29 ธ.ค. 2024 เวลา 08:00 • ไอที & แก็ดเจ็ต

โลกไอทีปี 2567 ปีแห่งเทคโนโลยีใหม่ เน้นชูนวัตกรรม AI สุดก้าวล้ำ

รวบรวมเทคโนโลยี - นวัตกรรมเปิดตัวครั้งแรกปี 2567 เน้นชูนวัตกรรมสุดล้ำ พร้อมอิทธิพล AI นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกแล้ว ยังช่วยปกป้องผู้ใช้จากภัยไซเบอร์
เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นสิ่งที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง จากความต้องการของเหล่าบริษัทเทคโนโลยีทั่วทุกมุมโลกที่ต้องการยกระดับผลิตภัณฑ์ของตนให้เหนือกว่าคู่แข่ง
โดยตลอดปี 2567 ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเทคโนโลยีใหม่ถูกพัฒนาขึ้นมามากมาย อย่างไรก็ตาม มีเทคโนโลยีส่วนหนึ่งที่ส่งอิทธิพลต่อวงการไอที หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เป็นบันไดขั้นแรก พร้อมต่อยอดไปสู่ขั้นต่อไปในอนาคต
Samsung Galaxy S24 ซีรีส์
"Galaxy S24 ซีรีส์" ผู้นำเทรนด์มือถือ AI แบบ On-Device
คืนวันที่ 17 มกราคม 2567 ตามเวลาประเทศไทย ค่ายเทคยักษ์อย่างซัมซุง ประกาศเปิดตัวมือถือรุ่นใหม่อย่าง "Samsung Galaxy S24 ซีรีส์" สมาร์ตโฟนระดับเรือธงรุ่นใหม่ของแบรนด์ ที่ไม่ใช่แค่สมาร์ตโฟนธรรมดา แต่ได้ชื่อว่าเป็นสมาร์ตโฟนที่มาพร้อมฟีเจอร์ AI แบบ On-Device เครื่องแรกของโลก มาพร้อมกับฟีเจอร์ AI ที่ซัมซุงพัฒนาต่อยอดจากโมเดล Gemini ของ Google กลายมาเป็น "Galaxy AI" ให้ใช้งานโดยไม่ต้องโหลดแอปฯ เสริมใด ๆ
ซึ่งฟีเจอร์ Galaxy AI ที่มีให้ใช้บน Galaxy S24 ซีรีส์นั้นมีอยู่หลากหลาย ตั้งแต่การค้นหาคน สัตว์ สิ่งของที่ต้องการผ่านการวงหรือระบายทับอย่าง Circle to Search การแปลภาษาระหว่างสนทนาแบบเรียลไทม์อย่าง AI Real Time Translate ไปจนถึง Image Edit AI ปรับแต่งภาพทั้งลบคนไปจนถึงเติมภาพต่าง ๆ ให้สมบูรณ์แบบ
หลังจากที่ซัมซุงเปิดตัว Galaxy S24 ซีรีส์แล้ว เหล่าค่ายมือถือต่าง ๆ ก็ทยอยเปิดตัวมือถือที่มาพร้อมฟีเจอร์ AI แบบ On-Device ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น HONOR ที่เปิดอัปเดตระบบ MagicOS 8.0 บน Honor Magic5 และ Honor Magic4 ซีรีส์ในเดือนมกราคม
HONOR Magic5
หรือจะเป็น Realme กับ Realme GT 6 ตัวท็อปของแบรนด์ที่เปิดตัวช่วงเดือนมิถุนายน มาพร้อมฟีเจอร์ Next AI แบบ On-Device เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น AI Night Vision Mode AI ช่วยเพิ่มแสงในวิดีโอหรือภาพขณะที่เราถ่ายในที่แสงน้อย หรือจะเป็น AI Smart Loop สามารถค้นหารวมถึงสั่งการต่าง ๆ ได้เพียงลากไปด้านขวาและวางสิ่งที่ต้องการลงไป และ Air Gestures สามารถใช้สัญญาณมือในการออกคำสั่งต่าง ๆ
ด้าน OPPO ก็มาพร้อมกับ OPPO AI บน OPPO Reno12 ซีรีส์ ไม่ว่าจะเป็น Eraser AI 2.0 สามารถลบคนแปลกหน้าและวัตถุที่ไม่ต้องการในภาพ AI Best Face แก้ไขการหลับตาหรือเผลอกระพริบตาได้ AI Clear Face ปรับแต่งทุกใบหน้าให้สวยงามในการถ่ายภาพกลุ่ม และ AI Smart Image Matting 2.0 มอบภาพสุดสร้างสรรค์ เพียงตัดภาพคนหรือสัตว์เลี้ยง แล้วเพิ่มอิโมจิ พื้นหลัง หรือสติกเกอร์อีกมากมายโดยที่ไม่พึ่งแอปฯ ภายนอก
Oppo Reno 12 ซีรีส์
และไม่พูดถึงอีกหนึ่งค่ายยักษ์คงไม่ได้ สำหรับ Apple ที่เปิดตัวฟีเจอร์ Apple Intelligence พร้อมนำมาใช้บน iPhone 16 ซีรีส์ และ iPhone 15 Pro - iPhone 15 Pro Max ไม่ว่าจะเป็น Siri พลัง AI Writing Tools ตัวช่วยปรับสำนวนการเขียน พิสูจน์อักษร และสรุปข้อความได้แทบทุกที่ที่เขียน Clean Up ลบวัตถุออกจากฉากหลังในวิดีโอและพื้นหลังของภาพถ่ายเราได้ หรือ Note ที่ผู้ใช้สามารถบันทึกเสียง ถอดเสียง และสรุปเนื้อหาในเสียงได้แล้วทั้งในแอปฯ โน้ตและโทรศัพท์ และอื่น ๆ อีกเพียบ
เรียกได้ว่าการบุกเบิกเทรนด์ AI แบบ On-Device ของซัมซุงในปีนี้ ทำให้เหล่าแบรนด์สมาร์ตโฟนต่าง ๆ พัฒนาขยับตามกันมามากมาย ซึ่งในอนาคตเชื่อได้ว่าอาจมีฟีเจอร์ AI ใหม่ ๆ เข้ามาอยู่เรื่อย ๆ พร้อมช่วยอำนายความสะดวกในการทำงานหรือไลฟ์สไตล์ของเราได้เป็นอย่างดี
Apple Intelligence
"HUAWEI Mate XT" เทคโนโลยีมือถือจอพับ 3 ทบ รุ่นแรกของโลก
วันที่ 10 กันยายน 2567 HUAWEI แบรนด์เทคโนโลยียักษ์แดนมังกร เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นนวัตกรรมพลิกโฉมวงการสมาร์ตโฟนจอพับ กับ "HUAWEI Mate XT" มือถือจอพับ 3 ทบ รุ่นแรกของโลก มาพร้อมจอแสดงผลที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 10.2 นิ้ว ขณะเดียวกันก็เป็นมือถือจอพับที่บางที่สุดในโลกเมื่อกางออก มีดีไซน์โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ขอบสีทองสวยหรู ฝาหลังใช้วัสดุหนังวีแกน มี 2 สีให้เลือก คือ สีแดงเข้มและสีดำ
HUAWEI Mate XT
โดยการกางออกจะเป็นลักษณะตัว S แบบ Panoramic View สามารถอ่านอีบุ๊กหรือใช้งานได้แบบคมชัดและเต็มจอ ให้รายละเอียดกว้างกว่ามือถือจอพับทั่วไป และยังสามารถใช้ได้แบบจอเดียว หรือ 2 จอได้ด้วย โดยจอแสดงผล HUAWEI Mate XT ใช้เป็นแบบ Non-Newtonian Fluid ยึดด้วยลามิเนต ปกป้องด้วยกระจก UTG กันกระแทกได้ 30% จอพับใช้เทคโนโลยี HUAWEI Tiangong จอพับแบบ 2 แกน ป้องกันการเกิดรอยงอได้ 25%
และแน่นอนว่า HUAWEI Mate XT มาพร้อมกับ AI แบบ On-Device ที่จะคอยเป็นตัวช่วยแบบ Smart Assistant ให้เรา เช่น ตัวช่วยในการสรุปข้อมูล การแปลภาษาแบบเทียบเคียงกับหน้าเดิมได้ ตัวช่วยเขียนข้อความที่มีความเป็นมนุษย์และสามารถปรับแต่งระดับภาษาได้ตามต้องการ
HUAWEI Mate XT
หรือจะเป็น AI Image Expansion ที่สามารถสร้างรายละเอียดอื่น ๆ ของภาพออกมาให้มีความสมบูรณ์และมีรายละเอียดครบกว่าเดิม AI ลบวัตถุ ที่สามารถลบวัตถุที่เราไม่ต้องการออกจากภาพได้ และ AI ลบคนพื้นหลัง ที่ สามารถลบคนบนพื้นหลังที่เราไม่ต้องการได้แบบเนียนตา
ในส่วนของกล้อง โมดูลกล้องของ HUAWEI Mate XT ได้รับการออกแบบด้วยมือเป็นวงแหวนแบบเพชร มีความเบาบางและเรียบหรู ผ่านการตีขึ้นรูปกว่า 100 ครั้ง และขัดเป็นทรงกว่า 30 ครั้ง มาพร้อมกล้องหลัง 4 ตัวด้วยกัน ประกอบด้วย กล้องหลักเลนส์ Wide 50 ล้านพิกเซล f/1.4-4.0 กล้อง Ultrawide 12 ล้านพิกเซล กล้อง Telephoto 12 ล้านพิกเซล ซูมสูงสุด 5.5 เท่า และกล้องซูม Fanyuan 12 ล้านพิกเซล ซูมแบบดิจิทัลสูงสุดถึง 50 เท่า
HUAWEI Mate XT
โดย HUAWEI Mate XT วางจำหน่ายใน 3 ราคา ได้แก่ 16GB + 256GB ราคา 19,999 หยวน หรือราว 95,000 บาท, 16GB + 512GB ราคา 21,999 หยวน หรือราว 104,400 บาท, และ 16GB + 1TB ราคา 23,999 หยวน หรือราว 114,000 บาท
Sora AI
Generative AI สุดสร้างสรรค์ ปี 2567
นอกจากนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสมาร์ตโฟนโดยตรงแล้ว ยังมีแอปพลิเคชัน Generative AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง ที่เหล่าค่ายดังเปิดตัวในปีนี้ เริ่มที่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ "Sora" จาก OpenAI ที่สามารถสร้างวิดีโอที่มีรายละเอียดสมจริงความยาวสูงสุด 1 นาที ผ่านการพิมพ์ข้อความคำสั่ง (Prompt) ซึ่งตัววิดีโอจะออกมาสมจริงตาม Prompt ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศ รายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ รวมถึงสไตล์ที่ต้องการ
โดย OpenAI ได้เผยตัวอย่างวิดีโอที่ Generate มาจาก Sora พร้อมระบุ Prompt ด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอแมมอธขนปุยที่กำลังวิ่งบนทุ่งหิมะ, วิดีโอบรรยากาศของประเทศญี่ปุ่นในยามหิมะตก, วิดีโอนักอวกาศพร้อม UFO และหมวกไหมพรมสีแดง, วิดีโอสาวญี่ปุ่นสุดมีสไตล์ที่กำลังเดินบนถนนท่ามกลางบรรยากาศใจกลางกรุงโตเกียว, และอื่น ๆ อีกเพียบ
ต่อมาในวันที่ 14 มีนาคม Google DeepMind บริษัทวิจัย AI ของ Google ได้เปิดตัว "SIMA" โมเดล AI ตัวใหม่ ที่จะถูกฝึกฝนเพื่อเพิ่มและพัฒนาทักษะด้านการเล่นวิดีโอเกมโดยเฉพาะ เพื่อให้เล่นได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากกว่าบอตในเกมทั่วไป โดย SIMA ย่อมาจาก Scalable Instructable Multiworld Agent โดย SIMA จะได้รับการฝึกฝนให้สามารถรับคำสั่งและปฏิบัติตาม ไม่ได้ถูกฝึกฝนมาเพื่อให้เล่นเก่งเป็นพิเศษ หรือสามารถช่วยให้เอาชนะในเกมได้ง่าย ๆ
ตัวอย่างการทำงานของ SIMA
SIMA ได้รับความร่วมมือในการพัฒนาจากค่ายเกมชื่อดัง 8 ค่าย เช่น Unity, Hello Games, Embracer, Tuxedo Labs, Coffee Stain และอื่น ๆ ที่ยังไม่มีการเปิดเผยชื่อ โดยทดสอบผ่านเกมต่าง ๆ เช่น No Man’s Sky, Teardown, Valheim และ Goat Simulator 3 ซึ่งจนถึงตอนนี้ SIMA สามารถรับคำสั่งได้มากกว่า 600 คำสั่งแล้ว เช่น เลี้ยวซ้าย-ขวา, ปีนบันได, เปิดกล่อง, วิ่งไปหาน้ำ, และยิงศัตรู สามารถทำเสร็จได้ภายในเวลาสิบวินาที และจะยังฝึกฝนต่อไปเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามคำสั่งที่ยากและซับซ้อนขึ้นได้
น่าเสียดายว่า ขณะนี้ SIMA ยังอยู่ในช่วงของการฝึกฝนและทดสอบเท่านั้น ยังไม่มีกำหนดการใด ๆ เปิกเผยออกมา ซึ่งหากการทดสอบใช้งาน SIMA สำเร็จ เราอาจจะได้คู่หูหรือเพื่อนร่วมเล่นเกมที่เป็น AI แถมยังมีความฉลาดและการตัดสินใจเทียบเท่ามนุษย์ในอนาคต
นอกจาก AI ช่วยสร้างวิดีโอและเล่นเกมแล้ว ถัดจากนั้นไม่นานช่วงปลายเดือนมีนาคม OpenAI เรียกเสียงฮือฮาอีกครั้ง หลังเปิดตัว "Voice Engine" โมเดล AI โคลนเสียง ที่สามารถสร้างการอ่านออกเสียง ให้เหมือนเสียงต้นฉบับได้ โดยความสามารถของเจ้า Voice Engine คือการฟังเสียงต้นฉบับ โดยใช้เวลาเพียง 15 วินาทีเท่านั้น
หลังจากนั้นตัวโมเดลจะประมวลผลออกมาเป็นเสียงโคลน ที่เหมือนกับต้นฉบับแบบเป๊ะ ๆ สามารถอ่านออกเสียงตามข้อความได้ ทั้งยังใช้งานได้มากกว่า 57 ภาษา และรองรับภาษาไทยด้วย
Perplexity
มาถึง AI สำหรับนักเรียนนักศึกษากันบ้าง กับ "Perplexity" ที่เปิดตัวช่วงกลางเดือนพฤษภาคม สามารถตอบคำถามความรู้ การวิเคราะห์ต่าง ๆ ไปจนถึงตอบคำถามเชิงวิชาการได้ Perplexity มีฟังก์ชันการค้นหามากมาย โดยเราสามารถพิมพ์ค้นหาในเรื่องใดก็ได้ที่ต้องการ ซึ่งจะมีแหล่งข้อมูลที่ Perplexity ไปนำคำตอบมาวิเคราะห์และประมวลผลมาให้เราเลือกด้วย
ตัวอย่างฟังก์ชันเช่น Academic เน้นหารค้นหาคำตอบจากเอกสารและรายงานทางวิชาการต่าง ๆ, Writing ช่วยในการสร้างข้อความและเขียนโค้ดได้โดยไม่ต้องใช้อินเทอร์เน็ต, Wolfram Alpha ช่วยในการการค้นหาเชิงคำนวณ รวมถึงการคำนวณทางคณิตศาสตร์ สูตรลัดในการคำนวณต่าง ๆ, YouTube ค้นหาคำตอบภายใน YouTube โดยระบุการประทับเวลา (Time Stamp) และการดูวิดีโอบนแพลตฟอร์มในส่วนที่นำเนื้อหามาใช้ประมวลผล, และ Reddit สำรวจการสนทนาและความคิดเห็นของชุมชนบน Reddit จากนั้นจะวิเคราะห์และประมวลผลออกมาเป็นคำตอบที่ต้องการ เป็นต้น
สำหรับผู้ที่สนใจใช้งาน สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งบน App Store, Play Store, และ Chrome ซึ่งจะมีให้ใช้งาน 2 เวอร์ชัน คือ ฟรี ซึ่งจะจำกัดการส่งไฟล์ ส่งรูปต่าง ๆ ให้ระบบไปประมวลผล สามารถพิมพ์ถามได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และเวอร์ชัน Pro ที่มีค่าใช้จ่ายรายเดือนอยู่ที่ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 730 บาท และจ่ายแบบรายปี จะอยู่ที่ 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 7,300 บาท ซึ่งจะสามารถเข้าถึงได้ทุกอย่าง ส่วนผู้ที่ใช้งานฟรี สามารถใช้งานเวอร์ชัน Pro ได้จำกัด 5 ครั้งต่อวัน
Dream Machine
ต่อมาวันที่ 18 มิถุนายน Luma Labs ก็ได้เปิดตัว "Dream Machine" AI สร้างวิดีโอสั้นอีกหนึ่งตัวนอกจาก Sora โดย Dream Machine เป็นเครื่องมือสร้างวิดีโอความยาว 5 วินาที จากการป้อนคำสั่งที่ได้ทั้งข้อความ หรือ Text to Video และภาพ หรือ Image to Video ซึ่งจะใช้เวลาสร้างวิดีโอประมาณ 120 วินาที หรือ 2 นาที ออกมาเป็นวิดีโอสั้นตามที่เราต้องการ
โดย Luma AI เปิดให้ทดลองใช้งานกันได้แบบฟรี ๆ เพียงกด ทดลองใช้ฟรี (Try Free) จากนั้นให้เราล็อกอินอีเมล เมื่อเข้าสู่ระบบแล้ว เพียงแค่เราใส่พรอมต์ Dream Machine ก็จะสร้างวิดีโอสั้นความยาว 5 วินาทีออกมาให้เราได้ยลโฉมกัน
เว็บไซต์ของ Luma Labs ระบุว่า คลิปวิดีโอความยาว 5 วินาทีดังกล่าว จะถูกสร้างขึ้นจากภาพนิ่ง 120 รูปภาพ ซึ่งเมื่อคำนวณออกมาแล้ว หมายความว่าคลิปวิดีโอที่ได้จะมีอัตรา 24 เฟรมต่อวินาที เทียบเท่ากับการถ่ายวิดีโอในโหมด Cinematic บน iPhone
ปิดท้ายกับวันที่ 17 ธันวาคม กับ "Whisk" ฟีเจอร์ใหม่ที่เปิดใช้งานบน Google Labs สามารถรีมิกซ์ภาพที่เราป้อนลงไปได้ โดยจะมีช่อง 3 ช่องให้เราเลือกใส่พรอมต์ที่เป็นภาพลงไป ช่องแรกจะให้เราใส่ภาพวัตถุ คน สัตว์ หรือสิ่งของที่เราต้องการรีมิกซ์ ช่องที่สองจะเป็นภาพสถานที่หรือบรรยากาศ และช่องที่สามจะเป็นสไตล์ของภาพตามที่เราต้องการ เช่น แนวยุค 90s ไซเบอร์พังก์ เป็นต้น
Whisk AI
กระบวนการทำงานของ Whisk คือ เมื่อเราป้อนพรอมต์ที่เป็นรูปภาพลงไปแล้ว ระบบหลังบ้านจะเปลี่ยนภาพออกมาเป็นพรอมต์ผ่านโมเดล Gemini จากนั้นจะเปลี่ยนไปเป็นภาพโดยโมเดล Imagen 3 ให้ออกมาเป็นภาพตามที่เราต้องการ
อย่างไรก็ตาม Whisk จะดึงคุณลักษณะสำคัญของบุคคล สัตว์ หรือวัตถุต่าง ๆ ออกมา ดังนั้นลักษณะบางอย่างที่ไม่ได้เป็นคุณสมบัติสำคัญอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ความสูง น้ำหนัก ส่วนสูง ทรงผม หรือแม้กระทั่งสีของพื้นผิวต่าง ๆ ดังนั้น Whisk จึงเปิดโอกาสให้เราสามารถพิมพ์พรอมต์เพื่อแก้ไขได้อย่างไม่จำกัด
และนอกจากแอปฯ Generative AI ของต่างประเทศแล้ว ของไทยเองก็มีเช่นกัน กับ "ChulaGENIE" แอปพลิเคชัน Generative AI โดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Google Cloud ที่เปิดตัวเมื่อช่วงพฤศจิกายน ให้ผู้ใช้สามารถค้นหาและเลือกใช้โมเดล AI ต่าง ๆ ได้
ตัวอย่างความสามารถ เช่น เช่น สามารถช่วยอธิบายหัวข้อที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่ายขึ้น สร้างเนื้อหาในภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น ๆ และรองรับการอัปโหลดเอกสารที่มีความยาวและซับซ้อน เช่น ไฟล์ตาราง แผนภูมิ ภาพประกอบ ไฟล์ PDF หรือไฟล์เอกสารที่มีความไม่เกิน 1.4 ล้านคำ เพื่อนำไปวิเคราะห์เชิงลึกได้
2567 ปีแห่งเทคโนโลยีป้องกันอาชญากรรมออนไลน์
2567 ปีแห่งเทคโนโลยีป้องกันอาชญากรรมออนไลน์
ปฏิเสธไม่ได้ว่า มิจฉาชีพออนไลน์ หรือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ระบาดอย่างรุนแรงในปี 2567 โดย "ผู้การแจ้" พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 เผยว่า ในประเทศไทย มีผู้ตกเป็นเหยื่อระหว่าง 1 มี.ค. 65 ถึง 31 ก.ค. 67 กว่า 6 แสนคดี สูญเงินกว่า 7 หมื่นล้านบาทเข้าไปแล้ว
แน่นอนว่าเมื่อมีปัญหาด้านอาชญากรรมออนไลน์ขึ้น วงการไอทีก็ไม่อยู่นิ่งเฉย พัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้หลากหลายแนวทาง โดยในปี 2567 มีนวัตกรรมเด่นที่ช่วยให้เราปลอดภัยจากมิจฉาชีพออนไลน์เหล่านี้ เริ่มจากเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม "นายอาร์ม" อินฟลูเอนเซอร์สายไอทีชื่อดัง แนะนำแอปพลิเคชันที่ช่วยสแกนหาแอปฯ มิจฉาชีพภายในอุปกรณ์ Android แล้ว ในชื่อ "รวมมิจ"
โดย รวมมิจ เป็นแอปฯ ที่ช่วยสแกนแอปฯ โจรในอุปกรณ์ Android โดยตรวจสอบ 4 วิธีที่โจรชอบใช้ ประกอบด้วย หลอกให้โหลดแอปนอกสโตร์ (sideload) ขอสิทธิ์ Accessibility ขอสิทธิ์ Screen Sharing และ ขอสิทธิ์เขียนทับหน้าจอ มีผู้พัฒนาหลักโดย สมเกียรติ กิจวงศ์วัฒนะ Staff Software Engineer อุปกรณ์ Android อยู่ทีม Platform (Mobile) ของ LINE MAN Wongnai
การใช้งานรวมมิจ
โดยมีฟีเจอร์อยู่ 3 อย่างหลัก ๆ ได้แก่ 1) ตรวจสอบแอปที่ถูกติดตั้งจากช่องทางที่ไม่ปลอดภัย พร้อมกับแสดงข้อมูลสำคัญของแอปเพื่อช่วยให้ผู้ใช้ตรวจสอบแอปภายในเครื่องตัวเองได้ง่ายขึ้น 2) ตรวจสอบแอปที่มีการใช้งานการเชื่อเหลือพิเศษหรือ Accessibility Service ภายในเครื่อง และ 3) ตรวจสอบแอปที่กำลังจับภาพหน้าจออยู่ในขณะนั้น (Screen Sharing หรือ Media Projection)
ทั้งนี้ ผู้พัฒนายังแนะนำด้วยว่า ถ้าหากเรากังวลในการใช้งานแอปฯ นี้ เนื่องจากต้องดาวน์โหลดเป็นไฟล์ APK มาติดตั้งในเครื่องด้วยตัวเอง ไม่แนะนำให้ดาวน์โหลด ถ้าเราไม่เข้าใจเนื้อหาที่แสดงในแอปฯ นี้ แนะนำให้ปรึกษาคนรอบตัวที่มีความรู้เกี่ยวกับระบบแอนดรอยด์ เพราะแอปนี้แสดงข้อมูลเชิงลึกสำหรับผู้ใช้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในระบบแอนดรอยด์ และ แอปฯ นี้ช่วยในการตรวจสอบแอปฯ ที่ติดตั้งอยู่ภายในเครื่องเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันหรือขัดขวางการทำงานของแอปฯ ที่ไม่ปลอดภัยได้
ต่อกันที่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม กับค่าย HONOR ที่พัฒนาเทคโนโลยีป้องกัน Deepfake หรือการปลอมแปลงใบหน้า ซึ่งช่วงหลังเริ่มมีให้เห็นการใช้งานในเหล่ามิจฉาชีพเพิ่มขึ้น โดยเทคโนโลยีดังกล่าวคือ ฟีเจอร์ "AI Deepfake Detection" เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยป้องกันการหลอกลวงและสามารถตรวจจับเนื้อหาบนวิดีโอที่เข้าข่ายสุ่มเสี่ยงว่าจะมีการปลอมแปลงใบหน้า
AI Deepfake Detection
โดย AI Deepfake Protection จะตรวจสอบใบหน้าคู่สนทนาของเราแบบเฟรมต่อเฟรม เช่น การสบตา การกระทบของแสง ความคมชัดของภาพ และจุดบกพร่องต่าง ๆ บนวิดีโอที่เราไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งหากฟีเจอร์นี้สามารถตรวจจับความผิดปกติหรือพบว่าคู่สนทนาของเรามีการใช้ Deepfake ขึ้น จะมีการเด้งแจ้งเตือนระบุว่า “HONOR scam alert” พร้อมระบุลักษณะที่สามารถตรวจจับได้ และยังบอกโอกาสที่คาดว่าคู่สนทนาของเราจะเป็นมิจฉาชีพไว้ด้วย ว่ามีโอกาสกี่เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ HONOR ระบุว่า ฟีเจอร์นี้ยังสามารถใช้บนวิดีโอคอลได้เท่านั้น ส่วนการใช้งานบนแอปฯ อื่น ๆ ยังต้องรอการพัฒนาต่อไปในอนาคต
และในช่วงกลางเดือนเดือนกันยายน กับ "Scam Alert" เทคโนโลยีที่พัฒนาร่วมกันระหว่างสำนักงาน กสทช. จึงร่วมกับองค์กรภาคีภาครัฐ และเอกชน 12 องค์กร ร่วมกับผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Whoscall ซึ่งเป็นศูนย์รวมข้อมูลเพื่อป้องกันการหลอกหลวงจากมิจฉาชีพแห่งแรกของไทยแบบรวมศูนย์ เพื่อจัดการกับข้อมูลจำนวนมากจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ แจ้งเตือนภัย และให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการหลอกลวงที่อาจเกิดขึ้นในภาคส่วนต่าง ๆ ได้รับทราบอย่างทั่วถึง ทั้งเวอร์ชันฟรีและพรีเมียม โดยแบ่งเป็น 2 ฟีเจอร์ ได้แก่
Scam Alert
เตือนภัยกลโกงล่าสุด (Scam Trending Alert) สามารถเปิดการแจ้งเตือนอัตโนมัติ บนแอปพลิเคชันเพื่อรับข้อมูลแจ้งเตือนภัยมิจฉาชีพที่สำคัญและเร่งด่วน แบบเรียลไทม์ เช่น การแอบอ้างหน่วยงานที่สำคัญ การหลอกลวงที่มีมูลค่าความเสียหายขนาดใหญ่ และก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง และการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล จากองค์กรภาครัฐ เช่น กองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง ตำรวจไซเบอร์ กสทช. และ สกมช.
เตือนภัยกลโกงรู้ทันมิจฉาชีพ (Scam Education Content) ฟีเจอร์นี้จะเป็นแพลตฟอร์มที่รวมความรู้เกี่ยวกับกลวิธีการหลอกลวง และเคล็ดลับการป้องกันต่าง ๆ จากภาคีเครือข่ายภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เช่น การหลอกลวงด้านการลงทุน การหลอกลวงการชำระบิล การหลอกลวงในการซื้อของ การหลอกลวงทางอีคอมเมิร์ซ รวมถึงรายงานและให้ข้อมูลเชิงลึกจาก Whoscall และองค์กร Global Anti-Scam Alliance (GASA)
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่แม้จะไม่ใช่เทคโนโลยีช่วยป้องกันเหตุ แต่เป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยปกป้องผู้เสียหายจากอาชญากรรมออนไลน์ อย่าง "Take It Down" บริการที่จะช่วยลบ-หยุดการส่งต่อภาพโป๊เปลือย วิดีโอเนื้อหาทางเพศที่ไม่เหมาะสม และเนื้อหาทางเพศอื่น ๆ ของเยาวชนที่อยู่ในภาพ หรือคลิปวิดีโออายุไม่เกิน 18 ปี โดยที่ผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน ไม่จำเป็นต้องส่งรูปภาพหรือวิดีโอให้กับเว็บไซต์ Take It Down แต่อย่างใด
Take it Down
Take It Down พัฒนาโดย Meta ร่วมมือกับ National Center for Missing & Exploited Children (NCMEC) การใช้งานสามารถทำได้ 4 ขั้นตอนง่าย ๆ เริ่มจากเข้าไปที่เว็บไซต์ https://takeitdown.ncmec.org คลิก เริ่ม ซึ่งผู้ใช้ในไทยสามารถเลือกเปลี่ยนเป็นภาษาไทยได้ จากนั้นตอบคำถามบนเว็บไซต์ ต่อมาเลือกรูปภาพ หรือวิดีโอจากอุปกรณ์ของคุณ ที่กังวลว่าภาพนั้นอาจปรากฏอยู่บนโลกออนไลน์ จากนั้นเว็บไซต์ Take It Down จะกำหนดลายนิ้วมือดิจิทัลที่ไม่ซ้ำกันซึ่งเรียกว่า ค่าแฮช ให้กับรูปภาพหรือวิดีโอภาพเปลือยนั้น ๆ
จากนั้น ค่าแฮช จะถูกแชร์ไปยังพันธมิตรออนไลน์ที่เข้าร่วม ได้แก่ Meta (รวมทั้ง Facebook Instagram และ Thread) Clips4sale OnlyFans Pornhub TikTok Yubo Snap Inc. และ Redgifs เพื่อให้สามารถนำไปตรวจหาได้ว่า มีรูปหรือวิดีโอเหล่านั้นอยู่บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ หรือไม่ และจะลบเนื้อหาหรือยับยั้งการเผยแพร่สื่อที่ตรวจพบ
โดยเว็บไซต์ Take It Down เปิดใช้งานฟรี สำหรับเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่กังวลว่ารูปภาพส่วนตัวอาจถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ รวมถึงให้บริการแก่ผู้ปกครอง หรือผู้ใหญ่ ที่ได้รับความไว้วางใจจากเด็กและเยาวชน ในการจัดการกับรูปภาพส่วนตัวของเด็ก ๆ เหล่านั้น หรือหากผู้ใหญ่ท่านใดกังวลว่า รูปภาพส่วนตัวของตนที่ถูกถ่ายไว้ก่อนอายุ 18 ปี จะถูกเผยแพร่ หรืออาจถูกเผยแพร่ไปแล้วบนโลกออนไลน์ ก็สามารถใช้บริการแจ้งลบกับทางโครงการได้เช่นเดียวกัน
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/news/239271
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา