2 ม.ค. เวลา 07:33 • หนังสือ

🕉️ บทที่ 6️⃣ โศลกที่ 1

🕉️ บทที่ 6️⃣ ปลอดภัยอยู่ในบรมวิญญาณ
ด้วยโยคะสมาธิ 🕉️
❇️ การละวางและโยคะที่แท้ต้องอาศัยสมาธิ ❇️
⚜️ โศลกที่ 1️⃣ ⚜️ หน้า 627–634
𝗝𝗔𝗜 𝗚𝗨𝗥𝗨 𝗗𝗘𝗩. (ด้วยชัยชนะแห่งคุรุ)
บทที่ 6️⃣
ปลอดภัยอยู่ในบรมวิญญาณ
ด้วยโยคะสมาธิ
การละวางและโยคะที่แท้ต้องอาศัยสมาธิ
โศลกที่ 1️⃣
〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️
ศรีภควันตรัส:
สันยาสีและโยคีที่แท้ คือผู้ทำหน้าที่ทางโลกและทางธรรม (กริยา และ กรรม) อย่างไม่หวังผลของการกระทำ ผู้ไม่ประกอบพิธีไฟศักดิ์สิทธิ์ ละทิ้งการงาน ไม่ชื่อว่าสันยาสีและโยคีที่แท้
〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️
“ผู้ไม่กระทำการ (อกริยา) ไม่ทำทั้งหน้าที่ทางโลกและทางธรรม (การทำสมาธิ ภาวนา) ไม่ชื่อว่าสันยาสีหรือผู้ละวาง ผู้ไม่บูชาไฟแห่งการละวาง (นิรอัคนี) ที่จะเผาตัณหาและความใคร่ทั้งปวง ที่จะเผาความชอบ ความชัง ความโศก ความสุข ก็ไม่ชื่อว่าสันยาสีหรือผู้ละวาง นิรอัคนี ผู้ไม่จุดไฟปัญญาญาณอันกอปรด้วยสมาธิที่โยคีแท้เผาความใคร่ และรวมไฟสมาธินี้กับเพลิงแห่งพระเจ้า* ผู้นั้นหาใช่โยคีไม่
*อ่านรายละเอียด สัญลักษณ์ความสำคัญของพิธีไฟศักดิ์สิทธิ์: การชำระอหังการในไฟการควบคุมตน และการบูชาสูงสุดคือ การรวมวิญญาณบริสุทธิ์กับไฟนิรันดร์แห่งบรมวิญญาณ ในบทที่ 4:24 หน้า 513
“โยคีผู้ภักดีคือผู้ที่เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า ผู้ได้รวมประกายไฟวิญญาณไว้ในแสงแห่งจักรวาล ด้วยพิธีไฟภายในแห่งสมาธิ และประกอบกิจในชีวิตประจำวันเพื่อให้พระเจ้าทรงพอพระทัย บุคคลนั้นนั่นแหละคือสันยาสี ผู้เลิกละความปรารถนา ส่วนตนขณะกระทำหน้าที่อย่างมีสติ”
🔘 ความหมายของผู้ละวางที่แท้ (สันยาสี) 🔘
คีตาโศลกนี้ และอีกหลายโศลกที่กล่าวถึง สันยาสะ ใช้คำนี้ทั้งในความหมายทั่ว ๆ ไปที่หมายถึง “การละวาง” จากรากศัพท์สันสกฤต ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า “วางลง” “สละ, ละทิ้ง” แต่เมื่อนำมาใช้ในความหมายพิเศษนั้น หมายถึงชีวิตนักบวช ทั้งชายหญิง ที่ปฏิญาณตนว่าจะละวางอย่างถึงพร้อม
สันยาสี หรือผู้ละวาง เน้นที่การละวางหรือการไม่ติดยึดภายนอก เพื่อดำรงจิตพระเจ้าไว้ในขณะกระทำการงาน แต่โยคีเน้นที่การรับรู้พระเจ้าด้วยสมาธิปีติ แล้วดำรงอารมณ์นั้นแม้ขณะกระทำการงานในชีวิตประจำวัน ผู้ฝึกใหม่ที่ก้าวไปบนวิถีแห่งจิตวิญญาณเพียงด้วยการคิดถึงพระเจ้าขณะกระทำกิจทางจิตวิญญาณ เขาคือสันยาสี
แต่ผู้แสวงหาสัจจะ ที่มุ่งแสวงหาพระเจ้าในสมาธิ นั่นแหละคือ โยคี และผู้ภักดีที่รวมสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน คือคิดถึงพระเจ้าขณะทำการงานเพื่อพระองค์ และแสวงหาพระองค์ขณะดื่มด่ำอยู่ในสมาธิ คนเช่นนี้ ที่จะรู้พระเจ้าได้เร็ว เขาเป็นทั้งสันยาสี และ โยคี
มนุษย์ถูกสร้างตามฉายาของพระเจ้า เขามาสู่โลกด้วยญาณปัญญา เพื่อแสดงบทบาทในละครจักรวาลที่พระเจ้าทรงกำหนด ชีวิตนี้ไม่ใช่การแสดงของมนุษย์เอง ถ้าเขาทุ่มเทชีวิตจิตใจติดอยู่กับความซับซ้อนของละครจักรวาลแล้วละก็ เขาต้องผจญทุกข์อย่างหนีไม่พ้น เพราะเขาได้บิดเบือน “แผนการ” ของพระเจ้า
การกระทําเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน คือการหลงทางไปจากแผนการของจักรวาลหรือพระประสงค์แห่งพระเจ้า เป็นอุปสรรคต่อการหลุดพ้น ซึ่งควรจะทำได้อย่างรวดเร็ว คนที่หลงอหังการและหลงวัตถุ วุ่นวายอยู่กับการวางแผนเพื่อสนอง ความอยากอย่างเห็นแก่ตัวของตน (สังกัลปะ) ย่อมตกอยู่ในวังวนของการเกิดแล้วเกิดอีก คนที่ทะเยอทะยานอย่างเห็นแก่ตัว ไม่มีวันหลุดพ้นไปจากความเดือดร้อนยุ่งยาก และความผิดหวังไม่ได้ดังใจคิด
เขาติดยึดอยู่กับครอบครัวเล็ก ๆ ของตน ปล่อยโลกไว้นอกอาณาความรักของตน เขาไม่อาจเรียนบทเรียนอันอ่อนหวานแห่งพระเจ้า ผู้ทรงดลดาลให้เรารักญาติ เพื่อเราจะสามารถรักมวลมนุษย์ในฐานะพี่น้องของเรา ผู้หลงอหังการคิดว่าเขาเป็นผู้กระทำการเองทั้งสิ้น แยกตัวไปจากพระเจ้า ซึ่งเท่ากับเขาฝืนกฎจักรวาล ใช้กำลังเล็กน้อยที่ตนมีไปคัดง้างบรมสัจ ผู้ภักดีย่อมมอบ ความรับผิดชอบทั้งสิ้นไว้ที่พระเจ้า สำหรับเขาแล้ว “มีแต่พระเจ้าเท่านั้น”
คีตาโศลกนี้ประณามความเกียจคร้าน ซึ่งมักคิดกันผิด ๆ ว่ามีความหมายเดียวกันกับความไม่อยากได้ ความเกียจคร้านในมนุษย์อาจเทียบได้กับลักษณะต่ำสุดของอหังการ (ตมะหรือความเฉื่อยเนือย) คนเกียจคร้านนั้นแย่ยิ่งกว่าคนที่กระทำการอย่างเห็นแก่ตัว เพราะคนไม่รู้ร้อนรู้หนาวเช่นนี้มักจะหันหนีพระเจ้าและหนีการทํางานทางโลกไปพร้อมๆกัน
ซึ่งจะทำให้กาย จิต และจิตวิญญาณของเขาเสื่อมไปเรื่อยๆ คนที่กระทำการงานแม้ด้วยความเห็นแก่ตัว ยังมีโอกาสที่จะได้พัฒนามนินทรีย์ หรือพัฒนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาจึงเหนือกว่าคนที่หลบเลี่ยงการงาน
โศลกนี้อธิบายวิถีแห่งโยคีและสันยาสีอย่างกระจ่างชัด การละวางไม่ใช่การหนีเข้าไปอยู่ในป่า หากแต่ดำเนินชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างไม่ติดยึดกับตัวตนนั่นเอง
🔘 ธรรมชาติของการยํ — การทำตามหน้าที่ของมนุษย์ 🔘
คำ การย° ในโศลกนี้หมายถึงหน้าที่ภายนอกทั้งปวง เช่น สัญชาตญาณในการรักษาตัวรอด เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางกาย สัญชาตญาณนี้ เป็นสิ่งที่พระเจ้าและธรรมชาติประทานแก่มนุษย์ทุกคน คนที่ทําหน้าที่ทางกายอย่างหวังผล ย่อมติดอยู่ในกงกรรมกงเกวียนการเกิดใหม่ตามกฎแห่งกรรม เขาจะพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ ก็ต่อเมื่อ เขากระทําการงานทั้งปวงเพื่อให้พระเจ้าพอพระทัยเท่านั้น เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้กระทําและเป็นผู้แบกภาระที่แท้จริงแต่เพียงพระองค์เดียว
การทําหน้าที่ คือการกระทำสิ่งที่ปัจเจกแต่ละคนต้องกระทำ ตามระดับการพัฒนาและความผูกพันกับกรรมของเขา เพื่อจะได้ชำระจิตให้พ้นจากความหลงอันชั่วช้า ให้วิญญาณได้เปล่งประกายเจิดจ้า นำความสมบูรณ์ในฐานะที่เป็น ภาพสะท้อนแห่งบรมวิญญาณซึ่งสูญหายไปกลับคืนมา
ผู้กระทำหน้าที่ตามที่พระเจ้าทรงกำหนดอย่างไม่เห็นแก่ตัวด้วยหวังผลจากการกระทำนั้น คือ สันยาสี-ผู้ละวาง และในทางกลับกัน ผู้ไม่กระทำหน้าที่เพียงเพราะเขาไม่เห็นประโยชน์ของการกระทำนั้น นั่นไม่ใช่ สันยาสี
การทำดี (เช่น การรับใช้สังคมอย่างกระตือรือร้น หรือการทำงานใด ๆ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์) ที่กระทำด้วยแรงเร้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เพื่อให้พระเจ้าพอพระทัย ถือว่าเป็นการกระทำที่ยังหวังผลแห่งการงานนั้น ไม่ว่าการงานนั้นจะเลิศเลอเพียงใด ถ้าพันธะแห่งกรรมยังหันเหบุคคลไปจากเป้าหมายประเสริฐสุด การกระทำนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำหน้าที่อย่างสูงสุด
โศลกนี้จึงเน้นว่า การละวางนั้นไม่จำเป็นต้องละไปจากโลก แต่ละจากชีวิตที่เห็นแก่ตัวของชาวโลก การละวางเช่นนี้ไม่เกี่ยวกับการหลบหนีหน้าที่ที่จะต้องทํา แต่อยู่ที่การทำให้ชีวิตของบุคคลนั้นฝักใฝ่และเข้าถึงจิตวิญญาณ
มนุษย์ทุกคนจึงควรค้นหาและเติมเต็มการกระทำการงานที่จะพัฒนาชีวิตได้อย่างกลมกลืนทั้งทางโลก ร่างกายและจิตใจ และเหนืออื่นใดคือคุณภาพจิตใจและวิญญาณของเขา งานสุจริตทุกงานเป็นงานที่ดี สามารถนำไปสู่การพัฒนาตน เพียงแต่ผู้กระทำต้องค้นให้พบบทเรียนที่แฝงอยู่ในการงานนั้น และพยายามอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้สิ่งนั้นได้เติบโต
แล้วก็มีคำถามว่า บุคคลจะค้นพบหน้าที่ที่พระเจ้าทรงมอบหมายได้อย่างไร ขนบแห่งจิตวิญญาณกำหนดว่า ผู้เริ่มต้นบนเส้นทางโยคะควรขอคำแนะนำจากคุรุของตน คุรุผู้รู้จักพระเจ้าสามารถพิจารณาหน้าที่ที่เหมาะสม และขั้นตอนการวิวัฒน์ของบุคคลผู้นั้นได้ แต่ถ้าคุรุมีเหตุผลของท่าน หรือด้วยความเคารพต่อความลับแห่งพระเจ้าที่ครอบคลุมปรากฏการณ์ในโลกนี้ ท่านอาจไม่ให้คำแนะนำในบางเรื่อง
ในกรณีเช่นนี้ หลังจากศิษย์ทำสมาธิลึกแล้ว เขาควรสวดอ้อนวอนดังนี้ “ข้าแต่พระองค์ ลูกจะมีเหตุผล ลูกจะตั้งใจ ลูกจะกระทำ ขอได้โปรดนำทางเหตุผล ความตั้งใจ และการกระทำของลูก ขอให้ลูกกระทำสิ่งที่ถูกต้องที่ควรกระทำ ด้วยเทอญ” ด้วยวิธีนี้ ศิษย์ผู้ได้รับพรจากคุรุ จะได้รับการชักนำให้สั่งสมญาณ ปัญญาในวิญญาณ เขาจะปรับเข้ากับพระเจ้าได้เร็วขึ้น
เมื่อศิษย์ก้าวหน้าอย่างดีในสมาธิ เขาจะพบว่า พระเจ้าทรงชี้แนวทางการกระทำ โดยผ่านสหัชญาณอันรู้ตื่นของเขา จริงอยู่ บุคคลควรใช้สามัญสำนึกพิจารณาหน้าที่ที่ถูกต้อง อย่างเชื่อมโยงกับวินัยในตนและชีวิตของผู้ที่ต้องพึ่งพิงเขา การกระทำอย่างไม่ใช้ปัญญาเป็นสิ่งที่ควรติเตียน การกระทำเช่นนั้นก็เหมือนคนโง่ ที่มีแต่อคติ ความคิด และความเคยชินเดิม ๆ ดุจดังม้าที่ถูกปิดตา จูงเดินไปตามที่ต่าง ๆ ตามอำเภอใจอย่างไม่รู้เป้าหมาย
มนุษย์ทุกคนควรทําหน้าที่แสวงหาพระเจ้า และทำหน้าที่ทางโลกที่จําเป็น เพื่อการดำรงชีวิตและช่วยเหลือผู้อื่น หน้าที่สำคัญสูงสุดของมนุษย์ทุกคน ในทุกเผ่าพันธุ์ ทุกสภาพแวดล้อม และทุกฐานะการวิวัฒน์ คือการดำรงจิตเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า
🔘 การปฏิบัติสมาธิเป็นรูปแบบหนึ่งของการปฏิบัติหน้าที่ (กรรม) 🔘
คำว่า กรรม ในโศลกนี้ใช้ในความหมายพิเศษ ซึ่งหมายถึงการบำเพ็ญสมาธิภาวนา คือการใช้เทคนิคโยคะถอนความสนใจจากโลกภายนอก เพ่งที่การดำรงภายใน วิธีนี้เท่านั้นที่จะสามารถมีประสบการณ์การรวมเป็นหนึ่งกับพระเจ้าได้ โยคีคือผู้ปฏิบัติเทคนิคนี้เพื่อการรวมเป็นหนึ่งกับพระเจ้า
ผู้ภักดีที่อหังการยังแข็งแกร่ง จะยึดอยู่กับผลของการกระทำ จึงยังไม่เข้าถึงการหลุดพ้นได้ ถ้าเป้าหมายการปฏิบัติโยคะ ซึ่งควรอยู่ที่การรู้พระเจ้าเพียงอย่างเดียว ถูกชักนำไปสู่ความอยากอย่างอื่น เช่น อยากได้อิทธิฤทธิ์ หรืออยากให้คนรู้จักว่าเป็นโยคีที่ยิ่งใหญ่ เขาอาจดูดดึงให้ผู้คนหันมานิยมชมชอบ แต่ไม่ใช่พระเจ้า
โยคีที่นั่งเกียจคร้านอยู่ตามโคนไม้ ปล่อยเวลาเพ้อเจ้ออยู่กับปรัชญา เระ ๆ ระ ๆ มัวแต่ชื่นชมความงามของธรรมชาติอย่างสบายใจ นี่ก็โยคีเก้เช่นกัน พวกภิกขาจารเกียจคร้าน ที่จาริกไปตามนครศักดิ์สิทธิ์นับพัน ๆ แห่ง อย่างนครพาราณสี เป็นต้น เหล่านี้ก็ไม่ใช่โยคี การละเลิกจากการงานที่ต้องทำตามหน้าที่ และการรับใช้เพื่อนมนุษย์นั้นคือความไร้ค่า ไร้ความศักดิ์สิทธิ์ มันไม่ได้ช่วยขุดรากถอนโคนมลทินตัณหาราคะ ความใคร่ในกาม ความโกรธและนิสัยชอบความรุนแรงอื่น ๆ ที่แฝงอยู่ในจิตใต้สำนึก
โยคีแท้นั้นตรงกันข้าม ท่านคือผู้ปฏิบัติสมาธิอย่างลึกซึ้ง ปฏิบัติเทคนิคโยคะเพื่อการรวมกับพระเจ้า การงานและความเพียรในสมาธิของท่านคือการกระทำหน้าที่ที่ถูกต้อง ตามที่พระเจ้าทรงมอบหมาย
โยคีผู้บำเพ็ญสมาธิภาวนาเพื่อเข้าถึงพระเจ้า ไม่ได้เพ่งที่ผลของงาน ผู้ภักดีที่แท้เข้าถึงพระเจ้าผู้ทรงเป็นผลแห่งการกระทำของเขา แต่ความพยายามของมนุษย์เพื่อรวมกับพระเจ้านั้น สุดท้ายแล้วจะทำให้เขาหลุดพ้น การกระทำเช่นนี้ ไม่สร้างพันธะแห่งกรรม (แม้หวังผลก็ตาม)
ผู้ที่ละวางกิจกรรมอื่น ๆ อุทิศตนบำเพ็ญสมาธิภาวนาเพื่อการพบพระเจ้าเพียงอย่างเดียว นี่แหละคือผู้ละวางที่แท้ (สันยาสี) เขาเลิกละจากการงานมิใช่เพราะความเกียจคร้าน แต่ด้วยการดลดาลของพระเจ้า และเขาคนนี้ก็เป็นโยคีด้วย เพราะเขาทำงานหนักเพื่อเข้าถึงวิญญาณอันบรมสุข
แต่ในเมื่อแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะทำสมาธิทั้งวันทั้งคืน เว้นแต่ว่าบุคคลผู้นั้นก้าวไกลไปในบรมสุขแห่งการรวมเป็นหนึ่งกับพระเจ้าแล้ว โยคีที่จริงจังจึงต้องใช้วิธีทำงานเพื่อนำความสวัสดีมาสู่ผู้อื่น
ทั้งผู้ที่เริ่มแสวงหาการรวมกับพระเจ้า และผู้ที่สำเร็จแล้ว ก็อาจเป็นโยคีได้ทั้งสิ้น ถ้าโยคีนั้นเดินไปบนวิถีการเลิกละภายนอก หรือยังกิจแห่งครอบครัวด้วยจิตใจที่ไม่ยึดมั่น แต่โยคีที่หลุดพ้นแล้วและหยั่งรู้อยู่กับพระเจ้าอย่างไม่ขาดตอนเท่านั้น
อย่างท่านโยคาวตาร ลาหิริ มหัสยะ ผู้เป็นแบบอย่างอันเลิศ - ที่จะสามารถมีชีวิตครอบครัวอยู่ในโลกอย่างไม่ยึดมั่นได้อย่างแท้จริง มีแต่จิตใจที่มั่นคงอยู่กับพระเจ้าเท่านั้น โดยไม่ต้องมลทินของสภาพแวดล้อมทางวัตถุ ยากนักที่ความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณของโยคีผู้ยังรวมกับพระเจ้าได้ไม่สมบูรณ์ จะไม่แปดเปื้อนไปกับแรง สั่นสะเทือนของโลกวัตถุ การคาดหวังว่าจะพ้นจากสิ่งนั้นจึงเป็นเรื่องที่ขัดแย้งและไม่เป็นธรรมชาติ
แต่นักบวชต้องเผชิญกับมารนี้ แม้ท่านนำตัวออกมาจากสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยตัณหาราคะ แม้ท่านปฏิญาณที่จะรักษาพรหมจรรย์ เลิกยุ่งเกี่ยวกับโลกแล้ว ก็ใช่ว่าท่านจะเอาชนะผัสสะนิสัยไปได้อย่างอัตโนมัติ ท่านอาจหนีไกลไปจากสิ่งที่เย้ายวน แต่ก็ยังยากที่จะหนีไปจากความนึกคิดที่ตามหลอนให้ท่านยอมแพ้แก่ความอยากที่คอยจ้องจะจับท่าน
โยคีผู้ได้ประสบในสมาธิว่าเสน่ห์แห่งพระเจ้านั่นน่าหลงใหล ย่อมเชื่อแน่แก่ใจ ว่าพระเจ้าเป็นสิ่งน่าพิสมัยยิ่งกว่าวัตถุเย้ายวนใด ๆ เมื่อเปรียบเทียบกันเช่นนี้ เขาก็จะกลายเป็นผู้เลิกละไปได้อย่างทันท่วงที วิถีแห่งโยคะจึงเหนือกว่าวิถีแห่ง การเลิกละ เพราะความปรารถนาที่จริงใจและความเพียรในสมาธิเพื่อบรรลุถึงพระเจ้านั้น จะเกิดขึ้นได้แค่ได้เพียงสัมผัสกับพระเจ้าเพียงเล็กน้อย
แต่ความพยายามที่จะเลิกละ ก็มีความสำคัญอย่างใหญ่หลวง โยคีที่ปฏิบัติสมาธิภาวนาย่อมกลายเป็นผู้เลิกละ มุ่งแสวงหาพระเจ้าพร้อม ๆ ไปกับการประหารความยึดมั่นในผัสสอินทรีย์ นี่แหละคือโยคี-ผู้เลิกละที่แท้
🔘 การละวางอย่างสมบูรณ์ คือเป้าหมายการเป็นนักบวชของโยคี-สวามี 🔘
ผู้เลิกละที่ปฏิญาณสันยาสะเป็นสวามี ต่อหน้าสวามีซึ่งสามารถสืบสายตระกูลจิตวิญญาณไปจนถึงบรมคุรุแห่งสวามีทั้งหลาย คือ สวามีศังกราจารย์และท่านทั้งหลายผู้เป็นโยคีที่มุ่งแสวงหาความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าเป็นเป้าหมายสูงสุดในความเพียรทางจิตวิญญาณของท่าน ท่านเหล่านั้นคือโยคี-สวามี ท่านควรได้รับการยกย่อง สรรเสริญเหนือกว่าสวามีทั่ว ๆ ไป ผู้เพียงแค่ห่มกาสาวพัสตร์ แต่ขาดการเลิกละภายในและความพยายามในการทำสมาธิอย่างจริงใจ
โยคี-สวามี ดำรงอุดมคติสูงส่งกว่าโยคี-ผู้เลิกละ โยคี-สวามีอยู่กับความรักพระเจ้าเท่านั้น ท่านไม่หวั่นเกรงที่จะปฏิญาณตนอย่างไร้เงื่อนไขว่าจะใช้ชีวิตเลิกละ ถือพรหมจรรย์ และควบคุมอินทรีย์อย่างเข้มงวด - การปฏิญาณที่ชาวโลกเห็นว่าเป็น ความท้าทายที่น่าครั่นคร้ามอย่างนึกไม่ถึงเลยทีเดียว พระเยซูตรัสให้สาวกของท่านเลิกละอย่างเต็มใจด้วยถ้อยคำต่อไปนี้ “และทุกคนที่สละบ้าน พี่น้องชายหญิง บิดามารดา บุตรหรือไร่นา เพราะเห็นแก่นามของเรา คนนั้นจะได้ผลร้อยเท่า และ ชีวิตนิรันดร์ด้วย”* [* มัทธิว 19:29]
สําหรับข้าพเจ้าแล้ว การเป็นนักบวชผู้เลิกละอย่างสมบูรณ์ของนิกายสวามี เป็นเพียงคำตอบเดียวต่อความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะถวายชีวิตแด่พระเจ้าอย่างไม่ประนีประนอมกับพันธะทางโลกใด ๆ สำหรับข้าพเจ้าแล้ว สิ่งอื่นล้วนเป็นรองจากพระองค์ผู้ทรงเป็นที่รัก
เมื่อข้าพเจ้าได้แสดงเจตจำนงอันแน่วแน่นี้ต่อสวามีศรียุกเตศวร คุรุของข้าพเจ้า ท่านเตือนข้าพเจ้าว่า “จงจำไว้ว่า ผู้ที่ปฏิเสธหน้าที่ทางโลกที่ทำกันอยู่เป็นปกตินั้น จะมีความชอบธรรมได้ก็ต่อเมื่อเขาต้องรับผิดชอบบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าครอบครัว” ปัญญาญาณเหนือกาลเวลาของท่าน อาจสะท้อนคำตรัสของภควันกฤษณะในคีตานี้
ในความเป็นนักบวช ข้าพเจ้าได้ถวายชีวิตรับใช้พระเจ้า และปลุกจิตวิญญาณในหัวใจทุกดวงด้วยพระวรสารแห่งพระองค์อย่างสุดจิตสุดใจ และปฏิบัติเพื่อครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ข้าพเจ้าก้าวเดินตามรอยท่าน ละชีวิตทางโลก มุ่งแสวงหาและรับใช้พระเจ้า ด้วยการทำหน้าที่ตามอุดมคติแห่งโยคะสมาธิ
ตลอดชีวิตข้าพเจ้าทำงานของเซลฟ์ อะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ/สมาคมโยโคทะ สัตสังคะ แห่งอินเดีย ตามสายธรรมสันยาสะในศังกรสังฆะ ซึ่งข้าพเจ้าได้รับการอุปสมบท และปฏิญาณเป็นสวามีต่อหน้าคุรุของข้าพเจ้า ดำเนินงานของสมาคมที่พระเจ้า คุรุ และบรมคุรุของข้าพเจ้าได้ดลดาลให้ข้าพเจ้ากระทำหน้าที่ มิใช่ด้วยการจ้างคนมาทำงาน ทว่าดำเนินการด้วยความร่วมมือของผู้ที่อุทิศชีวิตเพื่อเป้าหมายอันสูงสุด นั่น คือการละวางและถวายความรักต่อพระเจ้า**
** ชายหญิงที่ไม่มีภาระครอบครัว และปรารถนาอย่างจริงใจที่จะอุทิศตนเพื่อค้นหาพระเจ้า และรับใช้พระองค์ ในฐานะนักบวชชายหญิงในนิกายเซลฟ์ อะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ (Monastic Order of Self-Realization Fellowship) สามารถติดต่อขอข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตในอาศรม เอสอาร์เอฟ ได้ที่สำนักงานใหญ่ เอสอาร์เอฟ
{หมายเหตุผู้จัดพิมพ์}
🔘 คำแนะนำจากคีตา : สร้างวิหารแห่งพระเจ้าไว้ในใจตน 🔘
ผู้ภักดีที่มีศรัทธามั่น ทั้งที่อยู่ในอาศรมนี้และที่อื่น ๆ ในโลก จึงสดับเสียงเรียกจาก ภควัทคีตา ให้เป็นผู้เลิกละ (สันยาสี) ด้วยการสร้างวิหารแห่งพระเจ้าในหัวใจของตน เพียรพยายามกำจัดความใคร่และความยึดมั่นในจิตใจ หรือเป็นโยคีผู้ดำรงอยู่กับความเกษมแห่งสมาธิ มีพระเจ้าอยู่ด้วยตลอดเวลา และกระทำการงานเพื่อรับใช้อย่างไร้อหังการ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์พระเจ้ากับวิญญาณอื่น ๆ ที่แสวงหาพระองค์
โยคี-สันยาสี ควรกระทำการงานทั้งปวงไม่ว่าทางโลก การย หรือทางธรรม (จิตวิญญาณ - กรรม) ด้วยความรักเพื่อให้พระเจ้าพอพระทัย ผู้ทำหน้าที่ของตนอย่างส่งเดชไม่เอาใจใส่ หรือผู้ที่ทำสมาธิอย่างไร้ศรัทธา ไม่อาจทำให้พระเจ้าพอพระทัยและไม่อาจหลุดพ้นได้
การกระทำใดๆทั้งทางกาย จิต และจิตวิญญาณ ที่กระทำด้วยความปรารถนาจะรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า นี่ไม่ใช่การกระทำที่ “เห็นแก่ตัว” แต่เป็นการกระทำที่สมบูรณ์พร้อม ในแง่ที่ได้สนองแผนการการสร้างสรรค์ของพระเจ้า พระประสงค์ของพระเจ้า คือ เผยพระองค์ต่อลูก ๆ ของพระองค์ เมื่อพวกเขาผ่านการทดสอบเรื่องความหลงผิด (มายา) ที่ทรงกำหนดให้ลูก ๆ ต้องละมันให้ได้
ผู้รักพระเจ้าย่อมกระทำการอย่างถูกต้อง ตามกฎของรักแท้ (คำพูดแบบขวานผ่าซากที่อาจฟังหยาบแต่ได้ใจความ คือ “ถ้ารักฉัน ต้องรักสุนัขของฉันด้วย”) โยคี-สันยาสี คือผู้รักพระเจ้า ท่านจึงรักการงานที่พระเจ้าทรงกำหนดให้มา ท่านกระทำหน้าที่ทั้งทางโลกและทางธรรมด้วยความสุข ไม่หวังผลใด ๆ เพียงเพื่อทำให้พระเจ้าที่ท่านรักพอพระทัย นี่แหละคือโยคีและสันยาสีที่แท้ ตามอุดมคติ
➖➖➖ จบโศลกที่ 1️⃣ ➖➖➖
โฆษณา