27 ธ.ค. 2024 เวลา 11:51 • ไลฟ์สไตล์

เจาะเรื่องราวของผลงานศิลปะ 10 ชิ้น เมื่อศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่ One Bangkok

ช่วงปลายปี อากาศเย็นสบายแบบนี้ ถือเป็นช่วงเวลาเหมาะในการเดินเสพงานศิลป์แบบสุดๆ ซึ่งถ้าจะให้แนะนำสักที่ ก็คงหนีไม่พ้น “One Bangkok” เพราะเป็นโครงการที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง “Art and Culture” หรือ “ศิลปะและวัฒนธรรม” มากๆ
เมื่อเดินไปรอบโครงการ ที่ประกอบไปด้วยส่วนร้านอาหาร ร้านขายของ ออฟฟิศ พื้นที่อยู่อาศัยและโรงแรม จะเห็นได้ว่านอกจากจะมีงานสถาปัตยกรรมที่หลากหลายสวยงามแล้ว ยังมีการแทรก “งานศิลปะ” เข้าไปในทุกมุม รวมถึงโครงการอนุรักษ์อาคารสถานีวิทยุโทรเลขแห่งแรกของประเทศอยู่ในพื้นที่อีกด้วย
แต่ละผลงานศิลปะถูกตั้งอยู่ทั้งภายนอกและภายในอาคารให้ผู้คนได้สัมผัสอย่างทั่วถึง ตามแนวคิด “Open Up Art to Life” หรือ “ศิลปะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้”
โดยทางเราก็ได้ไปใช้เวลา 1 วัน เดินสำรวจ One Bangkok แบบไม่รีบร้อน เพื่อเก็บงานศิลปะในโครงการทั้งหมด (และแอบชอปปิงเล็กน้อย) ซึ่งเห็นได้ชัดมากว่า ชิ้นงานศิลปะทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นั้น ช่วยเติมเต็มความสุนทรีย์ให้โครงการมีชีวิตชีวามากจริงๆ
และเพื่อเพิ่มความอินในการเสพผลงานสำหรับใครที่อยากไปตามรอย จึงขอมาเล่าเจาะลึกถึงเหล่าผลงานศิลปะต่างๆ ที่อยู่ในโครงการนี้ โดยมีไฮไลต์คือ 3 ชิ้นงานที่สร้างสรรค์โดยศิลปินระดับโลกอีกอย่าง Tony Cragg, Anish Kapoor รวมถึง Alex Face ที่เป็นศิลปินคนไทย
นอกจากนี้ยังมีหลายผลงานที่ไม่ใช่แค่ความสวยงามและมีเรื่องราว แต่ยังมีฟังก์ชันใช้งานได้จริง เดินเหนื่อยๆ ก็นั่งพักบนผลงานศิลปะได้ อยากรู้ว่าชิ้นไหนลองตามมาอ่านได้เลย !
ผลงาน It is, It isn’t โดย Tony Cragg ศิลปินชาวอังกฤษ ประติมากรแถวหน้าของโลก
📌 สถานที่: One Bangkok Park
เมื่อมองที่ผลงาน “It is, It isn’t” ครั้งแรก คงจะต้องตั้งคำถามว่า “ใช่หรือไม่ใช่นะ” ตามชื่อผลงาน เพราะยากที่จะเดาออกว่าเป็นรูปทรงของอะไรกันแน่ แต่แท้จริงแล้วศิลปินใช้รูปร่าง ”มนุษย์”เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างรูปทรงนามธรรมนี้ขึ้นมานั่นเอง
หากเดินไปรอบๆ ผลงาน จะพบว่าสามารถรับชมได้จากหลากหลายมุมมอง แต่ละองศาล้วนแตกต่างทั้งรูปทรง แสงเงา และการสะท้อน ราวกับชิ้นงานกำลังเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ประติมากรรมสเตนเลสนี้ตั้งตระหง่านด้วยความสูง 7.8 เมตร ท่ามกลางการสัญจรไปมาของผู้คนจนกลายเป็นแลนด์มาร์กของ One Bangkok Park แสดงถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น
ชั้นเส้นโค้งที่ดูแวววาวและลื่นไหล ทำให้วัสดุอุตสาหกรรมอย่างสเตนเลสผสานเข้ากับบริบทโดยรอบอย่างลงตัว โดยผลงานชิ้นนี้ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อ One Bangkok โดยเฉพาะ เป็นผลงานของ Tony Cragg ที่มักจะสร้างผลงานที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและวัสดุ และออกแบบเพื่อท้าทายความสามารถของรูปทรงและวัสดุตลอดเวลา
S-Curve โดย Anish Kapoor หนึ่งในประติมากรที่เลื่องชื่อที่สุดแห่งยุคสมัย
📌 สถานที่: One Bangkok Park
หลายคนอาจคุ้นๆ งานชิ้นนี้จากผลงาน “Cloud Gate” หรือ “The Bean” อันโด่งดังที่เมืองชิคาโก ที่สร้างสรรค์โดย Anish Kapoor เช่นกัน ซึ่งเป็นประติมากรรมที่รูปร่างเหมือนเม็ดถั่ว โดยจะเห็นทุกคนไปจ้องมองและถ่ายภาพเงาสะท้อนกัน และผลงานนี้ยังปรากฎในภาพยนตร์ดังต่างๆ มากมายอีกด้วย
สำหรับ “S-Curve” คือผลงานประติมากรรมที่ทำมาจากสแตนเลสรูปทรงโค้งเว้าเช่นเดียวกัน และมีพื้นผิวที่ถูกขัดเงาจนดูคล้ายกระจก รูปร่างเป็นตัว S สะท้อนภาพที่ถูกบิดเปลี่ยน ย่อ ขยาย หมุนวนเข้าหากัน จนเหมือนกับสภาพแวดล้อมโดยรอบถูกซึมซับเข้าไปอีกโลกหนึ่ง ที่ผู้คน เมือง และธรรมชาติ ผสมผสานกันอย่างพัลวันจนเป็นหนึ่งเดียว ถ้ามองจากมุมมองทั้งสองด้านก็จะเห็นภาพบิดเบือนไม่เหมือนกันอีกด้วย
นอกจากนี้ผลงาน S-Curve ยังถือเป็น 1 ใน 3 ของประติมากรรมในอิดิชั่นเดียวกันที่ได้จัดแสดงมาแล้วทั่วโลก และในที่สุดก็ได้มาตั้งอยู่อย่างถาวรที่ One Bangkok นี่เอง
ถือเป็นอีกหนึ่งจุดที่ใครที่มาเยือน One Bangkok ไม่ควรพลาดมาชมและถ่ายภาพเงาสะท้อนกันที่งานนี้
Fly โดย Alex Face ศิลปินชาวไทยชื่อเสียงระดับโลก
📌 สถานที่: Wireless Park ด้านหน้าโครงการ One Bangkok ฝั่งถนนวิทยุ
หากมองไปด้านหน้าโครงการที่ติดกับถนนวิทยุ จะเห็นประติมากรรมคาแรคเตอร์กระต่ายสามตา คาแรคเตอร์สุดไอคอนิกของศิลปิน Alex Face ที่ล่องลอยอยู่ เหมือนเป็นการต้อนรับทุกคน
ผลงานนี้ถือเป็นประติมากรรมที่ทำจากบรอนซ์ชิ้นใหญ่ที่สุดของ Alex Face ศิลปินสตรีทอาร์ตชื่อดังของไทย โดยมีแรงบันดาลใจมาจากการก้าวข้ามอุปสรรคของมนุษย์ที่มีวิทยาการการบินเป็นก้าวสำคัญ โดยพัฒนาต่อมาจากภาพสเก็ตช์ในกระดาษ ที่ศิลปินเคยจัดแสดงในนิทรรศการครบรอบ 20 ปี
ความท้าทายของงานชิ้นนี้คือการสร้างรูปทรงของ ‘ควัน’ ที่ต้องผลิตจากวัสดุที่มีความแข็งแรงให้ความรู้สึกหนักหน่วงอย่างบรอนซ์ แต่ต้องสัมผัสได้ถึงความบางเบาและล่องลอยซึ่งเป็นลักษณะของควันอยู่ได้ ศิลปินจึงเลือกควันที่พวยพุ่งออกมาจาก ’สเปรย์’ ทั้งสองกระป๋อง ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของศิลปะสตรีทอาร์ตอีกด้วย และสเปรย์นี้ก็ต้องทำหน้าที่รับน้ำหนักทั้งหมดของผลงาน โดยผลงานนี้คือชิ้นแรกจากทั้งหมด 3 ชิ้น ในซีรีส์ ซึ่งชิ้นนี้เป็นเพียงชิ้นเดียวในประเทศไทย
Alex Face ยังเป็นศิลปินที่มีความผูกพันกับพื้นที่บริเวณนี้อีกด้วย ทั้งเคยทำกิจการร่วมกับรุ่นพี่ในสมัยที่พื้นที่ตรงนี้ยังเป็นสวนลุมไนท์บาซาร์ รวมถึงการเป็นศิลปินของ BANGKOK CITYCITY GALLERY ซึ่งตั้งอยู่ที่ซอยสาทร 1 ตรงข้ามกับโครงการ One Bangkok นั่นเอง
Ribbon Flow
📌 สถานที่: One Bangkok Boulevard
หลังจากอ่านข้อมูล ชมงานศิลปะกันมาอย่างเต็มอิ่มก็ได้เวลานั่งพักสักนิด ! แต่ไม่ได้นั่งพักธรรมดา แต่นั่งพักบนงานศิลปะสาธารณะอย่าง “Ribbon Flow”
“Ribbon Flow” เป็นหนึ่งในผลงานศิลปะจากโครงการ One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 ในหัวข้อ “Seatscape & Beyond” ที่เชิญชวนให้ผู้คนมานั่งและสัมผัสประสบการณ์ในพื้นที่สาธารณะ ผลงานนี้ออกแบบโดยนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
แรงบันดาลใจมาจากการเคลื่อนไหวของริบบิ้น รูปทรงที่พลิ้วไหวช่วยเชื่อมโยงพื้นที่สองฝั่งเข้าด้วยกันอย่างลื่นไหล ไม่ขวางการเดินหรือบังสายตา เส้นสายที่เป็นระนาบแนวตั้งและแนวนอนทำให้ทุกคนสามารถมาพลิกแพลงการใช้งานได้หลากหลาย ตั้งแต่นั่ง นอน ไปจนถึงเล่นเป็นสไลเดอร์ก็ยังได้ แต่ต้องระมัดระวังหน่อย! การออกแบบนี้ยังผ่านการพัฒนาต้นแบบมาหลายสิบครั้งเพื่อความลงตัวอีกด้วย ซึ่งเสร็จออกมาก็ราวกับเส้นริบบิ้นนี้มีชีวิตและลอยได้จริงๆ
สีส้มที่เลือกใช้สะท้อนถึงความสดใส ความหลากหลาย และการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ตามแนวคิด ‘Harmony Day’ และยังดึงดูดสายตาเชิญชวนให้คนมาใช้งานอีกด้วย
หลังจากไปนั่งหยุดพัก เสพบรรยากาศรอบๆ อยู่ที่งานชิ้นนี้ได้สักพัก ก็ได้เห็นทั้งคนที่เดินผ่านไปมาก็แวะเวียนมาใช้งาน พักผ่อน นั่งพูดคุยกัน จึงเห็นได้ว่าผลงานชิ้นนี้จึงเป็นมากกว่าเฟอร์นิเจอร์ แต่เป็นแลนด์มาร์กที่ส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ของผู้คน และสร้างความสุขในการใช้ชีวิตในเมือง ไปจนถึงเป็นที่นัดพบรวมตัวก็มีเพราะสีสันโดดเด่นมาแต่ไกล !
B3X
📌 สถานที่: Shuttle Bus Stop ด้านหน้า The Storeys ฝั่งถนนวิทยุ
อีกหนึ่งผลงานจากโครงการ One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 ตั้งอยู่ในบริเวณด้านหน้าโครงการที่พร้อมจะต้อนรับและบอกลา จึงต้องการออกแบบให้ผู้คนสามารถมานั่งได้แบบมีความหมาย ตั้งอยู่กระจายตามจุดต่างๆ ไม่ขวางทางสัญจร
งานออกแบบนี้มีแรงบันดาลใจจากการลงพื้นที่ใช้งานจริง และเรียนรู้จากเวิร์กชอปกับสตูดิโอมืออาชีพอย่าง THINKK Studio นอกจากนี้ลวดลายของเก้าอี้แต่ละตัวยังสะท้อนถึงความเป็นวัยรุ่นสามแบบ ได้แก่ Freedom, Explore และ Exciting ที่มีสีสันสดใสดึงดูด เมื่อเดินผ่านแล้วก็ต้องอยากจะแวะนั่งสักหน่อยแน่นอน
กว่าจะเห็นเป็นผลงานรูปร่างน่ารักแปลกตาแบบนี้ ต้องมีการคิดวิธีสร้างแบบเฉพาะตัว โดยวัสดุที่เลือกใช้เป็นวัสดุรีไซเคิลทั้งหมด เช่น ไม้ (เป็นแกนใน), แก้ว (บดละเอียดเข้าเตาหลอมและขึ้นรูปตามแบบ) สุดท้ายคือ พลาสติก HDPE หรือพลาสติกขุ่นที่นำมาบดเข้าเครื่องหลอมและขึ้นรูป
แนะนำว่าใครที่เดินชมงานศิลปะ หรือเดินชอปปิงจนเหนื่อย ก็สามารถลองมานั่งพัก นั่งพิงกันได้ ลองนั่งให้ครบทั้ง 3 ตัว จะได้ความรู้สึกที่ต่างกันไปเลย !
Zero โดย Elmgreen & Dragset
📌 สถานที่: Parade Park ด้านถนนพระราม 4
เมื่อเดินมาที่ Parade Park มองจากไกลๆ จะเห็นผลงาน “Zero” ที่ดูเป็นประติมากรรมวงรี หรือ เลขศูนย์ (Zero) ขนาดใหญ่ แต่เมื่อมองใกล้ๆ จะเห็นว่ามีองค์ประกอบที่ดูเหมือนเป็นสระว่ายน้ำ ทั้งราวจับและแท่นกระโดดน้ำ เพราะศิลปินเล่นกับสิ่งที่พบได้ในชีวิตประจำวัน เพื่อท้าทายมุมมองเดิมที่ผู้คนมีต่อประติมากรรมสาธารณะนั่นเอง
โดยมีการลดทอนรายละเอียดสระว่ายน้ำเหลือเพียงองค์ประกอบที่จำเป็น เพื่อให้ผู้ชมได้ลองมองสิ่งรอบตัวในมุมใหม่ ไปพร้อมๆ กับเติมความหมายของตนเองลงไปในช่องว่างใจกลางที่ว่าง Zero ที่ตั้งอยู่เบื้องหน้านี้
Elmgreen & Dragset คือศิลปินคู่หูที่โดดเด่นในเรื่องศิลปะจัดวาง ที่ผสมผสานศิลปะเข้ากับสถาปัตยกรรม และการดีไซน์ที่ชวนท้าทายความคิด โดยผลงานชิ้นนี้เคยจัดแสดงครั้งแรกในเทศกาลศิลปะนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2018 ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
Bangkok Beats โดย BIGDEL & MRKREME
📌 สถานที่: The Storeys ชั้น B1
เมื่อเดินไปด้านในอาคารโซน The Storeys จะพบกับผลงาน “Bangkok Beats” จิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่เต็มๆ ตา ที่ได้แรงบันดาลใจจากจังหวะของกรุงเทพฯ และความสนุกจากการผสมผสานเอกลักษณ์ของสองศิลปิน ผลงานบางส่วนบนผนังนี้เคยมีการวาดแบบสดๆ และจัดแสดงที่ Bangkok Design Week 2024 มาแล้วอีกด้วย
ในภาพมีทั้งครอบครัวสัตว์ประหลาดสวมหมวกทหารไทยโบราณ โน๊ตดนตรีที่มีชีวิต ขวดเสปรย์มีแขนขา และคาแรคเตอร์จากวิทยุแบบชาวฮิปฮอป ผลงานถูกพ่นด้วยสีสันสดใสเส้นหนาชัดเจน ตัดกับสีโทนหม่น เขียวนีออน และมีเส้นสายของขนสัตว์เล็กริ้วนุ่มฟู
BIGDEL และ MRKREME ต่อยอดการทํางานจาก Bangkok Design Week 2024 ที่ One Bangkok Pavilion โดยมาบอกเล่าเรื่องราวอันสนุกสนานและจังหวะที่ไม่เคยหลับไหลของกรุงเทพมหานคร สะท้อนตัวตนของศูนย์การค้า The Storeys พร้อมผสมผสานคาแรคเตอร์สองสไตล์เข้าหากัน เกิดเป็นจังหวะใหม่ที่ลงตัว
เป็นผลงานที่มีรายละเอียดเยอะ สีสันสวยงามเหมาะมาใช้เวลาค่อยๆ เดินเล่น และถ่ายรูปมากๆ
Flower Gun โดย Choi Jeong-Hwa (ชเว จอง ฮวา)
📌 สถานที่: Parade ชั้น 2
เมื่อมองจากที่ไกล งานประติมากรรมนี้ดูเหมือนพู่สีสันสวยงามที่เข้ากับเทศกาลรื่นเริง แต่เมื่อมองใกล้ๆ จะเห็นว่าประกอบจากปืนแวววาวหลากสีสัน
ผลงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานชุด ‘Happy Happy Project’ ของศิลปิน และเคยจัดแสดงที่เทศกาล Bangkok Art Biennale ครั้งที่ 1 ในปี 2018 อีกด้วย ผลงานนี้สะท้อนความขัดแย้งระหว่างความสุขฉาบฉวยและความรุนแรง ด้วยการเปลี่ยน ‘ปืน’ สัญลักษณ์แห่งความรุนแรง ให้กลายเป็นวัตถุสีสันสดใสที่สวยงามดึงดูดสายตา
ชเว จอง ฮวา เป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานหลากหลายรูปแบบทั้งทัศนศิลป์ ออกแบบ กราฟิก และสถาปัตยกรรม ผลงานของเขามักเล่นกับพื้นที่สาธารณะ และมักสร้างจากวัตถุในชีวิตประจำวันอีกด้วย เช่น ซากประตูเก่าเรียงต่อกันสูง 10 ชั้น หรือการตกแต่งสนามกีฬาโซลโอลิมปิคด้วยขยะรีไซเคิลกว่า 2 ล้านชิ้น
ผลงานของชเวได้จัดแสดงมาแล้วในเวทีศิลปะระดับโลก เช่น Venice Biennale, Singapore Biennale และมีนิทรรศการเดี่ยวในปารีสและปักกิ่งอีกด้วย
Greeting of Times, กาละปฏิสันถาร
โดย Nakrob Moonmanas (นักรบ มูลมานัส )
📌 สถานที่: The Wireless House One Bangkok
ผลงานนี้สร้างสรรค์โดย นักรบ มูลมานัส ศิลปินที่เป็นที่รู้จักในการใช้ศิลปะคอลลาจในการเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ได้อย่างงดงาม ในคราวนี้เขาได้เล่าเรื่องราวของผู้คน สิ่งของ สถาปัตยกรรม และกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่สาธารณะที่เคยเกิดขึ้นในย่านวิทยุ-พระรามที่ 4 โดยเน้นให้เห็นถึงความเป็นสมัยใหม่ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาในพื้นที่มาตั้งแต่มีการตั้งสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดงขึ้นมา
ศิลปินเลือกประทับความทรงจำเหล่านี้ลงบนแม่พิมพ์ทองแดง โลหะที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสื่อสารด้วยวิทยุโทรเลข ภาพทั้งหมดถูกเรียงคอลลาจกันอย่างมีมิติ ส่วนบนหน้าจอสีฟ้าขนาดเล็ก จะมีข้อความจากการส่งวิทยุโทรเลขครั้งแรกของสยามในอดีตจำนวน 17 คำ ที่ได้รับการเรียบเรียงขึ้นใหม่ให้กลายเป็นร้อยกรองไร้ฉันทลักษณ์โดยปัญญาประดิษฐ์ ทำให้ส่วนนี้เหมือนเป็นองค์ประกอบที่สื่อสารถึงความก้าวหน้าในอนาคตอีกด้วย
PintONE, ปิ่นโทน โดย Wasinburee Supanichvoraparch (วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์)  
📌 สถานที่: The Wireless House One Bangkok
เมื่อตอนที่มีการก่อสร้างโครงการ One Bangkok ขึ้นมา มีการขุดพบข้าวของเครื่องใช้ในอดีตเช่น เศษกระเบื้อง และไหน้ำปลา ศิลปินจึงนำประเด็นนี้มาเป็นแรงบันดาลใจหลักของผลงาน
ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นที่ค้นพบนั้นหลากหลายและต่างที่มา ไม่ต่างกับการเปลี่ยนแปลงมากมายที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ และบางเรื่องราวอาจถูกลืมไป ผลงาน “ปิ่นโทน” จึงเป็นเหมือนการรื้อฟื้นความทรงจำบางส่วนที่ทับถมอยู่ในพื้นที่ ให้ปรากฏชัดเจนอีกครั้ง โดยคำว่า “โทน” มาจากคำว่า “Ton” ในภาษาเยอรมันที่แปลว่า “ดิน” (พหูพจน์ของ Ton คือ Tone)
และทำไมต้องเป็นปิ่นโต? “ปิ่นโต” เป็นตัวเเทนภูมิปัญญาของอดีตซึ่งคนคุ้นเคยกันมายาวนานและยังคงใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน ปิ่นโตจึงเป็นภาชนะที่ร่วมสมัย และในขณะเดียวกัน ก็เป็นภาชนะที่สะท้อนคุณค่าเรื่องการแบ่งปันและความยั่งยืนในแบบที่โลกในอนาคตมองหา
ในแต่ละชั้นของปิ่นโทน มีการทำสีเคลือบให้ใกล้เคียงกับเศษกระเบื้องที่ขุดพบ รวมถึงสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ๆ จากการจินตนาการต่อจากเศษเสี้ยวของลวดลายเดิม และยังเพิ่มเติมเรื่องราวในปัจจุบันเข้าไปด้วย จารึกทั้งเรื่องราวของสิ่งที่ผ่านมา และสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ให้คงอยู่ร่วมกันอย่างงดงามลงตัวลงบนปิ่นโตนี้
โฆษณา