Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Timeless History (ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา)
•
ติดตาม
2 ม.ค. เวลา 11:22 • ประวัติศาสตร์
“บิดาผู้ให้กำเนิดอเมริกา“ กับ ”ลูกชายผู้เข้ากับอังกฤษ“ เมื่อความต่างทางการเมืองทำให้พ่อลูกต้องแตกแยก
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ในช่วงเวลาที่ข่าวการเมืองเข้มข้น ผู้คนแตกแยกด้วยแนวความคิดทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน
1
ความแตกแยกทางการเมืองนี้ลามไปถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย หลายครอบครัวที่พ่อแม่ลูกมีความเห็นไม่ตรงกัน และหนักถึงขั้นตัดขาด ไม่พูดคุยกัน อันนั้นก็มีอยู่มาก
1
แต่เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้มีแค่ประเทศไทยเท่านั้น สหรัฐอเมริกาก็เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้ และเกิดกับบุคคลที่สำคัญมากต่อสหรัฐอเมริกาด้วย
“เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin)” ได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาผู้ให้กำเนิดอเมริกา (Founding Fathers of the United States)“ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นอิสระจากอังกฤษ
เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin)
หากแต่สำหรับบุตรชายของเบนจามินอย่าง “วิลเลียม แฟรงคลิน (William Franklin)” ยังคงภักดีต่ออังกฤษ และเมื่อ “สงครามปฏิวัติอเมริกา (American Revolutionary War)” มาถึง พ่อลูกก็อยู่กันคนละฝ่าย และทำให้ความสัมพันธ์ของสองพ่อลูกต้องจบลง
เรื่องราวนี้เป็นอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟังครับ
“วิลเลียม แฟรงคลิน (William Franklin)” เป็นบุตรชายของ “เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin)” ซึ่งเกิดในราวปีค.ศ.1730 (พ.ศ.2273)
ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่ามารดาของวิลเลียมเป็นใคร เนื่องจากวิลเลียมเป็นบุตรนอกสมรสของเบนจามิน ก่อนที่เบนจามินจะเข้าพิธีวิวาห์กับ “เดโบราห์ รีด (Deborah Read)” ในปีค.ศ.1730 (พ.ศ.2273) ทำให้เบนจามินเป็นพ่อลูกติด มีวิลเลียมเข้ามาอยู่ในครอบครัว
วิลเลียม แฟรงคลิน (William Franklin)
หลังจากแต่งงาน เบนจามินก็มีบุตรอีกสองคน โดยคนแรกเป็นบุตรชาย หากแต่เสียชีวิตไปด้วยไข้ทรพิษตั้งแต่อายุเพียงสี่ขวบ ส่วนอีกคนเป็นบุตรสาว
นั่นทำให้วิลเลียมเป็นทายาทชายเพียงคนเดียวของเบนจามินที่ยังมีชีวิตอยู่ ถึงแม้ว่าจะเป็นบุตรนอกสมรส แต่ก็เป็นบุตรชายเพียงคนเดียว เบนจามินจึงรักและตั้งความหวังกับวิลเลียมไว้สูงมาก
เบนจามินจ้างอาจารย์พิเศษมาสอนวิชาการต่างๆ แก่วิลเลียมตั้งแต่วิลเลียมอายุเพียงสี่ขวบ ก่อนจะส่งวิลเลียมไปยังโรงเรียนไฮโซสำหรับเหล่าผู้รากมากดี เตรียมพร้อมให้วิลเลียมโตมาเป็นสุภาพบุรุษในวงสังคมชั้นสูง
เบนจามินยังเคี่ยวเข็ญให้วิลเลียมโตมารับใช้อาณานิคม โดยตั้งแต่ปีค.ศ.1746-1747 (พ.ศ.2289-2290) วิลเลียมเป็นหนึ่งในพนักงานของที่ประชุมอาณานิคมและกรมไปรษณีย์
เรียกได้ว่าเบนจามินกับวิลเลียมนั้นเป็นพ่อลูกที่รักกันอย่างมาก มีสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น โดยมิตรสหายผู้หนึ่งของครอบครัวแฟรงคลินได้เขียนบันทึกว่า สำหรับเบนจามิน วิลเลียมนั้นเป็นทั้ง “เพื่อน พี่น้อง และเพื่อนสนิท“
ดังนั้นเมื่อเบนจามินเดินทางไปลอนดอนในปีค.ศ.1757 (พ.ศ.2300) เบนจามินจึงพาวิลเลียมไปด้วย โดยเบนจามินรับหน้าที่เป็นตัวแทนของอาณานิคมเพนซิลเวเนีย ส่วนวิลเลียมก็จะเข้าศึกษาด้านกฎหมาย
แต่เมื่อวิลเลียมกลับมายังอาณานิคมในปีค.ศ.1763 (พ.ศ.2306) วิลเลียมก็เดินทางกลับมาพร้อมภรรยาคนใหม่ รวมทั้งตำแหน่ง “ผู้สำเร็จราชการแห่งนิวเจอร์ซีย์”
วิลเลียมนั้นทุ่มเทกับตำแหน่งการงานของตนมาก และทุ่มเทความรู้ที่เรียนมาเพื่อรับใช้อาณานิคมอังกฤษ
วิลเลียมบริหารนิวเจอร์ซีย์ในช่วงเวลาที่วุ่นวาย ประเด็นเรื่องภาษีและนโยบายต่างๆ ของอังกฤษต่อชาวอาณานิคมทำให้เสียงเรียกร้องอิสรภาพเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ และทำให้เกิดคำถามดังๆ ว่า
“เหตุใดรัฐสภาอังกฤษ ซึ่งเป็นสถาบันที่ไม่มีตัวแทนโดยตรง จึงมีอำนาจเหนือชาวอาณานิคม?”
วิลเลียมเองก็พยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด พยายามจะประนีประนอมกับชาวอาณานิคม ในขณะเดียวกัน ก็ต้องรักษาอำนาจของราชสำนักอังกฤษไว้ด้วย
ทางด้านเบนจามินก็เหนื่อยไม่แพ้กัน โดยเบนจามินกำลังพยายามจะให้อาณานิคมกับอังกฤษปรองดองกัน ไม่ต้องเกิดการนองเลือด
แต่ในไม่ช้า เบนจามินก็เปลี่ยนความคิด โดยเบนจามินรู้สึกขยะแขยงต่อความโหดร้ายของรัฐสภาอังกฤษที่กระทำต่อชาวอาณานิคมที่ต่อต้านอังกฤษ และเชื่อว่ารัฐบาลอังกฤษกำลังจะกดขี่ชาวอาณานิคม
เบนจามินจึงเดินทางออกจากลอนดอนในปีค.ศ.1775 (พ.ศ.2318) ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับอาณานิคมอเมริกาเหนือถึงจุดแตกหัก และเกิดเป็นสงครามในที่สุด
ความขัดแย้งนี้ก็ทำให้ความสัมพันธ์ของพ่อลูกแฟรงคลินต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยเบนจามินเข้ากับอาณานิคม ส่วนวิลเลียมคือรอยัลลิสต์ผู้ภักดีต่อราชสำนักอังกฤษ
เบนจามินก็พยายามทุกวิถีทางที่จะดึงวิลเลียมเข้ามาอยู่ด้วย และขอให้วิลเลียมลาออกจากการเป็นผู้สำเร็จราชการฝั่งอังกฤษ หากแต่วิลเลียมไม่ยอม ทำให้สองพ่อลูกขัดแย้งกันอย่างรุนแรง
ในที่สุด เบนจามินก็ต้องยอมรับความจริง
ในขณะที่อาณานิคมกำลังจะประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ วิลเลียม บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของตน ก็กำลังประกาศอิสรภาพจากตนเช่นกัน
แต่ดูเหมือนว่าเพียงแค่ความภักดีของวิลเลียมเพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถช่วยให้วิลเลียมรุ่งเรืองได้ โดยในปีค.ศ.1776 (พ.ศ.2
319) วิลเลียมถูกจับและคุมขัง
รัฐสภาภาคพื้นทวีป ซึ่งเป็นสถาบันที่บริหารอาณานิคมในช่วงสงคราม ก็ไม่เมตตาต่อวิลเลียมเลย แม้แต่ในช่วงเวลาที่ภรรยาของวิลเลียมกำลังจะเสียชีวิตในปีค.ศ.1778 (พ.ศ.2321) ก็ไม่อนุญาตให้วิลเลียมออกมาจากที่คุมขังเพื่อไปดูใจภรรยา ถึงแม้ว่า “จอร์จ วอชิงตัน (George Washington)” ผู้นำคนสำคัญฝ่ายอาณานิคมและประธานาธิบดีคนแรกแห่งสหรัฐอเมริกา จะอนุญาตแล้วก็ตาม
ทั้งหมดนี้ เบนจามินรับทราบเป็นอย่างดี หากแต่ไม่ให้การช่วยเหลือหรือยุ่งเกี่ยวอะไรทั้งสิ้น
สงครามปฏิวัติอเมริกาจบลงในปีค.ศ.1783 (พ.ศ.2326) หากแต่ก็ไม่ได้ทำให้ความห่างเหินของสองพ่อลูกสิ้นสุด โดยในเวลานั้น วิลเลียมถูกเนรเทศ ต้องกลับไปอังกฤษ และหวังว่าจะตั้งต้นชีวิตใหม่ที่นั่น
จอร์จ วอชิงตัน (George Washington)
ในปีค.ศ.1784 (พ.ศ.2327) วิลเลียมหวังว่าตนและเบนจามินอาจจะกลับมาคืนดีกันได้ ยังไงซะ ทั้งคู่ก็คือพ่อลูก
ดังนั้น ในปีนั้นที่เบนจามินเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อเจรจาเรื่องงานของสภาอเมริกัน วิลเลียมจึงได้ขอพบเบนจามิน โดยวิลเลียมถามว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่ตนและผู้เป็นพ่อจะ “ฟื้นฟูความสัมพันธ์รักใคร่“ ที่เคยมีต่อกัน
แต่เบนจามินยังไม่พร้อมจะพบหน้าบุตรชาย โดยเขาได้เขียนลงในบันทึกเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ.1784 (พ.ศ.2327) ความว่า
“ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้ฉันรู้สึกเจ็บได้มากเท่านี้ และส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของฉัน ในการที่ฉันพบว่าตัวเองถูกทอดทิ้งในวัยชราโดยบุตรชายเพียงคนเดียวของฉัน และไม่เพียงแค่ทอดทิ้งเท่านั้น แต่เขายังจับอาวุธและต่อต้านฉันในเวลาที่ชื่อเสียงอันดีงามของฉัน ทรัพย์สมบัติ และชีวิตของฉัน กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ต้องเดิมพันทุกสิ่งทุกอย่าง“
แต่ในปีต่อมา ค.ศ.1785 (พ.ศ.2328) เบนจามินก็ตกลงที่จะพบกับวิลเลียมที่อังกฤษ หากแต่เมื่อพบกัน เบนจามินก็ได้ขอให้วิลเลียมกล่าวขอโทษที่ภักดีต่อราชวงศ์อังกฤษในช่วงสงคราม หากแต่วิลเลียมไม่ยอมทำตาม
วิลเลียมนั้นเป็นรอยัลลิสต์ หรือจะพูดแบบหยาบๆ ก็คือ “คลั่งเจ้า” อย่างสุดขีด ไม่ยอมที่จะกล่าวอะไรที่เป็นการดูหมิ่นหรือเสื่อมเสียเกียรติของราชวงศ์อังกฤษ
และนี่ ก็ทำให้ความสัมพันธ์ของสองพ่อลูกสิ้นสุดลงอย่างถาวร โดยหลังจากนั้น พ่อลูกก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย
เรียกได้ว่าความต่างของแนวคิดทางการเมืองก็สามารถทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวต้องจบลงได้จริงๆ
1
References:
https://www.nationalgeographic.com/history/article/ben-franklin-son-feud-american-revolution
https://www.monticello.org/exhibits-events/blog/divided-loyalties-benjamin-and-william-franklin/
https://screenrant.com/what-happened-to-william-franklin-loyalist-american-revolution/
https://www.varsitytutors.com/earlyamerica/ben-franklins-son-says-declaring-independence
ประวัติศาสตร์
8 บันทึก
30
2
8
30
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย