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการมากขึ้น เหมือนอย่างสิงคโปร์ที่เพิ่งออกกฎหมายให้ธนาคารและบริษัทมือถือต้องร่วมรับผิดชอบด้วย หากมีลูกค้าถูกหลอกให้โอนเงินออนไลน์ โดยจะเริ่มใช้ปลายปี พ.ศ. 2567
แต่การจะปรับปรุงการทำงานภาครัฐหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมาย เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา สิ่งที่ทำได้ ณ ตอนนี้ คือ การที่ทุก ๆ คน ต้องรู้เท่าทันกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพที่จะพัฒนาตลอดเวลา จึงต้องพัฒนาความรู้ทางการเงินของตัวเองให้เท่าทัน ที่สำคัญ คือ ต้องเพิ่ม “ความเข้มแข็งทางจิตใจ” เพราะอาชญากรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมาก เล่นกับกลไกทางจิตวิทยา เป็นเรื่องของ mind game ในการหาช่องโหว่ทางจิตใจต่าง ๆ เพื่อดึงเข้าสู่ขบวนการหลอกลวง
ตามที่ ดร.รพีพงค์ว่าไว้ข้างต้น ไม่ได้มีแค่ “ความโลภ” เท่านั้น ที่จะทำให้เรากลายเป็นเหยื่อ ยังรวมถึง “ความกลัว” “ความรัก” หรืออารมณ์ความรู้สึกอื่น ที่อาจเปิดช่องให้ถูกลวงได้สักทาง
คดีดิไอคอนฯ แม้จะเป็นข่าวใหญ่สุด ๆ ของปีนี้ แต่คงไม่ใช่คดี “แชร์ลูกโซ่” สุดท้ายอย่างแน่นอน
TOP 5 แชร์ลูกโซ่ ความเสียหายสูงสุด
1. แชร์ชาร์เตอร์ 5,000 ล้าน
2. แชร์แม่ชม้อย 4,500 ล้าน
3. ดิไอคอน 3,200 ล้าน
4. FOREX-3D 2,000 ล้าน
5. เช่าพื้นที่คราวด์ 1,600 ล้าน
สื่อทางเลือก
ข่าว
1 บันทึก
1
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย