Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Hi Story - ที่นี่มีเรื่องเล่า
•
ติดตาม
2 ม.ค. เวลา 10:54 • ประวัติศาสตร์
LONG STORY SHORT - EP.4 – ปฏิวัติรัสเซีย อวสานราชวงศ์โรมานอฟ
เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1917 ฝูงชนจำนวนมหาศาลได้ทำการประท้วงและก่อการจราจลไปทั่วทั้งประเทศรัสเซียจนรัฐบาลไม่สามารถปราบปรามได้อีกต่อไป พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 จึงตัดสินใจสละราชสมบัติ แต่กลับไม่มีผู้สืบทอดต่อ ทำให้บังลังก์ว่างลงสิ้นสุดราชวงศ์โรมานอฟ ส่วนพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และครอบครัวภายหลังก็ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม และนี่คือเรื่องราวที่มาที่ไปของการปฏิวัติรัสเซียจนทำให้สิ้นสุดราชวงศ์โรมานอฟ
ราชวงศ์โรมานอฟ หรือ รามานอฟ ตามสำเนียงในภาษารัสเซีย เป็นราชวงศ์ที่สองและราชวงศ์สุดท้ายของรัสเซียก่อนเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง โดยราชวงศ์นี้มีจุดเริ่มต้นมาจากพระเจ้าซาร์มีไฮล์ที่ 1 ปี ค.ศ.1613 และสิ้นสุดในสมัยพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ปี ค.ศ.1917 รวม 304 ปี
เรื่องราวความตกต่ำจนไปสู่การปฏิวัติใหญ่ในรัสเซียจนเป็นเหตุให้ราชวงศ์โรมานอฟนั้นจะโทษว่าเป็นเพราะความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวเลยก็คงจะไม่แฟร์นัก แต่เกิดจากปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน จนเริ่มมีเค้าลางของการปฏิวัติเมื่อ 200 กว่าปีก่อนหรือช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ประมาณช่วงปี 1800 ต้นๆ สมัยพระเจ้าซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ 1
ช่วงนั้นรัสเซียที่มีดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลขณะที่การปกครองของเขาใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีการรวมอำนาจการตัดสินใจเอาไว้ที่ส่วนกลางอย่างเข้มข้น มีการแบ่งที่ดินให้เหล่าขุนนางและชนชั้นศักดินา พวกขุนนางและชนชั้นศักดินาเหล่านี้ก็นำที่ดินไปปล่อยเช่าหรือจ้างทาสติดที่ดินทำการเกษตรต่อไป ทาสติดที่ดินก็คือทาสแต่อยู่ติดกับผืนที่ดินไม่สามารถออกไปทำงานที่อื่นได้สามารถสืบทอดต่อกันทางสายเลือดเปลี่ยนมือเจ้าของไปพร้อมกับที่ดิน
ซึ่งเจ้าของที่ดินในตอนนั้นมีอำนาจสูงมาก สามารถขับไล่ทาสติดที่ดินพร้อมกับเนรเทศให้ไปอยู่ไซบีเรียดินแดนที่แห้งแล้งได้ ว่ากันว่าประชาชนส่วนใหญ่ของรัสเซียร้อยละ 95 หรือจำนวน 38 ล้านคนจากทั้งหมด 40 ล้านคนในช่วงนั้น เป็นทาสติดที่ดิน ชาวนา เกษตรกร แต่ด้วยระบบแบบนี้ผู้ที่ได้ประโยชน์ ร่ำรวยจากการทำเกษตรกรรมกลับไม่ใช่ชาวนาหรือเกษตรกร แต่เป็นชนชั้นศักดินาหรือเจ้าของที่ดินนั่นเอง
ปัญหาความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ที่ถูกสะสมไว้เป็นระยะเวลายาวนานจนกระทั่งสงครามนโปเลียน ซึ่งรัสเซียได้ส่งทหารไปร่วมรบในสงครามครั้งนี้ด้วยและสามารถร่วมมือกับชาติยุโรปชาติอื่นๆเอาชนะนโปเลียนพร้อมกับปลดแอกประเทศต่างๆจากระบอบการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เป็นผลสำเร็จ นายทหารที่ได้เข้าร่วมรบในสงครามครั้งนี้โดยเฉพาะนายทหารหนุ่มที่ได้เห็นภาพเหล่านี้มาแล้วก็เริ่มมีความคิดอยากจะปลดแอกประเทศรัสเซียของตัวเองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จากซาร์บ้าง จึงรวมตัวกันก่อตั้งสมาคมลับขึ้น
เดือนธันวาคม ค.ศ. 1825 พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ 1 สวรรคต กลุ่มสมาคมลับที่เติบโตขึ้นและมีสมาชิกมากพอสมควรแล้วจึงได้ทำการก่อการกบฎเรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญและเรียกร้องให้ปลดปล่อยทาสติดที่ดิน ภายหลังเรียกกบฏในช่วงเวลานี้ว่า “กบฎเดือนธันวาคม” แต่สุดท้ายแล้วก็ถูกปราบปรามลงได้ ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้กลับไปเคลื่อนไหวใต้ดินอีกครั้งหนึ่ง
รัชสมัยต่อมาเป็นของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 1 ปกครองประเทศอย่างเข้มงวดเพราะกลัวการก่อกบฎแบบที่เคยเกิดขึ้นประกอบกับกระแสปฏวัติที่กำลังลุกลามในยุโรป พระองค์ได้ก่อตั้งตำรวจลับขึ้นมาต่อสู้กับสมาคมลับที่เคลื่อนไหวใต้ดินเหล่านี้ กลุ่มตำรวจลับเหล่านี้มีอำนาจมากในการจับกุม สืบค้น ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน การแสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องห้ามในสมัยนี้ มีการลงโทษปัญญาชนจำนวนมาก หลายรายถูกลงโทษรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต
ว่ากันว่าพระองค์มีแนวคิดที่ไม่เห็นด้วยกับการมีทาสติดที่ดินแต่ก็ไม่กล้าที่จะยกเลิกเพราะเกรงใจบรรดาขุนนางเจ้าของที่ดินที่คอยปกป้องราชบัลลังก์นั่นเอง แต่สุดท้ายหลังพระองค์สวรรคตพระโอรสซึ่งกลายเป็นซาร์องค์ต่อไปพระนามว่าพระเจ้าซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ 2 ก็สามารถออกกฎหมายยกเลิกทาสติดที่ดินเป็นผลสำเร็จ
ในช่วงสมัยของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 1 ต่อเนื่องถึงพระเจ้าซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ 2 ได้เกิดสงครามไครเมียและมหาอำนาจอย่างรัสเซียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต้องเป็นฝ่ายขอเปิดโต๊ะเจรจายุติสงคราม ส่งผลให้นอกจากจะสูญเสียกำลังพลไปมากมายแล้ว รัสเซียสูญเสียดินแดน พื้นที่น่านน้ำ สิทธิบางประการและที่ร้ายแรงที่สุดคือการสูญเสียพันธมิตรชาติสำคัญไปมากมาย ส่วนผลกระทบในประเทศก็ทำให้ประชาชนชาวรัสเซียรู้สึกอับอายเป็นอย่างมากและกล่าวโทษต่อพระเจ้าซาร์ที่ตัดสินใจผิดพลาด
พระเจ้าซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ 2 เมื่อสูญเสียอำนาจการเมืองระหว่างประเทศไปจึงเดินหน้ามาปฏิรูปการเมืองในประเทศอย่างเข้มข้นสามารถออกกฎหมายยกเลิกทาสติดที่ดินเป็นผลสำเร็จแต่ทว่าแม้ทาสติดที่ดินจะถูกปลดปล่อยตามกฎหมายแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่สู้ดีนัก มีหนี้สินล้นพ้นตัวและถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มศักดินาอยู่ดี
นอกจากนี้พระเจ้าซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ 2 ได้มีความพยายามร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใช้ในรัสเซียแต่ยังไม่ทันสำเร็จก็ถูกลอบปลงประชนม์ด้วยระเบิดจนพระวรกายขาดครึ่งท่อนเสียก่อน พระเจ้าซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ 3 พระราชโอรสของพระเจ้าซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ 2 ขึ้นครองราชย์ต่อ เนื่องจากการเห็นพระราชบิดาถูกลอบปลงพระชนม์ พระองค์จึงดำเนินนโยบายปกครองประเทศที่เข้มงวดตามแบบของพระเจ้าซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ 1 ผู้เป็นปู่
แต่เนื่องจากตลอดรัชสมัยของพระองค์ไม่มีสงครามหรือเหตุการณ์ใหญ่สำคัญๆประกอบกับครองราชย์สั้นๆเพียงแค่ 13 ปี จึงไม่มีเรื่องราวในสมัยนี้มากมายนัก พระองค์สิ้นพระชนม์จากโรคประจำตัว มกุฎราชกุมารของพระองค์ขึ้นครองราชย์ต่อพระนามว่าพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ในวัย 26 ปี
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ถือเป็นพระสหายของรัชกาลที่ 5 สมัยยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์เคยเสด็จเยือนกรุงเทพมหานคร ก่อนที่ภายหลังรัชกาลที่ 5 เสด็จประภาสยุโรปก็ได้ไปเยี่ยมเยือนพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เช่นกัน สมัยที่เยือนกรุงเทพ ไปไซง่อน แล้วไปญี่ปุ่น เจอชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งเอาดาบฟันหมายปลงพระชนม์แต่รอด เป็นแผลยาว 9 ซม. ทำให้พระองค์ไม่ชอบชาวญี่ปุ่นตั้งแต่ตอนนั้นและเรียกเหยียดชาวญี่ปุ่นว่าพวกลิง
พิธีราชาภิเษกที่มอสโกมีประกาศแจกสิ่งของที่ระลึกเพื่อเป็นการฉลอง มีคนมา 4-5 แสนคน ทำให้มีการเหยียบกันตายกว่าพันคนในวันราชาภิเษก ตอนเย็นวันนั้นพระเจ้าซาร์ยังคงจัดงานเลี้ยงอย่างใหญ่โตเชิญแขกคนสำคัญ สร้างความไม่พอใจต่อประชาชน
สมัยพระองค์ได้มีความพยายามขยายอำนาจและอิทธิพลของรัสเซียไปทั่วแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนักทำให้พระองค์ไม่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชน และสิ่งที่ทำให้ชาวรัสเซียรับไม่ได้เลยก็คือเมื่อปี ค.ศ.1904 รัสเซียได้พยายามขยายอิทธิพลไปทางตะวันออกก็เลยได้เช่าท่าเรือปอร์ตอาเธอร์บนคาบสมุทรเหลียวตงของจีนไว้ทำการค้าขาย
แต่เกิดพิพาธกับญี่ปุ่นเพราะญี่ปุ่นกลัวรัสเซียจะควบคุมจีนยึดเกาหลี ทำให้ญี่ปุ่นตัดสินใจโจมตีกองเรือของรัสเซียที่เมืองปอร์ตอาเธอร์นี้แบบสายฟ้าแลบ เกิดเป็นสงครามน่านน้ำระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่น รัสเซียต้องขนเรือรบที่อยู่คาบสมุทรบอลติกทางตะวันตกวิ่งอ้อมมากว่า 9,000 กม. เคลื่อนเข้าช่องแคบสึชิมะทำให้ทหารต่างก็อ่อนล้า
สุดท้ายก็จบลงด้วยการที่เรือรบอันยิ่งใหญ่ของรัสเซียหลายสิบลำถูกจมที่ช่องแคบสึชิมะ เนื่องจากช่องแคบนี้ทำให้ขบวนเรือขับไปได้ทีละลำทำให้การเข้าแถวตอนลึกเข้าไปในช่องแคบนี้ถูกกองทัพเมจิของญี่ปุ่นระดมยิงอย่างไม่ยากเย็น
ระหว่างสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นนี้จะรู้ผลแพ้ชนะชัดเจน ประชาชนชาวรัสเซียจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการก่อสงครามนี้ประกอบกับชนชั้นแรงงานหลายรายไม่พอใจในสวัสดิการแรงงานที่ตนเองได้รับจึงทำการรวมตัวประท้วง
การประท้วงนี้นำโดยบาทหลวงท่านหนึ่งได้ทำหนังสือและมุ่งหน้าไปยังพระราชวังฤดูหนาวเพื่อยื่นฏีกาต่อพระเจ้าซาร์ กลุ่มผู้ประท้วงคิดว่าแค่ไปยื่นข้อเรียกร้องแล้วทางพระราชวังจะส่งคนมารับแล้วก็กลับ แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตรเมื่อไปถึงหน้าพระราชวังกลับถูกกลุ่มทหารระดมยิงใส่ฝูงชนจนมีคนตายหลายร้อยคนภายหลังเรียกเหตุการณ์นี้ว่าวันอาทิตย์นองเลือดหรือ bloody sunday
ความพ่ายแพ้ต่อญี่ปุ่นสร้างความอัปยศให้กับชาวรัสเซียเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากสงครามครั้งนี้รัสเซียต้องใช้เงินอย่างมหาศาลในการทำสงคราม และชาวบ้านก็ไม่เข้าใจว่าพวกเขาจะได้อะไรจากสงครามนี้ หนำซ้ำยังแพ้กลับมาอีกทำให้ความนิยมซาร์ยิ่งลดลงไป ประกอบกับการขุนนางที่พยายามจะร่างกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำก็มาถูกลอบสังหารไปอีกสร้างความเสื่อมศรัทธาต่อประชาชนเป็นอย่างยิ่ง
ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ได้กำเนิดการแนวคิดลัทธิมากซ์ การปฏิวัติชนชั้นขึ้น เริ่มแรกยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมพูดถึงนัก แต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ช่วงที่ทำสงครามกับญี่ปุ่นแล้วพ่ายแพ้นี่เอง ประชาชนเริ่มมองไม่เห็นหนทางที่จะทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น ทำให้แนวคิดเรื่องการปฏิวัติรัสเซีย ยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ถูกโหมกระพือและพูดถึงกันอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชน แม้ภาครัฐจะทำการปราบปรามอย่างไรก็ตามก็ไม่สามารถหยุดการเติบโตของขบวนการเหล่านี้ได้
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เริ่มเห็นเค้าลางแล้วว่าการลุกฮือขึ้นประท้วงต่อต้านพระองค์เริ่มขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ มีการนัดหยุดงานอยู่บ่อยครั้งในหลากหลายสาขาอาชีพ การเคลื่อนไหวปฏิรูปสังคมกลายเป็นประเด็นที่ประชาชนทุกระดับแม้ผู้ไม่ได้สนใจการเมืองก็ยังให้ความสนใจ
ทำให้ในปี ค.ศ.1905 พระองค์ลดแรงกดดันเหล่านี้ลงโดยการยิมยอมให้มีการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับสั่งยกเลิกการปราบปรามให้สิทธิเสรีภาพประชาชนในการชุมนุมและแสดงออกทางความคิดเห็น นำไปสู่การก่อตั้งสภาดูมา หรือสภาแห่งรัฐของรัสเซียเพื่ออกกฎหมายต่างๆ และให้ประชาชนเลือกผู้แทนเข้าไปเป็นสมาชิกสภาดูมาได้ ทำให้กลุ่มต่อต้านบางกลุ่มพอใจประกาศชัยชนะและหยุดเคลื่อนไหวไป
แม้การปฏิวัติรัสเซียในปี 1905 จะไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างเต็มที่ก็ตาม แต่ก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทำให้พรรคบอลเชวิคที่นำโดยเลนินขึ้นมามีอิทธิพลอย่างมากในรัสเซีย ซึ่งถือว่าเป็นที่พึ่งของกรรมกรและชนชั้นแรงงานรัสเซียในขณะนั้น
สภาดูมาที่ได้จัดตั้งขึ้นดำเนินการไปไม่ราบรื่นนัก มีการตั้ง ๆ ยุบ ๆ อยู่หลายรอบ จนซาร์สามารถแก้ไขกฎหมายแต่งตั้งคนเข้าไปอยู่ในสภาดูมาได้เป็นผลสำเร็จสภาดูมาจึงจะสามารถมีอายุที่ยาวนานได้
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 มีพระราชธิดาอยู่แล้ว 4 พระองค์ แต่ด้วยประเพณีสมัยนั้นการไม่มีพระราชโอรสไว้สืบบัลลังก์ทำให้บังลังก์ไม่มั่นคง แต่สุดท้ายบุตรคนที่ 5 ก็เป็นพระราชโอรสสำเร็จนามว่าอะเล็กเซย์
แต่ทว่าอะเล็กเซย์กลับป่วยเป็นโรคเลือดไหลไม่หยุดหรือฮีโมฟีเลีย ซารีนาพยายามหาวิธีรักษาทุกวิธีก็ไม่ได้ผลจนปี ค.ศ.1912 เลยให้นางสนองพระโอษฐ์ไปเชิญนักบวชจากไซบีเรียนามว่าเกรกอรี เอฟิโรวิช รัสปูติน เข้าวัง ซึ่งก็ทำให้อาการของอะเล็กเซย์ดีขึ้นจริงๆ แต่ขณะนั้นเรื่องอาการประชวรของอะเล็กเซย์เป็นความลับที่ไม่ได้แพร่งพรายสู่สาธารณะ ทำให้ประชาชนไม่เข้าใจว่ารัสปูตินนี้เป็นใคร ทำหน้าที่อะไรในวังกันแน่ จนเป็นเรื่องซุบซิบนินทาของชาวบ้านไปทั่ว
รัสปูตินเป็นที่น่าเชื่อถือของซารีน่ามาก ทุกๆคำแนะนำจะถูกส่งผ่านซารีน่าไปถึงพระเจ้าซาร์และพระเจ้าซาร์ก็จะทรงทำตามทั้งหมดยกเว้นเรื่องหนึ่งก็คือรัสปูตินได้เตือนพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ผ่านซารีน่า ว่าอย่าไปร่วมรบในสงครามโลกจะทำให้รัสเซียล่มสลาย แต่สุดท้ายพระเจ้าซาร์ก็ตัดสินใจร่วมรบในสงครามนี้และเดินทางไปรบในแนวหน้าด้วยตัวเอง
สงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มต้นในปี ค.ศ.1914 รัสเซียได้เข้าร่วมรบในสงครามนี้ต่อสู้กับฝ่ายเยอรมัน การที่พระเจ้าซาร์ออกไปนำทัพด้วยพระองค์เองทำให้กิจการภายในถูกดูแลโดยซารีน่า ซึ่งอยู่ภายใต้คำแนะนำของรัสปูติน รัสปูตินได้เข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในของรัสเซียอย่างมาก
มีการโยกย้าย ปลด ขุนนาง และรัฐมนตรีหลายราย สร้างความไม่พอใจให้กับคนหลายกลุ่มจนสุดท้ายถูกสังหารโดยเชื้อพระวงศ์ ก่อนตายรัสปูตินได้เคยทำนายไว้ว่าหากเขาถูกชาวบ้านคนธรรมดาฆ่าตายก็ไม่เป็นไร แต่หากถูกเชื้อพระวงศ์ฆ่าจะถึงจุดล่มสลายของราชวงศ์ ไม่น่าเชื่อว่าคำทำนายของเขาจะเป็นจริงในเวลาต่อมา
สงครามโลกทำให้รัสเซียเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจขั้นรุนแรง ราคาอาหารและพลังงานถีบตัวสูงขึ้นหลายเท่าตัว เพราะคนต้องไปเป็นทหารที่ดินถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า ประกอบกับช่วงนี้ ค.ศ.1916 สงครามโลกยังไม่จบแต่รัสเซียเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ให้กับออสเตรียพันธมิตรของเยอรมันสูญเสียทหารไปแล้วกว่า 5 ล้านคน สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมากจนในที่สุดเกิดการรวมประท้วงนำไปสู่การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ในที่สุด
การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1917 นั้นฝูงชนจำนวนมหาศาลได้ทำการประท้วงและจลาจลไปทั่วทั้งประเทศของรัสเซีย มีการนัดหยุดงาน ทำลายสถานที่ราชการ ปล้นสะดมร้านค้า เริ่มแรกพระเจ้าซาร์เลือกใช้กำลังเข้าปราบปรามจนสถานการณ์บานปลายไม่สามารถควบคุมได้อีกต่อไป ทำให้สภาดูมากราบทูลให้พระเจ้าซาร์สละราชสมบัติ และในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ.1917 พระเจ้าซานิโคลัสที่ 2 ได้ตัดสินใจสละราชสมบัติในที่สุดและจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นบริหารประเทศ
วันต่อมา 2 มี.ค. 1917 พระองค์ได้ตัดสินใจมอบราชบัลลังก์ให้แก่อะเล็กเซย์ พระราชโอรสแต่วันเดียวกันก็เปลี่ยนพระทัยมอบให้พระอนุชานามว่าไมเคิลแทน แต่พระอนุชาเห็นว่าการรับนั้นไม่ปลอดภัยเป็นอย่างมากจึงปฏิเสธ การปฏิเสธของพระอนุชาไมเคิลทำให้บัลลังก์ว่างลงถือเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์โรมานอฟที่ปกครองรัสเซียมายาวนานกว่า 300 ปี และยังเป็นการสิ้นสุดจักรวรรดิรัสเซียกลายเป็นสาธารณรัฐชั่วคราว
ภายหลังสละราชสมบัติพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ซารีนา โอรสและธิดาอีก 5 พระองค์ รวม 7 พระองค์ได้ถูกควบคุมตัวและกักบริเวณให้อยู่ภายในที่พัก โดยมีการย้ายที่ควบคุมตัวไปตามเมืองต่างๆเพื่อไม่ให้สามารถช่วยเหลือได้
ต่อมาเดือนตุลาคม 1917 ระหว่างที่การเมืองรัสเซียยังไม่นิ่ง พรรคบอลเชวิคที่นำโดยเวลาดีมีร์ เลนิน ได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจเป็นผลสำเร็จและการปฏิบัติต่อพระบรมวงศานุวงศ์ก็เปลี่ยนไป เดือน มิ.ย.1918 ไมเคิล พระอนุชาของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ที่เคยปฏิเสธบัลลังก์ก็ถูกนำไปสังหารในป่านอกเมือง
วันที่ 16 กรกฎาคม 1918 ณ เมืองเยกาเตรินเบิร์กตอนในของรัสเซียสุดขอบฝั่งยุโรป สถานที่กักบริเวรสุดท้ายพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และครอบครัวรวม 7 ชีวิต เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่กองทัพขาวอาจจะช่วยเหลือราชวงศ์ได้และฟื้นฟูระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกครั้ง
เลนินได้มีคำสั่งให้กลุ่มนายตำรวจลับเชกาปลุกพระเจ้าซาร์และครอบครัวกลางดึกให้ลงมาชั้นใต้ดินเพื่อรวมตัวเรียงหน้ากระดานกันเพื่อถ่ายรูปรวม จากนั้นหน่วยสังหารก็ได้เข้ามาระดมยิงครอบครัวทั้ง 7 จนเสียชีวิต ด้วยกระสุนทั้งหมดถึง 103 นัด จากนั้นได้นำศพออกไปนอกเมืองบริเวณเหมืองร้างในป่าพร้อมกับจัดการเผาและเอาน้ำกรดราดทำลายศพ เพราะกลัวว่าจะถูกเจอและนำกลับมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ของกลุ่มนิยมกษัตริย์
#history #ที่นี่มีเรื่องเล่า #ประวัติศาสตร์ #longstoryshort #ปฏิวัติ #รัสเซีย #ราชวงศ์โรมานอฟ
ประวัติศาสตร์
ข่าวรอบโลก
เรื่องเล่า
1 บันทึก
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย