28 ธ.ค. 2024 เวลา 04:43 • ปรัชญา

ความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง: จากปรัชญาโบราณถึงการแพทย์ในปัจจุบัน

สมัยเด็กผมได้เรียนรู้จากครูถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนว่า "ทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกัน ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นโดยลำพัง ทุกอย่างเชื่อมโยงกันผ่านความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน" เนื้อหาอาจจะไม่ตรงกับที่ผมนำเสนอแต่ใจความหลากก็ประมาณนี้แหละครับ แต่ในอดีตความเข้าใจของผมยังไม่คมชัดมากพอ จึงไม่ได้เห็นถึงความสำคัญของข้อความนี้นัก
แต่ในปัจจุบันเมื่อมีประสบการณ์ชีวิตมาระดับหนึ่งและได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมมาบ้าง จึงทำให้รู้ว่า "ความสำคัญของการกระทำและการตัดสินใจของเรา ที่ล้วนส่งผลต่อสิ่งรอบตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้" สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมาตั้่งแต่ในวัฒนธรรมโบราณ มีความเข้าใจมายาวนานว่ามนุษย์ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่เป็นส่วนหนึ่งของสายใยอันซับซ้อนที่เชื่อมโยงเรากับทุกสรรพสิ่งในจักรวาล
แนวคิดนี้ปรากฏอยู่ในคำสอนของปรัชญาและศาสนาต่าง ๆ อย่างชัดเจน เช่น ในคัมภีร์ ภควัทคีตา ของศาสนาฮินดู พระกฤษณะกล่าวว่า “ผู้ที่เห็นตัวตนในสรรพสิ่งและสรรพสิ่งในตัวตน คือผู้ที่สถิตในปัญญา” คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงการตระหนักถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างตัวเราและสิ่งรอบตัว เราไม่ได้เป็นเพียงปัจเจกบุคคล แต่เป็นส่วนหนึ่งของทุกสิ่งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่
พระพุทธเจ้าก็ตรัสถึงหลักการที่คล้ายคลึงกันในคำสอนเรื่อง "อิทัปปัจจยตา" หรือหลักเหตุปัจจัย พระองค์ชี้ให้เห็นว่า ทุกสิ่งในโลกนี้มีอยู่เพราะมีปัจจัยที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลำพังหรือคงอยู่โดยปราศจากความเชื่อมโยง พระองค์ตรัสว่า “สิ่งนี้มีเพราะสิ่งนั้นมี สิ่งนี้ไม่มีเพราะสิ่งนั้นไม่มี สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะสิ่งนั้นเกิดขึ้น สิ่งนี้ตายเพราะสิ่งนั้นตาย”
การเฝ้าดูใบไม้ใบหนึ่งหรือหยาดน้ำฝนหนึ่งหยาดอาจดูเหมือนเป็นสิ่งเล็กน้อย แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้ง เราจะพบว่ามีปัจจัยนับไม่ถ้วน ทั้งใกล้และไกล ที่ทำให้สิ่งเหล่านี้มีอยู่ได้ โลกจึงถูกถักทอด้วยสายใยแห่งเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น
แนวคิดเรื่องความเชื่อมโยงของทุกสรรพสิ่งนี้ไม่ได้หยุดอยู่ในคำสอนโบราณ แต่ยังสะท้อนในศาสตร์สมัยใหม่ เช่น ในแนวคิด "ชีวจิตสังคม" (Biopsychosocial Model) ของจอร์จ เองเกิล (George Engel) แพทย์และจิตแพทย์ชาวอเมริกัน เขาชี้ให้เห็นว่า การแพทย์สมัยใหม่มักทำข้อผิดพลาดที่สร้างความเสียหาย คือการมองมนุษย์เพียงในเชิงร่างกาย แยกส่วนความเป็นคนออกจากอารมณ์ ความคิด และบริบททางสังคม
เองเกิลมีความเห็นว่า การดูแลผู้ป่วยที่แท้จริงต้องพิจารณาความเป็นคนของเขาในทุกมิติ ตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงบริบททางวัฒนธรรม กล่าวคือ "ต้องเข้าใจลักษณะเฉพาะของแต่ละคน ทั้งในแง่ชีววิทยา จิตวิทยา และบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เขาอยู่"
ยกตัวอย่างผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง ในการแพทย์แบบดั้งเดิมหรือ "ชีวการแพทย์" (Biomedical Model) แพทย์อาจมุ่งไปที่การรักษาเฉพาะอาการ เช่น การใช้ยาแก้ปวด การทำกายภาพบำบัด หรือการผ่าตัด โดยไม่ได้พิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจมีผลต่ออาการของผู้ป่วย แต่ในความเป็นจริง ปัจจัยทางจิตวิทยาและสังคม อาจมีบทบาทสำคัญ เช่น
ปัจจัยทางจิตวิทยา ความเครียด ความวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้าที่ผู้ป่วยเผชิญ อาจทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้น หรือทำให้ร่างกายตอบสนองต่อการรักษาได้น้อยลง
ปัจจัยทางสังคม การสนับสนุนทางอารมณ์จากครอบครัวหรือเพื่อน การมีปัญหาทางการเงินที่ส่งผลต่อการเข้าถึงการรักษา หรือแรงกดดันในที่ทำงาน ล้วนส่งผลต่อความรุนแรงและระยะเวลาของอาการปวด
ในกรอบของ "ชีวจิตสังคม" แพทย์ที่ใช้แนวคิดนี้จะไม่เพียงแค่รักษาอาการปวดหลังด้วยยาและการกายภาพบำบัดเท่านั้น แต่ยังพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับผู้ป่วยในมิติอื่น ๆ เช่น การสำรวจแหล่งที่มาของความเครียดในชีวิต การให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต หรือแม้แต่การสนับสนุนให้ผู้ป่วยเข้าร่วมกลุ่มสนับสนุน
แนวคิดของเองเกิลเชื่อมโยงกับความเข้าใจในปรัชญาโบราณที่มองโลกแบบองค์รวม เขาแสดงให้เห็นว่าอารมณ์และสรีรวิทยาของมนุษย์ไม่ได้แยกขาดจากกัน แต่เป็นกระบวนการพลวัตที่ส่งผลซึ่งกันและกันในบริบทความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นระดับครอบครัว ชุมชน หรือสังคมทั้งหมด การแพทย์ในแบบ "ชีวจิตสังคม" นี้ ไม่เพียงช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังสร้างความเข้าใจในตัวมนุษย์ในฐานะส่วนหนึ่งของระบบที่เชื่อมโยงกับทุกสิ่งรอบตัว
เมื่อเรามองย้อนกลับไปยังปรัชญาโบราณ จะเห็นว่าความเชื่อที่ว่าสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงกัน ไม่ได้เป็นเพียงแนวคิดเชิงจิตวิญญาณ หากแต่เป็นพื้นฐานของการเข้าใจชีวิตและโลกในมุมมองที่กว้างขึ้น การที่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่เริ่มมองเห็นความสำคัญของมิติทางอารมณ์และสังคมในกระบวนการรักษาและเข้าใจมนุษย์ สะท้อนว่าความรู้โบราณสามารถผสานกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างลึกซึ้ง
ในโลกที่ทุกสิ่งล้วนเกี่ยวข้องกัน การเข้าใจถึงความสัมพันธ์นี้ช่วยให้เรามองเห็นความสำคัญของการกระทำของเรา เพราะทุกสิ่งที่เราทำล้วนส่งผลต่อผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การตระหนักถึงความเชื่อมโยงนี้ยังช่วยให้เรามีความเห็นอกเห็นใจ และดำเนินชีวิตด้วยความรับผิดชอบต่อโลกที่เราเป็นส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจในชีวิตประจำวันหรือการดูแลสุขภาพของตนเองและผู้อื่น
ด้วยเหตุนี้ ชีวิตจึงไม่ได้เกี่ยวกับการแยกส่วนหรือแยกตัวเองออกจากโลก หากแต่เป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล สิ่งนี้ไม่ใช่แนวคิดที่ลึกลับ จิตวิญญาณ หรือความลับจักรวาลอะไร มันคือสิ่งที่เรียบง่าย หลายครั้งที่เราป่วยมาจากจิตใจของเราที่วิตกกังวล ซึ่งความวิตกกังวลของเราอาจมาจากการเลี้ยงดูของครอบครัวที่คอยจับผิดทุกอย่าง และพฤติกรรมการเลี้ยงดูดังกล่าวอาจมาจากค่านิยมของสังคมหนึ่งที่คอยจับผิดและไม่ยอมรับความผิดพลาดก็ได้เช่นเดียวกัน
ทุกท่านจะเห็นว่านี้คือตัวอย่างของความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกัน การจะแก้ไขปัญหาอะไรก็ตามจะต้องมองเป็นองค์รวมเข้าไปขยับที่ละส่วน รวมไปถึงการปล่อยวางเมื่อรู้ว่าปัญหาบางอย่างแก้ไขไม่ได้ คำแนะนำเล็กน้อยของผมก็คือ เคารพในความสัมพันธ์ของทุกสิ่ง และรู้จักใช้ความรู้จากทั้งอดีตและปัจจุบันเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน
อ้างอิง
Maté, G., & Maté, D. (2022). The myth of normal: Trauma, illness, and healing in a toxic culture. Avery.
โฆษณา