27 ธ.ค. 2024 เวลา 04:29 • ท่องเที่ยว

ราชนาวิกสภา .. อาคารโบราณคลาสสิคอายุ 109 ปีที่งดงาม .. ศรีสง่าของกองทัพเรือ

อาคารราชนาวิกสภา ตั้งอยู่ตรงข้ามกับท่าราชวรดิษฐ์ และจะมีอายุครบ 109 ปี ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2568 ที่จะถึงนี้
.. เรามาทำความรู้จักกับอาคารที่มีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม อันมีภูมิหลังการก่อกำเนิดด้านประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจกันค่ะ
Photo : Internet
ราชนาวิกสภา ..ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เดิมเป็นบ้านของ พระอินทรเทพ (ทัพ) ภายหลังตกเป็นของพระคลังข้างที่
กองทัพเรือได้เริ่มเช่ามาตั้งแต่ พ.ศ.2443 …ปัจจุบัน อาคารราชนาวิกสภา เป็นที่ตั้งของสำนักงานราชนาวิกสภา ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกรมยุทธศึกษาทหารเรือ และทำหน้าที่ในการปฏิบัติงานให้กับราชนาวิกสภา
“ราชนาวิกสภา” (Royal Naval Institue) เป็นนามพระราชทานที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน ให้กระทรวงทหารเรือ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2458 โดยนามแรกที่กรมทหารเรือคิดตั้งขึ้นคือ “ราชนาวีสภา”
เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ได้ทรงลงพระนามให้จัดตั้ง “ราชนาวิกสภา” ขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการพบปะ ปราศรัยมแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นระหว่างกันของนายทหารเรือ รวมทั้งเป็นสถาบันส่งเสริมการศึกษาและเผยแพร่ความรู้ในเชิงวิชาการ
อาคารราชนาวิกสภา (หลังแรกด้านทิศใต้) เป็นอาคาร 2 ชั้น สถาปัตยกรรมอิทธิพลตะวันตกแบบนีโอคลาสสิก สมัยรัชกาลที่ 6 .. ซึ่งเป็นยุคที่เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีและวัสดุสมัยใหม่ คือ คอนกรีตเสริมเหล็กมีไม้ประกอบในการก่อสร้าง
สังเกตจากเสาที่มีขนาดเล็กลง ตั้งห่างกัน ลักษณะพิเศษนี้จึงทำให้อาคารดูโปร่งขึ้น มีความเรียบง่ายแต่สง่างาม เหมาะสมกับภูมิอากาศของเมืองไทย
Photo : Internet
ลักษณะสถาปัตยกรรมมีอิทธิพลของรูปแบบเรอเนสซองส์ แต่ได้มีการผสมผสาน และประยุกต์ให้ เรียบง่ายขึ้น ทั้งชั้นล่าง และชั้นบน มีระเบียงยาว ตลอดความยาว ของตัวอาคาร ด้านหน้าตัวอาคาร
ด้านหน้าของอาคารราชนาวิกสภา เมื่อมองจากแม่น้ำเจ้าพระยา .. จะเห็นเป็นอาคาร 2 ชั้น สถาปัตยกรรมคลาสสิค หันด้านหน้า (ด้านยาว) ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตรงกับ หมู่พระมหาปราสาทของพระบรมมหาราชวัง
ท่าเรือ .. ปัจจุบันมีเรือข้ามฟาก ซึ่งกองทัพเรือให้บริการแก่บุคคลากรของกองทัพในการข้ามจากฝั่งพระบรมมหาราชวัง มายังราชนาวิกสภาและกองทัพเรือ ในฝั่งธนบุรี
ชั้นล่างของอาคาร มีทางเดิน ชั้นบนมีระเบียงยาวตลอดตัวอาคาร ตรงกลางมีมุกระเบียงยื่นออกมา มุมสุดของอาคารทั้งปีกซ้ายและปีกขวามีการยกหลังคาโค้งทรงประทุนทำด้วยคอนกรีตหล่อ ทำให้อาคารดูสวยงามโดดเด่น
ชั้นล่าง .. ลักษณะเป็นอาเขต (ARCADE) ก่ออิฐถือปูน มีเสาเป็นระยะ พื้นระเบียงชั้นล่าง ทั่วไป
ตกแต่งด้วยกระเบื้องซีเมนต์ ลายดอกไม้ประยุกต์ เหนือประตูแต่ละประตู มีการเจาะช่องลม เป็นซี่ ๆ แลดูงดงาม .. ตามแนวตั้ง ผนังห้องด้านนอกมีเสาติดผนังคอนกรีต เพื่อช่วยในการ รับน้ำหนักพื้นระเบียง ชั้นบน เป็นช่วง ๆ
สะพานโค้งสถาปัตยกรรมคลาสสิค เข้ากับบรรยากาศโดยรอบอย่างลงตัว ..
หากมองไปทางพระนิเวศน์เดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ทิศใต้จะมองเห็นความสวยงามของฉากหลังที่มองเห็นพระปรางค์วัดอรุณ ที่มีขนาดสูงใหญ่เป็นหมุดหมายเด่นสง่าริมฝั่ง
.. รวมถึงภาพความเคลื่อนไหวของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีฉายา River of the King .. เป็นสะพานที่เชื่อมต่อพื้นที่ราชนาวิกสภา กับหอประชุมกองทัพเรือ
บันได ทางขึ้นหลัก ณ กึ่งกลางของอาคารใหม่มีความสง่างาม ถูกสร้างขึ้นใหม่แทนบันไดชุดเดิม มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบอาร์ทนูโว (Art Nouveau)
.. โดยการใช้เส้นโค้งแยกออกเป็นสองทาง เพื่อขึ้นสู่ระเบียงชั้นบน .. ผนังชานพักบันไดมีการทำช่องกระจก ประดับสัญลักษณ์ ราชนาวิกสภา
พื้นที่ชั้นที่สอง .. เป็นที่ตั้งของ ห้องวุฒิไชยเฉลิมลาภ และห้องอาหารนายทหารสัญญาบัตร (Officer Club) ระเบียงขนาดใหญ่ และห้องต่าง ๆ เช่น ห้องประชุม และห้องสมุด
.. ระเบียงขนาดใหญ่ชั้นบนนี้ได้เคยใช้เป็นที่รับเสด็จสมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อประทับทอดพระเนตรริ้วขบวน พยุหยาตราทางชลมารคมาแล้ว
อาคารนี้แต่เดิมไม่มีระเบียงด้านหน้าเช่นในปัจจุบันนี้ แต่ได้มาถูกต่อเติมในราว ก่อน พ.ศ. 2474 เพื่อร่วมฉลองกรุงเทพฯ 150 ปี
บริเวณที่ตั้งของราชนาวิกสภานั้น ได้รับการกล่าวขานว่า เป็นจุดที่มีทัศนียภาพงดงามที่สุดของคุ้งน้ำเจ้าพระยาอีกด้วย .. โดยเฉพาะยามค่ำคืน
ไม่ว่าจะมองจากห้องวุฒไชยเฉลิมลาภ หรือจาก Officer Club .. ณ จุดนี้ จะมองเห็นพระบรมมหาราชวัง และคุ้งน้ำเจ้าพระยาที่สวยที่สุดในกรุงเทพฯ
บรรยากาศภายใน Officer Club ยามค่ำคืน .. บรรยากาศสวยงามที่สึดของวัน ระหว่าง Dinner อย่างมีระดับ
บรรยากาศยามค่ำคืนที่ฉาบไล้ด้วยแสงมลังเมลืองของทัศนียภาพพระบรมมหาราชวัง และ เจ้าพระยายามราตรี .. ราวกับชลอสรวงสวรรค์มาตั้งตรงหน้า
Officer Club .. เสริฟอาหารเป็น Sit down dinner / Lunch แบบ Set Menu ต้องสั่งจองก่อนล่วงหน้า โดยวิธีการเฉพาะ
ในเชิงประวัติศาสตร์ .. อาคารราชนาวิกสภานั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึงแม้ว่าสงครามจะอุบัติขึ้นในทวีปยุโรป โดยเป็นข้อพิพาทระหว่าง 2 กลุ่มประเทศ คือกลุ่มประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย กับกลุ่มประเทศเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี
... แต่เหตุการณ์ไม่ได้หยุดยั้งอยู่ในทวีปยุโรป เนื่องด้วยกลุ่มประเทศเหล่านี้ต่างมีอาณานิคมอยู่ทั่วโลก โดยไทยยืนหยัดแสดงความเป็นกลางมาโดยตลอด เพราะถือว่าเป็นมิตรต่อทุกชาติทุกภาษา
จนกระทั่งสงครามโลกดำเนินมาถึง พ.ศ. 2460 .. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพิจารณาด้วยพระปรีชาญาณทางทหารว่า กลุ่มประเทศฝ่ายเยอรมนีจะต้องพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้เป็นแน่แล้ว ถ้าไทยรีบเข้าข้างกลุ่มประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ก็จะเป็นประโยชน์แก่ไทยเป็นอย่างยิ่ง
.. เพราะเมื่อสงครามสงบลงโดยกลุ่มอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นผู้ชนะ ไทยก็จะใช้ประโยชน์จากการเป็นชาติที่ชนะสงคราม เข้าเจรจาเพื่อแก้ไขสนธิสัญญาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และแก้พิกัดภาษีศุลกากรได้
ราชนาวิกสภา .. เป็นสถานที่สำคัญซึ่งใช้ระดมพลทหารเรือเพื่อปฏิบัติการครั้งสำคัญ นั่นคือการเข้ายึดเรือเชลยสัญชาติเยอรมนี
.. โดยมีการประชุม วางแผน สรุปกลยุทธ์ และเริ่มปฏิบัติภารกิจสำคัญดังกล่าวจนประสบความสำเร็จ
.. ที่สำคัญ ที่นี่ยังเป็นสถานที่ซึ่งกรมทหารเรือใช้ประกาศพระบรมราชโองประกาศสงครามระหว่างสยามกับประเทศเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี
จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ส่งผลให้ไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างสง่าผ่าเผย .. และเมื่อสงครามสิ้นสุดลง ไทยก็ได้รับการยอมรับจากชาติมหาอำนาจในยุโรป และได้แก้ไขสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่เอาเปรียบคนไทยมานานแสนนานให้หมดสิ้นไปในที่สุด
สถานที่ตั้งของกองทัพเรือในปัจจุบัน เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์สำคัญ อันเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ที่ทรงริเริ่มสถาปนาพระราชวงศ์จักรีพร้อมๆ กับกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อให้แผ่นดินไทยเป็นปึกแผ่นมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้
อคกทั้งยังเป็นผืนดินแรกที่ทหารเรือได้ลงหลักปักฐานบนแผ่นดินไทย เพื่อทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติมาเนิ่นนาน
ปฐมบทของประวัติศาสตร์สำคัญของชาติไทยในครั้งนั้น ก่อกำเนิดขึ้น ณ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา… บนผืนดินเล็กๆ แห่งนี้นี่เอง
ห้องชมวัง อาคารราชนาวิกสภา
อาคารราชนาวิกสภาในปี 2545 (83 ปี) แม้ว่าตัวอาคารโดยรวมยังคงแข็งแรงและยังใช้งานได้ แต่มีข้อจำกัดในเรื่องการรับน้ำหนัก เนื่องจากเมื่อแรกสร้างนั้น ไม่ได้ทำการลงเสาเข็ม ไว้ จึงทำให้ฐานรากที่มีอยู่ไม่แข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักเกินกว่าที่กำหนดไว้
กองทัพเรือจึงได้ดำเนินการซ่อมปรับปรุงอาคารราชนาวิกสภา โดยเริ่มดำเนินการในวันที่ 27 กรกฎาคม 2545 .. โดยทำการเสริมความแข็งแรงของฐานรากเดิม ส่วนการปรับประโยชน์ใช้สอยภายในตัวอาคารนั้น จะกระทำเท่าที่จำเป็น
.. โดยยังคงรูปลักษณ์ภายนอกอาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ รูปด้านหน้าอาคาร และโครงสร้างส่วนที่เป็นกำแพงรับน้ำหนัก ตลอดจนเสาไม้ และบันไดเดิมไว้ให้มากที่สุด เนื่องด้วยคุณค่าทางสุนทรีภาพของอาคารนี้ อยู่ที่ความงดงามขององค์ประกอบทางศิลปะสถาปัตยกรรมและสัดส่วนที่ลงตัวของอาคาร
ห้องชมวัง .. เป็นอาคารราชนาวิกสภาส่วนต่อเติมที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ โดยเชื่อมต่อกับอาคารราชนาวิกสภาหลังเดิม สำหรับแนวความคิดหลัก ในการออกแบบก่อสร้างนั้น ได้ยึดเอาลักษณะทางสถาปัตยกรรม รูปทรงหลังคา และสัดส่วนต่าง ๆ ตามแบบของอาคารเดิม
รวมถึงจะเป็นกลุ่มอาคารที่ดูต่อเนื่องกันอย่างลงตัว และ มีความกลมกลืนกับบริเวณโดยรอบ .. ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของงานสถาปัตยกรรม ในเชิงอนุรักษ์ รวมทั้งเสริมทัศนียภาพที่สวยงามให้แก่แม่น้ำเจ้าพระยา
เมื่อแรกสร้าง มีวัตถูประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่รับรองการชมเรือพระราชพิธี เนื่องในโอกาสการประชุม APEC 2003 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2546 ของผู้นำชาติต่างๆที่มาร่วมประชุม
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2549 .. ใช้เป็นสถานที่รับเสด็จพระบาทสมเสด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิ์ต พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระรามาธิบดี สมเด็จพระราชินี และพระราชวงศ์ต่างประเทศ
.. เสด็จทอดพระเนตรขบวนเรือพระราชพิธี เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี
ชั้นล่างของอาคารห้องชมวัง ใช้เป็นที่จอดรถและส่วนต้อนรับเพื่อนำเข้าสู่โถงบันไดที่ต่อเนื่องไปยังชั้นบนของอาคาร
Photo : Internet
โถงบันได .. งามสง่าด้วยบันไดโค้งจากชั้นล่างไปสู่ชั้นบนที่ได้รับการออกแบบให้ฐานล่างกว้างกว่าชั้นบนในลักษณะสอบเข้าหากัน
ทำให้ลูกนอนของบันไดเสมือนคลื่นไหลลงจากฐานด้านบนลงสู่ฐานด้านล่าง เป็นบันไดแบบ Ceremonial Stair ขนาดย่อมที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ
โถงรับรองและจัดเลี้ยง .. จากภายในห้อง มีทัศนียภาพที่สวยงามของแม่น้ำเจ้าพระยาและพระบรมมหาราชวังที่มองเห็นได้ชัดเจน และสวยที่สุด
บรรยากาศเหนือระดับ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แห่งเดียวที่มีทัศนียภาพเป็นพระบรมมหาราชวังที่งดงาม
พื้นที่หน้าโถงรับรอง
การเดินทางมายัง ราชนาวิกสภา
1. เดินทางตาม Google Map
2. ใช้บริการ MRT มาที่สถานี อิสรภาพ แล้วเดินหรือนั่งรถโดยสารมาที่ ราชนาวิกสภา
3. นั่งเรือมาขึ้นที่ท่าช้างวังหลัง แล้วเดินผ่านราชนาวีสโมสนมาที่ท่าราชประดิษฐ์ เพื่อนั่งเรือข้ามฟากของ ทร. เพื่อมาขึ้นท่าเรือราชนาวิกสภา ในฝั่งตรงข้าม
โฆษณา