Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
รายการ ต้นรู้ โลกรู้ BY : Anurak News
•
ติดตาม
25 ธ.ค. 2024 เวลา 17:11 • ประวัติศาสตร์
ชุมชนมันสิดมุสลิมเชื้อสาย "อินโดนีเซีย" มัสยิดยะวา ตรอกโรงน้ำเเข็ง สาทร กรุงเทพมหานคร
ภายใต้การศึกษาในครั้งนี้ ที่เรียกว่า “ชุมชนมัสยิดยะวา” คือ พื้นที่ตั้งแต่ถนนสาทรทางทิศเหนือลงมายังทิศใต้ถึงถนนจันทน์ส่วนทางด้านตะวันตกของพื้นที่ คือตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยา ถนนเจริญกรุง และมาสิ้นสุดที่ถนนนราธิวาสราชนครินทร์บริเวณทางทิศตะวันออกของพื้นที่
ภายในย่านที่ชุมชนมัสยิดยะวาตั้งอยู่ ถือเป็นพื้นที่ที่มีการเข้ามาของคนต่างชาติมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นเส้นทางสัญจรสำคัญจากอ่าวไทยสู่กรุงศรีอยุธยา จึงน่าจะมีการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนมาตั้งแต่ครั้งนั้นโดยอ้างอิงจากการที่พบว่ามีวัดที่สร้างขึ้นในช่วงปลายสมัยอยุธยาอย่าง “วัดคอกควาย” หรือที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า วัดยานนาวา ต่อมาเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ราวปี พ.ศ. 2330
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จนำทัพไปตีเมืองทวาย เมื่อเสร็จศึกได้รับชัยชนะ จังได้นำชาวทวายเข้ามายังพระนคร โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองรอบกรุง
ด้านหลังวัดสระเกศ ก่อนจะพระราชทานที่หลวงให้ตั้งถิ่นฐานถาวรทางตอนใต้ของพระนครบริเวณวัดคอกควาย ชาวทวายจึงตั้งหลักปักฐานพร้อมสร้างวัดขึ้น คือ “วัดดอน” ปัจจุบันคือ วัดบรมสถล หลังจากนั้นในช่วงรัชกาลที่ 3 มีการเกณฑ์ไพร่พลชาวลาวจากบ้านลาว บางไส้ไก่ ฝั่งธนบุรีมาเป็นแรงงานเพื่อการต่อเรือรบที่อู่เรือสำเภาหลวง บริเวณปากคลองกรวย บ้านทวาย เมื่อครั้งสยามทำสงครามกับญวนที่ฮาเตียนและไซ่งอน ชาวลาวกลุ่มนี้ได้ลงหลักปักฐานที่ปากคลองบางกรวยและสร้างวัดขึ้น คือ “วัดลาว” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสุทธิวราราม
หลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง สนธิสัญญาที่ราชอาณาจักรสยามทำกับสหราชอาณาจักร ในช่วงรัชกาลที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2398 โดยมีสาระสำคัญคือการเปิดการค้าเสรีกับต่างประเทศในสยาม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่ในย่านชุมชนมัสยิดยะวามีการเริ่มเปลี่ยนแปลง โดยการเปลี่ยนแปลงของครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของย่านนี้ คือ การตัดถนนเจริญกรุง เป็นถนนสายแรกที่สร้างขึ้นตามแบบ “ตะวันตก” ของสยาม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2404
เส้นถนนเริ่มตั้งแต่สะพานเหล็กบริเวณริมวังเจ้าเขมรยาวเรื่อยไปแล้วแยกออกอีก 2 สาย สายแรกตัดไปข้ามคลองผดุงกรุงเกษมเชื่อมต่อกับ “ถนนตรง” ส่วนอีกสายให้ตัดลงมาทางใต้ยาวตลอดไปถึงบริเวณดาวคะนอง ซึ่งไม่นานหลังจากตัดถนนก็ทำให้บริเวณสองฝากถนนคับคั่งเป็นแหล่งค้าขายที่สำคัญของสยาม ส่งผลให้พื้นที่บริเวณนี้กลายเป็นย่านท่าเรือและแหล่งอุตสาหกรรมใหม่ของกรุงเทพฯ มีการตั้งโรงสี โรงเลื่อย อู่ต่อเรือ ห้างร้านของพ่อค้าชาวจีนและชาติตะวันตกเรียงราย
ภาพความเจริญของเมืองบนถนนเจริญกรุง ปี 2430 ข้อมูลจากศูนย์มนุษยวิทยา
หลังจากการตัดถนนเจริญกรุง ซึ่งไม่ได้เพียงนำแต่ความเจริญทางเศรษฐกิจมาสู่พื้นที่ย่านเท่านั้น และด้วยพื้นที่บริเวณนี้เป็นบริเวณที่ได้รับอนุญาตให้คนต่างชาติสามารถอยู่อาศัยได้อย่างเสรี จึงพบว่ามีการเข้ามาของกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ตั้งถิ่นฐานเพิ่มเติมในพื้นที่ เช่น กลุ่มมุสลิมเชื้อสายชวาเข้ามาในสยามในฐานะคนบังคับของฮอลันดาและบางส่วนเป็นผู้หลบหนีจากอำนาจการปกครองฮอลันดาที่มารับจ้างเป็นแรงงานในสยาม กลุ่มชาวไทใหญ่จากพม่าที่เข้ามาทำงานพร้อมกับเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส เป็นต้น
ดังนั้นเราจึงพบว่าในช่วง พ.ศ. 2430 สถานที่สำคัญต่าง ๆ กระจุกตัวอยู่ตลอดสองฝั่งข้างถนนเจริญกรุง จากแผนที่พบว่าบริเวณด้านทิศเหนือของพื้นที่ชุมชนมัสยิดยะวา มีขุดคลองขุดสายหนึ่ง คลองสายนี้ ขุดโดยคหบดีท่านหนึ่งนามว่า เจ๊สัวยม เป็นบุตรพระยาพิศลสมบัติบริบูรณ์ ได้กว้านซื้อที่ดินซึ่งเป็นป่ารกอยู่ระหว่างถนนสีลมกับบ้านทวายแล้วจ้างกรรมการจีนขุดคลองผ่านที่ดินจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางตะวันออกบรรจบคลองหัวลำโพงและได้นำดินที่ได้จากการขุคลองมาสร้างถนนสองฝั่งคลอง คนทั่วไปเรียกคลองที่ขุดใหม่นี้ว่า “คลองเจ๊สัวยม”
ต่อมาท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงสาทรราชายุตก์” คลองขุดนี้จึงถูกเรียกกันต่อมาว่า “คลองสาทร”
“...เมื่อพ้นวัดยานนาวา เรือก็เข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มีคลื่นแรงมากจนน่าตกใจ ต้องแจวเรือเลี้ยวขวาเลียบคลองริมตลิ่งไปประมาณ 200 เมตรจนถึงปากคลองสาทร แจวเรือเข้าสู่คลองสาทรลอดใต้สะพานเฉลิมพันธ์ 53 เมื่อแล่นเรืออยู่ในคลอง มองคูน้ำด้านซ้ายมือเป็นถนนสาทรเหนือ มีต้นมะฮอกกานีปลูกเป็นแถวเป็นแนวสวยงงาม...แจวเรือไปจนสุดคลองสาทรไปบรรจบกับคลองหัวลำโพง...”
(นายวิโรจน์ หมัดป้องตัว, ผู้ให้ข้อมูล)
พื้นที่สองข้างทางริมถนนเจริญกรุงตั้งแต่คลองสาทรไล่ลงมา พบว่า สถานที่ที่มีการก่อสร้างหรือตั้งขึ้นนั้น มักเกี่ยวพันกับกลุ่มชนชาติพันธุ์ที่รับหน้าที่เป็นแรงงานหรือรับจ้างเสียส่วนใหญ่ ซึ่งสันนิษฐานว่าเนื่องจากในช่วงระยะเวลาก่อนหน้านี้ พื้นที่บริเวณนี้ได้ถูกจัดสรรให้เป็นแหล่งที่พักอาศัยของเหล่าเชลยศึกและแรงงานต่าง ๆ ของสยามอยู่ก่อนแล้ว ส่งผลให้ต่อมาผู้คนที่รับจ้างห้างร้านหรืออู่เรือตะวันตกจึงเลือกมาตั้งทำเลที่อยู่ร่วมกันในย่านนี้ นอกเหนือจากนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่ก็เป็นเรือกสวนไร่นา
“...คุณยายได้มาซื้อที่แถวสาทร ซึ่งสมัยก่อนเรียกที่ตรงนี้ว่า สวนดอกไม้ ที่ดินที่คุณยายซื้อเป็นสวน มีทั้งสวนฝรั่ง สวนหมาก สวนพลู และก็ปลูกใบมัน มีสวนผักด้วยแต่น้อย และที่จำความได้ คุณยายมาซื้อที่ดินที่นี่เลยย้ายจากสีลมมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่นับจากนั้นมา...” (วีนัส กัสตัน, ผู้ให้ข้อมูล)
ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2437 ฮัจยีมุฮัมมัดซอและฮ์ ชาวยะวาในบังคับฮอลันดา มีที่อยู่บริเวณตรอกโรงน้ำแข็ง ถนนสาธรได้มอบที่ดินให้เป็นสถานที่ปลูกสร้างมัสยิด เดินที่ดินบริเวณนี้เป็นของชาวจีน ชื่อ จ้อย พ.ศ. 2448 ฮัจยีมุฮัมมัดซอและฮ์ ได้ยื่นคำร้องต่อทางการให้เปลี่ยนโฉนดสำหรับที่ดินนี้ใหม่ โดยใส่ ชื่อ ฮัจยีมุฮัมมัดซอและฮ์ เป็นผู้จัดการในที่ของมัสยิดพร้อมด้วยชาวยะวาในอาณาบริเวณนั้น อาทิเช่น นายมุฮัมมัดมูซา นายระก๊ำ และชาวยะวาคนอื่น ๆ ทั้งในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน ได้ร่วมกันก่อตั้งมัสยิดยะวาขึ้นมาจนเป็นผลสำเร็จ
“...คุณปู่ทวดของพี่ต่อ เป็นชาวอินโดนีเซียแท้ๆ มาจากอินโดนีเซีย คุณปู่ทวดชื่อ ฮัจยีซอและฮ์ ปู่เป็นพ่อค้าขายเครื่องเทศและอื่น ๆ แล้วมากับเรือสำเภาของคุณปู่มาค้าขายภายใต้การกำกับของฮอลันดา คือ ถ้าค้าขายได้เท่าไหร่ต้องให้เงินกับฮอลันดาด้วย คุณปู่ทวดมาค้าขายที่เมืองไทยหลายครั้งเวลามาก็นำสินค้าจากอินโดนีเซียมาขาย เมื่อขายหมดก็ซื้อของจากเมืองไทยไปขายที่อินโดนีเซีย คุณปู่เริ่มมีความคิดว่าอยากจะมาตั้งรกรากที่เมืองไทย ปู่ทวดจึงเก็บเงินซื้อที่ดิน โดยซื้อที่ดินจากจีนจ้อยโดยตรงไม่ได้
แต่รายได้ในขากลับนี้ไม่ต้องให้กับฮอลันดา เพราะทางฮอลันดาไม่รู้ การให้เงินค่าที่ดินก็เป็นการให้แบบปากเปล่าไม่มีสัญญาอะไร ปู่ทวดค้าขายเดินทางไปกลับอินโดนีเซียหลายครั้ง จนใคร ๆ ต่างเรียกปู่ทวดว่า “โต๊ะกัปตัน” และจะมาจอดเรือสำเภาที่ อู่เรือเอเชียที๊คหรืออู่บางกอกด๊อก“...และที่ปู่เลือกทำเลที่ซื้อที่ดินแถวสาทร เพราะแถวนี้มีคนอินโดนีเซียมาอยู่มาก และเรียกบริเวณนี้ว่า สุไหงปาตี (แปลว่าคลองขุดใหม่ ซึ่งก็คือคลองสาทรนี่เอง)
แต่หลังจากนั้นประมาณ ปีพ.ศ. 2448 ในแผ่นดินของรัชกาลที่ 5 ได้มีการเลิกทาสอย่างสมบูรณ์ และอนุญาตให้คนต่างชาติมาตั้งรกราก...” (กอบกาญจน์ สุทธิชาติ, ผู้ให้ข้อมูล)
ภาพความเจริญของเมืองบนถนนเจริญกรุง ปี 2475 ข้อมูลจากศูนย์มนุษยวิทยา
นอกจากมัสยิดยะวาแล้วในช่วงระยะเวลาต่อมาพื้นที่ภายในบริเวณใกล้เคียงมัสยิดก็มีการก่อสร้างศาสนสถานและสถานประกอบพิธีกรรม เช่น วัดปรก วัดวิษณุ สุสานจีน กุโบร์ เป็นต้น โดยตำแหน่งที่ตั้งอยู่บริเวณริมสองฝั่งของลำคลองที่ขุดเชื่อมต่อมาคลองวัดยานนาวาบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ลำคลองสายนี้ใช้ทั้งเพื่อการประกอบพิธีกรรมทางการศาสนา เพื่อการเกษตร เพื่อการคมนาคม และใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำสายสำคัญของชุมชน
“คลองวัดยานนาวา” เป็นคลองที่ขุดจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางทิศตะวันออก ไปหล่อเลี้ยงชุมชนหน้าวัดยานนาวา ชุมชนบ้านแมน ชุมชนโรงน้ำแข็งเก่า ชุมชนมัสยิดยะวา ชุมชนทุ่งวัดดอน บริเวณป่าช้าจีน ชุมชนบ้านทวาย เป็นต้น คลองขุดนี้ตรงเข้าไปจนถึงบริเวณหน้าบ้าน “อาโย่ว” แล้วแยกออกเป็น 2 สาย
สายที่ 1 แยกไปทางซ้ายประมาณ 5-6 เมตร ก็แยกออกเป็นสองทาง ทางขวาทำเป็นท่อลอดทางเดินส่งคูน้ำบริวณมุมโรงเรียนสุริยานุสรณ์ในปัจจุบัน แล้วตรงเข้าไปขนานกับทางเดินไปมัสยิด คูน้ำนี้แต่ละบ้านจะขุดในที่ของตนเอง มีความลึกและความกว้างต่างกัน ขึ้นอยู่กับประโยชน์ใช้สอย คูน้ำที่ผ่านที่ว่างเปล่าเจ้าของที่อยู่อื่นก็จะตื้นเขิน ชุมชนจะช่วยกันขุดลอกเป็นครั้งคราวเพื่อให้น้ำไหลสะดวก คูน้ำนี้ผ่านหน้าบ้านแชฮีม (โรงเรียนสุริยานุสรณ์)
ผ่านหน้าบ้านอิหม่ามอิสมาอีล (ซำมะแอ) และมัสยิดยะวา สำหรับมัสยิดยะวาเขาฝังท่อลอดทางเดินนำน้ำเข้าสู่สระอาบน้ำละหมาด (อยู่ในตำแหน่งของห้องอาบน้ำละหมาดในปัจจุบัน) สระน้ำมีความกว้างประมาณ 4 เมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่ออิฐถือปูน ทำเป็นบันไดด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก ขั้นบันไดกว้างมากเพื่อสะดวกเวลาลงไปอาบน้ำละหมาด สระมีความลึกสามารถใช้อาบน้ำได้ทั้งปี
ในช่วงที่น้ำมากจะเห็นขั้นบันได 1-2 ขั้น ช่วงหน้าแล้งจะเห็น 5-6 ขั้น คูน้ำนี้เมื่อผ่านมัสยิดและบ้านอิหม่ามซำมะแอไป ก็จะผ่านเข้าสู่กุโบร์ (สุสานไทยอิสลาม) แล้วส่งตรงต่อไปในที่ถัดๆ ไป เป็นน้ำใช้สอบในครัวเรือนและสวนผักผลไม้ของชาวบ้าน ส่วนที่เฉียงไปทางซ้ายผ่านเข้าบ้านเขียว และส่งต่อไปทุกบ้านบริเวณหลังมัสยิดทั้งหมด
สายที่ 2 แยกเลี้ยวขวาตรงไปประตูป่าช้าจีน ซึ่งบริเวณนั้นเป็นทางขนาดใหญ่ขึ้น เป็นทางมาจากถนนเจริญกรุง สมัยก่อนเรียกว่า “ตรอกยายกับตา” เพราะมีศาลยายกับตาอยู่ปากตรอกริมถนนเจริญกรุง (ตรมข้ามศาลยายกับตา เป็นที่ตั้งของอู่บางกอกด๊อก ซึ่งยังทำกิจการจนถึงปัจจุบัน) ตรอกยายกับตานี้ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นซอยดอนกุศล (เจริญกรุง 57) พอถูกถนนเจริญราษฎร์ตัดผ่าน
ส่วนท้ายของซอยก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นซอยเจริญราษฎร์ 3 คลองที่มาจากร้านอาโย่วเมื่อถึงตรอกยายกับตาก็เลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันตกเลียบตรอกยายกับตาไปจนถึงโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย แล้วเลี้ยวขวาไปทางทิศเหนือไปบรรจบกับคลองวัดยานนาส่วนหน้า คลองเลียบตรอกยายกับตานี้มีคลองแยกซ้ายมือใกล้โรงเรียนนิพันธ์วิทยาส่งน้ำเข้าสู่ชุมชน
จึงต้องมีสะพานข้ามคลอง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “สะพานหนึ่ง” คลองสายที่ 2 นี้ นอกจากเลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันตกแล้ว บริเวณหน้าประตูป่าช้าจีน เขาทำเป็นท่อลอดขนาดใหญ่ ลอดตรอกยายกับตาเฉียงไปทางซ้ายไปบริเวณหน้าวัดปรก กลายเป็นคลอกว้างประมาณ 3-4 เมตร (อยู่ด้านซ้ายของทางเดิน) ผ่านหน้าวัดวิษณุ โรงเรียนบำรุงศึกษา และชุมชนใกล้เคียง...”
“...เมื่อข้าพเจ้ายังเด็กอายุไม่เกินสิบปี จำได้ว่าคลองวัดยานนาวามีขนาดกว้างและลึกมาก มีน้ำขึ้นน้ำลงเป็นเวลา เวลาน้ำขึ้นน้ำสะอาดเต็มคลองสามารถกระโดดน้ำและว่ายน้ำได้ บางครั้งจะเห็นปลากระทุงเหงว่ายน้ำเข้ามา เวลาน้ำลงน้ำจะแห้งขอด มองเห็นดินเลนก้นคลอง มีปลาตีนและปูแสมวิ่งกันขวักไขว่ ในบางฤดูกาลมีหิ่งห้อยในเวลากลางคืนด้วย เนื่องจากคลองนี้กว้างและลึกตามที่กล่าวแล้ว เวลาน้ำขึ้นเรือใหญ่สามารถเข้ามาได้ ข้าพเจ้าเคยเห็นเรือใหญ่บรรทุกโอ่งและเครื่องดินเผามาจอดขายสิ้นค้าอยู่หน้าร้านอาโย่ว...”
(วิโรจน์ หมัดป้องตัว, ผู้ให้ข้อมูล)
กุโบร์สวยงามขนาดใหญ่ ของมัสยิดยะวา
ชุมชนชาวมุสลิมในกรุงเทพมหานครแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา ชุมชนมุสลิมริมคลองแสนแสบ และกลุ่มมุสลิมที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในย่านชานพระนครใต้ บนแนวถนนเจริญกรุง เมื่ิอพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริให้ตัดถนนอย่างตะวันตกขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2404 เพื่อให้ทัดเทียมต่างประเทศ ชาวมุสลิมต่างอพยพมาอาศัยหรือทำธุรกิจที่ย่านบางรัก ไม่ว่าจะเป็นชาวอินเดียที่เข้ามาขายผ้าหรืออัญมณี ชาวชวาเข้ามาต่อเรือหรือจัดสวน พวกเขาอาศัยอยู่ในย่านนี้มามากกว่า 100 ปี
เจริญกรุงเป็นย่านการค้าที่รุ่งเรืองสมชื่อถนน ในช่วงพัฒนาประเทศเข้าสู่ยุคใหม่ นอกจากปลูกตึกแถวแบบสิงคโปร์ ติดตั้งโคมไฟฟ้าริมทาง ตลอดเส้นทางนี้ยัังมีมัสยิดและกุโบร์ (สุสานมุสลิม) อยู่ใกล้ชิดกับวัดและโบสถ์ฝรั่งมาโดยตลอด แต่หลายคนอาจไม่เคยได้เข้าไปทำความรู้จักวิถีชีวิตแบบอิสลามใจกลางกรุงเทพฯ
เดือนพฤษภาคมนี้ตรงกับเดือนเราะมะฎอน เดือนแห่งการถือศีลอดของชาวมุสลิม ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาสำคัญประจำปีของศาสนาอิสลาม วาระนี้ The Cloud และเครื่องดื่ม 100PLUS ขอชวนทุกท่านไปเดินชมศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบอิสลามผ่านมัสยิดอายุ 100 กว่าปี กุโบร์ และอาคารเก่าย่านเจริญกรุง เพื่อทำความรู้จักความงาม ปรัชญา ขนบวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของชาวมุสลิมในย่านนี้
ศิลปะอิสลามไม่มีรูปเคารพหรือลายตัวแทนบุคคล แต่สะท้อน ‘อนันตภาพ’ (infinity) ของจักรวาล และ ‘เอกภาพ’ (unity) ของพระผู้เป็นเจ้า ผ่านลวดลายอักษรประดิษฐ์ (calligraphy) ลายเรขาคณิต (geometry) และลายอาหรับ (arabesque)
เราจะเริ่มทำความเข้าใจแนวคิดศิลปะนี้ที่สถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทย ณ บ้านเขียว อดีตบ้านพักของอาจารย์ต่วน สุวรรณศาสน์ อดีตจุฬาราชมนตรีผู้แปลพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านภาษาไทยฉบับพระราชทาน
หลังจากนั้นวิทยากรจากสถาบันศิลปะอิสลามฯ อาจารย์วรพจน์ ไวยเวทา เลขานุการสถาบันศิลปะอิสลาม และอาจารย์สุนิติ จุฑามาศ นักวิจัยด้านโบราณคดีอิสลาม จะพาเราเข้าไปเยี่ยมมัสยิดฮารูณ ซึ่งตกแต่งด้วย calligraphy สไตล์ ‘มูซันนา’ (Musanna) สะท้อนปฐมบทคัมภีร์อัลกุรอ่าน 2 ด้านอย่างสมมาตร และเป็นมัสยิดของชุมชนมุสลิมหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งไทย เมียนมา ชวา อินเดีย ไปจนถึงแอฟริกา จากนั้นจึงไปเยี่ยมมัสยิดบ้านอู่ มัสยิดเก่าแก่ของย่านอู่ต่อเรือที่ขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลามเป็นแห่งแรกของประเทศไทย
ต่อไปเราจะไปมัสยิดยะวา มัสยิดหลังคา 2 ชั้นสไตล์ชวาที่มีกุโบร์สวยงามขนาดใหญ่ และมัสยิดดารุ้ลอาบิดิน หรือมัสยิดตรอกจันทน์ ตัวอาคารสไตล์ตะวันตกประดับด้วยกระเบื้องโมเสก สร้างโดยรองอำมาตย์ตรี เอ็ม.เอ.กาเซ็ม หรือกาเซ็ม-แปลน สถาปนิกมุสลิมชื่อดังในสมัยรัชกาลที่ 6
สยิดยะวา มัสยิดหลังคา 2 ชั้นสไตล์ชวาที่มีกุโบร์สวยงามขนาดใหญ่
สำหรับความเป็นมาที่ทราบกันดีจากชาวมุสลิมดั่งเดิมในพื้นที่ ชาวยะวาบางครอบครัวได้ย้ายเข้ามาอยู่บริเวณคลองสาธรใต้ ในระยะแรกนั้นยังมิได้มีสถานที่นมัสการพระผู้เป็นเจ้าร่วมกัน คงใช้บ้านใดบ้านหนึ่งเป็นสถานที่นมัสการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2437
ฮัจยีมุฮัมมัดซอและฮ์ ชาวยะวาในบังคับฮอลันดา ซึ่งมีที่อยู่บริเวณตรอกโรงน้ำแข็ง ถนนสาธร ตำบลคอกกระบืออำเภอบางรัก(ปัจจุบันเป็นแขวงยานนาวาเขตสาทร)ได้มอบที่ดินให้เป็นสถานที่ปลูกสร้างมัสยิดเพื่อใช้เป็นของชาวจีนชื่อจ้อย พ.ศ. 2448 ฮัจยีมุฮัมมัดซอและฮ์ ได้ยื่นคำร้องต่อทางการให้เปลี่ยนโฉนดสำหรับที่ดินนี้ใหม่ โดยใส่ชื่อฮัจยีมุฮัมมัดซอและฮ์เป็นผู้จัดการในที่ของมัสยิดด้วย
ชาวยะวาในอาณาบริเวณนั้น อาทิเช่น นายมุฮัมมัดมูซา นายระก๊ำ และชาวยะวาคนอื่น ๆ ทั้งในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน ได้ร่วมกันก่อตั้งมัสยิดยะวาขึ้นมาจนเป็นผลสำเร็จ ลักษณะการก่อสร้างมัสยิดยะวานี้เป็นสถาปัตยกรรมแบบยะวา แม้จะมีการซ่อมแซมมัสยิด 2 ครั้ง ครั้งแรกประมาณปี พ.ศ. 2470 และครั้งที่ 2 ประมาณ พ.ศ. 2518 ก็ยังคงรักษารูปหลังคาตามแบบเดิม เปลี่ยนแปลงเฉพาะอาคารมัสยิดให้กว้างขวางขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะตรงส่วนที่นั่งพักสนทนาธรรม ซึ่งชาวยะวาจะเรียกบริเวณที่นั่งพักนี้ว่า บาไล
มีอิหม่ามทำหน้าที่เป็นผู้นำทางศาสนาในมัสยิดจนถึงปี พ.ศ. 2539 เป็นจำนวน 6 ท่าน ซึ่งมีทั้งชาวยะวา และชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ในหมู่บ้านเดียวกัน อัจยีอับดุลรามัน (ยะวา) ฮัจยีอิสมาแอล (มาเลย์) ฮัจยีสุไกมี (ยะวา) อิหม่ามนูยุม (ยะวา) ฮัจยีอับดุลเราะห์มาน หรือฮัจยีอรุณ พิทยายน (มาเลย์) เป็นอิหม่ามของมัสยิด จะเห็นได้ว่ามีทั้งชาวยะวาและมาเลย์ได้มีความสัมพันธ์เป็นอันดีกับมุสลิมมาเลย์
หากดูจากความหมายของ ยะวา หมายถึง ชวา นั่นหมายถึง ชื่อเกาะสำคัญที่สุดและเป็นที่ตั้งเมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย, (โบ) ใช้ว่า ยะวา ก็มี, เรียกประชาชนที่พูดภาษาชวา ว่า ชาวชวา
เเต่ก็มีนักวิชาการบางกลุ่มที่ให้ความหมายของ ยะวา ว่า ระยะวาหนึ่ง หรือมีความหมายเป็น ข้าว, ข้าวเหนียว หรืออาจจะมาจากยะวาราบ หมายถึงพื้นที่ราบลุ่มบริเวณริมเเม่น้ำเจ้าพระยา เเต่ไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะ มีศาสนสถานอันเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการเห็นถึงความเป็นไปเป็นมาของมัสยิดยะวา
ภาพความเจริญของเมืองบนถนนเจริญกรุง ปี 2527 ข้อมูลจากศูนย์มนุษยวิทยา
ระหว่างปีพ.ศ.2500 - 2517 เป็นช่วงเวลาก่อนการตัดถนนพระราม 3 ความหนาแน่นของอาคารบ้านเรือนจึงเริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณที่มีการตั้งถิ่นฐานมาแต่เดิม มีการขยายตัวและเริ่มมีความแออัดบริเวณสองฟากของถนนเจริญกรุงจากแยกถนนจันทน์เรื่อยไปจนถึงถนนตก ซึ่งเป็นที่ตั้งของโกดังคลังสินค้าและโรงงานอุตสาหกรรม มีความหนาแน่นของอาคารพักอาศัยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
แม้ว่าจะมีการตัดถนนเพิ่มขึ้น แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงได้โดยถนนสายหลัก พื้นที่บางส่วนยังคงสภาพเป็นสวนและทุ่งนา โดยการเดินทางในพื้นที่เหล่านั้นยังคงใช้ลำคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา
ต่อมาในช่วงปีตั้งแต่ พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา เป็นช่วงที่กรุงเทพมหานครขยายตัวทุกทิศทาง เกิดศูนย์กลางรองขึ้นตามพื้นที่ต่าง ๆ การขยายของพื้นที่เมืองเกิดขึ้นหลังจากการตัดถนนเลียบแม่น้ำ (ถนนพระราม 3) เป็นการเชื่อมต่อพื้นที่เข้ากับส่วนต่าง ๆ ของเมืองรวมไปถึงจังหวัดในเขตปริมณฑลอย่างรวดเร็ว ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาโครงข่ายถนนซึ่งตัดผ่านสวนผลไม้ และย่านชุมชนอย่างเห็นได้ชัด ลำคลองหลายสายก็กลายเป็นถนน หรือถูกลดระดับความสำคัญลงเป็นเพียงเส้นทางระบายน้ำเท่านั้น
“...คลองวัดยานนาวานี้ส่วนใหญ่ถูกกลบฝังท่อระบายน้ำทำเป็นถนน เหลืออยู่บางส่วน ได้แก่ ส่วนที่ตรงมาจากวัดยานนาวามาสิ้นสุดที่บ้านทรงไทย อีกส่วนที่เหลือคือคูระบายน้ำเลียบซอยเจริญราษฎร์ 3 และซอยดอนกุศล...”
(วิโรจน์ หมัดป้องตัว, ผู้ให้ข้อมูล)
ภาพความเจริญของเมืองบนถนนเจริญกรุง ปี 2563 ข้อมูลจากศูนย์มนุษยวิทยา
การพัฒนาของเมืองที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนพื้นที่ชุมชนมัสยิดยะวาในปัจจุบัน พื้นที่สวนหรือที่นาถูกขายหรือปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่พักอาศัย และเกิดความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่อันส่งผลให้เกิดสิ่งปลูกสร้างถาวรกระจายครอบคลุมทั่วทั้งพื้นที่ทั้งในรูปของอาคารพาณิชย์และบ้านพักอาศัย อาคารสำนักงานและอาคารพักอาศัยขนาดใหญ่ กระจายเต็มถนนสายหลัก พื้นที่ที่เคยเป็นสวนผลไม้ถูกเปลี่ยนให้เป็นอาคารห้างร้านเกือบทั้งสิ้น
ชุมชนมัสยิดยะวาในปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม
เนื่องจากเป็นพื้นที่ ที่มีกลุ่มคนอาศัยอยู่ 3 กลุ่ม คือ คนไทยพุทธ คนจีน และมุสลิม การปรากฏทั้งวัด มัสยิดและศาลเจ้าในพื้นที่จึงเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนาที่อยู่ร่วมกันได้อย่างดีในพื้นที่แห่งนี้ แม้ วิถีชีวิตของชาวชุมชนมัสยิดยะวาจะเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต
แต่ชุมชนมัสยิดยะวาในทุกวันนี้ก็ยังคงหลากหลายไปด้วยคนหลายกลุ่ม หลายเชื้อชาติ ศาสนา วิถีชีวิตบางประการที่เคยมีมาในอดีตค่อย ๆ จางหายไป แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่คือการเป็นพื้นที่ที่รวมผู้คนอันหลากหลายที่มา ศาสนา ความเชื่อ วิถีชีวิต แต่ ทุกคนก็สามารถอยู่ร่วมกันบนความต่างนั้นได้อย่างลงตัว
ศิลปะหลังคาเเบบยะวา หลังคา 2 ชั้น
มัสยิดยะวา (อินโดนีเซีย: Masjid Jawa; อักษรเปโกน: مسجد جاوا) เป็นมัสยิดเก่าแก่ในชุมชนชาวไทยเชื้อสายชวาในซอยโรงน้ำแข็ง - ซอยเจริญราษฎร์ 1 บริเวณแขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร มีลักษณะเด่นคือหลังคาทรงแหลมซ้อนกันหลายชั้นเป็นหลังคาทรง ตาจุก (Tajug) หรือ เมอรู (Meru) หลังคาแบบนี้วิวัฒนาการมาจากหลังคาเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมชวา ที่เรียกว่า "จกโล"
โดยเพิ่มยอดแหลมจนถึงปลาย หลังคาแบบตาจุกนี้จะสร้างในศาสนสถานเท่านั้น ถือเป็นลำดับขั้นสูงสุดในหลังคาแบบชวา และมีการสร้าง "บาแล" หรือ "บาไล" (Balai) เป็นบริเวณนั่งพักผ่อนพบปะ ซึ่งเป็นลักษณะของมัสยิดแบบอินโดนีเซีย ถึงแม้จะเป็นมัสยิดของชาวยะวา (ชวา) แต่ก็เป็นศูนย์รวมจิตใจของมุสลิมในชุมชนทั้งเชื้อสายชวาและเชื้อสายมลายูตลอดมา
เดิมทีมุสลิมในชุมชนจะหมุนเวียนบ้านแต่ละคนเพื่อใช้เป็นสถานที่ละหมาด ต่อมาในปี พ.ศ. 2448 จึงได้สร้างมัสยิดขึ้นบนที่ดินของชาวชวานายหนึ่งที่อยู่ภายใต้บัญชาของฮอลันดาในซอยโรงน้ำแข็งจนถึงปัจจุบัน รงข้ามกับมัสยิดเป็นกุโบร์หรือสุสานมุสลิมขนาดใหญ่ เรียกว่าสุสานไทย-มุสลิม
บรรยากาศของผู้คนในการปฏิบัติการฝังพิธีศพหลังจากการละหมาด
#มัสยิดยะวา #อินโดนีเซีย #ประวัติศาสตร์มุสลิมสยาม #อินโดนีเซีย #สาทร
#ตรอกโรงน้ำเเข็ง #มุสลิมอินโดนีเซีย #สยามประเทศ #สยาม
เรียบเรียงโดย อาจารย์ต้นสัก สนิทนาม
ชาวมุสลิม
คุยเรื่องประวัติศาสตร์อิสลาม
สยาม
บันทึก
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย