7 ม.ค. เวลา 04:00 • ธุรกิจ

กรณีศึกษา มาม่า บริษัทที่มีเงินสด 28,000 ล้านบาท

หากเรามีเงินสดอยู่ 28,000 ล้านบาท และไม่มีหนี้สินเลย เราจะเอาเงินเหล่านั้นไปทำอะไรบ้าง ?
แน่นอนว่าด้วยเงินมหาศาลขนาดนี้ เราคงเอาไปเนรมิตได้แทบทุกอย่างที่ใจปรารถนา
แต่รู้หรือไม่ว่า มีอยู่บริษัทหนึ่งที่มีเงินสดอยู่มากขนาดนั้น แต่กลับเก็บเอาไว้เฉย ๆ
1
บริษัทที่ว่าก็คือ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA เจ้าของแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่คนไทยทุกคนต้องรู้จัก ในชื่อ “มาม่า”
2
นอกจาก TFMAMA จะมีเงินสดซ่อนอยู่ในบริษัทมากขนาดนี้แล้ว ตัวเลขในงบการเงินของบริษัท ก็ถือว่าไม่ธรรมดาเลย
หากสงสัยว่า ตัวเลขงบการเงินของ TFMAMA มีอะไรน่าสนใจบ้าง
1
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุนให้เข้าใจง่าย ๆ
เหตุผลที่ทำให้ TFMAMA มีเงินสดมากมายก่ายกองแบบนี้ ก็มาจากการที่บริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดอิสระ หรือ Free Cash Flow ได้อย่างสม่ำเสมอ
กระแสเงินสดอิสระ หรือ Free Cash Flow คือเงินสดที่คงเหลืออยู่ หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำธุรกิจไปหมดแล้ว
คำนวณหาโดย
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน - รายจ่ายเพื่อการลงทุน
ปี 2564 มีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ 3,942 ล้านบาท
ปี 2565 มีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ 2,496 ล้านบาท
ปี 2566 มีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ 4,408 ล้านบาท
1
เงินสดเหล่านี้ บริษัทสามารถนำไปจ่ายเงินปันผล จ่ายหนี้เงินกู้ หรือซื้อหุ้นคืนก็ได้
จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา TFMAMA สร้างกระแสเงินสดอิสระได้ดีมากมาตลอด แสดงว่าบริษัทถือว่าเป็นเครื่องจักรผลิตเงินสดให้กับผู้ถือหุ้น
2
แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้ TFMAMA มีกระแสเงินสดอิสระสูงมาก นอกจากความสามารถในการทำธุรกิจแล้ว ก็มาจากการที่ TFMAMA ไม่จำเป็นต้องทำการลงทุนเพิ่มขนาดใหญ่อีกแล้ว
เพราะอย่างที่เราเห็นกันว่า มาม่า เป็นสินค้าที่แทบจะอยู่คู่ทุกบ้าน จนถึงขั้นที่คนทั่วไปเรียกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกแบรนด์กันอย่างติดปากว่า มาม่า แล้ว
1
ก็แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจของมาม่า ค่อนข้างอิ่มตัวประมาณหนึ่ง ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องลงทุน เพื่อขยายการผลิตเพิ่มมากไปกว่านี้อีก
2
และนอกจากนี้ ถ้าเราไปดูอัตราส่วนในการจ่ายปันผล ให้กับผู้ถือหุ้น จะพบว่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40% เท่านั้นเอง แถมยังไม่มีการซื้อหุ้นคืนอีกด้วย
1
ทำให้สุดท้ายแล้ว เมื่อทำกำไรได้ในแต่ละปี เงินเหล่านั้น ก็จะกลายมาเป็นเงินสดสะสมในบริษัทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
4
แล้วการมีเงินสดจำนวนมาก ส่งผลต่อบริษัทอย่างไร ?
1. ทำให้บริษัทมี ROIC สูง
1
ROIC หรือ Return on Invested Capital คืออีกหนึ่งเครื่องมือที่ไว้ใช้วิเคราะห์ว่า บริษัทสามารถทำผลตอบแทนจากการลงทุนทำธุรกิจ กลับมาได้คุ้มค่าหรือไม่
1
ถ้าบริษัททำ ROIC ได้สูง หมายความว่า ลงทุนทำธุรกิจไปแล้ว ได้ผลตอบแทนกลับมาคุ้มค่ามาก
1
แต่ถ้า ROIC ต่ำ ก็หมายความว่า ผลตอบแทนจากการทำธุรกิจ ได้กลับมาไม่คุ้มค่าเงินลงทุนเลย
โดยทั่วไปแล้ว นักลงทุนมักจะชอบดู ROE หรืออัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น และ ROA หรืออัตราส่วนผลตอบแทนต่อทรัพย์สิน
ถ้า ROE และ ROA สูง ก็หมายความว่า บริษัทนี้ทำผลตอบแทนกลับคืนมาจากเงินลงทุน ได้เป็นอย่างดี
2
แต่รู้หรือไม่ว่า โดยปกติแล้ว บริษัทที่ทำ ROIC ได้สูง มักจะเป็นบริษัทที่มีทั้ง ROE และ ROA สูงด้วย
คำนวณหาโดย
(กําไรจากการดําเนินงานหลังหักภาษี / เงินลงทุนในธุรกิจ) x 100
ปี 2564 มี ROIC เท่ากับ 30.15%
ปี 2565 มี ROIC เท่ากับ 23.98%
ปี 2566 มี ROIC เท่ากับ 30.25%
จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา TFMAMA มี ROIC ที่สูงมากมาตลอด แสดงให้เห็นว่า บริษัทลงทุนทำธุรกิจแล้ว ได้ผลตอบแทนกลับมา คุ้มค่าเงินลงทุนมากเลย
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า ตัวเงินลงทุนในธุรกิจ หรือ Invested Capital คำนวณมาจาก
ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย - เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
พอบริษัทมีเงินสดเหลืออยู่เยอะมาก ก็เลยทำให้ตัว Invested Capital มีน้อย ส่งผลให้เมื่อคำนวณออกมาแล้ว ROIC จึงสูง
2. ทำให้มูลค่าของกิจการต่ำกว่ามูลค่าตลาด
โดยตรงนี้เราสามารถสังเกตได้ผ่าน Enterprise Value หรือมูลค่าของกิจการ ซึ่งคำนวณหาได้จาก
มูลค่าบริษัท + หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย - เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 24 ธ.ค. 2567 TFMAMA มี
- มูลค่าบริษัทปัจจุบัน 65,611 ล้านบาท
- หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย 0 บาท
- เงินสดและสินทรัพย์เทียบเท่าเงินสด 28,233 ล้านบาท
2
ทำให้เมื่อคำนวณออกมาแล้ว TFMAMA จะมี Enterprise Value เท่ากับ 65,611 + 0 - 28,233 = 37,378 ล้านบาท
ตรงนี้เราคงจะเห็นแล้วว่า แม้ TFMAMA จะมีมูลค่าบริษัทตามราคาหุ้นที่ซื้อขายอยู่ในปัจจุบันที่ 65,611 ล้านบาท
แต่จริง ๆ แล้ว เมื่อเราคำนวณทั้งหนี้สินและเงินสดที่บริษัทมีอยู่ กลับพบว่า มูลค่ากิจการของบริษัท จริง ๆ แล้วกลับอยู่ที่ 37,378 ล้านบาท เท่านั้น
2
นอกจากนี้พอเรารู้ Enterprise Value แล้ว ก็สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ความถูกแพงของบริษัท ก่อนที่เราจะลงทุนได้ด้วย
โดยการใช้อัตราส่วนชื่อว่า Enterprise Value to Free Cash Flow Ratio หรือเรียกย่อ ๆ ว่า EV/FCF
ถ้า EV/FCF สูง หมายความว่า มูลค่าบริษัทสูงมาก เมื่อเทียบกับกระแสเงินสดที่บริษัทสร้างได้ การจะลงทุนในบริษัทนี้ อาจจะไม่คุ้มค่าสักเท่าไร
แต่ถ้า EV/FCF ต่ำ ก็หมายความว่า บริษัทนี้น่าสนใจในการลงทุน เพราะมูลค่าบริษัทไม่แพงมาก เมื่อเทียบกับความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัท
จากข้อมูลทั้งหมด เราก็จะหาค่า EV/FCF ออกมาได้
โดยการนำ Enterprise Value หารด้วย Free Cash Flow จะได้ 37,378 / 4,408 = 8.48 เท่า
ซึ่ง 8.48 เท่า หมายความว่า จากกระแสเงินสดอิสระที่ TFMAMA ทำได้ในปีล่าสุด คือปี 2566 ที่ 4,408 ล้านบาท
สมมติว่าบริษัททำได้เท่านี้ไปเรื่อย ๆ ต่อให้กระแสเงินสดอิสระไม่เติบโตขึ้นอีกเลย ถ้าเราลงทุนหุ้น TFMAMA เราจะใช้เวลาประมาณ 8 ปีกว่า ๆ ในการคืนทุนนั่นเอง
ซึ่งการที่บริษัทมี EV/FCF ต่ำกว่า 10 เท่า ก็ถือว่า มูลค่าบริษัทยังไม่ได้แพงมากนัก เมื่อเทียบกับกระแสเงินสดที่บริษัททำได้
อ่านมาถึงตรงนี้เองก็จะเห็นได้ว่า ข้อดีที่สำคัญของบริษัทที่มีเงินสดเยอะมากแบบนี้ ก็คือโอกาสที่จะขาดสภาพคล่อง ในยามที่เกิดวิกฤตินั้น มีน้อยมาก ๆ
แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง การเก็บเงินสดจำนวนมหาศาล ก็อาจจะกลายเป็นค่าเสียโอกาสของกิจการ ที่จะนำเงินไปสร้างการเติบโตเพิ่มขึ้น สำหรับอนาคตได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นนอกเหนือจากการวิเคราะห์ด้านงบการเงินแล้ว เราก็ควรต้องวิเคราะห์บริษัทในด้านคุณภาพเชิงลึกด้วย
เช่น ความสามารถในการแข่งขันของบริษัท, ภาพการเติบโตในระยะยาว, นโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัท และธรรมาภิบาลของผู้บริหารด้วย
2
เพราะสำหรับบางบริษัท ที่มีผลการดำเนินงานดี และเหมือนจะเป็นผู้ชนะ แต่ถ้าหากไม่มีแผนการเติบโตที่ชัดเจน หรืออยู่ในตลาดที่อิ่มตัวแล้ว เราก็อาจจะต้องรอหุ้นสะท้อนมูลค่า จนอาจเสียโอกาสได้เหมือนกัน
ดังนั้น การลงทุนแม้ในหุ้นที่ดูปลอดภัย ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ เราจึงควรประเมินโอกาสและความเสี่ยงในการลงทุน ออกมาให้รอบด้าน ก่อนที่เราจะเอาเงินของเรา เข้าไปลงทุนจริง ๆ..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ลงทุน
#หุ้นไทย
#TFMAMA
1
References
-งบการเงิน บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ปี 2565-2566
โฆษณา