31 ธ.ค. 2024 เวลา 11:00 • ไลฟ์สไตล์

เงินเดือนหรือเงินทอน?

เงินเดือนสองหมื่นเป็นหนี้สองแสน หมุนเงินไม่ทัน อย่าสับสนข้ามปี แก้ยังไงดี? โพสต์นี้มีคำตอบ
น้องสาวรายได้ 20,000 บาท หนี้บัตรเครดิต 200,000 บาท เพราะไปซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมตามคนอื่น ไม่มีเงินออมและเริ่มหมุนเงินไม่ทัน
🔑 อย่างแรกเลยต้องขอให้หายใจลึกๆ ก่อนแล้วอยากยืมคำพูดของพี่หนุ่ม The Money Coach ที่บอกว่า “เราแค่เป็นหนี้ เราไม่ได้ฆ่าใครตาย ใจเย็นๆ”
ดึงสติกลับมาอยู่กับตัวก่อนแล้วเริ่มวางกลยุทธ์แก้หนี้กัน ลองทำตาม 6 ขั้นตอนนี้ดูครับ
✅ 1. สัญญากับตัวเองว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังและหยุดสร้างหนี้ใหม่
ข้อนี้อาจจะฟังดูง่ายนะครับ แต่ไม่ง่ายสักเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาพฤติกรรมการเงินของเรานั้นอยู่ในทางที่ไม่ดี กู้มาเพื่อจับจ่าย และทำไปนานๆ ติดเป็นนิสัย ยืมตรงนั้นมาเติมตรงนี้ หมุนไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายมันเริ่มตึงมือหาเงินมาเติมไม่ได้นี่แหละปัญหาเลยเกิดขึ้น
ดังนั้นข้อนี้ต้องใช้ความตั้งใจพอสมควรและต้องบอกตัวเองว่าต่อจากนี้มันจะไม่ง่าย วิถีชีวิตจะเปลี่ยนไป และเราต้องทำให้ได้หากจะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง
เอากระดาษออกมาเขียนข้อดีข้อเสียของการอดทนชำระหนี้ออกมาเป็นข้อๆ
ข้อดีพอเห็นแล้วจะได้มีกำลังใจ ข้อเสียพอเห็นแล้วจะได้ทำใจรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น
พร้อมแล้วก็หยุดสร้างหนี้ใหม่ครับ หยุดคือหยุด ไม่มีข้อยกเว้น
ตรงนี้สำคัญมาก เหมือนคำกล่าวหนึ่งของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) นักลงทุนเน้นคุณค่าที่ประสบความสำเร็จและร่ำรวยมากที่สุดคนหนึ่งของโลกที่บอกว่า
“ถ้าคุณพบว่าตัวเองกำลังอยู่ในหลุม จงหยุดขุดต่อ”
เพราะฉะนั้นตอนนี้เราอยู่ในหลุม ยิ่งก่อหนี้ หลุมยิ่งลึกไปเรื่อย ๆ หยุดก่อนครับ
✅ 2. ทำการประเมินการเงินส่วนบุคคล และหนี้ที่ค้างอยู่ทั้งหมด
การจัดการก้อนหนี้ก็เหมือนเป้าหมายทุกอย่างในชีวิตครับ เราต้องรู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหน มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง สุขภาพการเงินของเราเป็นยังไง ลองถามคำถามสามข้อ
- เงินเข้ามาเท่าไหร่?
- เงินออกไปเท่าไหร่? ตรงไหนบ้าง?
- เหลือเงินอยู่เท่าไหร่?
เราต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ก่อน เพราะถ้าไม่รู้ว่าเข้าเท่าไหร่ ออกเท่าไหร่ มันจัดการยากมาก การเข้าใจเรื่องสุขภาพการเงินของเรานั้นถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากๆ
เมื่อรู้แล้วก็ต้องมานั่งจำแนกแล้วครับว่าหนี้แต่ละก้อนอยู่ตรงไหนบ้าง หลายคนบอกหนี้เยอะมากจนไม่รู้จะเริ่มยังไง เริ่มโดยการทำตารางง่ายๆ เลยครับ เจ้าหนี้คือใคร ประเภทหนี้ (บัตรเครดิต, สินเชื่อส่วนบุคคล ฯลฯ) หนี้คงเหลือ อัตราดอกเบี้ย ยอดชำระขั้นต่ำ
1
✅ 3. เจรจาประนอมหนี้ หรือ รวมหนี้เป็นก้อนเดียว
มันอาจจะใช้กับเจ้าหนี้ทุกแห่งไม่ได้ แต่มันก็คุ้มที่จะลองครับ การเจรจาประนอมหนี้เหมือนเป็นการเข้าไปแสดงความจริงใจนั่นแหละครับว่าเราไม่ได้ต้องการที่จะหนี เพียงแต่ตอนนี้จ่ายไม่ไหว มีทางช่วยอะไรบ้าง อาจจะเป็นการขยายระยะเวลาจ่ายหนี้ ขอลดดอกเบี้ย ลดจำนวนเงินที่ผ่อนต่องวด หยุดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาหนึ่ง ฯลฯ
มันจะเป็น “Quick Win” ที่ช่วยให้เรากลับมาแก้ไขปัญหาหนี้ได้ไวยิ่งขึ้น สมมุติถ้าเราเจรจาแล้วลดค่างวดลงได้ ลดดอกเบี้ยลงได้ เงินที่ต้องจ่ายหนี้แต่ละเดือนจะลดลงทันที
แต่ในข้อนี้เราต้องเป็นคนไปติดต่อและดำเนินการเอง (คงไม่มีเจ้าหนี้ไหนที่จะโทรมาขอลดดอกให้นะครับ) เพราะฉะนั้นเวลาคุยก็พูดดีๆ ว่าสถานการณ์เป็นยังไง เพราะอะไร มีอะไรช่วยได้บ้าง
บางทีวันนี้ไปแล้วเจอเจ้าหน้าที่แย่ๆ พูดไม่ดี อาจจะลองสาขาอื่น (หากมี) หรือ ค่อยมาใหม่ เพราะบางทีการได้คุยกับคนที่พร้อมจะช่วยก็เหมือนเป็นโชคอย่างหนึ่งเช่นกัน
อีกวิธีหนึ่งคือการรวมหนี้เพื่อชำระเป็นก้อนเดียว (Debt Consolidation) อันนี้ก็ลองปรึกษาธนาคารได้ (ถ้าไม่ติดปัญหาทางด้านเครดิต) สิ่งที่ต้องคำนึงคือ เงื่อนไขการชำระ เมื่อรวมหนี้แล้ว มันควรจะจ่ายน้อยกว่าเงินขั้นต่ำที่เราทำตารางไว้ในข้อสอง และอัตราดอกเบี้ยเป็นเท่าไหร่ นานกี่เดือน หลังจากนั้นจะปรับเป็นเท่าไหร่
✅ 4. โปะได้โปะ + Snowball/Avalanche
ในกรณีหากมีอะไรขายได้อย่างเช่นกระเป๋าแบรนด์เนม ของใช้ที่ไม่จำเป็น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ อะไรก็ตามที่สามารถแปลเป็นเงินสดได้และเราไม่ได้จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อสร้างรายได้ สมมุติถ้าเป็นคนขับดิลิเวอรีส่งอาหาร จะขายมอเตอร์ไซค์อันนี้ก็ไม่ได้ เพราะมันเอาไว้สร้างรายได้ แต่ถ้าเป็นอย่างอื่นๆ ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้เอาไปขายก่อน
บางทีคุณได้เงินก้อนมา หรือมีเงินเข้ามามากขึ้น เงินเดือนเพิ่ม หรืออะไรก็ตามครับ นี่เป็นโอกาสที่ดีในการโปะหนี้ครับ
ทีนี้พอถึงขั้นตอนการจ่ายหนี้ มีเทคนิคสองอย่างให้เลือกครับ
🎯 1) “ก้อนหิมะกลิ้งลงเขา” (Snowball) : หนี้หมดช้ากว่า แต่เริ่มทีละนิดแล้วมีกำลังใจ
วิธีทำคือ
➡️ 1. ซอยหนี้ออกเป็นก้อน ๆ เรียงจากเล็กที่สุดไปหาใหญ่ที่สุด (ถ้ามีหนี้หลายประเภทก็เอามาใส่ไปเป็นข้อ ๆ ไป หนี้บัตรเครดิต หนี้ กยศ. หนี้รถยนต์ ฯลฯ)
➡️ 2. ให้โฟกัสไปที่หนี้ก้อนเล็กที่สุด (ไม่ต้องสนเรื่องดอกเบี้ย)
➡️ 3. วางแผนเพื่อจะแก้หนี้ก้อนหนี้ให้หมดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หนี้ก้อนอื่นๆ ก็ยังต้องจ่ายนะครับ เป็นขั้นต่ำไปก่อนไม่เป็นไร หรือจะขอพักชำระหนี้อะไรก็ว่าไป แต่หนี้ทุกก้อนต้องจ่าย แต่โหมเงินทุกบาทไปที่หนี้ก้อนที่เล็กที่สุดก่อน
➡️ 4. เมื่อหนี้ก้อนเล็กหมด เดือนต่อมาก็นำเงินที่เคยจ่ายหนี้ก้อนเล็กตรงนี้ไปจ่ายหนี้ก้อนที่ใหญ่ขึ้นเป็นลำดับถัดมา แล้วทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าหนี้ทุกก้อนจะจ่ายจนหมดครับ
🎯 2) “หิมะถล่ม” (Avalanche) : หนี้หมดเร็ว แต่ใช้แรงฮึดเยอะ
