29 ธ.ค. 2024 เวลา 01:30

จากของขวัญคริสต์มาส สู่วรรณกรรม "หมีแพดดิงตัน" หมีน้อยพลัดถิ่นจากป่าแอมะซอน

การให้ “ของขวัญ” ไม่ได้มอบเพียงความสุขใจแก่ผู้รับเท่านั้น ทว่าของขวัญชิ้นเล็กๆ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของงานสร้างสรรค์ระดับโลกได้ เช่นเดียวกับวรรณกรรม “หมีแพดดิงตัน” โดย ไมเคิล บอนด์ (Michael Bond) ตากล้องรายการโทรทัศน์ของบีบีซี (BBC) ที่ใครจะเชื่อว่ามีจุดเริ่มต้นจากการหาของขวัญคริสต์มาสให้ภรรยาในวินาทีสุดท้าย
และเขาก็ได้ตุ๊กตาหมีขนฟูตัวสุดท้ายที่เหลืออยู่บนชั้นขายของในห้างเซลฟริดจ์ส (Selfridges) ที่ลอนดอนเขาตั้งชื่อตุ๊กตาหมีตัวนั้นว่า “แพดดิงตัน” ตามชื่อสถานีรถไฟแพดดิงตันที่อยู่ใกล้บ้านของครอบครัวบอนด์
หลังจากที่รับตุ๊กตา “หมีแพดดิงตัน” เข้ามาเป็นสมาชิกในบ้าน ไมเคิล บอนด์ ก็เริ่มเขียนเรื่องราวของหมีน้อย พร้อมคิดจินตนาการว่าถ้าหมีตัวนี้ต้องผจญภัยในเมืองหลวงของอังกฤษเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง โดยเรื่องราวเริ่มจากหมีน้อยตัวหนึ่ง พลัดถิ่นมาจากป่าแอมะซอน ประเทศเปรู ซึ่งกำลังถูกทำลายด้วยไฟป่า
เหตุการณ์น่าเศร้าครั้งนั้นทำให้หมีน้อยต้องหนีและพลัดหลงลงเรือมากับนักสำรวจชาวอังกฤษและข้ามทวีปมาจนถึงลอนดอน อันเป็นที่มาของภาพหมีน้อยนั่งเดียวดายอยู่บนกระเป๋าเดินทางหนังสีน้ำตาล บริเวณสถานีรถไฟแพดดิงตัน ชานเมืองลอนดอน พร้อมข้อความบนป้ายแขวนคอเขียนว่า “โปรดดูแลหมีตัวนี้ด้วย ขอบคุณ” (Please Look after this Bear, Thank you.) ต่อมาครอบครัวบราวน์ได้มาพบหมีน้อยเข้า จึงรับอุปการะหมีน้อยที่พูดจาภาษาคนได้และตั้งชื่อมันว่า หมีแพดดิงตัน ตามชื่อสถานีรถไฟ
ไมเคิล บอนด์ ใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์ในการเขียนเรื่องราวทั้งหมด 8 บท แต่ก็ไม่ได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือออกมาในทันที กระทั่งเวลาผ่านไป 2 ปี สำนักพิมพ์วิลเลียม คอลลินส์ (William Collins) ก็ได้จัดตีพิมพ์งานเขียนของบอนด์ในชื่อ A Bear Called Paddington เป็นฉบับปกแข็ง
มีภาพประกอบวาดโดยเพ็กกี้ ฟอร์ตนัม (Peggy Fortnum) ออกวางแผงครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ.1959 และในปีนั้นเอง A Bear Called Paddington ก็ได้รับรางวัลหนังสือวรรณกรรมเยาวชนดีเด่นประจำปี จากสมาคมผู้พิมพ์และจัดจำหน่ายวารสารและหนังสือในสหราชอาณาจักร และมีเรื่องราวภาคต่อชื่อ More about Paddington วางแผงในเดือนกันยายนปีเดียวกัน
หนังสือ A Bear Called Paddington ขายได้มากกว่า 35 ล้านเล่มทั่วโลก และแปลมากกว่า 40 ภาษา รวมทั้งภาษาไทย (สำนักพิมพ์ Stranger’s Book) และส่งให้ไมเคิล บอนด์ กลายเป็นนักเขียนพาร์ตไทม์มาเกือบ 10 ปี พร้อมกับเขียนเรื่องราวผจญภัยของเจ้าหมีแพดดิงตันต่อเนื่องมาจนถึง 14 เล่ม จนมีรายได้สะสมมากพอสมควร ปี ค.ศ. 1965 บอนด์จึงตัดสินใจเกษียณตัวเองจากงานตากล้องที่บีบีซีและมาทำงานเป็นนักเขียนเต็มตัว
หนังสือชุดหมีแพดดิงตันกลายเป็นวรรณกรรมคลาสสิกสำหรับเด็กทั่วโลก จากเรื่องราวการผจญภัยของหมีน้อยที่เป็นการเผชิญหน้ากับปัญหาในชีวิตประจำวัน เป็นเหมือนโลกจำลองให้เด็ก ๆ ได้เตรียมใจพบเจอในอนาคต และเนื้อเรื่องยังสื่อให้เห็นความอ่อนโยน ความมีน้ำใจของคนรอบข้างที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือหมีน้อยแพดดิงตันเสมอ
โฆษณา