25 ธ.ค. 2024 เวลา 16:55 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เรามีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากเกินไปจริงหรือ?

ช่วงนี้เราเริ่มได้ยินการถกเถียงเรื่องทุนสำรองระหว่างประเทศกันมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการลงข่าวว่า “ภาครัฐมีงบประมาณ เช่น เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ก็จะหาวิธีการนำออกมาใช้ เพื่อดูแลประชาชน” ซึ่งผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นการ misquote ท่านรัฐมนตรีคลัง
1
ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้ และมีคนพูดถึงว่าเรามีเงินสำรองระหว่างประเทศ “สูงเกินไป” ควรจะเอาเงินส่วนนี้ไปตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เพื่อนำไปลงทุน เลยอยากเอาเรื่องนี้มาชวนคุยกันครับ ว่าที่มาที่ไปคืออะไร และเราควรคิดกับเรื่องนี้อย่างไร
เงินทุนสำรองระหว่างประเทศคืออะไร
เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ คือ ทรัพย์สินที่ธนาคารกลางถือไว้ในรูปของเงินตราต่างประเทศ ทองคำ หรือสินทรัพย์ที่สามารถแปลงเป็นเงินตราต่างประเทศได้ทันที เพื่อสร้างความมั่นใจและรักษาเสถียรภาพค่าเงิน เพื่อชำระหนี้หรือค่าใช้จ่ายในต่างประเทศ เช่น การนำเข้า และเพื่อรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น การไหลออกของเงินทุน
2
พูดง่าย ๆ คือ เป็นเหมือน "เงินออมของประเทศ" ที่ช่วยสร้างความมั่นใจในเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศ
นอกจากนี้ บทบาทสำคัญของเงินทุนสำรองคือการเป็นทรัพย์สินที่หนุนหลังเงินที่หมุนเวียนในระบบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเงินบาท เหมือนเอาเงินมากองไว้ให้ดู เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างประเทศว่า เวลามีความต้องการเปลี่ยนจากเงินบาทเพื่อการค้าและการลงทุน เรามีเงินเพียงพอรองรับได้ตลอดเวลา
เงินทุนสำรองไทยมีมากเกินไปหรือไม่?
ปัจจุบันไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ 2.37 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ถ้านับรวม net forward positions ที่เราต้องรับเงินตราต่างประเทศในอนาคต เรามีทุนสำรองต่างประเทศสุทธิ ที่ 2.64 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทประมาณ 8-9 ล้านล้านบาท
 
เงินทุนสำรองเรามีเยอะพอๆประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษ (แต่ประเทศใหญ่ๆเขาไม่ต้องมีเงินทุนสำรองเยอะก็ได้เพราะไม่ได้มีปัญหาความเชื่อมั่น) และคิดเป็นร้อยละ 45 ของ GDP ซึ่งก็สูงเป็นอันดับต้นๆของโลก
6
แล้วเงินทุนสำรองที่แต่ละประเทศควรมีเป็นเท่าไร กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ทำการศึกษาไว้และบอกว่า แต่ละประเทศควรจะมีเงินทุนสำรองอย่างน้อยให้พอเงื่อนไขต่อไปนี้ (ไม่ควรต่ำกว่านี้)
  • 100% ของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (เผื่อเจ้าหนี้ระยะสั้นแห่ถอนเงินหมด)
  • 3 เดือนของมูลค่าการนำเข้า (เผื่อสถานการณ์เลวร้ายส่งออกไม่ได้ ก็ยังมีเงินพอจ่ายค่านำเข้าสินค้าจำเป็น)
  • อย่างน้อย 5-20% ของปริมาณเงินแบบกว้าง (M2) แต่ไม่ได้มีใครบอกว่าเงินทุนสำรองห้ามสูงกว่าเท่าไร
ถ้าดูในแต่ละตัวชี้วัดในรูปข้างล่าง มูลค่าเงินทุนสำรองของไทยก็มีมากกว่าเงื่อนไขขั้นต่ำที่เป็นที่ยอมรับ และอาจจะมีเกินขั้นต่ำไปประมาณ 30-100% แปลว่าถ้าเงินสำรองเรามีน้อยกว่านี้สัก 20-25% ก็ยังพออยู่ในเกณฑ์ทนได้สบายๆ
แน่นอนว่าไม่ได้แปลว่า เพราะเรามีทุนสำรองระหว่างประเทศเกินเกณฑ์ เราควรต้องเอาเงินทุนสำรองไปทำอย่างอื่นทันทีนะครับ มีเรื่องอื่นๆที่ควรต้องพิจารณาอีกเยอะเลย แต่แปลว่าเราพอจะมีทุนสำรองมากกว่าระดับปลอดภัยที่เป็นที่ยอมรับกันในระดับหนึ่ง
เงินทุนสำรองมีมากไปไม่ดีตรงไหน?
ฟังดูแล้วเหมือนว่ายิ่งมีเงินทุนสำรองเยอะก็ยิ่งดี แต่ปัญหาสำคัญคือทุนสำรองต้องเก็บไว้ในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย อยู่ในเงินสกุลที่ได้การยอมรับระหว่างประเทศ และมีสภาพคล่องสูง (เปลี่ยนเป็นเงินสกุลอื่นได้เร็วและต้นทุนต่ำ) ซึ่งปกติแล้วการเอาเงินไปกองไว้ในทรัพย์สินเหล่านี้มักจะได้ผลตอบแทนต่ำตามไปด้วย ทำให้เกิดคำถามว่าเราควรจะนำทรัพย์สินไปลงทุนอย่างอื่นให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าหรือไม่
4
ยกตัวอย่างเช่น ในบางประเทศก็มีการแบ่งทุนสำรองระหว่างประเทศบางส่วนไปตั้งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) เพื่อนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น หรือลงทุนในโครงการที่สำคัญเชิงยุทธศาสตร์ ที่เราได้ยินกันบ่อยๆก็เช่น China Investment Corporation (CIC) ของจีน Government Investment Corporation (GIC) ของสิงคโปร์ หรือ Korean Investment Corporation (KIC) ของเกาหลีใต้
หรือบางประเทศที่มีรายได้ (ของรัฐ) จากทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ก็มีการตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เช่น Government Pension Fund ของนอร์เวย์ เพื่อนำรายได้ไปลงทุนนอกประเทศเพื่อป้องกันปัญหา Dutch disease และเก็บผลตอบแทนของทรัพยากรธรรมชาติไปส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป (แทนที่จะใช้ให้หมดในรุ่นเรา)
1
ซึ่งประเด็นสำคัญของการตั้งกองทุนเหล่านี้คือ นโยบายการลงทุนและการกำกับดูแลการลงทุน ว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการลงทุนและการกำกับดูแลเป็นมืออาชีพ ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความเสี่ยง และไม่ถูกแทรกแซงจากการเมืองได้ง่ายๆ
3
และเราก็เคยเห็นตัวอย่างที่กองทุนลักษณะนี้กลายเป็นตัวอย่างของความล้มเหลว มีคอร์รัปชั่นมหาศาล อย่าง 1MDB ของมาเลเซีย หรือไนจีเรียมาแล้ว
1
ยิ่งประเทศที่มีคุณภาพของสถาบันต่ำ และมีความเสี่ยงของการคอร์รัปชั่นสูงยิ่งต้องระวังกันให้ดี เพราะมีโอกาสล้มเหลวสูงมาก
1
นอกจากนี้ ปัจจุบันที่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐให้ผลตอบแทนมากกว่า 4% ก็มีคำถามกลับมาเหมือนกันว่า ถ้าเราเอาเงินไปลงทุนอย่างอื่นจะได้ผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่านี้ โดยไม่มีความเสี่ยงได้หรือไม่
แล้วจะเอาสินทรัพย์ออกจากงบดุลธนาคารกลางได้หรือ?
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ สินทรัพย์มูลค่า 8 ล้านล้าน ที่เราพูดถึงไม่ใช่ “ของเรา” ทั้งหมดนะครับ ไม่ได้แปลว่าเรารู้สึกว่าเรามีสินทรัพย์เยอะเกิน แล้วเราจะโอนออกไปทำอะไรก็ได้ ทุนสำรองของไทยเป็นเหมือนทุนสำรอง “ที่ขอยืมมา” และสินทรัพย์เหล่านี้มีไว้เพื่อหนุนหลัง “หนี้” ของธนาคารกลาง ซึ่งก็คือฐานเงิน (monetary base) ซึ่งรวมถึงธนบัตรที่ใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และพันธบัตร ธปท. ที่ออกมาเพื่อ sterilize ผลของการแทรกแซงค่าเงินและสะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในอดีต
1
หักกลบลบหนี้เหล่านี้ไปแล้ว “ทุน” ของธนาคารกลางทุกวันนี้มีอยู่ในหลักแสนล้านเท่านั้น ไม่ใช่ล้านล้าน และในช่วงที่บาทแข็งมากๆ บางจังหวะ มูลค่าทุนก็เคยติดลบเสียด้วยซ้ำ
 
เปรียบก็เหมือนกับเรามีบริษัทที่มีสินทรัพย์สูง แต่ก็มีหนี้ตามมาด้วย อยู่ดีๆเราจะโอนสินทรัพย์ออกมา โดยไม่เอาหนี้ออกมาด้วยคงไม่ได้ ถ้าจะโอนหนี้ออกมาด้วยมูลค่าของสินทรัพย์ที่โอนออกมาได้จริงๆคงโอนได้ไม่เกินเท่าที่ทุนของ ธปท. มีอยู่ซึ่งก็มีไม่มาก และจะทำให้ ธปท. ทุนติดลบ มีปัญหาอื่นตามมาอีก
5
นี่ยังไม่นับข้อจำกัดทางกฎหมายของ พรบ. ธปท. และประเด็นเรื่องบัญชีต่างๆของธนาคารแห่งประเทศไทย (ที่แบ่งเป็นบัญชีของ ธปท. บัญชีสำรองเงินตรา และบัญชีกิจการธนบัตร) และข้อจำกัดด้านเศรษฐศาสตร์อื่นๆอีก
แต่ถ้าต้องการจะแบ่งทุนสำรองระหว่างประเทศออกไปบางส่วนเพื่อนำเงินตราต่างประเทศไปลงทุนต่างประเทศจริงๆ แบบไม่ทำให้ทุนของ ธปท. ลดลงก็อาจจะพอทำได้ แต่ต้องใช้ท่ายากนิดนึง โดยให้รัฐบาลสร้างหนี้ในประเทศเพิ่ม โดยการออกพันธบัตรใหม่ เอาไปให้ ธปท. ถือแทน แลกกับเงินตราต่างประเทศที่เป็นทุนสำรองในปัจจุบัน ก็ไม่ต่างกับการกู้ไปลงทุน และรัฐบาลก็ต้องรับภาระหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นด้วย
แต่ถ้าโจทย์คือต้องการจะใช้งบดุลของ ธปท. เพื่อขยายฐานเงินเพื่ออัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ คงจะเป็นอีกเรื่องและอาจจะต้องถกเถียงกันอีกยาว
1
สรุป
สรุปแล้วไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับค่อนข้างสูง จริงอยู่ว่าอาจจะสูงกว่าขั้นต่ำที่หลายๆฝ่ายประเมินไว้ว่าควรจะมี แต่ทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นเหมือนสินทรัพย์ ที่มีหนี้สินประกบติดมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นฐานเงิน ซึ่งรวมถึงธนบัตรที่ออกใช้หมุนเวียน และพันธบัตรของธปท. การโอนทุนสำรองออกไป คงไม่ได้ทำได้ง่ายๆ และถ้าโอนออกไปก็คงต้องเอาหนี้ไปด้วย
2
นอกจากนี้ เราเห็นตัวอย่างในต่างประเทศในการการตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติเพื่อหาผลตอบแทนเพิ่มเติมจากสินทรัพย์ หรือลงทุนในโครงการที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ความท้าทายสำคัญคือการบริหารและกำกับดูแลการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเหมาะสมและไม่ถูกแทรกแซง
1
โฆษณา