➡️ 1. ซอยหนี้ออกเป็นก้อน ๆ เรียงจากดอกเบี้ยมากสุดไปหาน้อยสุด (ถ้ามีหนี้หลายประเภทก็เอามาใส่ไปเป็นข้อ ๆ ไป หนี้บัตรเครดิต หนี้ กยศ. หนี้รถยนต์ ฯลฯ)
➡️ 2. จ่ายหนี้ทุกก้อนเป็นขั้นต่ำไปก่อน แล้วเงินที่เหลือ เอามาโป๊ะหนี้ก้อนที่ดอกเบี้ยเยอะสุดก่อน
➡️ 3. เมื่อหนี้ก้อนที่ดอกเบี้ยสูงที่สุดหมด ก็เอาเงินตรงนั้นไปโป๊ะหนี้ก้อนที่ดอกเบี้ยเยอะรองลงมา
ทำแบบไหนก็ได้ครับเพียงแต่อย่าจ่ายขาดจ่ายและทำตามแผนที่วางเอาไว้
✅ 5. ใช้ชีวิตแบบประหยัด (สักพัก)
การใช้ชีวิตแบบประหยัดทุกบาทนั้นไม่ใช่เรื่องสนุก แต่ถ้ามีหนี้ มันคือเรื่องจำเป็น
สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่านี่เป็นสถานการณ์ชั่วคราว ถ้าแก้ได้แล้วทุกอย่างก็สบายมากขึ้น แต่ถ้าแก้ไม่ได้จากสถานการณ์ชั่วคราว มันจะกลายเป็นสถานการณ์ถาวรแทน
ใช้เงินให้อยู่ในงบ เที่ยวให้น้อยลง กินข้าวนอกบ้านน้อยลง ซื้อของที่ไม่จำเป็นน้อยลง อะไรตัดได้ตัดไปก่อน ตั้งงบเอาไว้แล้วก็ทำตามนั้น (การทำได้ตามเป้าทำให้เรารู้สึกดีด้วย)
พอสถานการณ์เริ่มดีขึ้นก็ค่อยผ่อน ไม่ให้ตึงจนเกินไป แต่ใช้เงินให้น้อยกว่าที่หามายังคงเป็นเรื่องจำเป็น
เตือนตัวเองเสมอว่านี่เป็นเรื่อง...ชั่วคราว
✅ 6. สร้างนิสัยการใช้เงินใหม่
เทคโนโลยีและสื่อความบันเทิงปัจจุบันนั้นล้วนเต็มไปด้วยบริการที่ชวนเราเสียเงิน จริงอยู่ว่าความบันเทิงอย่างสตรีมมิงถือเป็นรายจ่ายที่ไม่มากนักในแต่ละเดือน แต่ถ้าเป็นสมาชิกมันทุกอัน Netflix, Amazon, Viu, Apple TV, HBO, True ID และอื่นๆ อีกมากมาย...มันจำเป็นขนาดนั้นไหม อาจจะเลือกแค่อันสองอันก็พอรึเปล่า
หรืออย่างแพ็กเกจมือถือ ลองไปคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ครับว่ามีแพ็กเกจที่เหมาะกับการใช้งานของคุณในราคาที่ถูกลงกว่านี้ไหม บางทีคุณไม่ได้จำเป็นต้องใช้เน็ตความเร็วแบบเต็มสปีด เพราะส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์ตอนอยู่บ้านหรือที่ทำงานก็มีเน็ตของออฟฟิศอยู่แล้ว หรือบางทีกล่องทีวีที่บ้านไม่ได้ใช้เอาออกได้ไหม
ถ้าคุณมีครอบครัวอาจจะหาวิธีหารการใช้งานและค่าใช้จ่ายกันได้ถ้าอยู่บ้านเดียวกัน
เงินตรงนี้ดูเหมือนจะแค่ร้อยสองร้อยต่อเดือน แต่ถ้ารวมๆ กันหลายอัน ก็ประหยัดไปเป็นพันเหมือนกันครับ
ช่วงวันชอปปิง วันคู่ โปรโมชัน อะไรก็ตาม ถ้ารู้ว่าอดใจไม่ไหว ลงลบแอปในมือถือ อันนี้ช่วยได้เยอะมาก หรือเวลาอยากได้อะไรให้ลองถามตัวเองว่า “อันนี้จำเป็น หรืออยากได้กันแน่” ถ้าเป็นอย่างหลังก็กัดฟันอดทนไม่ซื้อไปครับ เพราะเป้าหมายหลักของเราคือการปลดหนี้ ไม่อยากมีภาระอีกแล้ว ตั้งสติให้ดีก่อนตัดสินใจกด “buy now”
สุดท้ายแล้วอยากเป็นกำลังใจให้ทุกๆ คนนะครับที่มีหนี้ ค่อยๆแก้ไขกันไป และอย่าลืมเริ่มออมเงินไปด้วย เริ่มน้อยๆ ก่อนก็ได้แล้วสร้างนิสัยการจัดการเงินที่ดีไปด้วยกันครับ
🎯 ปล. ถ้าสุดท้ายแล้วยังไงก็ยังแก้ไม่ตก ให้ลองปรึกษา 3 ช่องทางที่ ธปท. จัดไว้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ในสถานการณ์ที่ต่างกัน ทั้งคลินิกแก้หนี้ ทางด่วนแก้หนี้ และหมอหนี้เพื่อประชาชน ดูได้นะครับ
#PersonalFinance #การเงินส่วนบุคคล #จัดการหนี้ #Snowball #Avalanche #ก้อนหิมะ #หิมะถล่ม
โฆษณา