28 ธ.ค. 2024 เวลา 02:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ชวนส่อง รายได้ครัวเรือนไทย

ใกล้วันสิ้นปี 2567 เข้ามาทุกที ก่อนจะส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทาง Bnomics ขอนำสถิติ “ รายได้ครัวเรือนไทย” ปี 2566 ที่น่าสนใจมานำเสนอกันอีกครั้ง จะเป็นอย่างไร ติดตามกันได้ที่บทความนี้ค่ะ
รายงานสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือน ปี 2566 ของสำนักงานสถิติ เผยรายได้ครัวเรือนไทยทั่วประเทศเฉลี่ยต่อเดือน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 25,194 บาท ในปี 2556 เป็น 29,030 บาท ในปี 2566 ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการทำงานมากถึง 70.5% และเมืองหลวงอย่าง กทม. ยังครองแชมป์รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนมากที่สุดอยู่ที่ 39,087 บาท
📍 เจาะลึกรายได้ครัวเรือน ระดับรายภาค
หากให้คาดเดาถึงพื้นที่ที่มีรายได้ครัวเรือนมากที่สุด หลายคนคงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าคือพื้นที่ กทม. ซึ่งสอดคล้องกับสถิติ ปี 2566 ที่ผ่านมา พบ กทม. และ 3 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ) มีรายได้ครัวเรือนสูงที่สุดอยู่ที่ 39,087 บาทต่อเดือน สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศถึง 34.6% เนื่องจากครัวเรือนในพื้นที่มากกกว่าครึ่ง มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาทต่อเดือน จากปัจจัยหนุนด้านเศรษฐกิจในพื้นที่มีความโดดเด่นทั้งด้านอุตสาหกรรมและด้านบริการการท่องเที่ยว
ขณะที่ภาคกลางและภาคใต้มีรายได้มากรองลงมา อยู่ที่ 30,200 และ 28,532 บาทต่อเดือนตามลำดับ ครัวเรือนส่วนใหญ่มีรายได้เกาะกลุ่มอยู่ในช่วง 15,001-30,000 บาทต่อเดือน
ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีรายได้ครัวเรือน 24,040 และ 22,524 บาทต่อเดือน ตามลำดับ เนื่องจากมีครัวเรือนมากกว่า 40% รายได้รวมเฉลี่ยน้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน
📍 แหล่งที่มาสำคัญของรายได้ครัวเรือนไทย
ในปี 2566 ครัวเรือนทั่วประเทศ มีรายได้ทั้งสิ้นเฉลี่ยเดือนละ 29,030 บาท ประกอบด้วยแหล่งรายได้สำคัญจากการทำงาน 20,465 บาท หรือคิดเป็น 70.5% เฉลี่ย จำแนกย่อย ได้แก่
- ค่าจ้างและเงินเดือน 12,605 บาท (43.4%)
- กำไรสุทธิจากธุรกิจ 5,417 บาท(18.7%)
- กำไรสุทธิจากการเกษตร 2,443 บาท (8.4%)
ส่วนรายได้อื่น ๆ ซึ่งไม่ได้เกิดจากการทำงาน 8,565 บาท หรือ 29.5% จำแนกย่อย ได้แก่
- รายได้ที่ไม่เป็นตัวเงิน อยู่ในรูปสัวสดิการ/สินค้า บริการต่าง ๆ 4,205 บาท(14.5%)
- รายได้จากแหล่งอื่นและเงินช่วยเหลือ 3,794 บาท (13%)
- รายได้ไม่ประจำและจากทรัพย์สิน 566 บาท (2%)
📍 ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ดีขึ้นจริงหรือ?
สำนักงานสถิติได้ทำการแบ่งกลุ่มครัวเรือน (ควินไทล์) 5 กลุ่ม จำแนกตามระดับรายได้ประจำเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน พบว่ากลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ประจำสูงที่สุด (ตวินไทล์ที่ 5) มีส่วนแบ่งรายได้ประจำลดลงจาก 42.3% ในปี 2564 เป็น 40.0% ในปี 2566 ขณะที่กลุ่มครัวเรือนที่รายได้ประจำต่ำสุด (ควินไทล์ที่ 1) มีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นจาก 8% ในปี 2564 เป็น 8.7% ในปี 2566 กล่าวได้ว่า ครัวเรือนไทยที่อยู่ในกลุ่มรายได้ประจำสูงมีจำนวนลดลง ขณะที่ครัวเรือนที่อยู่กลุ่มรายได้น้อยที่สุดมีจำนวนเพิ่มขึ้นในปี 2566
เมื่อพิจารณาค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient*) ของทั้ง 5 กลุ่มครัวเรือน พบว่า มีค่าลดลงจาก 0.310 ในปี 2564 เป็น 0.285 ในปี 2566 แสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายรายได้ของครัวเรือนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
สำหรับสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในปีหน้า ยังคงต้องเฝ้าจับตาหนี้ครัวเรือนที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยผ่านรุ่นสู่รุ่น ในการก้าวผ่านความยากจนอันมีผลต่อการเลื่อนชั้นทางสังคม ซึ่งผู้เขียนจะพาไปอัพเดทสถิติกันใหม่ในปีหน้า ติดตามได้เร็วๆนี้ที่ Bnomics ค่ะ
หมายเหตุ* : Gini Coefficient มีค่า 0-1 ซึ่ง 0 หมายถึงความเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์ และ 1 หมายถึงความเหลื่อมล้ำอย่างสมบูรณ์
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
.
ผู้เขียน: เพ็ญพิชชา สกลวิทยานนท์ Economic Data Analytics
ภาพประกอบ : บริษัทก่อการดี
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
#Bnomics #BangkokBank #BBL #ธนาคารกรุงเทพ See less
โฆษณา