Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
aomMONEY
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
1 ม.ค. เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์
“การเงินดีขึ้นภายใน 30 วัน” รวม 30 หลักคิดจัดการ “การเงิน” เพื่อฉบับคนอยากเริ่มต้นใหม่
การตัดสินใจเรื่องเงินในวันนี้ อาจส่งผลต่อการเงินของตัวเองและครอบครัวในอนาคตข้างหน้า หากเชื่อข้อสังเกตนี้ สิ่งสำคัญ คือ ควรสร้างแผนจัดการเงินที่ดีตั้งแต่เนิ่นๆ
ข้อดีของการจัดการการเงินให้ดี จะทำให้มีระเบียบในการใช้จ่าย มีแผนสำรองที่ดีเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด รู้จักเลือกวิธีใช้จ่ายอย่างเหมาะสม ผลที่ตามมา คือ บรรลุเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การที่จะประสบความสำเร็จก็ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น ทัศนคติที่ดี การตัดสินใจ และพฤติกรรมที่ดีต่อการควบคุมการเงิน
ดังนั้น วันนี้สำหรับมือใหม่ที่อยากเริ่มต้นจัดการเรื่องเงินให้ดีขึ้น เห็นผลได้ภายใน 30 วัน มี 30 เรื่องที่ต้องรู้ ดังนี้
✅1. #ต้องรู้เส้นทางการเงิน
ปัญหาหลักที่หลายคนเจอ คือ ไม่รู้ว่าเงินเดือนหมดไปกับอะไรบ้าง เพราะมักคิดแต่เรื่องใช้จ่าย หากเป็นแบบนี้ก็จะเก็บเงินไม่อยู่ ดังนั้น ถ้าอยากเก็บเงินให้อยู่ ควรเริ่มจากจดบันทึกเส้นทางการเงิน จากนั้นก็รวบรวมข้อมูลการเงิน เช่น สมุดบัญชีเงินฝาก ข้อมูลการลงทุน การใช้จ่ายเงิน เพื่อทำให้รู้เส้นทางเงินของตัวเอง เช่น รายรับมาจากไหน เท่าไหร่ ซื้ออะไรไปบ้าง ซื้อวันไหน กี่บาท เมื่อบวกลบออกมาแล้วเป็นอย่างไร
✅2. #สำรวจงบประมาณรายวัน
ก่อนเข้านอน ใช้เวลา 5 นาทีเพื่อทบทวนว่าวันนี้ใช้จ่ายตามงบประมาณที่วางเอาไว้หรือไม่ เช่น ตั้งเป้าใช้เงิน 200 บาท ดูว่าจริงๆ ทั้งวันใช้เงินมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการทบทวนเป็นประจำจะทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าบรรลุเป้าหมายการใช้จ่ายในเดือนหรือไม่
การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินรายวันอาจดูน่าเบื่อ เพราะต้องทบทวนก่อนเข้านอนทุกวัน แต่ถ้ามีวินัยจะช่วยให้การติดตาม ตรวจสอบเส้นทางการเงินในวันข้างหน้า เป็นไปอย่างราบรื่น
✅3. #จัดทำบัญชีการเงิน
การจัดทำบัญชีการเงินเป็นเรื่องแรกๆ สำหรับรายการตรวจสอบเส้นทางการเงินของตัวเอง เพื่อทำให้สุขภาพการเงินในระยะยาวมีความแข็งแกร่ง คือ ประเมินสถานการณ์ทางการเงินด้วยการตั้งคำถามและทบทวนสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อให้รู้ว่าเงินมาจากไหน และกำลังจะไปไหน เช่น
• มีเงินเดือน (รายได้) ในแต่ละเดือนเท่าไหร่
• เงินเดือน (รายได้) ในแต่ละเดือน มีความสม่ำเสมอหรือไม่
• ได้รับเงินเดือน (รายได้) แต่ละเดือนบ่อยแค่ไหน เช่น 1 ครั้งต่อสัปดาห์, 1 ครั้งต่อครึ่งเดือน หรือเดือนละครั้ง และแบ่งเพื่อจ่ายหนี้ในแต่ละเดือนอย่างไร
• ค่าใช้จ่ายอะไรที่เกิดขึ้นเป็นประจำในแต่ละเดือน
• ค่าใช้จ่ายเกินตัวในหมวดไหนบ้าง
• มีงบประมาณเท่าไหร่ในแต่ละเดือนเพื่อจ่ายหนี้
คำถามเหล่านี้ ทำให้เกิดความคุ้นเคยกับจำนวนเงิน (รายได้) ที่ได้รับเมื่อเทียบกับเงินที่ต้องจ่ายออกไป พูดง่าย ๆ การรู้รายรับและรายจ่าย เป็นจุดเริ่มต้นของแผนดูแลเส้นทางการเงิน เช่น ถ้ามีหนี้ก็ควรรู้ว่าเป็นหนี้ใคร จำนวนหนี้ ดอกเบี้ย สัดส่วนหนี้สินแต่ละเดือนเมื่อเทียบกับรายได้
1
✅4. #ติดตามว่าเงินหายไปไหน
ควรตั้งคำถามทุกวันว่า “อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เงิน หายไปโดยไม่รู้ตัว” ก็จะได้คำตอบทันที เช่น เกิดจากการใจอ่อนซื้อขนมมากินช่วงบ่ายทุกวัน, ซื้อกาแฟวันละ 2 แก้ว หรือไปฉลองกับเพื่อนๆ ทุกเย็นวันศุกร์ หมายความว่า ถ้าต้องการรู้ว่าเงินหายไปอยู่ที่ไหน ก็ต้องติดตามค่าใช้จ่ายทุกวัน ซึ่งวิธีการติดตามค่าใช้จ่ายแบบง่ายๆ คือ การวิเคราะห์ตัวเลขและรายการหลังจากการจดบันทึกค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง หรือจากแอพพลิเคชั่นที่มีการสรุปรายจ่ายได้
✅5. #อย่าใช้เงินเกินเงินเดือน
กรณีสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน เงินเดือนที่ได้รับอาจยังไม่มาก จึงอาจค่อนข้างลำบากกับการใช้จ่ายในแต่ละเดือน แล้วเหลือติดบัญชี แต่การใช้จ่ายให้น้อยกว่าเงินเดือนที่ได้รับเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำให้เป็นวินัยตั้งแต่เนิ่นๆ
✅6. #ใช้เงินตามงบประมาณ
ทำให้รู้ว่าแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน และเมื่อเห็นรูปแบบการใช้จ่ายของตัวเองอย่างชัดเจนก็วิเคราะห์ได้ว่ามีโอกาสเสียเงินไปกับอะไรได้บ้าง ขณะเดียวกันก็พบว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่สามารถประหยัดได้ เช่น
• ค่าสมาชิกสตรีมมิ่งออนไลน์ที่แทบไม่ได้ใช้บริการ
• สมาชิกรายเดือนที่ไม่จำเป็นต้องใช้บริการ (เช่น ฟิตเนส)
• ค่าใช้จ่ายเพื่อสังสรรค์นอกบ้าน
• ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น เช่น ช้อปปิ้ง ดินเนอร์นอกบ้านทุกสุดสัปดาห์
นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายดังกล่าว ควรหาทางหั่นรายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายที่ไม่จำเป็นต่าง ๆ เช่น ซื้อของฟุ่มเฟือย ลดการเที่ยวเตร่ ดูหนังฟังเพลง หรือกินอาหารนอกบ้านให้น้อยลง ส่วนค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์มักจะตัดออกไม่ค่อยได้ ก็ลองลดปริมาณการใช้ลง
✅7. #วางแผนการเงินเพื่อความมั่นคงในอนาคต
ตั้งเป้าหมายทางการเงิน ด้วยการกำหนดเป้าหมายทางการเงินในระยะสั้น (เช่น เก็บเงินเผื่อยามฉุกเฉิน ซื้อรถยนต์) ระยะกลาง (เก็บเงินซื้อบ้าน เรียนต่อ) และระยะยาว (เก็บเงินเพื่อวัยเกษียณ) เพราะหากไม่มีการวางแผนการเงิน อาจจะทำให้ไม่มีความมั่นคงทางการเงินในอนาคต หรือมีแนวโน้มที่จะใช้เงินมากกว่าที่ควร
ปัจจุบันมีโปรแกรมคำนวณเงินออมออนไลน์มากมายที่สามารถเข้าไปใช้ได้ฟรี เพื่อกำหนดจำนวนเงินที่ต้องออมในแต่ละเดือน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายในกรอบเวลาที่ตั้งไว้
✅8. #ตั้งเป้าประหยัดเงิน
ในยุคที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งหนึ่งที่สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ คือ การประหยัด เช่น ประหยัดไฟ ประหยัดค่าเดินทาง เช่นเดียวกันการทำให้มีเงินเหลือจนถึงสิ้นเดือน คือ ประหยัดเงินตั้งแต่วันแรกที่เงินเดือนโอนเข้าบัญชี เช่น ตั้งเป้าประหยัดเงินให้ได้ 10% ของเงินเดือน สมมติว่าเงินเดือน 30,000 บาท จะมีเงินเหลือในกระเป๋าในเดือนนั้น 3,000 บาท โดยเงินก้อนนี้จะกันออกมาเพื่อเป็นเงินสำรองเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉินเท่านั้น
✅9. #จัดลำดับความสำคัญและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
เมื่อรู้ว่าแต่ละเดือนมีการใช้เงินไปที่ไหนและอย่างไรแล้ว ก็สามารถเริ่มจัดลำดับความสำคัญของรายการค่าใช้จ่าย เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน ค่ามือถือ ขณะเดียวกันก็เริ่มลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ลดกินข้าวนอกบ้านจากทุกเย็นวันศุกร์ให้เหลือ 1 ครั้งต่อเดือน ลดซื้อกาแฟจากวันละ 2 แก้ว เหลือวันละ 1 แก้ว ถ้าทำเป็นประจำก็จะเริ่มสังเกตเห็นว่าเงินเหลือในกระเป๋ามากขึ้น
✅10. #ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
ตามทฤษฎีแล้ว คนเกษียณจะมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 70% ของค่าใช้จ่ายต่อเดือนก่อนเกษียณ เช่น ก่อนเกษียณมีค่าใช้จ่าย 20,000 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณก็จะอยู่ราวๆ 14,000 บาทต่อเดือน
หมายความว่า ควรทดลองใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 14,000 บาทต่อเดือน ด้วยการสำรวจว่าในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายประเภทไหนที่สามารถปรับลดได้ เช่น ช้อปปิ้ง ค่าสันทนาการ ค่ากินอาหารนอกบ้าน ซึ่งเทคนิคที่น่าสนใจที่ทำให้เกิดการประหยัด คือ ค่อยๆ ปรับลดค่าใช้จ่าย เพื่อทำให้การใช้ชีวิตไม่ติดขัดหรือตึงตัวจนเกินไป
✅11. #ลดการท่องเที่ยวที่เกินขอบเขต
การเดินทางท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องหลักๆ ของคนวัยทำงาน หลายคนวางแผนท่องเที่ยวในประเทศเดือนละ 1 ครั้ง ไปต่างประเทศปีละ 1 ครั้ง แน่นอนว่าต้องใช้เงินมากพอสมควร
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนวัยเกษียณ หมายถึง ไม่มีรายได้ประจำ ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวแต่ละครั้งก็ต้องดูกำลังเงินด้วยว่าเป็นอย่างไร ดังนั้น คนวัยทำงานควรทดลองด้วยการลดการท่องเที่ยว เช่น ท่องเที่ยวในประเทศไตรมาสละ 1 ครั้ง ส่วนต่างประเทศก็ไปปีเว้นปี ซึ่งการทดลองแบบนี้เพื่อลดความอึดอัดในวันที่ต้องเกษียณจริงๆ
✅12. #วางแผนก่อนช้อปปิ้ง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงวัยทำงานก็ต้องการใช้เงินเพื่อความสุขให้ตัวเอง ดังนั้น การช้อปปิ้งกับวัยนี้เป็นของคู่กัน แต่ก่อนจะเป็นนักช้อปที่ดี ต้องผ่านการฝึกฝนในการใช้จ่าย โดยเฉพาะการตัดสินใจว่าข้าวของที่จะซื้อเป็น “ความจำเป็น” หรือ “ความต้องการ” และหากไม่แน่ใจหรือไม่สามารถแยกแยะได้ ทางออก คือ ควรพิจารณาอย่างรอบคอบอย่างน้อยๆ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นหากยังยืนยันว่าควรซื้อก็สามารถซื้อ แต่เมื่อไม่มีความจำเป็นก็งดซื้อ ที่สำคัญเมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องการช้อปปิ้ง ไม่ควรดึงเงินที่เก็บออมมาใช้จ่ายเด็ดขาด
✅13. #ลดความอยากได้อยากมี
ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถเก็บเงินได้ หรือใช้เงินเกินตัว คือ การใช้จ่ายไปกับข้าวของฟุ่มเฟือย เช่น ช้อปปิ้งทุกเดือน ดังนั้น หากแก้พฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้ ด้วยการถามตัวเองว่า “ซื้อแล้ว จะใช้หรือไม่” ถ้าคำตอบคือ “ไม่” ก็จะเลือกเก็บเงินเอาไว้ ดังนั้น ผู้ที่รู้จักควบคุมความอยากได้ อยากมี จะมีเงินเหลือในแต่ละเดือนอย่างแน่นอน
หรือพูดง่ายๆ คือ ประหยัด แต่การที่ประหยัดมากขึ้นไม่ได้ทำให้มีเงินเหลือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เป็นหนทางเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จที่วางเอาไว้วิธีหนึ่งเท่านั้น เพราะเพียงแค่ประหยัดได้มากขึ้น เท่ากับมีเงินเหลือในกระเป๋าเพิ่มขึ้นเท่านั้น
✅14. #ยกเลิกการเป็นสมาชิกที่ไม่ใด้ใช้
ทุกวันนี้ เจ้าของสินค้าและบริการต่างๆ มีวิธีโฆษณาโปรโมท ให้ผู้คนสนใจสมัครสมาชิกรายปีอย่างง่ายดาย มารู้ตัวอีกทีก็กดสมัครสมาชิกไปเรียบร้อย แน่นอนว่าค่าสมาชิกรายปีก็หลายร้อยบาทหรือระดับพันบาท
ซึ่งวิธีหนึ่งที่ทำให้มีเงินเก็บเพิ่มขึ้น คือ การยกเลิกการเป็นสมาชิกบางประเภทที่ไม่มีความจำเป็น หรือเข้าไปใช้บริการน้อยมากจนไม่มีความคุ้มค่า สมมติว่ายกเลิก 1 ประเภทที่มีค่าสมาชิกเดือนละ 1,000 บาท เมื่อถึงสิ้นปี (4 เดือน) ก็จะมีเก็บ 4,000 บาท
✅15. #ตรวจสอบภาระหนี้
ชีวิตที่ไม่มีหนี้ เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่เมื่อค่าครองชีพสูงขึ้นหรือเพื่อสร้างชีวิตตัวเองและครอบครัวอาจจำเป็นต้องก่อหนี้ ดังนั้น การเป็นหนี้จึงไม่ใช่เรื่องเสียหายถ้ารู้จักการเป็นหนี้ให้ถูกวิธี ดังนั้น เมื่อเป็นหนี้แล้วก็ต้องสำรวจตัวเองสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้หนี้ที่ก่อนั้นสร้างผลกระทบต่อสถานะการเงินของตัวเอง
ตัวอย่างการสำรวจหนี้ เช่น การจ่ายหนี้ตรงเวลา ไม่ก่อหนี้เพิ่มโดยไม่จำเป็น เคลียร์หนี้เก่าให้หมดเร็วที่สุด ใช้บัตรเครดิตอย่างรัดกุมและจ่ายหนี้เต็มจำนวน เป็นต้น
✅16. #วางแผนชำระหนี้
รู้รายละเอียดรายการหนี้ทั้งหมด เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บ้าน หนี้รถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ามือถือ หรือหนี้ที่ยืมมาจากคนรอบข้าง หมายความว่า ต้องมีเงินเพียงพอที่จะนำมาจ่ายหนี้ และยิ่งมีการใช้เงินตามงบประมาณหรือควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้ดี (ตามวันที่ 2) สิ่งที่ตามมา คือ เงินเหลือมากขึ้น
เมื่อเห็นภาพรวมของหนี้สิน ถัดไปต้องจัดลำดับหนี้ที่ต้องจ่าย หลัก ๆ มี 2 วิธี คือ จ่ายหนี้ที่มียอดคงเหลือน้อยที่สุด ซึ่งจะทำให้มีเงินเหลือเพื่อนำไปชำระหนี้ก้อนอื่นได้ และช่วยสร้างกำลังใจในการบริหารจัดการหนี้ก้อนต่อ ๆ ไป ส่วนอีกวิธี คือ จ่ายหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงที่สุด จะช่วยประหยัดเงินค่าดอกเบี้ย ส่วนจะเลือกวิธีไหนก็เลือกให้เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด
สำหรับหนี้บ้าน ถ้าสามารถรีไฟแนนซ์ได้ก็ควรทำ เพราะจะทำให้ผู้กู้กลับมาเริ่มต้นที่ดอกเบี้ยในอัตราถูกลง เงินในแต่ละงวดที่ผ่อนชำระหักเงินต้นมากขึ้น ย่อมทำให้เงินต้นลดลงเร็วกว่า
✅17. #หลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง
สำหรับผู้ที่มีบัตรเครดิตหลายใบบวกกับบัตรกดเงินสด ควรพิจารณาหยุดการใช้จ่ายผ่านบัตรเหล่านี้ เพราะเมื่อไหร่ที่รูดผ่านบัตรเหล่านี้และชำระหนี้ด้วยวิธีขั้นต่ำ และหากงวดไหนไม่มีเงินเพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้ก็จะใช้วิธีกดจากบัตรใบแรก เพื่อชำระหนี้หนี้บัตรใบที่สอง ผลลัพธ์คือ มีดอกเบี้ยจ่ายสูงและไม่มีที่สิ้นสุด เนื่องจากดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ระดับ 16% ส่วนดอกเบี้ยบัตรกดเงินสดอยู่ที่ระดับ 17%
ดังนั้น ถ้าต้องการจะมีเงินเหลือในแต่ละเดือนให้มากขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง เช่น บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด หรือหากมีความจำเป็นต้องใช้ก็ควรใช้เท่าที่จำเป็นและชำระหนี้เต็มจำนวน เพื่อป้องกันการเสียดอกเบี้ย หรือหากไม่มั่นใจว่าจะทำได้ ต้องใช้จ่ายด้วยเงินสดเท่านั้น
✅18. #จ่ายหนี้ให้หมดเร็วที่สุด
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เงินเดือนแต่ละเดือนหมดเร็ว คือ หนี้ เพราะเงินเดือนส่วนใหญ่จะถูกกันไปจ่ายหนี้ เช่น เงินเดือน 30,000 บาท จ่ายหนี้เดือนละ 20,000 บาท แสดงว่าเหลือเงินเพื่อดำรงชีวิต10,000 บาท โดยเฉพาะหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงๆ และจ่ายแบบขั้นต่ำ
ผลที่ตามมาจะทำให้จำนวนหนี้ทบไปเรื่อยๆ และยิ่งจ่ายลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็ก่อหนี้ก้อนใหม่เพิ่มทุกเดือน ๆ ยิ่งทำให้เงินต้นและดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจลุกลามจนควบคุมไม่ได้ ดังนั้น ควรเคลียร์หนี้ให้หมดเร็วที่สุด โดยเฉพาะหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงๆ ที่สำคัญไม่ควรก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นเพิ่ม เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านหนี้
✅19. #ลดภาระหนี้สิน
โดยปกติแล้วผู้ที่ถึงวัยใกล้เกษียณหรือเกษียณไปแล้ว จะมีภาระหนี้สินลดลงหรือเคลียร์หนี้ได้ทั้งหมด เช่น ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน หรือส่งลูกเรียนจนจบมหาวิทยาลัยเรียบร้อย ดังนั้น ควรทดลองก่อหนี้ให้น้อยที่สุดหรือเท่าที่จำเป็น จากนั้นก็สำรวจตัวเองว่าสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติหรือไม่หรือว่ามีอะไรขาดหายไป เพราะบางคนอาจใช้ชีวิตด้วยการก่อหนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ควรทดลองหยุดก่อหนี้บางประเภท
เช่น หนี้เพื่อการบริโภค ขณะเดียวกันควรทดลองวางแผนพืชิตหนี้ที่ก่อเอาไว้ ด้วยการตั้งเป้าหมายปลดหนี้ให้หมดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
✅20. #เก็บออมเผื่อฉุกเฉิน
เงินออมเผื่อฉุกเฉิน เป็นปราการด่านแรกของการป้องกันปัญหาทางการเงิน เพราะเงินก้อนนี้จะช่วยรองรับการใช้ชีวิตในช่วงที่ขาดรายได้ ตกลงาน หรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่ทันคาดคิด โดยเงินออมเผื่อฉุกเฉินควรมีอย่างน้อย 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน
✅21. #เก็บเงินแบบอัตโนมัติ
ทุกๆ วัน ผู้คนมักจะเจอหลุมพรางเรื่องการใช้จ่ายง่ายมากขึ้น ซึ่งวิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ กลยุทธ์การประหยัดมาต่อสู้ ซึ่งเทคนิคที่ได้ผลที่สุดและลงมือทำได้ทันที คือ เก็บเงินแบบอัตโนมัติ (DCA) โดยเมื่อเงินเดือนถูกโอนเข้าบัญชี ก็ให้ตัดเงินไปเก็บออมโดยอัตโนมัติ เช่น เงินเดือน 30,000 บาท เก็บ 4,500 บาท (เก็บ 15% ของเงินเดือน) เมื่อถึงสิ้นปี (4 เดือน) ก็จะมีเก็บ 18,000 บาท
จากตัวอย่าง หากหยุดช้อปปิ้งเสื้อผ้า, หยุดเดินตลาดนัดก็มีเงินเก็บ, ยกเลิกการเป็นสมาชิกรายเดือน 1 ประเภท และเก็บเงินแบบอัตโนมัติ เมื่อถึงสิ้นปีนี้จะมีเงินเก็บรวมทั้งหมด 26,000 บาท (4,000 + 4,000 + 18,000) ซึ่งเงินเก็บจำนวนนี้ถือว่ามากพอสมควร และหากเริ่มต้นทำแบบนี้ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนธันวาคม (12 เดือน) ก็จะมีเงินเก็บถึง 78,000 บาท
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ การมีเงินเก็บสักก้อน หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องยาก แต่จริงๆ แล้ว อยู่ที่การบริหารจัดการและการตัดสินใจของเราด้วยว่า อยากให้เป้าหมายนี้สำเสร็จได้ในปีนี้เลยหรือไม่ ถ้าใช่ ขอให้ลงมือเริ่มต้นทำด้วยการ “เก็บก่อนใช้” จะมากหรือน้อยไม่สำคัญ อยู่ที่ว่าเราจะมีวินัยเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายได้หรือเปล่า?
✅22. #วางแผนประกันสุขภาพ
เมื่ออายุยังไม่มาก ส่วนใหญ่มักมองว่าการซื้อประกัน โดยเฉพาะประกันสุขภาพ ไม่ใช่เรื่องด่วน เพราะมั่นใจว่าสุขภาพแข็งแรง จึงมองว่าเป็นประกันที่ควรซื้อเมื่อใกล้เกษียณ เช่น 50 ปี ดังนั้น อยากให้คิดว่าตัวเองกำลังถึงวัยใกล้เกษียณ ด้วยการแบ่งเงินไปซื้อประกันสุขภาพ เพื่อปิดความเสี่ยงค่ารักษาพยาบาล เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ขณะเดียวกันจะทำให้เกิดความมั่นคงกับชีวิตในระยะยาวและเป็นการเตรียมพร้อมเมื่อเกษียณด้วยความสบายใจ
✅23. #เริ่มต้นลงทุน
เมื่อมีวินัยการเงินและการใช้จ่าย จะพบว่ามีเงินเหลือในบัญชี มาถึงตรงนี้ก็ถึงเวลาต้องแบ่งเงินบางส่วนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสมกับสไตล์และความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ ถ้ารับความเสี่ยงได้น้อยก็เน้นตราสารหนี้ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ ถ้ารับความเสี่ยงได้สูงก็เน้นหุ้น กองทุนรวมหุ้น หรือสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ เช่น ทองคำ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าวัยเริ่มต้นทำงาน ต้องการช้อปปิ้ง กิน ท่องเที่ยว หรือซื้อรถยนต์ ผ่อนคอนโดมิเนียม แต่หากรู้จักวางแผนการเงิน มองเห็นอนาคตทางการเงินของตัวเองก็จะมีศักยภาพและความคล่องตัวในการเก็บออมและลงทุน เพราะเป็นวัยที่ยังไม่มีภาระทางการเงินมากนัก ดังนั้น หากเริ่มต้นเร็ว ลงมือเป็นขั้นตอน ก็จะประสบความสำเร็จเร็วตามไปด้วย
✅24. #จัดพอร์ตลงทุน
เมื่อเกษียณไปแล้ว ก็จะมีเงินก้อนสุดท้ายและส่วนใหญ่ก็จะนำไปลงทุนในสินทรัพน์ต่างๆ ตามความเหมาะสมและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ อต่การจัดพอร์ตลงทุนต้องมีความรัดกุม เพราะเป้าหมายหลักอยู่ที่การมีเงินใช้ไปตลอดชีวิต (ไม่ใช่ผลตอบแทนสูงๆ)
ดังนั้น ควรทดลองจัดพอร์ต ด้วยการแบ่งเงินก้อนหนึ่ง (ให้คิดว่าเป็นเงินก้อนสุดท้ายของชีวิต) ให้เหมือนคนวัยเกษียณ คือ กระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เน้นความมั่นคง เพื่อรักษาเงินต้น เช่น เงินฝากประจำ กองทุนรวมตลาดเงิน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะให้ความสำคัญกับผลตอบแทนเป็นเรื่องรองลงมา แต่พอร์ตลงทุนควรเป็นบวก (ไม่ขาดทุน) ดังนั้น เพื่อลดผลขาดทุนจึงควรลงทุนในระยะยาว และสามารถลงทุนในรูปแบบ DCA หรือทยอยลงทุนสม่ำเสมอ
✅25. #อย่าลืมวางแผนเกษียณ
วัยเริ่มต้นทำงานหลายคนอาจมองว่าการเก็บออมเพื่อวัยเกษียณเป็นเรื่องของคนวัย 40 ปีขึ้นไป แต่ความจริงหากเริ่มต้นตั้งแต่เนิ่นๆ จะมีเงินใช้จ่ายเพียงพอไปจนถึงบั้นปลายชีวิต และเมื่อเริ่มต้นเร็วก็จะมีเวลาปรับปรุงแผนการเงินหากเกิดความผิดพลาดในระหว่างเก็บออม ที่สำคัญเมื่อเริ่มต้นเร็วก็จะแบ่งเงินไปเก็บออมในแต่ละเดือนน้อยกว่าผู้ที่เริ่มต้นช้า พูดง่ายๆ ลดภาระด้านการเงินในแต่ละเดือนลงไปได้
• ตัวอย่าง
1.ปัจจุบันอายุ 25 ปี ตั้งใจเกษียณอายุ 60 ปี (มีเวลาเก็บออม 35 ปี หรือ 420 เดือน) ตั้งเป้าหมายมีเงินเพื่อเกษียณ 4 ล้านบาท แสดงว่าในแต่ละเดือนต้องแบ่งเงินเพื่อมาออม 3,521 บาท (สมมติว่าได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี)
2.ปัจจุบันอายุ 40 ปี ตั้งใจเกษียณอายุ 60 ปี (มีเวลาเก็บออม 20 ปี หรือ 240 เดือน) ตั้งเป้าหมายมีเงินเพื่อเกษียณ 4 ล้านบาท แสดงว่าในแต่ละเดือนต้องแบ่งเงินเพื่อมาออม 9,732 บาท (สมมติว่าได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี)
✅26. #ออมเงินเพื่อวัยเกษียณ
การออมเงินเพื่อวัยเกษียณอาจเป็นเรื่องที่หลายคนมองข้าม โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน เพราะมองว่าเป็นเรื่องของคนวัย 40 ปี แต่ความจริงควรเริ่มต้นวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะยิ่งทำเร็วเท่าไหร่ ยิ่งมีอิสรภาพทางการเงินเร็วขึ้นเท่านั้น ที่สำคัญมั่นใจได้ว่าเมื่อเกษียณไปแล้วจะมีใช้อย่างเพียงพอ
วิธีการเริ่มต้นในการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ คือ ถ้าเป็นพนักงานบริษัทเอกชนก็สมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถ้าเป็นข้าราชการก็ออมเงินผ่าน กบข. จากนั้นก็แบ่งเงินไปลงทุนผ่านกองทุนรวม SSF และ RMF และอย่าลืมซื้อประกันบำนาญ หลังจากนั้นก็ติดตามข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ เช่น
• ผลตอบแทนและความเสี่ยงเหมาะสมกับตัวเองหรือไม่
• สินทรัพย์ที่กำลังลงทุนเงินมีสัดส่วนเหมาะสมกับสไตล์การลงทุนหรือไม่
• ผลตอบแทนแต่ละสินทรัพย์ ยังทำงานได้ดีหรือไม่
การออมเงินเพื่อเกษียณตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาเมื่อแก่ตัว เพราะถ้าทำงานเก็บเงินเพียงอย่างเดียวอาจต้องลงแรงเหนื่อยกว่าจะมีจำนวนเงินออมเพียงพอไว้ใช้ตลอดอายุขัยหลังเกษียณ แปลว่าควรให้เงินทำงานช่วยอีกแรงอาจทำให้เหนื่อยน้อยลง และบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้นอีกด้วย
✅27. #จ่ายเงินให้ตัวเองด้วยก็ไม่เสียหาย
เมื่อเงินเดือนโอนเข้าบัญชี อย่าลืมจ่ายเงินให้ตัวเองก่อน ในที่นี้หมายถึง การแบ่งเงินไปเก็บออมเป็นอันดับแรก ตามสูตร รายได้ - เงินออม = ค่าใช้จ่าย เช่น แบ่งเงิน 15% ของเงินเดือนเพื่อเก็บออม
ช่วงแรก ๆ อาจรู้สึกฝืนใจบ้าง แต่เมื่อลงมือทำไปสักระยะก็จะเริ่มคุ้นเคยกับการเก็บออม และยิ่งเห็นเงินเก็บเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ลองเพิ่มสัดส่วนการออมมากขึ้น
✅28. #ลุยทำให้เป้าหมายการเงินให้เป็นจริง
เมื่อสร้างฐานการเงินตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้น เริ่มจากการบริหารรายรับ รายจ่าย จากนั้นก็บริหารความเสี่ยงทั้งเรื่องหนี้และการออมเงินเผื่อฉุกเฉิน ตามด้วยสร้างความมั่นคงให้ชีวิตทั้งการเก็บออม ลงทุน รวมถึงแผนการเกษียณ
เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง คำถามถัดมาที่ควรถามตัวเอง คือ เป้าหมายการเงินคืออะไร ซึ่งเป้าหมายอาจเป็นเรื่องง่ายๆ ก็ได้ เช่น ไปเที่ยวญี่ปุ่น หรือเป็นเรื่องท้าทาย เช่น ซื้อรถคันใหม่ และเมื่อมีเป้าหมายก็ต้องสร้างแผนการเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้วย
สำหรับวิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย อาจเริ่มต้นง่ายๆ เช่น ถ้าอยากไปเที่ยวญี่ปุ่นก็ต้องแบ่งเงินไปเก็บออมให้มากขึ้น หรืองดการกินข้าวนอกบ้าน ยกเลิกการเป็นสมาชิกฟิตเนส เป็นต้น เช่นเดียวกันถ้าอยากได้รถคันใหม่ อาจต้องหารายได้พิเศษ รวมถึงลดค่าใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น
กุญแจสำคัญที่ทำให้สามารถควบคุมการเงินหรือตรวจสอบเส้นทางการเงินของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ ทั้งตรวจสอบเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี ถ้าตรงไหนทำได้ดีก็ทำต่อไป แต่ตรงไหนยังต้องปรับปรุงก็ต้องพยายามหาทางปรับแผน ถ้าทำได้ก็จะมีสถานะการเงินแข็งแกร่ง
✅29. #ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย
หลายคนอาจมีประสบการณ์ “ไม่ได้ใช้เงินตามเงินเดือนหรือรายได้ที่หามาได้” ผลที่ตามมา คือ เงินหมดก่อนสิ้นเดือน เพราะ “มีมาก ก็ใช้มาก” หรือ “ใช้มากกว่า ที่หามาได้” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม “ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน” หรือเงินไม่พอใช้ ดังนั้น ถ้าต้องการมีเงินเหลือ ควรเริ่มต้นด้วย “ลดความต้องการ เน้นความจำเป็น”
กุญแจสู่ความสำเร็จทางการเงินไม่ใช่จำนวนเงินที่หาได้ แต่อยู่ที่สามารถเก็บเงินไว้ได้มากเพียงใด ซึ่งเทคนิคที่ทำได้ทันที คือ หลีกเลี่ยงสิ่งล่อใจที่จะทำให้ใช้จ่ายมากกว่าที่สามารถจ่ายได้ ด้วยการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อไปตามกระแส
✅30. #อย่าลืมดูแลสุขภาพควบคู่กันไป
เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น สุขภาพร่างกายก็เสื่อมไปตามวัย โรคภัยไข้เจ็บก็ถามหาบ่อยขึ้น ดังนั้น นอกจากการวางแผนการเงินและประกัน ควรหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ที่สำคัญเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน โรคอัมพาต โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งจะทำให้วัยเกษียณมีสุขภาพแข็งแรง สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลได้
#aomMONEY #วางแผนการเงิน #จัดการการเงิน #MoneyManagement ดูน้อยลง
7 บันทึก
5
10
7
5
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย