26 ธ.ค. 2024 เวลา 08:32 • การศึกษา

Chi-Square คือใครกันนะ ลองมาทำความรู้จักซักหน่อย? 🤔

ในโลกของสถิติ Chi-Square (ไค-สแควร์) เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ใช้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร โดยเฉพาะตัวแปรเชิงคุณภาพ (Categorical Variables) เช่น การทดสอบว่าการเลือกซื้อสินค้าขึ้นอยู่กับช่วงอายุหรือไม่ หรือการสำรวจว่ารสนิยมการดูหนังแตกต่างกันระหว่างช่วงอายุหรือไม่ 🎥👩‍🔬
Chi-Square คืออะไร? 🧪
ก่อนอื่นเลย ต้องเรียก หรืออ่านให้ถูกก่อนนะ Chi-Square ห้ามอ่านว่า ชิ-สแควร์ เด็ดขาด อันนี้คือประโยคแรกที่ใช้ในการสอน เพราะพอเปิดสไลด์แรกของเรื่องนี้ จะได้ยินคำว่า ชิ-สแควร์ มากันก่อนเลย ไม่ใช่นะ เทคนิคนี้อ่านว่า ไค-สแควร์ มาจากอักษรกรีกตัวนี้เลย χ2 ตัว ไคร์สแควร์
Chi-Square Test เป็นการวิเคราะห์ทางสถิติที่ใช้เปรียบเทียบข้อมูลจริง (Observed Data) กับข้อมูลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Data) เพื่อดูว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ โดยเหมาะสำหรับการตอบคำถามเกี่ยวกับตัวแปรเชิงคุณภาพ เช่น:
1. ตัวแปรสองตัวมีความสัมพันธ์กันหรือไม่?
- เช่น สถานที่ตั้งของร้านอาหารมีผลต่อการเลือกเมนูอาหารหรือไม่
2. การแจกแจงของข้อมูลจริงสอดคล้องกับสิ่งที่คาดหรือไม่?
- เช่น การทอยลูกเต๋ามีโอกาสออกทุกหน้าเท่ากันจริงหรือไม่
Chi-Square ทำงานยังไง? 🛠️
1. ตั้งสมมติฐาน:
- H₀ (สมมติฐานหลัก): ตัวแปรสองตัวไม่มีความสัมพันธ์กัน หรือการแจกแจงของข้อมูลเป็นไปตามที่คาด
- H₁ (สมมติฐานแย้ง): ตัวแปรสองตัวมีความสัมพันธ์กัน หรือการแจกแจงของข้อมูลแตกต่างจากที่คาด
2. จัดข้อมูลในรูปแบบตาราง:
- เก็บข้อมูลจริง (Observed Data) และคำนวณข้อมูลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Data) ตามสมมติฐานหลัก
3. เปรียบเทียบข้อมูล:
- เปรียบเทียบข้อมูลจริงกับข้อมูลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพื่อดูว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ โดยการคำนวนความแตกต่างดังกล่าวในหน่วยของค่า χ2 กล่าวคือ หาผลต่างของข้อมูลจริงและข้อมูลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นแล้วยกกำลังสองจากนั้นคิดเป็นจำนวนเท่าของข้อมูลที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้น แล้วเอาผลการคำนวนของทุกกลุ่มมารวมกัน ตามสูตรนี้
χ2 = Σ( (O – E)² / E) : โดยที่ O คือ Observed Data, E คือ Expected Data
จากนั้นนำ ค่า χ2 ที่คำนวณได้จากสูตร มาเปรียบกับเกณฑ์ คือ ค่า χ2 จากมาตรฐาน (ตาราง) ตามค่า alpha ที่กำหนด เช่น 0.05 ถ้าค่า χ2 ที่คำนวณได้จากตัวอย่างมากกว่า χ2 ตามเกณฑ์ เราก็จะถือว่าต่างกันมากเกิดไป เราจะตัดสินใจปฏิเสธสมมติฐานหลัก สรุปได้ว่าตัวแปรสองตัวนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ แต่ถ้าผลต่างไม่มากเกินไป คือไม่มากกว่า χ2 จากมาตรฐานตามค่า alpha ที่กำหนด เราจะไม่สามารถปฏิเสธสมมติฐานหลักได้ กล่าวคือ ไม่สามารถสรุปได้ว่าตัวแปรตัวนี้มีความสัมพันธ์กัน
หรือถ้าแบบง่ายๆ คำนวณเองปวดหัว ก็ให้เครื่องคำนวณแล้วอ่านค่า p_value หรือ ค่า sig. ของ Pearson Chi-Square
ถ้าพบว่าค้า p_value หรือ ค่า sig. น้อยกว่า ค่า alpha ตัดสินใจปฏิเสธสมมติฐานหลัก สรุปได้ว่าตัวแปรสองตัวนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ
ถ้าพบว่าค้า p_value หรือ ค่า sig. ไม่น้อยกว่า ค่า alpha ไม่สามารถปฏิเสธสมมติฐานหลักได้ ไม่สามารถสรุปได้ว่าตัวแปรสองตัวนี้มีความสัมพันธ์กัน
ตัวอย่างง่าย ๆ อีกหน่อย 🎯
ร้านอาหารต้องการทราบว่าการเลือกเมนูระหว่าง "เมนูเนื้อ" และ "เมนูมังสวิรัติ" ขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งของสาขาร้านอาหารหรือไม่
1. เก็บข้อมูล:
- สาขา1: เลือกเมนูเนื้อ 40 คน, เมนูมังสวิรัติ 10 คน
- สาขา2: เลือกเมนูเนื้อ 20 คน, เมนูมังสวิรัติ 30 คน
2. นำข้อมูลไปคำนวนค่าการทดสอบ Pearson Chi-square ถ้าใช้ SPSS ก็ทำประมาณนี้
Analyze > Descriptive Statistics > Crosstabs แล้วเลือกค่า statistics Chi-Square
3. วิเคราะห์ผล: ถ้าพบว่าค่า p_value หรือ ค่า sig. น้อยกว่า ค่า alpha ตัดสินใจปฏิเสธสมมติฐานหลัก สรุปได้ว่าสถานที่ตั้งของร้านอาหารมีผลต่อการเลือกเมนู
สรุปง่ายๆ 🌟
Chi-Square คือเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรเชิงคุณภาพได้อย่างมีหลักการ โดยไม่ต้องใช้การคำนวณที่ซับซ้อนสำหรับการใช้งานพื้นฐาน ใช้ได้ในหลายสาขาตั้งแต่การตลาด การศึกษา ไปจนถึงการวิจัยทางการแพทย์ 🌟
ลองใช้ Chi-Square Test แล้วคุณจะพบว่าข้อมูลเชิงคุณภาพสามารถเล่าเรื่องได้มากมายกว่าที่คิด! และคุณจะพบว่าการใช้สถิติเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด แต่กลับเป็นตัวช่วยที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นและตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น😊
#สถิติ #ชีวิตง่ายขึ้น #คำตอบของชีวิต #สถิติง่ายนิดเดียว #วิเคราะห์ข้อมูล #Chi-square #ความสัมพันธ์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา