Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ธรรมนาวา วัง (พระราชเมธีวชิรดิลก)
•
ติดตาม
30 ธ.ค. 2024 เวลา 00:20 • การศึกษา
**การถ่ายเทอารมณ์**
คนเราไม่สามารถกลับไปแก้ไขเหตุแห่งความผิดพลาดในอดีตได้ ฉะนั้น การนึกถึงเรื่องราวที่ผ่านไปแล้ว ดับไปแล้วและไม่ได้เป็นจริงในขณะที่นึกถึง จึงเป็นเพียงการนึกคิดถึงเรื่องราวที่ทรงจำเท่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสเรียกอาการเช่นนี้ว่า มโนปวิจารณ์ คือ อารมณ์หน่วงนึกทางใจ แสดงว่า ใจนี้มีธรรมชาติในการหน่วงนึกอารมณ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ หรือเป็นโทษแต่อย่างใด
แต่เนื่องจากเราไม่เข้าใจว่า นี่เป็นเพียงความจำ จึงหลงเข้าใจว่าเรื่องราวที่จำได้นั้นเป็นความจริงในขณะนี้ เพราะมักจะรู้สึกว่าเราเป็นในสิ่งนั้น เราทำในสิ่งนี้ จึงถูกผูกติดกับเรื่องราวในอดีตอยู่เช่นนี้ เมื่อเรื่องราวเหล่านั้นมาปรากฏทางใจอีกครั้งหนึ่ง ก็หลงอยากจะกลับไปแก้ไขความผิดพลาดของอดีต แต่ความจริงเรื่องราวเหล่านั้นไม่สามารถจะแก้ไขได้แล้ว
ดังนั้น เราจึงต้องอยู่กับความเป็นจริง โดยให้เข้าใจว่า สิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้ มีแต่ต้องยอมรับผลกระทบจากเรื่องราวที่ได้กระทำไปนั้น ที่ผ่านเข้ามาทางความคิด
การรับผลกระทบทำให้เรารู้สึกไม่ดี จึงอยากจะดับความคิด ด้วยวิธีต่าง ๆ หากจิตที่มีธรรมชาติรับอารมณ์เปรียบดั่งแก้วน้ำ ทุก ๆ อารมณ์ทั้งดีและไม่ดีที่จิตรับรู้ จะถูกสะสมไว้ในแก้วใบนี้ บางเรื่องบางอารมณ์ทำให้เกิดความเจ็บปวด ทำให้เกิดความเศร้า ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บใจ ทำให้เกิดความอิจฉา ริษยา โกรธ โมโห หงุดหงิด ต่าง ๆ นานา และหากเปรียบเรื่องราวหรืออารมณ์ที่ไม่ดีที่สะสมในจิตเป็นดั่งอสรพิษ จึงเท่ากับว่า เราเก็บสะสมสัตว์มีพิษ เช่น ต่อ แตน แมงป่อง ตะขาบ ฯลฯ ไว้ในแก้วใบนี้
ฉะนั้น การที่เรื่องราวหรืออารมณ์ถูกหน่วงเหนี่ยวมาปรากฏกับใจอีกครั้งหนึ่งผ่านสัญญาขันธ์ คือ ความจำนั้น ก็เพื่อที่จะถ่ายเทอารมณ์ออกจากจิตผ่านทางความคิดนั่นเอง โดยการถ่ายเทอารมณ์เปรียบเหมือนกับแมลง ต่อ แตน ตะขาบ
แมงป่องฯลฯ กำลังไต่ออกมาจากแก้ว สัตว์เหล่านี้ที่กำลังไต่ออกมา ก็คือเรื่องราวซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องไม่ดี ที่กำลังได้รับการถ่ายเทออกจากจิต แต่เรากลับรู้สึกว่า สิ่งเหล่านี้รบกวนจิตใจ รบกวนความสงบ รบกวนความสุขในชีวิต จะต้องหยุดความคิด จะต้องหยุดความฟุ้งซ่าน จะต้องหยุดความไม่สบายใจ ฯลฯ จึงหาวิธีที่จะทำให้เรื่องราวนั้นหายไปด้วยการทำสมาธิ ทำวิปัสสนา หรือทำอะไรก็ตามแต่ เพื่อให้รู้สึกสบายใจ
เมื่อเราไม่รู้กระบวนการที่เกิดขึ้นนี้ แม้อารมณ์จะดับไป แต่จะดับไปโดยการทิ้งเชื้อของอารมณ์นั้นไว้ เป็นการนำสืบสู่ภพชาติการเกิดใหม่ เพื่อให้ประสบกับอารมณ์เหล่านั้นอีก แล้วกระทำตอบต่ออารมณ์เหล่านั้นอีก แล้วก็ดับไปอีก แล้วก็ทิ้งเชื้อไว้ให้ก่อเกิดเป็นอารมณ์ใหม่อีก เป็นวงจรอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก
อารมณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นเมื่อถูกสะสมอยู่ในจิต จะก่อให้เกิดอาสวะ คือ การหมักดอง ก่อให้เกิดอนุสัย คือ สิ่งที่นอนเนื่อง ก่อให้เกิดสังโยชน์ คือ สิ่งที่ผูกจิตให้ติดอยู่กับเรื่องนั้น อารมณ์นั้นโดยกลุ่มอาสวะ อนุสัย สังโยชน์เหล่านี้ คือ กิเลสแท้ที่เราต้องแก้ไข
อารมณ์ไม่ใช่กิเลส แต่การสะสมของอารมณ์ด้วยอำนาจแห่งอวิชชา คือ ความไม่รู้ในจิต ทำให้อารมณ์เหล่านี้ถูกหมักดองไว้ เมื่อสะสมอารมณ์ใดไว้ จิตก็จะคล้อยไปหรือเป็นไปตามอารมณ์นั้น
ดังนั้น เราจึงต้องมองว่า การถ่ายเทอารมณ์นั้นเป็นสิ่งที่ดี อย่าเข้าไปขัดขวางกระบวนการแห่งการถ่ายเทอารมณ์ เพราะเมื่ออารมณ์ถูกถ่ายเทออกมาแล้ว จิตจะสัมผัสกับความว่าง ความเบา ความสบาย ความสงบ โดยไม่ต้องใช้วิธีการใด ๆ เลย เพียงแต่ปล่อยให้เรื่องราวหรืออารมณ์เหล่านั้น ได้ออกมาด้วยกระบวนการตามธรรมชาตินี้
วิธีการปล่อยอารมณ์ออกจากจิต ให้เดินจงกรม ซึ่งเป็นวิธีการถ่ายเทอารมณ์ได้ดีที่สุด ในขณะที่เดินจงกรม ให้ทักจิตว่า
จิตกำลังถ่ายเทอารมณ์
อารมณ์กำลังถูกถ่ายเทออกจากจิต
จิตกำลังมีการถ่ายเทอารมณ์
อารมณ์กำลังถูกถ่ายเทออกจากจิต
มีคนถามว่า การร้องไห้ถือเป็นการถ่ายเทอารมณ์หรือไม่ ให้เข้าใจว่าการร้องไห้เป็นการถ่ายเทอารมณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งคนทั่วไปอาจจะคิดว่า เป็นการแสดงความอ่อนแอ นี่คือมุมมองทางโลก แต่ในความเป็นจริง นั่นคือธรรมชาติ เพราะคนไม่เข้าใจธรรมชาติ จึงเกิดปัญหา
แท้ที่จริงแล้ว คนที่กำลังร้องไห้ ก็คือคนที่เขากำลังถ่ายเท สิ่งที่ไม่ดีออกจากจิต ถือเป็นการถ่ายเทตามธรรมชาติที่ดีระดับหนึ่ง แต่สามารถจะทำให้ดีกว่านี้ได้ ด้วยการเรียนรู้เรื่องการถ่ายเทอารมณ์ โดยไม่ต้องร้องไห้ นี่ถือว่า เป็นเรื่องของสติปัญญา เป็นระดับของความเข้าใจ ส่วนการร้องไห้เป็นระดับของความรู้สึก แต่ก็ต้องถือว่าทำถูกต้องในระดับหนึ่ง ความเศร้าโศก ความเสียใจ เป็นสิ่งที่จะต้องมีอยู่ในชีวิตมนุษย์ เป็นสัจจะที่ทุกคนต้องพบ
ดังนั้น เราจะต้องเข้าใจจิตกับอารมณ์อย่างถูกต้องให้มากที่สุด ต้องปล่อยให้อารมณ์ได้รับการถ่ายเทออกมา โดยขณะที่อารมณ์กำลังถูกถ่ายเทออกมานั้น มีข้อปฏิบัติสำคัญดังนี้
๑. อย่าอยากดับอารมณ์
๒. อย่าห้ามอารมณ์ไม่ให้เกิดขึ้น
๓. อย่าคิดต่อจากอารมณ์นั้น
๔. อดทนดูอารมณ์นั้น
๕. ให้เห็นอารมณ์นั้นเกิด-ดับไปตามความเป็นจริง
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือ การถ่ายเทอารมณ์ที่ถูกต้อง
#ถ่ายเทอารมณ์ #หลักการชาวพุทธ
#ธรรมะพระราชทาน
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย