31 ธ.ค. 2024 เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์

ต้องรู้เรื่องนี้ก่อนจะเลยไป 10 ปี 10 บทเรียนการเงินจากผู้เขียน “The Stoic Path to Wealth”

⌛ เวลาพูดถึงเรื่องการเงินกับคนที่อยู่ในช่วงวัยกลางคนขึ้นมา (40+) ประเด็นหนึ่งที่มักจะถูกพูดถึงเสมอคือ “น่าจะรู้อย่างนี้ให้เร็วกว่านี้” หรือ “ถ้ารู้แบบนี้เมื่อสักสิบกว่าปีก่อน ป่านนี้สบายไปแล้ว” อะไรประมาณนี้
อดีตเรากลับไปแก้ไขไม่ได้ แต่เราสามารถส่งต่อความรู้หรือสิ่งที่เรียนรู้มาให้เด็กรุ่นต่อไปได้ เผื่อว่ามันจะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจทางด้านการเงินและดำเนินชีวิตในช่วงเวลานี้
วันนี้ไปเจอบทความหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ของ ดาริอุส โฟรูซ์ (Darius Foroux) ผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้เขียนหนังสือการเงินขายดีอย่าง “The Stoic Path to Wealth”
💰 โฟรูซ์เรียนจบด้านการตลาดและธุรกิจ เคยเป็นอดีตผู้ให้คำปรึกษาด้านการลงทุนที่ลาออกมาเพื่อทำธุรกิจและเป็นนักเขียนหนังสือด้านการพัฒนาตัวเอง ปรัชญาสโตอิก และการเงินการลงทุน จนตอนนี้ในวัย 37 ปี มีทรัพย์สินรวม 7 หลักแล้ว (ตีเป็นเงินไทยก็หลายสิบล้านถึงร้อยล้าน)
1
“เมื่อสิบปีก่อน ผมเริ่มหาเงินได้นิดหน่อย พอพูดว่านิดหน่อยมันก็นิดหน่อยจริงๆ นะ” โฟรูซ์เล่า
“ผมเริ่มทำธุรกิจตอนอายุ 24 ปี หลังจากจบปริญญาตรี ช่วงสองปีแรกนี่หาเงินแทบไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเลยต้องย้ายกลับไปอยู่กับพ่อแม่และเงินที่หามาได้จากการทำธุรกิจก็เอากลับเข้าไปหมุนในธุรกิจต่อ”
📈 สองปีต่อมาสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ธุรกิจเริ่มตั้งไข่ได้ รายได้มากขึ้น ก็เริ่มจ่ายเงินเดือนให้ตัวเอง เพียงพอในระดับที่จะย้ายออกไปอยู่อะพาร์ตเมนต์และใช้จ่ายอย่างประหยัดสุด แล้วหลังจากนั้นทรัพย์สินของเขาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จทางด้านการเงินในระดับที่น่าพอใจแล้ว
เขาอธิบายว่าเหตุผลที่ทำให้เขามีวันนี้ได้เพราะ “โชคดีที่ได้เรียนรู้บทเรียนการเงินบางอย่างตั้งแต่อายุน้อย” แม้ว่ามันจะดีกว่านี้มากหากเรียนรู้เร็วกว่านี้ แต่ยังไงก็ตามนี่คือบทเรียนการเงิน 10 ข้อที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาจนมาถึงวันนี้ได้
✈️ 1. อย่าใช้จ่ายแบบไร้สาระ : “ความประหยัดคือกุญแจสำคัญสำหรับผมตั้งแต่เริ่มแรก” เขาอธิบาย สิ่งของที่มีเพียงเพื่อสร้างความประทับใจให้คนอื่น แสดงให้คนอื่นเห็นว่าเรามีเงินคือสิ่งที่เขาพยายามหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด เสื้อผ้า เครื่องประดับ รถยนต์ หรือแม้แต่การเดินทางท่องเที่ยว “ผมโฟกัสกับสิ่งที่มีคุณค่าและใช้ได้จริงมากกว่า”
2
👛 2. ออมเงินสม่ำเสมอ : “ผมสร้างนิสัยการแบ่งเงินบางส่วนของรายได้ไว้ทุกเดือน เพื่อรับประกันว่าผมจะมีตาข่ายรองรับ (หากเกิดเรื่องฉุกเฉิน) และทรัพยากรเพื่อจะไปลงทุนในอนาคต” การเริ่มต้นออมเงินนั้นไม่ต้องรอให้มีเงินเยอะๆ แต่เริ่มได้เลยตั้งแต่เงินยังไม่มาก เมื่อฝึกจนเป็นนิสัยจะทำให้เราเก็บออมได้ดีขึ้นเมื่อรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย
2
🧘‍♂️3. ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย : “โอบรับวิถีการใช้ชีวิตแบบมินิมอลลิสต์ช่วยให้ผมจัดลำดับสิ่งที่ผมต้องการกับสิ่งที่อยากได้ ช่วยให้ผมเก็บเงินได้มากขึ้นและลดความเครียดเรื่องเงินลงไป”
1
🎓 4. ลงทุนกับตัวเอง : “ผมลงทุนเวลาและเงินกับการพัฒนาการเติบโตของตัวเอง ความรู้ ทักษะต่างๆ” สิ่งเหล่านี้คือทรัพย์สินที่คนอื่นไม่สามารถแย่งเอาไปจากเราได้ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด “ซึ่งสุดท้ายก็สร้างผลตอบแทนที่ดีและนำมาซึ่งโอกาสในการทำงานที่ดีขึ้นและการเงินที่มั่นคงมากขึ้น”
1
💳 5. ปลดหนี้ให้ไว : “ผมจ่ายหนี้การศึกษาจบตอนที่อายุ 30 ปี เป็นระยะเวลา 6 ปีหลังจากเรียนจบ” โฟรูซ์อธิบายว่าเขาเองอยากจ่ายก้อนหนี้ตรงนี้ให้จบ ก่อนที่จะไปลงทุนซื้อบ้าน ซึ่งก็เป็นหนี้และภาระก้อนใหม่ เมื่อมีหนี้ก็ควรจ่ายให้ไวที่สุด
🧾 6. จ้างนักบัญชี : “นักบัญชีที่ดีสามารถช่วยคุณกับเรื่องภาษี โอกาสการลงทุน ผลประโยชน์จากรัฐบาล และแผนการเกษียณต่างๆ” แม้ข้อนี้อาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคน แต่ถ้าหากเราปรับจากนักบัญชีเป็นการหาความรู้เรื่องเงินให้กับตัวเองอยู่เสมอก็สามารถช่วยเราได้มากเช่นเดียวกัน
2
🎯 7. วางแผนสำหรับอนาคต : “การตั้งเป้าหมายทางการเงินและสร้างแผนการเงินเพื่อจะไปถึงจุดนั้นช่วยให้ผมโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามีกำลังใจในระยะยาวได้” การออกเดินทางโดยไม่มีแผนที่หรือเป้าหมายเลยนั้นอันตรายมาก เราอาจจะหลงทางและติดอยู่กับที่ไม่สามารถไปไหนได้เลย เหมือนกันกับเรื่องเงิน เราต้องมีจุดที่จะไปและเส้นทางคร่าวๆ ว่าต้องไปทางไหน ระหว่างทางอาจจะมีแวะจอดอะไรบ้าง แต่อย่างน้อยๆ ก็รู้ว่ากำลังเดินไปทางไหนและจุดไหน
2
📊 8. ลงทุนในสินทรัพย์ : “ผมเริ่มลงทุนในหุ้นค่อนข้างเร็วและซื้ออสังหาฯ เพื่อปล่อยเช่าสองแห่ง” สิ่งเหล่านี้ล้วนเติบโตและเป็นส่วนใหญ่ของสินทรัพย์ของโฟรูซ์ในเวลาต่อมา เส้นทางสู่ความมั่งคั่งนั้นจะขาดการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ไปไม่ได้เลย
1
❤️ 9. ความรู้สึกว่าตัวเองร่ำรวยนั้นสำคัญ : ข้อนี้อาจจะต้องอธิบายสักนิดหนึ่ง โฟรูซ์บอกว่า “การใช้ชีวิตให้ต่ำกว่ารายได้ที่หามาได้ทำให้รู้สึกถึงความมั่งคั่งร่ำรวยได้” การใช้จ่ายให้น้อยลง ทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองมีเงินมากขึ้น จึงส่งผลให้รู้สึกว่าร่ำรวยขึ้น พอเริ่มรู้สึกว่ามีเงินเก็บ ความรู้สึกภูมิใจในตนเองก็เริ่มก่อตัวเป็นความสุขที่เห็นว่าตัวเองทำสำเร็จ และอยากทำให้ได้ดีมากขึ้นไปอีก
4
⚖️ 10. หาสมดุลชีวิตให้เจอ : ไม่มีใครที่ไม่ทราบว่าเงินคือสิ่งสำคัญในสังคมปัจจุบัน แต่เราก็ไม่ควรให้มันเป็นตัวกำหนดทุกอย่างในชีวิตของเราเช่นกัน โฟรูซ์แนะนำว่า “หาสมดุลในชีวิตของเราให้เจอ” บางทีเราอาจจะเสียเงินไปบ้าง ก็เรียนรู้จากมัน อย่าทำพลาดซ้ำเดิม แล้วก็เดินหน้าต่อไป
หนึ่งในนักตลกที่มีชื่อเสียงคนแรกๆ ของอเมริกา กรูโช มาร์กซ์ (Groucho Marx) ได้กล่าวถึงเรื่องเงินไว้อย่างตลกขบขันและเป็นความจริงที่สุดว่า: "แม้เงินจะซื้อความสุขไม่ได้ แต่แน่นอนว่ามันช่วยให้คุณเลือกรูปแบบความทุกข์ของตัวเองได้"
2
ชีวิตนั้นยากลำบาก ไม่ว่าคุณจะมีเงินมากหรือน้อยก็ตาม สิ่งที่ดีเกี่ยวกับการมีเงินคือคุณสามารถใช้ชีวิตตามแบบฉบับของตัวเองได้
หากคุณพบว่าตัวเองกำลังคิดว่าเหนื่อยเกินไป หาเงินมาก็ใช้ๆ ไปเหอะอย่าไปคิดมาก เกิดมาครั้งเดียวมีชีวิตก็ใช้มันซะอะไรแบบนั้น โฟรูซ์บอกว่า “จงจำไว้ว่าทุกครั้งที่คุณเลือกเช่นนั้น คุณกำลังสละอิสรภาพบางส่วนของคุณไป”
3
เงินมอบอิสรภาพให้กับเราได้ มันไม่ได้รับประกันความสุขหรือชีวิตที่ง่ายดาย แต่มันให้ทรัพยากรและความยืดหยุ่นแก่คุณในการรับมือกับความท้าทายของชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
1
🕰️ มอร์แกน เฮาเซิล (Morgan Housel) ผู้เขียนหนังสือ “จิตวิทยาว่าด้วยเงิน” ก็เคยกล่าวไว้ในจดหมายถึงลูกชายของเขาว่า “สิ่งที่ดีที่สุดที่เงินซื้อได้คือการควบคุมเวลาของคุณ มันให้ทางเลือกแก่ลูกและทำให้ลูกหลุดพ้นจากการต้องทำตามสิ่งที่คนอื่นให้ความสำคัญ วันหนึ่งลูกจะตระหนักว่าอิสรภาพนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้มีความสุขอย่างแท้จริง”
3
เมื่อคุณมีความมั่นคงทางการเงิน คุณสามารถเลือกที่จะทำสิ่งต่างๆ ที่สอดคล้องกับค่านิยมและสิ่งที่คุณให้ความสำคัญ ซึ่งนำไปสู่ชีวิตที่มีความหมายมากขึ้น
1
สำหรับใครที่ยังไม่ได้เริ่มหันมาใส่ใจกับเรื่องการเงินของตัวเอง หวังว่าบทเรียนเหล่านี้จะมีประโยชน์ อันไหนที่นำไปปรับใช้ได้ก็ลองทำกันดูครับ
ที่จริงแล้วอีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะเสริมโฟรูซ์คือการเงินนั้นไม่ได้หมายความว่าเรียนรู้ครั้งเดียวทำครั้งเดียวแล้วจบ เมื่อเราต้องอยู่กับมันทุกวันไปจนวันสุดท้ายบนโลกใบนี้ เราก็ต้องปรับเปลี่ยนและเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน
2
#aomMONEY #การเงินส่วนบุคคล #การเงินในชีวิต #บทเรียนการเงิน #แนวทางการใช้เงิน #TheStoicPathtoWealth
โฆษณา