3 ม.ค. เวลา 03:01

FROM PEOPLE TO POWER จุดประกาย ‘คน’ อาเซียน เปลี่ยนอนาคตไปด้วยกัน

เหลือเพียงอีกหนึ่งปีก็จะครบรอบการกำหนดเป้าหมายวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 หรือ ASEAN Community Vision 2025 ในโอกาสนี้กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ THE STANDARD จึงได้จัดงานเสวนาสาธารณะ OUR ASEAN VISION: FROM PEOPLE TO POWER จุดประกาย ‘คน’ อาเซียน เปลี่ยนอนาคต โดยงานจัดขึ้นในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์
งานเสวนาในครั้งมีจุดประสงค์เพื่อเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนมาร่วมฉายภาพอนาคตของอาเซียนผ่านมุมมอง ประเทศไทย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเจาะลึกประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ ‘การพัฒนาคน’ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนอาเซียนให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต ผ่านการกำหนดแผนงานของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนฉบับใหม่ คือวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045 หรือ ASEAN Community Vision 2045
โดยวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045 เป็นวิสัยทัศน์ที่มุ่งหวังสร้างประชาคมที่มีความยืดหยุ่น สร้างสรรค์ มีพลวัต และมีศูนย์กลางอยู่ที่ประชาชน ท่ามกลางความท้าทายใหม่ๆ และบริบทโลกที่เปลี่ยนไป โดยการเสวนาในงานนี้แบ่งเป็น 2 ช่วง
การเสวนาช่วงที่ 1 ในหัวข้อ “Empowering People for ASEAN Beyond 2025” (ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ)
การเสวนาช่วงที่ 1 ในหัวข้อ “Empowering People for ASEAN Beyond 2025” หรือ “แผนพัฒนาคนเพื่อรองรับอาเซียนภายหลังปี 2568” โดยผู้ร่วมเสวนาในช่วงแรกประกอบด้วย
(1) คุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย (2) คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (3) คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน และ (4) คุณอเล็กซ์ เรนเดลล์ ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาประเทศไทย โดยมีคุณณัฏฐา โกมลวาทิน เป็นผู้ดำเนินรายการ
ในช่วงนี้ ผู้ร่วมเสวนาได้สะท้อนความคิดเห็นว่าในปัจจุบัน ไทยยังคงมีอุปสรรคในการพัฒนาคนของประเทศอยู่หลายประการ เช่น สัดส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น สภาพสังคมไร้เงินเก็บ ระบบการศึกษาที่ยังไม่ครอบคลุม และตลาดแรงงานที่ยังเน้นอุตสาหกรรมแบบเดิม จึงเป็นโจทย์ของรัฐบาลในการกำหนดมาตรการหรือข้อกฎหมายในการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานการทำงานของคนไทยนั่นเอง
สัดส่วนจำนวนประชากรในไทยในแต่ละช่วงวัยที่แสดงแนวโน้มของวัยทำงานที่ลดลง (ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ)
นอกจากนั้น ผู้ร่วมเสวนายังได้ให้คำแนะนำในการพัฒนาคนว่าไทยควรเน้นการปรับและพัฒนาทักษะและความสามารถแบบ upskilling และ reskilling ตามกระแสการพัฒนาของโลก อย่างการให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งรวมไปถึงการแลกเปลี่ยนแรงงานทักษะสูงระหว่างประเทศภายใต้กลไกของอาเซียนในสาขาต่างๆ ที่กว้างขึ้น เพื่อช่วยผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ภายในประเทศ จากการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญกับประเทศอื่นๆ โดยที่ทุกประเทศต่างได้ประโยชน์ร่วมกันแบบ win-win
อีกหนึ่งประเด็นที่ผู้ร่วมเสวนาได้กล่าวถึงคือ การพัฒนาเศรษฐกิจภายในภูมิภาคภายใต้ “กรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน” หรือ “The ASEAN Digital Economy Framework Agreement (DEFA)” ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเปลี่ยนแปลงการซื้อขาย (trade digitalization) ให้เกิดการเชื่อมต่อแบบไร้พรมแดนระหว่างกัน
โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเปลี่ยนแปลงการซื้อขายจะช่วยส่งเสริมให้เกิดข้อได้เปรียบ 3 ด้านหลัก ได้แก่ ความลื่นไหลของการชำระเงิน (free-flow of payments) ความลื่นไหลของสินค้าและบริการ (free-flow of goods & services) และความลื่นไหลของบุคคล (free-flow of people) ซึ่งหากลงนามสำเร็จ คาดว่าจะสามารถดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกมาได้กว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว
การเสวนาช่วงที่ 2 ในหัวข้อ “Positioning Thailand Amidst Changes and Opportunities” (ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ)
การเสวนาช่วงที่ 2 ในหัวข้อ “Positioning Thailand Amidst Changes and Opportunities” หรือ “ทิศทางไทยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและโอกาส” โดยผู้ร่วมเสวนาในช่วงที่สองประกอบด้วย
(1) รศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิอาเซียน (2) ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (3) ดร.ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ Fellow สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานมูลนิธิสุรินทร์ พิศสุวรรณ และ (4) ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน เป็นผู้ดำเนินรายการ
ในช่วงนี้ ผู้ร่วมเสวนาได้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของบริบทการเมืองโลก อย่างการก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจโลกของจีน หรือการเกิดขึ้นของกลุ่ม BRICS ท่ามกลางการแข่งขันทั้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ของโลกที่เข้มข้นขึ้น นอกจากนี้ การจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump ในวาระที่สอง ซึ่งได้ชูนโยบายกีดกันทางการค้ากับต่างประเทศ
ซึ่งปัจจัยข้างต้นอาจส่งผลกระทบทำให้อาเซียนโดนแรงบีบจาก 3 ด้าน ได้แก่ แรงบีบจากตลาดสหรัฐฯ จากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า แรงบีบจากตลาดจีนที่ลดการนำเข้าและเน้นการบริโภคภายในประเทศที่มากขึ้น และแรงบีบจากตลาดอื่นๆ ทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของการเมืองโลกโดย รศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม (ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ)
โดยผู้ร่วมเสวนามองว่าจากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป ไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนควรร่วมมือบนพื้นฐานของการมองถึงผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการเจรจากับทั้งสหรัฐฯ และจีน รวมไปถึงความจำเป็นในการพัฒนาความสัมพันธ์กับตลาดใหม่ ๆ และส่งเสริมตลาดภายในภูมิภาคด้วยกันเอง
หรือแม้แต่เรื่องการสร้างจักรกลใหม่ (new engine) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นั่นคือการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เพื่อทำให้ไทยสามารถวิ่งทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ ผ่านการสนับสนุนและขับเคลื่อนการพัฒนาและวิจัย หรือแม้แต่การสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) ของกลุ่มแรงงานในประเทศ
ข้อแนะนำแนวทางในการปรับตัวของอาเซียนโดย ผศ.ชล บุนนาค (ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ)
ในด้านสิ่งแวดล้อม ไทยและสมาชิกควรเห็นพ้องกันว่าเป็นปัญหาข้ามพรมแดนที่ทุกประเทศจำเป็นต้องร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการแก้ไข ทั้งเรื่อง Climate Finance โดยเฉพาะด้านเงินทุนเพื่อรับมือการสูญเสียและความเสียหาย ซึ่งจากรายงานประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากที่สุดในโลกในปี 2019 พบว่ามีประเทศสมาชิกอาเซียนติดอันดับมากถึง 3 ประเทศ ได้แก่
เมียนมาในอันดับที่ 2 ฟิลิปปินส์ในอันดับที่ 4 และไทยในอันดับที่ 9
นอกจากนี้ไทยและประเทศสมาชิกยังควรสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการลงทุนสีเขียวผ่านเทคโนโลยี การจัดการทรัพยากรในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างบูรณาการ รวมไปถึงการเจรจากับสหภาพยุโรปเพื่อปรับมาตรการทางการค้าที่ให้สอดคล้องและเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในภูมิภาคมากขึ้น
งานเสวนาครั้งนี้ได้นำเสนอเพียงหนึ่งในฉากทัศน์ของอนาคตอาเซียนและไทย จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามต่อไปว่าการกำหนดวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045 จะมีทิศทางอย่างไร และเราที่ถือว่าเป็นพลเมืองอาเซียนจะต้องพัฒนา เรียนรู้ และปรับตัวอย่างไรบ้าง เพื่อให้สามารถปรับตัวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกได้
โฆษณา