Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Timeless History (ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา)
•
ติดตาม
2 ม.ค. เวลา 05:12 • ประวัติศาสตร์
การรุกรานยุโรปของมองโกลและสาเหตุที่ถอยทัพ ไม่บุกต่อ
“เจงกิสข่าน (Genghis Khan)” คือนามที่เป็นที่รู้จักกันดีเป็นลำดับต้นๆ ในประวัติศาสตร์
เจงกิสข่านเป็นขุนศึกและผู้ก่อตั้งอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก โดยในปีค.ศ.1206 (พ.ศ.1749) เจงกิสข่านสามารถรวบรวมกลุ่มชนในแถบที่ราบสูงมองโกเลียให้เข้ามาอยู่ใต้อำนาจของตนได้ และนี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น
2
เจงกิสข่านเป็น “ข่าน (Khan)” หรือผู้นำคนแรกของอาณาจักรมองโกล และสามารถขยายอาณาจักรออกไปได้กว้างขวางกว่าค่อนโลก
1
เจงกิสข่าน (Genghis Khan)
ในปีค.ศ.1223 (พ.ศ.1766) กองทัพมองโกลวางแผนจะเข้ารุกรานกลุ่มชาวเติร์กซึ่งอยู่บริเวณที่ราบทางตะวันตกห่างไกลในแถบทะเลแคสเปียนและทะเลดำ
เจงกิสข่านจึงเรียกแม่ทัพคนสำคัญสองคน นั่นคือ “เจเบ (Jebe)” และ ”ซูบูไต (Subutai)” ให้กลับมาจากเปอร์เซีย โดยในเวลานั้น แม่ทัพทั้งสองได้นำกำลังพลกว่า 20,000 นายเข้าสู้รบกับกลุ่มชาวคูมันคิปแชกกลุ่มสุดท้าย
”โคเทน (Köten)“ ผู้นำชาวคูมัน เมื่อได้ยินว่ากองทัพมองโกลกำลังยกทัพมา ก็ได้ขอความช่วยเหลือจากจักรวรรดิรุสเคียฟ ซึ่งเป็นดินแดนของสลาฟตะวันออก โดยกองทัพสลาฟและกองทัพคูมันรวมกำลังกันได้กว่า 80,000 นาย
1
โคเทน (Köten)
กองทัพมองโกลก็เห็นได้ชัดเจนว่าพวกตนนั้นมีกำลังน้อยกว่าหลายเท่า แต่ก็ไม่ต้องการจะยอมแพ้ จึงตัดสินใจที่จะเดิมพันชัยชนะกับอุบายสำคัญ
ซูบูไตได้ออกอุบายโดยการแกล้งนำทหารเพียง 2,000 นายบุกเข้าสู้รบกับกองทัพสลาฟและคูมัน ก่อนจะแกล้งทำเป็นแพ้ แตกทัพหนีไป
กองทัพสลาฟและคูมันก็หลงกล คิกว่าตนทำให้ข้าศึกแตกพ่าย และนำทัพออกไล่ตีกองทัพมองโกลจนมาถึงแถบแม่น้ำคัลคา ซึ่งเป็นจุดที่กองทัพมองโกลนำกำลังซุ่มโจมตี ทำให้กองทัพสลาฟและคูมันที่ไม่ทันได้ตั้งตัวถูกบดขยี้ และนี่คือชัยชนะครั้งแรกของมองโกลบนแผ่นดินยุโรป
ซูบูไต (Subutai)
หากแต่การบุกลึกเข้าไปในยุโรปก็ต้องพักเอาไว้ก่อน เนื่องจากมีคำสั่งให้ยกทัพกลับไปช่วยกองทัพของเจงกิสข่านในการรุกรานภาคเหนือของจีน
ต่อมาในปีค.ศ.1235 (พ.ศ.1778) “ออคไดข่าน (Ögedei Khan)” บุตรชายและผู้สืบทอดของเจงกิสข่าน ได้มีคำสั่งให้ตั้งกำลังพลป้องกันข้าศึกทางตะวันตก โดยออคไดข่านต้องการจะปราบพวกคูมันและพันธมิตรให้เด็ดขาด
ออคไดข่านได้ขึ้นเป็นข่านแห่งมองโกลหลังจากที่เจงกิสข่านเสียชีวิตในปีค.ศ.1227 (พ.ศ.1770) และได้รวบรวมทหารม้ากว่า 100,000 นาย ซึ่งเป็นกองทัพขนาดมหึมาเลยทีเดียว
3
ออคไดข่าน (Ögedei Khan)
แต่ถึงแม้อำนาจในกองทัพนี้จะเป็นของผู้นำครอบครัวต่างๆ ที่เป็นเครือญาติของท่านข่าน หากแต่อำนาจในกองทัพจริงๆ ก็ยังคงเป็นของซูบูไต ซึ่งในขณะนั้นก็มีอายุมากแล้ว
ออคไดข่านได้ให้ ”บาตูข่าน (Batu Khan)” หนึ่งในหลานชายของเจงกิสข่าน ให้นำทัพบุกไปทางด้านตะวันตกของยุโรปในปีค.ศ.1235 (พ.ศ.1778) และได้บุกเข้าไปในแถบโวลกาตอนบน บดขยี้ทัพของคูมัน อาลัน และบัลการ์ ก่อนจะบุกโจมตีจักรวรรดิรุสเคียฟ
และเมื่อสิ้นปีค.ศ.1237 (พ.ศ.1780) เมืองไรยาซานซึ่งเป็นเมืองใหญ่ในรัสเซีย ก็แตกหลังจากถูกกองทัพมองโกลล้อมเป็นเวลากว่าหกวัน
1
บาตูข่าน (Batu Khan)
บาตูข่านนำกองทัพรุกรานเมืองต่างๆ ในจักรวรรดิรุสเคียฟ ตีเมืองแต่ละเมืองจนแตก รวมถึงเมืองเคียฟซึ่งแตกในปีค.ศ.1240 (พ.ศ.1783)
มีบันทึกประวัติศาสตร์ว่าพวกมองโกลได้ทำการสังหารชาวเมืองแต่ละเมืองที่ตนไปรุกราน จะเหลือไว้เพียงพวกที่จะใช้เป็นแรงงานเท่านั้น แต่ละเมืองแทบไม่มีชาวเมืองหลงเหลือ
1
พวกคูมันต้องประสบความพ่ายแพ้อย่างหนัก คือเสียกำลังคนไปกว่า 100,000 คน โดยตัวเลขเหล่านี้มาจากการที่พวกมองโกลจะเฉือนหูของศพทหารศัตรูมาเก็บไว้เพื่อนับจำนวนศัตรูที่ตนฆ่า
โคเทนซึ่งเป็นผู้นำคูมัน ได้นำพากำลังพลที่รอดชีวิตจำนวน 40,000 นาย หนีไปพึ่งพิงราชสำนักฮังการีภายใต้อำนาจของ “พระเจ้าเบลาที่ 4 แห่งฮังการี (Béla IV of Hungary)“ พระประมุขแห่งฮังการี
พระเจ้าเบลาที่ 4 แห่งฮังการี (Béla IV of Hungary)
บาตูข่านซึ่งตั้งฐานที่มั่นอยู่ทางตอนใต้ของยูเครนก็ไม่อยู่เฉย ได้ส่งจดหมายไปถวายพระเจ้าเบลาที่ 4 ทูลว่าหากพระเจ้าเบลาที่ 4 พระราชทานความช่วยเหลือแก่โคเทน ความวิบัติจะบังเกิด
“เป็นการง่ายสำหรับพวกเขา (โคเทน) ที่จะหนีมากกว่าพระองค์ (พระเจ้าเบลาที่ 4) เนื่องจากพวกเขาบ้านแตก เร่ร่อนไปตั้งกระโจมตามที่ต่างๆ และสามารถหนีได้ แต่สำหรับพระองค์ซึ่งประทับอยู่ในอาคารและมีป้อมปราการและเมืองต่างๆ มากมาย พระองค์จะหนีจากเงื้อมมือหม่อมฉันได้อย่างไร?“
1
คือเนื้อความในจดหมายที่บาตูข่านส่งไปถวายพระเจ้าเบลาที่ 4
แต่พระเจ้าเบลาที่ 4 ก็ไม่ทรงหวั่นเกรงอำนาจของมองโกล ยังคงพระราชทานความช่วยเหลือให้พวกคูมันพักอาศัยในราชสำนักของพระองค์ ทำให้พระเจ้าเบลาที่ 4 ได้รับการยกย่องเป็นอย่างมาก
จากนั้น พระเจ้าเบลาที่ 4 ก็ได้รับสั่งขอความช่วยเหลือจากเจ้าชายองค์ต่างๆ เพื่อจะรวบรวมทัพต้านทานมองโกล
แต่ทางด้านประชาชนชาวฮังการี ต่างหวาดเกรงพวกมองโกลเป็นอย่างมากและก็ไม่ได้รู้สึกชอบพวกคูมันเท่าไรนัก ทำให้ในท้ายที่สุด ได้เกิดม๊อบที่นำโดยกลุ่มขุนนางและชนชั้นสูงฮังการี ได้ทำการจับตัวโคเทน และทำการรุมประชาทัณฑ์จนโคเทนเสียชีวิต
2
หลังจากโคเทนเสียชีวิต เหล่านักรบของโคเทนก็รีบหนีไปทางใต้และตะวันตก และทำการทำลายหมู่บ้านฮังการีที่ผ่านทางไปเป็นจำนวนมาก
1
พระเจ้าเบลาที่ 4 ทรงคาดหวังว่ารัฐอื่นๆ จะให้ความช่วยเหลือและสามัคคี ร่วมมือกันต่อต้านมองโกล หากแต่พระองค์ต้องผิดหวัง
พระเจ้าเบลาที่ 4 ทรงพยายามโน้มน้าว “จักรพรรดิเฟรเดอริคที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Frederick II, Holy Roman Emperor)“ พระประมุขแห่งจักรวรรดิโรมัน ให้ส่งกองทัพมาช่วยพระองค์ และพระเจ้าเบลาที่ 4 ก็ยอมถึงขนาดยอมเป็นเมืองขึ้นด้วยซ้ำ
หากแต่จักรพรรดิเฟรเดอริคที่ 2 ทรงปฏิเสธ เนื่องจากทรงมองว่าพวกมองโกลนั้นเก่งกล้าเกินกว่าจะต้านทานได้ ทำให้พระเจ้าเบลาที่ 4 ต้องหันไปขอความช่วยเหลือจากคริสตจักร โดยตรัสว่าหากฮังการีแตกพ่าย ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของมองโกล ก็จะไม่มีอะไรหยุดยั้งพวกมองโกลในการบุกยุโรปได้อีกแล้ว และดินแดนทั้งหมดในยุโรปก็จะตกเป็นของมองโกล
จักรพรรดิเฟรเดอริคที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Frederick II, Holy Roman Emperor)
“สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 9 (Pope Gregory IX)” ก็ทรงจัดทัพครูเสดขนาดย่อมให้ไปต่อสู้กับกองทัพมองโกล หากแต่ทัพของพระองค์ก็ไม่ได้เคลื่อนทัพออกไปจริงๆ และความช่วยเหลือแบบเป็นชิ้นเป็นอันจริงๆ ก็มาจากพระญาติของพระเจ้าเบลาที่ 4 นั่นก็คือ “เฮนรีที่ 2 ผู้เคร่งศาสนา (Henry II the Pious)“ ดยุกแห่งไซลีเซียและดยุกสูงแห่งโปแลนด์ ผู้ซึ่งเป็นลอร์ดผู้ทรงอำนาจที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น
1
บาตูข่านและซูบูไตได้วางกลศึกที่ยอดเยี่ยมที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยให้กองทัพมองโกลแบ่งออกเป็นสามกอง แต่ละกองจะยกทัพออกจากยูเครนในเวลาเดียวกันแต่ไปกันคนละทาง
ทั้งสามกองจะบุกเข้าไปในเขตแดนยุโรปได้ในเวลาเกือบจะพร้อมๆ กัน โดยทหารมองโกล 20,000 นายจะบุกเข้ามาทางใต้ของโปแลนด์
1
เฮนรีที่ 2 ผู้เคร่งศาสนา (Henry II the Pious)
9 เมษายน ค.ศ.1241 (พ.ศ.1784) กองทัพมองโกลได้สู้รบกับกองทัพโปแลนด์ โมราเวีย และกองทัพอัศวินเทมพลาร์ ซึ่งกองทัพเหล่านี้เฮนรีที่ 2 เป็นผู้รวบรวมทัพ
แต่ละกองของกองทัพมองโกลจะมีการสื่อสารกันผ่านสัญญาณธงและเกาทัณฑ์ กองทัพมองโกลจึงสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถโจมตีและหลอกล่อข้าศึก
นอกจากนั้น กองทัพมองโกลยังใช้ระเบิดควันในการทำให้ศัตรูมึนงง และผลสุดท้าย ก็คือกองทัพมองโกลได้รับชัยชนะอย่างงดงาม สามารถสังหารเฮนรีที่ 2 ลงได้
หลังจากถูกฆ่า ศีรษะของเฮนรีที่ 2 ก็ถูกพวกมองโกลเอาหอกเสียบประจาน
ดูเหมือนว่าเป้าหมายต่อไปของพวกมองโกลก็คือ “ราชอาณาจักรโบฮีเมีย (Kingdom of Bohemia)”
แต่เป็นที่น่าแปลกใจที่พวกมองโกลไม่รุกคืบไปทางตะวันตกต่อ โดยหลังจากขยี้กองทัพโปแลนด์และฮังการีได้แล้ว กองทัพมองโกลก็ถอยทัพไปทางใต้เพื่อรวมกำลังกับทัพใหญ่ ซึ่งในเวลานั้น กองทัพใหญ่ของมองโกลได้บุกเข้ามายังใจกลางของอาณาจักรฮังการีแล้ว
และเพียงแค่สองวันหลังจากพิชิตเฮนรีที่ 2 ได้แล้ว บาตูข่านก็ได้ขยี้กองทัพฮังการีจนแตกพ่าย ทำให้กองทัพยุโรปแทบจะสิ้นสลาย
แต่พระเจ้าเบลาที่ 4 ก็ยังทรงหนีได้ทัน และได้เสด็จหนีไปยังออสเตรีย ก่อนจะมุ่งลงใต้ผ่านโครเอเชีย เซอร์เบีย และอัลเบเนีย ซึ่งกองกำลังมองโกลก็ติดตามจับพระองค์ หากแต่พระเจ้าเบลาที่ 4 ก็ทรงซ่อนองค์บนเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่ง
1
จากนั้น พวกมองโกลก็ได้เข้าปล้นเมืองเอสเตอร์กอม ซึ่งเป็นเมืองหลวงของฮังการี โดยกองกำลังฮังการีได้ทำการต้านไว้ทางด้านใต้ของแม่น้ำดานูบกว่าเก้าเดือน หากแต่ด้วยอากาศที่หนาวเย็น ทำให้แม่น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง ทำให้กองทัพมองโกลสามารถยกทัพข้ามน้ำเข้ามาถึงกรุงเวียนนา
ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรหยุดยั้งกองทัพมองโกลได้ แต่แล้วอยู่ๆ กองทัพมองโกลก็หยุดทัพ และยกทัพกลับ
1
สาเหตุที่ทำให้กองทัพมองโกลยกทัพกลับไปในปีค.ศ.1242 (พ.ศ.1785) นั้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ โดยบ้างก็ว่าอาจจะมีสาเหตุมาจากการเสียชีวิตของออคไดข่านในปีค.ศ.1241 (พ.ศ.1784) ทำให้ทั้งบาตูข่านและซูบูไตจำเป็นต้องยกทัพกลับมองโกเลียเพื่อร่วมในการเลือกผู้นำคนใหม่
1
แต่บ้างก็ว่าสาเหตุน่าจะมาจากอากาศมากกว่า โดยสภาพอากาศที่หนาวเย็นและการขาดแคลนหญ้าสำหรับเลี้ยงม้า อาจจะทำให้กองทัพมองโกลต้องถอยทัพกลับบ้าน
แต่จะอย่างไรก็ตาม บาตูข่านก็ยังไม่ทิ้งฐานอำนาจในยุโรป โดยในดินแดนทางใต้ของรัสเซีย บาตูข่านได้ก่อตั้งรัฐมองโกลที่เป็นที่รู้จักในนามของ “โกลเดนฮอร์ด (Golden Horde)” และต่อมา โกลเดนฮอร์ดก็ขยายดินแดนจากเทือกเขาคาร์เพเทียนในยุโรปตะวันออก ไปจนถึงไซบีเรีย
โกลเดนฮอร์ดรุ่งเรืองสุดขีดในสมัยต้นศตวรรษที่ 14 เมื่อศาสนาอิสลามกลายเป็นศาสนาประจำชาติ และโกลเดนฮอร์ดก็ได้รับเครื่องบรรณาการจากดินแดนต่างๆ ทั้งยุโรปตะวันออก เอเชีย และตะวันออกกลาง อีกทั้งยังร่ำรวยจากการค้าในเมดิเตอเรเนียน
ทุกอย่างดูเป็นไปได้ด้วยดี จนกระทั่ง “กาฬมรณะ (Black Death)” มาถึง
กาฬมรณะ คือการระบาดครั้งใหญ่ของกาฬโรค ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และทำให้อำนาจของโกลเดนฮอร์ดอ่อนกำลัง
ในปีค.ศ.1359 (พ.ศ.1902) ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในโกลเดนฮอร์ด ก่อนจะเกิดการจลาจลทั่วอาณาจักร เกิดการแบ่งแยกฝักฝ่าย
ในไม่ช้า โกลเดนฮอร์ดก็ค่อยๆ เสื่อมถอย และเหลือเพียงประวัติศาสตร์เล่าขานมาจนทุกวันนี้
References:
https://www.nationalgeographic.com/history/article/mongols-empire-conquest-europe
https://bigthink.com/the-past/mongol-invasion-europe/
https://courses.lumenlearning.com/tc3-boundless-worldhistory/chapter/the-mongol-empire-after-genghis-khan/
ประวัติศาสตร์
54 บันทึก
62
2
30
54
62
2
30
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย