26 ธ.ค. 2024 เวลา 07:04 • ธุรกิจ

“บัวหลวงเอสเอ็มอีแฟร์ 67 ครั้งที่ 15” กับแนวคิด ปรับตัว เติบโต ยั่งยืน หนุน SMEไทยแข่งขันในระดับสากล

ธนาคารกรุงเทพ จัดงานมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้กับธุรกิจที่มีแนวทางโดดเด่น 3 รางวัล ภายใต้แนวคิด “ปรับตัว เติบโต ยั่งยืน” ฉลองการก่อตั้งครบรอบ 80 ปีธนาคารในงาน “บัวหลวงเอสเอ็มอีแฟร์ 2567 ครั้งที่ 15” พร้อมเปิดพื้นที่ขายสินค้าราคาพิเศษส่งตรงจากผู้ประกอบการ ณ ลานด้านหน้า ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ สีลม เพิ่มโอกาสขยายตลาดและสร้างเครือข่าย ในฐานะ “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” เคียงข้างผู้ประกอบการ SME ไทย
คุณทัฬห์ สิริโภคี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายลูกค้าธุรกิจรายปลีก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
คุณทัฬห์ สิริโภคี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายลูกค้าธุรกิจรายปลีก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะ “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” เดินหน้าจัดงาน “บัวหลวงเอสเอ็มอีแฟร์ 2567 ครั้งที่ 15” ขึ้น ภายใต้แนวคิด “ปรับตัว เติบโต ยั่งยืน” เพื่อเป็นพื้นที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SME ได้สร้างเครือข่ายธุรกิจกับผู้ประกอบการกลุ่มต่าง ๆ ที่มาร่วมออกบูธ ได้ศึกษาเรียนรู้ตลาดและคู่แข่งเพื่อปรับตัว
นำไปสู่การต่อยอดทำธุรกิจร่วมกันในอนาคต โดยมีผู้ประกอบการรวม 80 ราย นำสินค้าทั้งอุปโภคบริโภค ของแต่งบ้าน อาหารสด อาหารแปรรูป และของขวัญ มาวางจำหน่ายกว่า 200 รายการ ในราคาสุดพิเศษ
คุณทัฬห์ กล่าวว่า “ธนาคารตั้งใจให้งาน ‘บัวหลวงเอสเอ็มอีแฟร์’ เป็นหนึ่งใน Market Place ที่ผู้ประกอบการ SME จะได้ใช้โอกาสในการขยายตลาดใหม่และเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน รวมถึงได้สัมผัสและฟังเสียงตอบรับจากลูกค้าโดยตรงเพื่อนำกลับไปปรับปรุงการผลิตและตอบสนองลูกค้าให้ดีขึ้น”
“ขณะเดียวกันธนาคารยังเดินหน้าผลักดันให้ผู้ประกอบการ SME ภายใต้การดำเนินงานร่วมกับชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกที่เป็นลูกค้ากว่า 400 ธุรกิจ สามารถปรับตัวและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและกฎระเบียบการค้าโลกใหม่ ที่จะส่งผลกระทบมาถึงผู้ประกอบการ SME
โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเพื่อส่งออกได้ ทั้งในรูปแบบการจัดสัมมนา การศึกษาดูงานธุรกิจที่ปรับตัวและประสบความสำเร็จ การแบ่งปันข้อมูลจากการสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่ง รวมถึงการสนับสนุนสินเชื่อและบริการทางการเงินต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง
เพื่อให้ผู้ประกอบการพร้อมเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง เป็น “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ที่อยู่เคียงข้างผู้ประกอบการไทยในทุกสถานการณ์โดยแท้จริงตลอด 80 ปีที่ผ่านมา” ผช. ผจก. ใหญ่ สายลูกค้าธุรกิจรายปลีก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวปิดท้าย
นอกจากนี้ ภายในงาน ธนาคารกรุงเทพ ยังได้ประกาศมอบรางวัล “Bangkok Bank SME Award” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติธุรกิจ SME ดีเด่นต้นแบบ ในการ “ปรับตัว เพื่อเติบโต อย่างยั่งยืน” อีกด้วย
“ปรับตัว เติบโต ยั่งยืน” ยื่นมือสนับสนุน เชิดชูผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
สืบเนื่องมาจากธนาคารกรุงเทพ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการผลักดันและสนับสนุนผู้ประกอบการ SME เพื่อก้าวเข้าสู่การแข่งขันในตลาด ทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้แนวคิด “ปรับตัว เติบโต ยั่งยืน” ทำให้ธนาคารกรุงเทพเล็งเห็นความสำคัญ ใน 3 มิติ
ไม่ว่าจะเป็นด้าน Digital Transformation ธุรกิจที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อเพิ่มโอกาสใหม่ทางธุรกิจจนประสบความสำเร็จ โดยเป็นกระบวนการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีและกลยุทธ์การทำงานแบบดิจิทัลเข้ามาใช้ในการวางรากฐาน กำหนดเป้าหมาย ดำเนินธุรกิจ ไปจนถึงปรับใช้กับขั้นตอนการทำงาน
ด้าน ESG (Environment, Social, Governance) หรือความยั่งยืน ธุรกิจที่ให้ความสำคัญและมีนโยบายสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม Zero Waste ลดมลพิษ ให้ความสำคัญกับชุมชน โดยการกำจัดขยะที่มีมากในชีวิตประจำวันให้ลดน้อยลงจนกลายเป็นศูนย์ เพื่อผลักดันการสร้างสังคมที่มีคุณภาพที่จะต่อยอดถึงการช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต และสร้างความสุข ทำให้บ้านเมืองสะอาด
ด้าน Innovation หรือนำนวัตกรรม ผลการวิจัยมาปรับปรุง ปรับใช้กับธุรกิจ พัฒนาจนเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ หรือแนวคิดใหม่ สิ่งประดิษฐ์คิดค้นใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาต่อยอดและใช้ประโยชน์ให้ดียิ่งขึ้น โดยอาศัยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อนำไปสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น รวมถึงการช่วยสร้างมูลค่าในด้านอื่น ๆ ของสังคมได้
ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะที่เป็น “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ตลอดระยะเวลา 80 ปีให้กับคนไทยจึงได้จัดให้มีการมอบรางวัลให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจโดดเด่นทั้ง 3 ด้าน
ตู้บริการสื่อสารอเนกประสงค์ “ปรับตัว” องค์กรไทยนำดิจิทัลสู่สากล
ด้าน Digital Transformation ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัล ได้แก่ บริษัท เอส เจ พี อินฟอร์เมชั่นซิสเต็ม จำกัด ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์เชื่อมต่อและให้บริการรับเหมาวางระบบโครงข่ายภายในองค์กร ผู้คิดค้นและพัฒนาระบบ Smart Multi Service Box หรือ “ตู้บริการสื่อสารอเนกประสงค์” กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยแบบครบวงจร ที่มีทั้งบริการกล้องวงจรปิด (CCTV)
บริการเสียงประกาศสาธารณะ บริการตรวจวัดคุณภาพอากาศ บริการจอภาพประชาสัมพันธ์แสดงผลแบบแอลอีดี บริการอินเตอร์เน็ตไร้สาย (Wi-Fi) และซอฟต์แวร์ประมวลผล โดยบริษัทได้นำเทคโนโลยีทางด้านซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย รวมถึงจุดแข็งทางด้านฮาร์ดแวร์ และอุปกรณ์ไฟเบอร์ออพติคส์ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมี นายภัคพล เลิศวารีเวช กรรมการผู้จัดการ เป็นผู้รับมอบรางวัล
“ต้องบอกว่าเดิมที บริษัท เอส เจ พี อินฟอร์เมชั่นซิสเต็ม ทำอุตสาหกรรมด้านการสื่อสารตอนนอกตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ ก็คือเป็นอินเทอร์เน็ตที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ซึ่งตัวผมเองได้เล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมที่เป็นฝั่งเอ็นเตอร์ไพรซ์ ยังขาดสิ่งที่มีมาตรฐานอยู่ เราเลยนำเทคโนโลยีฝั่งโทรคมนาคมไปใช้กับฝั่งเอ็นเตอร์ไพรซ์”
กรรมการผู้จัดการบริษัท เอส เจ พี อินฟอร์เมชั่นซิสเต็ม จำกัด กล่าวอีกว่า “ปัจจุบันคู่แข่งส่วนใหญ่จะเป็นต่างประเทศทั้งหมด จากทั้งยุโรป อเมริกา และจากจีนที่หนักมาก เราอาจจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีเล็ก ๆ ที่ต่อสู้ได้กับทั้งยุโรป อเมริกา รวมถึงจีนด้วย”
“ปัจจุบันตอนนี้ผมทำอุปกรณ์เรื่องเกี่ยวกับสมาร์ท โพล (Smart Pole) แต่ว่าเราก็ไม่ได้ทำ Smart Pole เสียทีเดียว ต้องบอกว่าในกลุ่มตลาดทั่วโลกก็ทำสมาร์ท โพล ส่วนของเราทำสมาร์ท บ็อกซ์ Smart Multi Service Box ที่สามารถนำมาใช้ Apply กับภูมิประเทศไทยได้ตั้งแต่เหนือจรดใต้” นายภัคพล กล่าว
สนใจอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่
เส้นก๋วยเตี๋ยวเรืองแสง แหล่งผลิตไฟฟ้าเพื่อความยั่งยืน
ด้านความยั่งยืน ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัล ได้แก่ บริษัท ไทยเอเซีย ไรซ์ โปรดักส์ จำกัด โรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้ง ผู้ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวด้วยนวัตกรรมไร้สารพิษ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขายส่งในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียงในพื้นที่ภาคเหนือ
ก่อนจะพัฒนาการทำเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้งให้เก็บรักษาได้นานขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งสารกันเสีย ทำให้ส่งขายได้ทั่วประเทศ โดยดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด ESG คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เริ่มจากการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในพื้นที่ นำเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพและโซล่าเซลล์ รวมถึงการปลูกป่า มาช่วยในการลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
นำของเสียจากกระบวนการผลิต หรือน้ำแป้งวันละ 200,000 ลิตรมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ภายในโรงงาน ช่วยลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้ โดยมี นางสาวอรวรรณ ล้อบุณยารักษ์ กรรมการผู้จัดการ เป็นผู้รับมอบรางวัล
“ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณ ธนาคารกรุงเทพมาก ๆ ที่ให้โอกาสโรงงานอุตสาหกรรมเล็ก ๆ ที่อยู่ต่างจังหวัด ในจังหวัดแพร่ได้รับรางวัลใหญ่ ๆ แบบนี้ ต้องบอกว่าเราจะพยายามทำให้อุตสาหกรรมที่ทุกคนคิดว่ามันอาจจะไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่เราจะพยายามดูแลสังคมให้อยู่กับเรายั่งยืนตลอดไป”
นางสาวอรวรรณ กล่าวว่า “บริษัท ไทยเอเซีย ไรซ์ โปรดักส์ ทำเส้นก๋วยเตี๋ยวส่งออก ซึ่งทำมาได้ตั้งแต่รุ่นอากงอาม่า ตอนนี้เราก็ส่งออกประมาณ 95% ส่งไปให้หลัก ๆ ก็อเมริกา ยุโรป ซึ่งตอนนี้เราคิดว่าเราก็จะขยายธุรกิจ นอกจากเส้นก๋วยเตี๋ยวก็จะเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับเส้นก๋วยเตี๋ยว ไปให้ทั่วโลกรู้จักอาหารไทยมากขึ้น”
“ส่วนที่ได้รางวัลก็มาจากการที่เราเอาน้ำแป้งที่ล้างข้าว วันละ 2-3 ตันต่อวัน มาปั่นเป็นไฟฟ้า โดยเรามีไบโอแก๊สที่โรงงานอยู่ 2 ลูก รวมก็ประมาณ 4,000 กว่าคิว เดือนนึงเราก็ประหยัดค่าไฟของโรงงานเราเองไปได้ประมาณ 1 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟไปได้เยอะ รวมถึงกระบวนการของเราก็แทบจะเป็น Zero Waste เพราะว่าเราก็นำมูลปฏิกูลต่าง ๆ เอามาใส่เข้าไปในบ่อแก๊สด้วย
อีกทั้งยังมีการเก็บเศษปลาที่ทำความสะอาด ล้างปลาในตลาดทั้งหมดในจังหวัดแพร่มารวมกัน เพื่อนำไปใส่ในบ่อแก๊สของเราเพื่อที่จะผลิตเป็นไฟฟ้า แม้กระทั่งจากห้องน้ำของโรงงาน ก็นำเข้าไปรวมในนั้น ผลิต และปั่นเป็นไฟเพื่อกลับมาใช้อีกที” กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยเอเซีย ไรซ์ โปรดักส์ กล่าว
สนใจอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่
เทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ “นวัตกรรม” เพิ่มโอกาสคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ด้านนวัตกรรม Innovation ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัล ได้แก่ บริษัท แอท-ยีนส์ จำกัด ธุรกิจบริการตรวจข้อมูลเชิงพันธุกรรมเพื่อการวินิจฉัยหรือรักษาโรค บริษัทผู้เชี่ยวชาญการตรวจยีน ดีเอ็นเอ อาร์เอ็นเอ ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจพันธุกรรม ที่ครอบคลุมโรคทางพันธุกรรมชนิดต่าง ๆ
มุ่งเน้นการวินิจฉัยถึงต้นเหตุของการเกิดโรค เพื่อการรักษาและการป้องกันที่รวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยเป้าหมายที่จะสร้าง บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ของคนไทยที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยมี ศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต ประธานกรรมการบริหาร เป็นผู้รับมอบรางวัล
“รู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้รับรางวัลนี้ของทางบริษัท แอท-ยีนส์ ซึ่งรางวัลนี้นับว่าเป็นเครื่องแสดงถึงเจตนารมย์ที่ชัดเจนของธนาคารกรุงเทพที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการของประเทศไทยให้เรามีขีดความสามารถในการแข่งขัน สอดคล้องกับ 3 มิติที่ทางธนาคารกรุงเทพมองเห็น ผมก็เห็นว่าเป็นมิติที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ESG, Digital Transformation หรือเรื่องของ Innovation ผมเชื่อว่า 3 เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่จะทำให้ธุรกิจ SME ของประเทศไทยเราสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล”
ศ.ดร.นพ.วิปร กล่าวเพิ่มเติมว่า “บริษัท แอท-ยีนส์ เราเป็นบริษัทด้าน Biotechnology ทางการแพทย์ ซึ่งผมเป็นแพทย์ อาจารย์แพทย์อยู่ที่คณะแพทย์ศาสตร์ที่ศิริราชพยาบาล และเราก็ทำงานด้านการวิจัย ตรวจ วินิจฉัย และการรักษาโดยใช้ Biotechnology
ทีนี้เราก็อยากจะนำสิ่งต่าง ๆ ที่เราวิจัยมาทำเป็นบริการทางการแพทย์ เพื่อที่จะให้คนไทย และคนในภูมิภาคได้เข้าถึงบริการที่ดี ตัวอย่างเช่น บริการเรื่องของการตรวจดีเอ็นเอ เพื่อวินิจฉัยโรค และการตรวจเพื่อหาโอกาสการเกิดโรคในอนาคต หรือเรียกว่าเป็นการป้องกัน Prevention ด้วย เช่น ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง โอกาสในการเกิดโรคอัลไซเมอร์”
“ล่าสุดตอนนี้เราได้ขยายไปในเรื่องของการรักษาโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การใช้ ATMP หรือ Advance Therapy Medicinal Product การทำ Car-T Cell การทำ Mesenchymal Stem Cells (MSCs) พวกนี้ก็จะเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้คุณภาพชีวิตและอายุขัยของพวกเรายืนยาวมากยิ่งขึ้น” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอท-ยีนส์ จำกัด กล่าว
สนใจอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นเสมือนการตอบโจทย์ให้กับคนไทยได้เห็นว่า ธนาคารกรุงเทพในฐานะ “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ได้อยู่เคียงข้างกับคนไทย และผู้ประกอบการไทยในการช่วยผลักดันและสนับสนุน เพื่อเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจไทยมีขีดความสามารถสู่การแข่งขันในระดับสากล ภายใต้แนวคิด “ปรับตัว เติบโต ยั่งยืน”
รับชมงาน “บัวหลวงเอสเอ็มอีแฟร์ 2567 ครั้งที่ 15” ฉบับเต็มได้ที่
โฆษณา