26 ธ.ค. 2024 เวลา 10:15 • ธุรกิจ

ย้อนรำลึกจิตวิญญาณฮอนด้า ในวันที่ต้องรวมกันเราอยู่!

“การลงมือทำที่ปราศจากทฤษฏี ถือเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนทฤษฏีที่ปราศจากการลงมือทำ นั้นช่างไร้ค่า” คำกล่าวของ ฮอนดะ โซอิจิโร่” (Honda Soichiro) บิดาผู้ก่อตั้งฮอนด้าผู้ล่วงลับ และปัจจุบัน คำกล่าวนี้ถือเป็นปรัชญาประจำบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นแห่งนี้ด้วย!
เพราะอะไร “เรา” จึงต้องหยิบยกปรัชญาดังว่านี้ ขึ้นมาเป็น “หัวข้อการสนทนา” ในวันนี้ กันน่ะหรือ? ก่อนจะไปกันตรงนั้น “เรา” ขอสรุป “ปฏิบัติการรวมกันเราอยู่” ระหว่าง “ฮอนด้า” (Honda) และ “นิสสัน” (Nissan) ซึ่งจะเป็นเรื่องราวที่เชื่อมโยงไปถึง “ประโยคอันอุดมไปด้วยความจริง” ในบรรทัดแรกสุดนั้นกันเสียก่อน…
สำหรับ “ปฏิบัติการรวมกันเราอยู่” ระหว่าง “ฮอนด้าและนิสสัน” ได้คืบหน้าไปอีกขั้น หลังทั้ง 2 แบรนด์ยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ได้ร่วมกันลงนามใน “บันทึกความเข้าใจ” ซึ่งมีเนื้อหาระบุถึงการก่อตั้ง Holding Company ขึ้นมาดูแลเรื่องการผนึกกำลังทางธุรกิจในครั้งนี้ โดยที่ฝ่ายฮอนด้า จะรับบทบาทหน้าที่ในการเป็นผู้นำทีมบริหารชุดใหม่
โดยเบื้องต้นมีการกำหนดกรอบระยะเวลา เรื่องการกำหนดข้อตกลงการควบรวมกิจการอย่างเป็นทางการ ภายในเดือนมิถุนายน ปี 2025 และจะมีการลงนามในข้อตกลงดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ภายในเดือนสิงหาคม ปี 2026 และนําหุ้นบริษัทใหม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนบริษัทเดิม Honda และ Nisson จะออกจากตลาดหุ้นต่อไป
1
นอกจากนี้ บันทีกความเข้าใจดังกล่าว ยังมีการระบุถึง “มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ป” พันธมิตรของ “นิสสัน” ซึ่งจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการควบรวมกิจการครั้งประวัติศาสตร์แห่งวงการรถยนต์โลกนี้ด้วย
ทั้งนี้ จากการประเมินมูลค่าตลาดของผู้ผลิตรถยนต์ทั้ง 3 แบรนด์ ในเบื้องต้นคาดว่า จะทำให้เกิด ยักษ์ตัวใหม่แห่งวงการอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ที่มีมูลค่ามหาศาลถึงประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.7ล้านล้านบาท)
โดยปัจจุบันทั้ง 3 บริษัทกำลังอยู่ในขั้นตอน การพิจารณาใช้ทรัพยากรหลายด้านร่วมกัน อาทิ การวิจัยและพัฒนา การจัดหาชิ้นส่วน สายพานการผลิต และแน่นอน สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับตลาดยานยนต์ในยุคนี้ คือ เทคโนโลยีในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า…
เพราะอะไรจึงต้องรวมกันเราอยู่?
สถานการณ์ของ นิสสัน (Nissan) :
ธุรกิจของ “นิสสัน” เริ่มเลวร้ายลงตามลำดับ นับตั้งแต่เกิดเรื่องอื้อฉาวต่างๆนานาจากฝีมือของ “คาร์ลอส กอส์น” (Carlos Ghosn) อดีตประธานบริษัท ซึ่งนำไปสู่การจับกุมในข้อหาฉ้อโกงและใช้ทรัพย์สินของบริษัทในทางที่ผิด ก่อนที่เจ้าตัวจะหลบหนีประกัน ไปยังประเทศเลบานอนด้วยกลยุทธ์ที่ชวนอึ้ง! เมื่อปี 2018
1
และล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัทจำเป็นต้องประกาศลดพนักงานลงมากถึง 9,000 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 6% ของจำนวนพนักงานทั่วโลก อีกทั้งยังต้องลดกำลังการผลิตทั่วโลกลงมากถึง 20% หลังผลประกอบการไตรมาสล่าสุด ขาดทุนเป็นตัวเลขสูงถึง 9,300 ล้านเยน! (2,018ล้านบาท)
จากปัญหายอดขายที่ร่วงลงอย่างหนักในตลาดอเมริกาเหนือและประเทศจีน จนถึงขั้นต้องปรับลดราคารถยนต์ลงอย่างมากมาย เพื่อดิ้นรนต่อสู้กับการไหลบ่าของรถยนต์จากประเทศจีน รวมถึงยังมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่ล่าช้ากว่ากำหนดอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเร็วๆนี้ “Fitch Ratings” สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ยังได้ปรับแนวโน้มความน่าเชื่อถือ ของ “นิสสัน” ให้เป็น “ลบ” (Negative) จากความสามารถในการทำกำไรที่ย่ำแย่ลง จากการปรับลดราคาครั้งใหญ่ในตลาดอเมริกาเหนือ รวมถึงมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงสร้างทางการเงินของบริษัทด้วย
และด้วยสถานการณ์อันย่ำแย่นี่เอง จึงมีกระแสข่าวแพร่สะพัดที่ว่า “เรโนลต์ เอสเอ” (Renault SA) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของยุโรป ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนที่สูงถึง 35% แสดงออกถึงความตั้งใจที่ต้องการจะ “ขายหุ้นนิสสัน” ออกไปด้วย!
สถานการณ์ของ ฮอนด้า (Honda) :
แม้ว่ายอดขายรถยนต์ไฮบริดของ “ฮอนด้า” ในตลาดอเมริกาเหนือยังคงเพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ จนเป็นผลให้บริษัทคาดการณ์ว่าจะสามารถรักษาระดับ “ผลกำไร” ในปีงบประมาณ สิ้นสุดเดือนมีนาคม ปี 2025 ได้เท่ากับปีก่อน
หากแต่สิ่งที่น่าเป็นกังวล คือ ในตลาดรถยนต์ประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “ฮอนด้า” กลับสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศจีน โดยเฉพาะ BYD อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของฮอนด้า ยังตามหลังบรรดาแบรนด์จีนอยู่มากด้วยเช่นกัน
และไม่เพียงเท่านั้น “กลยุทธพันธมิตร” ระหว่างฮอนด้าและเจนเนอรัลมอเตอร์ส (GM) เพื่อร่วมมือกันในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าก่อนหน้านี้ ก็เพิ่งประสบปัญหา หลัง GM ยุติความร่วมมือในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและถอนตัวจากธุรกิจแท็กซี่ไร้คนขับ
จากสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อประกอบกับการที่ “ฮอนด้า” มีพันธมิตรซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปที่มีศักยภาพจำกัดในการ “แชร์ส่วนแบ่งต้นทุนการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า” ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเพราะอะไร “ฮอนด้าจึงต้องมองมาที่นิสสัน” เพื่อเป็นพันธมิตรคนสำคัญในการต่อสู้ธุรกิจยานยนต์ในอนาคตต่อไป
เอาล่ะ..... “ทุกท่าน” ขอจบการบรรยายสรุป “การควบรวมกิจการฮอนด้าและนิสสัน” เอาไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน!
และจากบรรทัดนี้ไป คือ หัวข้อสำคัญดังที่ “เรา” ได้ พาดหัวเรียกร้องความสนใจจาก “คุณ” ไปในบรรทัดแรกสุดนั่นคือ… อะไรคือสิ่งที่น่าลองมองย้อนกลับไป และอาจเป็นผลให้ทั้งสองบริษัทไม่จำเป็นต้อง “ควบรวมกิจการ” ในลักษณะ “รวมกันเราอยู่” เช่นนี้ก็เป็นได้!
ทฤษฏีที่ปราศจากการลงมือทำนั้นไร้ค่า (Philosophy Without Action Is Worthless) :
“พวกคุณทุกคนมาทำอะไรที่นี่? ดูเหมือนจะมาศึกษาเรื่องบริหารสินะ ถ้าว่างทำเรื่องอย่างนั้นล่ะก็ รีบกลับไปทำงานต่อที่บริษัทให้เร็วที่สุดเถอะ คิดว่ามาเข้าออนเซ็น กินดื่มแบบนี้แล้ว คิดว่าจะศึกษาเรื่องบริหารได้รึไง
หลักฐานอยู่ที่นี่ ผมไม่เคยให้ใครสอนเรื่องบริหารเลย ขนาดผู้ชายแบบผมยังบริหารบริษัทได้เลย สิ่งที่ต้องทำมีเรื่องเดียวคือ รีบกลับไปบริษัทแล้วทุ่มเททำงานซะ!” “ฮอนดะ โซอิจิโร่” (Honda Soichiro) บิดาผู้ก่อตั้งฮอนด้า
1
“อินาโมริ คาซึโอะ” (Inamori Kazuo) ผู้ก่อตั้ง-ผู้บริหารบริษัทเคียวเซร่า (Kyocera) และเป็นผู้กอบกู้สายการบินแห่งชาติญี่ปุ่น JAL ที่ใกล้ล่มสลายให้กลับมาพลิกฟื้นมีกำไรได้อย่างมหัศจรรย์ ได้บอกเล่าเอาไว้ในหนังสือ A Fighting Spirit ถึงเจ้าของประโยคข้างต้น
หลัง “ฮอนดะ โซอิจิโร่” ซึ่งมาในชุดเปื้อนคราบน้ำมัน ได้พูดประโยคดังกล่าวขึ้นในทันทีที่ปรากฏตัวในฐานะผู้บรรยายงานสัมมนาการบริหาร ที่มีราคาเข้ารับฟังการบรรยายที่สุดแสนแพง!
และไม่ใช่เพียงแค่นี้ ยังมีอีกหนึ่งประโยคสำคัญซึ่ง “บิดาแห่งฮอนด้า” ได้เคยกล่าวถึงปรัชญาการบริหารงานที่ว่า “เน้นประสบการณ์ในสถานการณ์จริง ไม่ใช่เน้นเพียงแค่ทฤษฏี” เอาไว้อย่างน่าสนใจและสอดคล้องกับประโยคข้างต้นนั่นก็คือ….
1
“คนที่จะทำการวิจัยตลาดได้ดี ต้องเป็นคนที่คิดอะไรได้หลายแง่มุม เข้าใจสถานการณ์ได้หลากหลาย และมองเห็นภาพรวมของปัญหาได้ชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่สำคัญด้วย!”
และ... “การทำวิจัยตลาดเป็นเพียงวิธีการส่งเสริมภาพลักษณ์ของผม แต่จะไม่สามารถเป็นปัจจัยในการกำหนดนโยบายของผมได้”
เพราะอะไร “เรา” จึงต้องยกปรัชญาของ “ฮอนดะ โซอิจิโร่” ขึ้นมาทบทวนกันในกรณี “รวมกันเราอยู่” ที่ว่านี้ นั่นก็เป็นเพราะ…. มีบทวิเคราะห์จากมุมมองของสื่อด้านเศรษฐกิจญี่ปุ่น ต่อการควบรวมกิจการครั้งนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจที่ว่า…
“ความล้มเหลว” ในตลาดจีนของทั้งฮอนด้าและนิสสัน เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของแบรนด์ญี่ปุ่น ที่ตกเป็นเหยื่อหลุมพรางในการทำวิจัยตลาด ภายใต้ทัศนคติเดิมๆที่ว่า…
“ตราบใดที่ยังขายได้ดี ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ”
ทั้งๆที่สภาพตลาดในปัจจุบัน นั้น มีลูกค้าเพียงไม่กี่คน ที่ซื้อเพราะชื่นชอบนิสสัน หรือ มีความผูกพันธ์กับฮอนด้าอีกแล้ว หลายๆคนซื้อรถยนต์ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ เช่น รถยนต์นิสสันมีสมรรถนะดี หรือ รถยนต์ของฮอนด้ามีราคาที่เหมาะสมและใช้ได้ดี และเมื่อใดก็ตามที่มีรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่มีจุดเด่นเรื่องนวัตกรรมที่ล้ำหน้า หรือ มีสมรรถนะเท่าเดิมแต่ราคาถูกลงออกสู่ตลาด ลูกค้าก็มักจะเปลี่ยนใจไปซื้อได้โดยไม่ลังเล!
ด้วยเหตุนี้ การควบรวมกิจการระหว่างฮอนด้าและนิสสัน จึงถือเป็น “ความท้าทายครั้งสำคัญ” สำหรับทั้งสองบริษัทในแง่ที่ว่า…จะสามารถฟื้นฟูวิสัยทัศน์ของ “บิดาแห่งฮอนด้า” ซึ่งเน้นย้ำมาโดยตลอดว่า…
“ความคิดของมนุษย์นั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น ความหาญกล้าในการปฏิรูปใดๆ ย่อมต้องไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต”
นอกจากนี้ ในมุมมองของสื่อญี่ปุ่น ยังมีการพูดถึงความจำเป็นเร่งด่วนลำดับต้นๆ ที่ทั้งฮอนด้าและนิสสัน ควรจะต้องรีบทำหลังจากนี้ คือ ต้องมองหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านแบตเตอร์รี่รถยนต์ และ ซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัยในการขับขี่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนากลยุทธ์แบรนด์ใหม่ ที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากแข็งเดิมเรื่อง “คุณภาพและความน่าเชื่อถือ” ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วย
อ่านมาถึงบรรทัดนี้ จากบทความอันแสนยาวยืด “คุณ” มีความคิดเห็นกันอย่างไรบ้างกับ “ปฏิบัติการรวมกันเราอยู่ของฮอนด้าและนิสสัน”
#ฮอนด้า #นิสสัน #Honda #Nissan #ควบรวมกิจการ #รถยนต์ไฟฟ้า #รถยนต์EV #ตลาดรถยนต์ #ญี่ปุ่น #OUTFIELDMAN #สำนักข่าวทรัสต์นิวส์ #Trustnews
โฆษณา