30 ธ.ค. 2024 เวลา 02:09 • หนังสือ

จากเจ้าเมืองถึงผู้ว่าราชการจังหวัด

ประเทศไทยแบ่งการบริหารราชการออกเป็น ๓ ส่วน คือ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และ ราชการส่วนท้องถิ่น โดยในราชการส่วนภูมิภาคจะแบ่งเขตพื้นที่การปกครองและบริหารราชการออกเป็น“จังหวัด” และ “อำเภอ” โดยจังหวัด ปัจจุบันมี ๗๖ จังหวัด มีผู้บริหารสูงสุด คือ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ซึ่งมาจากการพิจารณาแต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย
ชื่อเรียกตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดในอดีต ก่อนหน้าที่จะมีการจัดตั้งเทศาภิบาล ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ เรียกกันว่า “เจ้าเมือง” แต่ต่อมาเมื่อได้มีการจัดตั้งเทศาภิบาลแล้วจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ผู้ว่าราชการเมือง” (ข้อบังคับลักษณะการปกครองหัวเมือง รศ.๑๑๖)
ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๙ ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เปลี่ยนคำว่าเมือง เรียกว่าจังหวัด ทำให้ตั้งแต่วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๕๙ เป็นต้นมาจึงเปลี่ยนเป็นเรียกชื่อ “ผู้ว่าราชการจังหวัด”
ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ ได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๖ ขึ้น กำหนดให้เรียกชื่อตำแหน่งผู้บริหารจังหวัดว่า “ข้าหลวงประจำจังหวัด” ตั้งแต่วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๗๖ เป็นต้นมา
จนถึงปี พ.ศ.๒๔๙๕ ได้มีการออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ แผ่นดิน พ.ศ.๒๔๙๕ ขึ้นมาแทน และกำหนดเปลี่ยนชื่อกลับไปเรียก “ผู้ว่าราชการจังหวัด” อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๔๙๕ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ในอดีตไม่เคยมีสุภาพสตรีได้ดำรงตำแหน่งนี้มาก่อน จนกระทั่งในช่วงปี ๒๕๓๕ มีประเด็นเรื่องการเสนอให้แก้ไขยกเลิกการเลือกปฏิบัติต่อสตริทำให้ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้มีการแก้ไขให้ผู้หญิงดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอ นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดได้ โดยปี พ.ศ.๒๕๓๖ เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๓๖ ประเทศไทยได้มีผู้ว่าราขการจังหวัดหญิงคนแรก คือ คุณหญิงจรัสศรี ทีปิรัช ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก
เมื่อเอ่ยถึงผู้ว่าราชการจังหวัดหญิงคนแรกแล้ว อยากจะเอ่ยถึงชื่อนายอำเภอหญิงและปลัดอำเภอหญิงคนแรกจากความทรงจำเนื่องจากอยู่ในช่วงเวลาที่ทำงานเกี่ยวข้องในช่วงนั้นอยู่ นายอำเภอหญิงคนแรกของประเทศไทย คือ นางประสม ดำริชอบ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ไปเป็นนายอำเภอในจังหวัดสมุทรสงคราม ส่วนปลัดอำเภอหญิงถ้าจำไม่ผิดจะเป็น ดร.อัจฉรา วงษ์เอก ที่กรมการปกครองให้ไปปฏิบัติหน้าที่ปลัดอำเภอหญิงเป็นคนแรกที่จังหวัดสมุทรปราการ
ตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ ถึงปัจจุบันก่อนวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๗ เรามีผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นสตรีมาแล้ว ๑๙ คน และเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๗ มีผู้ว่าราชการจังหวัดสตรีเพิ่มขึ้นใหม่อีก ๔ คน รวมเป็น ๒๓ คน ถ้าดูในเชิงพื้นที่ จังหวัดสมุทรสงคราม จะเป็นจังหวัดที่มีผู้ว่าฯ หญิง มามากที่สุด รวมปัจจุบันเป็น ๓ คน ส่วนจังหวัดพะเยา พิจิตร ปทุมธานี และ ปราจีนบุรี มีจังหวัดละ ๒ คน
ถ้านับจำนวนผู้ว่าฯ หญิง ที่อยู่ในตำแหน่งในคราวเดียวกัน ต้องถือว่า ตั้งแต่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๗ เป็นต้นมา เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีผู้ว่าฯ หญิง พร้อมๆ กันมากที่สุดถึง ๖ คนดังนี้
๑.นางฟาติเมาะ สาดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี
๒.นางนิศากร วิศิษฎ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม
๓.นางสาวอโรชา นันทมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม
๔.นางสาวชุติพร เสซัง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์
๕.นางสาวธนียา นัยพินิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร
๖.นางสาวฐิติลักษณ์ คำพา ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี
โดย ๒ คนแรกเป็นมาก่อนหน้านี้แล้ว ส่วน ๔ คนหลังเพิ่งดำรงตำแหน่งเมื่อเร็วๆ นี้
สำหรับรายชื่อผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบันและในอดีตตั้งแต่ปี ๒๔๙๕ เป็นต้นมาของแต่ละจังหวัด เมื่อปีที่แล้วผู้เขียนได้ทำ web application จาก glide app ชื่อ governor ไว้ค้นดูว่าใครเคยเป็นผู้ว่าฯ ที่ไหนกันมา เพราะนานๆ ไปก็จำไม่ได้เหมือนกัน ใครสนใจจะเข้าไปใช้งานได้ตามลิงค์นี้
๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๗
ติดตามอ่านเพิ่มเติม
โฆษณา