Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ไฉไลเป็นบ้า
•
ติดตาม
1 ม.ค. เวลา 22:52 • การเมือง
วิเคราะห์ปัญหาในการพัฒนาลำปาง ผ่านอดีตนายก อบจ. "ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร"
สนามการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ลำปาง คือเวทีที่ชาวบ้านให้ความสนใจมากที่สุด เพราะเป็นเวทีที่เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดเลือกผู้บริหารสูงสุดโดยตรง
LampangTimes มีโอกาสติดตาม น.ส.ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร อดีตนายก อบจ.ลำปาง ลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการภายในงานเซรามิคแฟร์ ที่ MICE อ.เกาะคา ช่วงเย็นวันที่ 1 มกราคม 2568 พร้อมทั้งได้รับเกียรติให้สัมภาษณ์พิเศษ
เนื่องจากวันนี้คือวันที่ 2 มกราคม 2568 ขอเชิญทุกท่านไปทำความรู้จักผู้สมัครนายก อบจ.ลำปาง เบอร์ 2 “นายกน้ำหวาน” เจ้าของสโลแกน #ลำปางทั้งหัวใจ ที่กูรูการเมืองประเมินว่ายังมีฐานความนิยมของชาวบ้านเป็นทุนเดิม จากผลการเลือกตั้งปี 2563 ที่ได้มาราวๆ 2.2 แสนคะแนน
ผลการเลือกตั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ น.ส.ตวงรัตน์ จะได้คะแนนมากขึ้นหรือลดลง เสียงของประชาชนจะบอกว่า 4 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านมองการทำงานของนายกน้ำหวานอย่างไร
จากสถิติผลการเลือกตั้งส่วนตัวของ น.ส.ตวงรัตน์ ยังไม่เคยกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองสมัยที่ 2 ได้สำเร็จ เมื่อเคยพลาดจากการลงเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมาแล้ว 2 ครั้ง ดังนั้นเลือกตั้งนายก อบจ.ลำปางครั้งนี้ จึงเป็นการป้องกันตำแหน่งทางการเมืองระดับท้องถิ่นเป็นครั้งแรก ที่เธอจะเก็บทุกคะแนนแบบไม่ให้พลาดแม้แต่เสียงเดียว แม้ใครจะประเมินว่านอนมาก็ตาม
คนลำปางจำนวนมากอาจพอทราบว่านายกน้ำหวาน มีโครงการมากมายในช่วงที่เป็นนายก อบจ.ลำปาง แต่น้อยคนจะรู้ว่าปัญหาหรืออุปสรรคที่ต้องเจอมาตลอด 4 ปีคืออะไร สัมภาษณ์พิเศษ EP นี้จึงเป็นการส่องแว่นขยายกลับไปดูปัญหาและผลงานที่ได้ทำมา ในมุมมองของอดีตนายก อบจ.ลำปาง
น.ส.ตวงรัตน์ เป็นนักการเมืองที่มีหลักคิดในการทำงานไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม 2 เรื่อง คือลดความเหลื่อมล้ำ และให้โอกาสคน ที่เธอย้ำว่าเป็นความตั้งใจส่วนตัวที่อยากลดความแตกต่างด้านสังคมให้ได้
ในฐานะที่นั่งเก้าอี้ตำแหน่งนายก อบจ.ลำปาง มานาน 4 ปี น.ส.ตวงรัตน์ มองปัญหาในการพัฒนาจังหวัดว่ามีข้อติดขัดหลายประการที่พอจะพูดได้ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการขอใช้พื้นที่
“อบจ.ไม่ได้มีพื้นที่เป็นของตัวเอง เราดูแลทั้งจังหวัดก็จริงแต่เวลาจะไปทำโครงการพัฒนาจังหวัดต้องขออนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ซึ่งก็คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่ว่าจะ อบต.หรือเทศบาล นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ของหน่วยงานราชการต่างๆ แม้ว่าเราจะมีงบประมาณอยากจะทำเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ไปสร้างพนังป้องกันตลิ่ง ซ่อมสะพานอะไรก็ตาม ทุกเรื่องจะต้องมาหยุดอยู่ตรงขอใช้พื้นที่ ซึ่งใช้เวลานาน
เช่น ขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนบางครั้งขอไป 4-5 ปี ก็ยังไม่ได้ ต้องทำ EIA ขออนุญาตไป 5 ปีแล้วทุกวันนี้ยังไม่ได้เลย จนงบประมาณตกไป เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย” อดีต นายก อบจ.ลำปาง เริ่มต้นอธิบาย
“บางเรื่องที่เราอยากผลักดันเช่น ถนนเลียบแม่น้ำวังในเขตเทศบาลเมืองเขลางค์นคร อยากเข้าไปช่วยทำให้เกิดแลนด์มาร์คที่จะเป็นจุดท่องเที่ยวใหม่ของลำปาง ตรงส่วนของเทศบาลนครลำปางได้มีการสร้างสวนรถไฟสะพานดำสวยงาม พอย้ายมาฝั่งตรงข้าม ตรงนั้นยังไม่มีถนน มันเป็นความเหลื่อมล้ำเห็นความแตกต่างชัดเจนมาก อยู่ในจังหวัดเดียวกันแต่เหมือนอยู่คนละประเทศ
ก็เป็นความตั้งใจว่าอยากช่วยผลักดันไปทำถนนเลียบแม่น้ำวังฝั่งตรงข้ามให้เกิดเป็นเส้นทางคมนาคม พัฒนาพื้นที่ใต้สะพานดำฝั่งตรงข้ามให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว เราก็ต้องไปขออนุญาตเทศบาลเมืองเขลางค์นคร ก็เกิดอุปสรรคทำให้โครงการที่น่าจะเกิดประโยชน์กับลำปางยังทำไม่ได้ เพราะต้องเกิดความร่วมมือระหว่าง อบจ. กรมโยธาธิการและผังเมือง เจ้าของงบประมาณ และหน่วยงานที่เป็นเจ้าของพื้นที่ เป็นอุปสรรคที่ทำให้การพัฒนาเกิดยาก”
ปัญหาต่อมาคือ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น ซึ่งมีความเข้มงวดรัดกุมมาก
“น่าจะเป็นเพราะทัศนคติตั้งแต่สมัยกระจายอำนาจว่าท้องถิ่นไม่ค่อยมีคุณภาพ ผู้บริหารท้องถิ่นจบการศึกษาไม่สูง ทำให้ระเบียบที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างทุกเรื่องเข้มงวดมาก เรารู้เพราะรับโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) จากกระทรวงสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ รพ.สต.จะบ่นว่าเอกสารเบิกจ่าย จัดซื้อจัดจ้างมีระเบียบเข้มงวด ซึ่งเรามองว่าจำเป็นเพราะเราถูกตรวจสอบจาก สตง. และ ปปช.ตลอดเวลา
นี่ก็ทำให้เกิดการพัฒนาได้ยาก เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นข้าราชการประจำก็ไม่อยากทำผิดระเบียบแต่เมื่อติดระเบียบมากมาย เขาก็จะทำ 2 เรื่องคือ หนึ่งไม่ทำเลย สองคือติดอยู่ในกรอบระเบียบ เหมือนม้าลำปางที่ต้องเดินตรงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เกิดการพัฒนาได้”
มาถึงเรื่องปัญหาใหญ่ที่สุดและยากที่สุด น.ส.ตวงรัตน์ บอกว่าการขอใบอนุญาตจากหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง ซึ่งใน จ.ลำปาง หนักสุด
“เคยมีกรณีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งสร้างฝายให้ชาวบ้านมีน้ำเก็บไว้ใช้แล้วอยู่ในพื้นที่ป่าไม่ได้ขออนุญาต คงไม่คิดว่าระเบียบจะตามมาหลอกหลอน หาว่ารุกพื้นที่ป่า กลายเป็นคดีความกันยืดยาว 10-20 ปี สุดท้ายท่านก็ชนะคดี คนลำปางเลยเกร็งมาก เจ้าหน้าที่ทั้ง อบต.และเทศบาลจะทำงานต้องรอใบอนุญาตถึงจะกล้าลงไปทำประโยชน์ได้ เพราะมีกรณีถูกร้องเรียนตรวจสอบจนขึ้นศาล เขาก็เลยเลือกที่จะไม่ทำ หรืออยู่ในระเบียบท้องถิ่นทุกขั้นตอนก็เลยทำให้ไม่เกิดการพัฒนา”
อุปสรรคที่พบจาก 4 ปีที่ผ่านมา น.ส.ตวงรัตน์ ยอมรับว่าทำให้การพัฒนาท้องถิ่นเป็นไปอย่างไม่ราบรื่นนัก งานที่อยากจะผลักดันก็เลยไม่ค่อยเกิด
“ถ้าถามว่าปัญหาในการพัฒนาลำปางคืออะไร เท่าที่สังเกตก็คือความร่วมไม้ร่วมมือน้อยในทุกๆภาคส่วน เช่น ท่องเที่ยวก็จะมีองค์กรหลากหลาย สื่อมวลชนเองก็มีองค์กรหลากหลาย แล้วก็ไม่เกิดความร่วมมือกัน ถ้าทุกคนร่วมมือกันเป็นองค์กรเดียวแล้วทำร่วมกันมันจะมีพลัง นี่ต่างคนต่างกระจัดกระจายไม่เกิดพลังในการทำงาน จะผลักดันอะไรก็ยาก ไม่แน่ใจว่าจังหวัดอื่นเขามีแบบนี้ไหม แต่จังหวัดเรามีครบทุกวงการ ต่างคนต่างเก่ง มีแนวคิดดีๆเยอะเลยแต่ไม่คุยกัน นี่น่าจะเป็นปัญหาของลำปาง”
เมื่อถามว่าถ้าคนลำปางพูดถึง “นายกตวงรัตน์” ผลงานที่เป็น Signature ที่คนลำปางจะนึกถึงคืออะไร อดีตนายก อบจ.ลำปาง ตอบทันทีว่า “กาดนั่งก้อม” ซึ่งกว่าจะเป็นกาดนั่งก้อมแบบทุกวันนี้มีเรื่องราวที่ทำให้ น.ส.ตวงรัตน์ ประทับใจมากมาย
“ตอนเริ่มต้นกาดนั่งก้อมเป็นเหมือนงานทดลอง เราแค่รู้สึกว่าอยากให้คนได้มีพื้นที่ในการสร้างรายได้หลังวิกฤตโควิดระบาด เห็นว่ามีพื้นที่อยู่เลยเปิดพื้นที่ให้มาสร้างรายได้ ตอนแรกคิดแค่นั้น ทำไปทำมาก็เห็นว่ามีคนสนใจแล้วมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักวิ่งที่มาออกกำลังกาย อยู่ตรงนั้นมีลูกค้าแน่นอน 200-300 คน เริ่มจากขายกาแฟ แล้วมีอาหารเช้าตามมา ก่อนจะขยายมาเรื่อยๆ
ตอนที่ทำมีคนไม่มั่นใจเยอะ แซวว่าเป็นกาดนั่งง่อมคิดว่าคงไม่เกิด ทำไป 3-4 เดือนแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ อบจ.ก็มาถามว่านายกจะทำต่อจริงหรือ เขาไม่มั่นใจว่าจะไปต่อทางไหน เราก็ยืนยันว่าทำต่อ จนกว่าจะ 1 ปี ถ้าภายใน 1 ปีไม่เกิดมันก็คงไม่เกิดแล้ว เรายืนยันตอนนั้นว่าต้องทำต่อเพราะมันเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ ทุกวันนี้ในกาดนั่งก้อมมีผู้ค้าอยู่ประมาณ 100 ราย ได้ประโยชน์สร้างรายได้ให้ครอบครัวจากตรงนี้ รู้สึกภูมิใจที่ทำให้เขามีโอกาสด้านเศรษฐกิจที่ดีขึ้น”
น.ส.ตวงรัตน์ วิเคราะห์ปัจจัยสำคัญของกาดนั่งก้อมที่เริ่มต้นจากความไม่เชื่อมั่นเปลี่ยนเป็นประสบความสำเร็จว่าเป็นเพราะ “ความตั้งใจ”
“ยืนหยัดว่าคงต้องทำต่อ เหมือนคนไม่เชื่อมั่นแต่เรารู้สึกว่าต้องพิสูจน์ว่ามันทำได้ เราเชื่อมั่นในภาพที่เห็น เชื่อในวิสัยทัศน์ที่เราคิดว่ามันน่าจะเป็นอย่างนี้ได้ มีทีมงานด้วยที่นายกจะทำต่อ ลูกน้องใน อบจ.เขาก็เต็มที่ เสาร์อาทิตย์ต้องเปลี่ยนเวรกันไปเฝ้าเพราะนอกเวลาราชการแต่ละกองก็ต้องจัดสรรคนไป มีส่วนประกอบหลายอย่าง เจ้าหน้าที่ อบจ.เต็มที่กับเรา แล้วเราตั้งใจว่าจะต้องทำให้สำเร็จ”
“พ่อค้าแม่ค้าที่เข้ามาอยู่เขาก็บริหารจัดการด้วยตัวเอง รู้ว่าพวกเขาต้องช่วยดูแลกาด ตอนนี้มันไม่ใช่กาดแล้ว กลายเป็นชุมชนหนึ่งซึ่งทุกคนอยู่ร่วมกันแล้วรัก หวงแหน ชุมชนตัวเอง พร้อมที่จะสละบางสิ่งเพื่อให้เข้มแข็ง เพื่อทำให้ชุมชนมันยังคงอยู่ ดูแลซึ่งกันและกัน บางเรื่อง อบจ.แค่เข้าปรับนิดหน่อย ผู้ค้าเขาสร้างกันเองมีเทศกาลหาอะไรมาประดับ มีความเป็นเจ้าของสูง นี่ถือว่าเป็นเรื่องที่ทำให้กาดนั่งก้อมประสบความสำเร็จ
เพราะทุกคนมีส่วนร่วม ทุกคนมีความเป็นเจ้าของ รักกาดนั่งก้อมที่ทำให้เขามีอาชีพ มีรายได้ ความรักในสิ่งที่ผู้ค้าทำร่วมกันสำคัญมากทำให้ทุกคนพร้อมที่จะช่วยผลักดันให้กาดนั่งก้อมอยู่ต่อไปได้ เราแค่คนตั้งต้นแต่คนที่ทำต่อคือพวกเขา” นายกน้ำหวาน ให้ความเห็น
การวิเคราะห์ปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาจังหวัด และเรื่องราวของกาดนั่งก้อม สะท้อนการทำงาน 2 ประการ ที่ น.ส.ตวงรัตน์ ยึดเป็นหลักคือ ลดความเหลื่อมล้ำ,เพิ่มโอกาส ได้อย่างชัดเจน
เนื่องจากเนื้อหาการสัมภาษณ์ค่อนข้างยาวมาก EP นี้จึงขอคัดเรื่องปัญหาในการพัฒนาจังหวัด กับ “กาดนั่งก้อม” ผลงานที่เป็น Signature ของนายกน้ำหวาน มาเผยแพร่ก่อน EP ต่อไปจะนำผลงานของ อบจ.ลำปาง ที่ไม่ค่อยมีใครรู้
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย