30 ธ.ค. 2024 เวลา 05:57 • ข่าวรอบโลก

TIMELINE - ข้อมูลล่าสุด โศกนาฏกรรม Jeju Air

ข้อมูลเครื่องบิน :
สายการบิน : Jeju Air (สายการบินโลว์คอส รายใหญ่สุดของเกาหลีใต้)
เที่ยวบิน : 7C2216
เครื่องบิน : โบอิ้ง 737-800
อายุการใช้งาน : 15 ปี ไม่มีประวัติเคยประสบอุบัติเหตุมาก่อน
ความสามารถในการรอบรับผู้โดยสาร : 189 ที่นั่ง
หมายเหตุ : ปัจจุบัน สายการบิน Jeju Air มีฝูงบินให้บริการ 42 ลำ โดยส่วนใหญ่เป็น โบอิ้ง 737-800 และ โบอิ้ง 737-8
ทั้งนี้ เครื่องบิน โบอิ้ง 737-800 เป็นเครื่องบินโดยสารรุ่นยอดนิยมสำหรับสายการบินต่างๆในประเทศเกาหลีใต้ โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ ทำให้ปัจจุบันมีเครื่องบินรุ่นนี้ ยังคงบินให้บริการทั่วประเทศประมาณ ถึง 101 ลำ
ข้อมูลผู้โดยสารและลูกเรือ :
ผู้โดยสาร : 175 คน
ลูกเรือ : 6 คน
ชาย : 82 คน
หญิง : 93 คน
เป็นคนไทย 2 คน : หญิงอายุ 20 ปี และ 40 ปี
ผู้โดยสารอายุน้อยที่สุด : เด็กชาย 3 ขวบ
ผู้โดยสารอายุมากที่สุด : ชาย 78 ขวบ
50ปี : 40 คน
60ปี : 39 คน
40ปี : 24 คน
70ปี : 16 คน
30ปี : 10 คน
20ปี : 9 คน
-10ปี : 5 คน
ที่เกิดเหตุ : สนามบินนานาชาติมูอัน
ปกติเที่ยวบินนี้ (กรุงเทพ - สนามบินนานาชาติมูอัน มีสัปดาห์ละ 4 ครั้ง)
ข้อมูลเบื้องต้นนักบินบนเที่ยวบิน 7C2216 :
กัปตัน : ทำงานกับสายการบิน Jeju Air มาตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2019
และมีชั่วโมงบินมากกว่า 6,820 ชั่วโมง
นักบินผู้ช่วย : ทำงานกับสายการบิน Jeju Air มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2023
และมีชั่วโมงบินมากกว่า 1,650 ชั่วโมง
TIMELINE :
วันที่ 29ธ.ค.67 :
01.30 น. ออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย โดยมีกำหนดถึงสนามบินนานาชาติมูอันในเวลา 08.30 น.
08.54 น. ความพยายามลงจอดบนรันเวย์หมายเลข 1 ของ เที่ยวบิน 7C2216 ล้มเหลว เครื่องจึงตั้งวง เพื่อบินวนกลับมาลงจอดอีกครั้ง
08.57 น. หอควบคุมการบิน แจ้งเตือน เที่ยวบิน 7C2216 เรื่องความเสี่ยงที่อาจถูกฝูงนกโจมตีและให้เปลี่ยนไปลงที่รันเวย์ หมายเลข 19
08.58 น. กัปตัน เที่ยวบิน 7C2216 ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ Mayday
09.00 น. เที่ยวบิน 7C2216 พยายามนำเครื่องลงจอดฉุกเฉินบนรันเวย์หมายเลข 19
09.03 น. เที่ยวบิน 7C2216 ซึ่งพยายามนำเครื่องลงจอดฉุกเฉิน ด้วยวิธี Belly landing ประสบอุบัติเหตุไถลลงจากรันเวย์ไปชนเข้ากับอุปกรณ์นำร่องภาคพื้นดิน ก่อนจะพุ่งไปชนรั้วกั้นสนามบินจนเกิดเพลิงลุกไหม้
21.03 น. แถลงการณ์อย่างเป็นทางการของทีมกู้ภัย ยืนยัน มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 179 ศพ และสามารถเก็บกู้ได้ทั้งหมดแล้ว โดยมีลูกเรือเพียง 2 คน (ชาย1 หญิง1) ซึ่งอยู่ด้านท้ายเครื่องเท่านั้นที่รอดชีวิต พร้อมประกาศปิดใช้สนามบินนานาชาติมูอัน จนถึงวันที่ 1ม.ค.68
รัฐบาลเกาหลีใต้ ประกาศไว้ทุกข์ทั่วประเทศเป็นเวลา 7 วัน (เริ่มวันที่ 30ธ.ค.67 เป็นวันแรก)
ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เครื่องบินต้องลงจอดฉุกเฉินแบบเร่งด่วน :
ข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญ :
1. ความเป็นไปได้กรณีเครื่องบินโดนฝูงนกชน :
ผู้เชี่ยวชาญในเกาหลีใต้ส่วนหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ประกายไฟที่พยานพบเห็นได้บริเวณเครื่องยนต์ด้านขวาขณะบินเข้าใกล้สนามบิน อาจเป็นหลักฐานที่พอชี้ชัดได้ว่า “เครื่องบินอาจถูกฝูงนกชน”
แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกต คือ เพราะเหตุใดเครื่องยนต์ทั้ง 2 เครื่อง จึงไม่ทำงานพร้อมๆกัน เพราะโดยปกติแม้เหลือเครื่องยนต์ทำงานเพียงเครื่องเดียว ก็ยังสามารถนำเครื่องลงจอดได้
และด้วยเพราะเครื่องยนต์ทั้ง 2 เครื่องไม่ทำงานพร้อมกันนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อระบบไฮดรอลิกที่ใช้ในการเปิดล้อลงจอดหรือไม่?
เพราะโดยทั่วไปแล้ว เครื่องบินรุ่นนี้ จะมีระบบสำรองที่นักบินสามารถกางล้อได้ด้วยตัวเอง กรณีที่ไฮดรอลิกไม่ทำงาน ทำให้ประเด็นนี้ จึงยังต้องรอผลสรุปการสอบสวนอย่างเป็นทางการออกมาเสียก่อนว่า สาเหตุเกิดจากอะไร?
2. อะไรคือสาเหตุของการลงจอดฉุกเฉิน :
สำหรับประเด็นนี้ ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า มีความเป็นไปได้ที่นักบิน อาจตัดสินใจว่าการพยายามลงจอดฉุกเฉิน ด้วยวิธี Belly landing นั้น เป็นทางเลือกที่มีความปลอดภัยมากกว่า ความพยายามบินอยู่ในอากาศโดยไร้กำลังจากเครื่องยนต์
ทั้งนี้ การลงจอดฉุกเฉิน ด้วยวิธี Belly landing นั้น โดยปกติทางสนามบินจะต้องเตรียมการโดยใช้เวลาอย่างน้อย 20 นาที สำหรับการเคลียร์รันเวย์ รวมถึงใช้โฟมฉีดพื้นรันเวย์ เพื่อลดการเสียดสีระหว่างบริเวณท้องเครื่องบินกับพื้นรันเวย์ รวมถึงกาง
รวมถึงการ
ตาข่ายกั้นเครื่องบิน รวมถึงกัปตันมักจะพยายามบินวนเพื่อทำให้น้ำมันบนเครื่องเหลือน้อยที่สุดก่อนลงจอด เพื่อลดอันตรายจากไฟลุกไหม้
แต่ในกรณีนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า สนามบินแทบไม่มีเวลาสำหรับการใช้มาตรการเหล่านั้นเลย!
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการตั้งข้อสังเกตุว่า “เป็นไปได้หรือไม่?” อาจเกิดไฟและควันพิษในห้องโดยสาร กัปตันจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อลงจอดฉุกเฉินเป็นทางเลือกสุดท้าย
นอกจากนี้ อีกหนึ่งจุดที่น่าตั้งข้อสังเกต คือ เครื่องบินดูเหมือนจะร่อนลงบริเวณกลางรันเวย์ ซึ่งทำให้ระยะทาง ที่เครื่องจะสามารถลดความเร็ว ก่อนถึงจุดปะทะลดน้อยลงด้วย
ระยะทางรันเวย์สนามบินนานาชาติมูอัน :
การกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานและคมนาคม (Ministry of Land, Infrastructure and Transport) หรือ MOLIT ยืนยันว่า ระยะทางรันเวย์ของสนามบินนานาชาติมูอัน ซึ่งมีความยาว 2,800 เมตร
เคยการรองรับเครื่องบินโดยสารประเภทเดียวกันกับเครื่องบินโบอิ้ง 737 มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง อีกทั้งระยะทางรันเวย์ดังกล่าว ยังใกล้เคียงกับสนามบินหลักอื่นๆ เช่น สนามบินแดกู (2,755เมตร) ,  สนามบินกุนซาน (2,745เมตร) และสนามบินกิมแฮ (2,743เมตร) ด้วย ดังนั้น ความยาวของรันเวย์จึงไม่ใช่ปัจจัยของอุบัติเหตุอย่างแน่นอน
4 อันดับ หายนะภัยทางอากาศของเกาหลีใต้ :
1. ปี 1983 : เครื่องบินรบของอดีตสหภาพโซเวียต ยิงเครื่องบินโดยสารของสายการบินโคเรียแอร์ เที่ยวบิน 007 ตกขณะบินหลงเข้าไปในน่านฟ้า เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 269 ศพ
2. ปี 1997 : เครื่องบินโดยสาร ของสายการบินโคเรียแอร์ เที่ยวบิน 801 ตกที่เกาะกวม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 225 ศพ
3. ปี 2024 : เครื่องบินโดยสาร ของสายการบิน Jeju Air ไถลตกรันเวย์สนามบินนานาชาติมูอัน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 179 ศพ
4. ปี 1987 : เครื่องบินโดยสาร ของสายการบินโคเรียแอร์ เที่ยวบิน 707 ถูกสายลับเกาหลีเหนือลอบวางระเบิดเหนือมหาสมุทรอินเดีย เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 115 ศพ
1
critical 11 minutes :
รู้หรือไม่? ช่วงวิกฤติ 11 นาที หรือ critical 11 minutes ถือเป็นช่วงเวลาที่มักเกิดอุบัติเหตุทางการบินมากที่สุด นั่นก็ คือ 3 นาทีหลังเครื่องขึ้น และ 8 นาที ก่อนเครื่องลงจอด
ด้วยเหตุนี้จึงมักมีการประกาศแจ้งเตือนถึงผู้โดยสารให้ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยต่างๆอย่างเคร่งครัด เช่น รัดเข็มขัดที่นั่ง ,เก็บโต๊ะหน้าที่นั่ง , ปรับเก้าอี้ให้อยู่ในระดับตรง , เปิดม่านหน้าต่าง , ปิดโทรศัพท์/อุปกรณ์อิเลคโทรนิค และเก็บกระเป๋าให้เข้าที่
#JejuAir #เชจูแอร์ #เครื่องบิน #อุบัติเหตุ #ชนนก #เกาหลีใต้ #ลงจอดฉุกเฉิน #7C2216 #Bellylanding #สำนักข่าวทรัสต์นิวส์ #Trustnews
โฆษณา