Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ที่โปรด
•
ติดตาม
9 ม.ค. เวลา 02:44 • ท่องเที่ยว
“วัดนิเวศธรรมประวัติ” สอดส่องมองศิลป์ในอุโบสถพุทธที่อลังการที่สุด
หากจะกล่าวถึงสถาปัตยกรรมของวัดไทยแล้ว เชื่อเถิดว่าท่านผู้อ่านทั้งหลายคงจะนึกถึงภาพจำของวัดไทยที่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีจิตรกรรมฝาผนังรายรอบด้วยภาพทศชาติ เบื้องหลังพระประธานเป็นภาพไตรภูมิและเบื้องหน้าเป็นภาพมารผจญตามลักษณะทางประติมานวิทยา แต่ในขณะเดียวกันก็มีวัดไทยอยู่หลายวัดที่สร้างขึ้นมาสมัยหลังและรับเอาสถาปัตยกรรมตะวันตกมาประยุกต์เข้ากับสถาปัตยกรรมตะวันออกได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ หนึ่งในนั้นก็คือ “วัดนิเวศธรรมประวัติ”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สร้างวัดนิเวศธรรมประวัติขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2421 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อยามที่เสด็จฯแปรพระราชฐานมาประทับที่พระราชวังบางปะอิน ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยนายโยอาคิม กรัสซี่ ตัวพระอุโบสถสร้างขึ้นมาในรูปแบบสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิคมีหอคอยยอดแหลมสูง ทาสีเหลืองทั้งหลัง มีซุ้มหน้าต่างวงโค้งปลายแหลมซึ่งมีจุดเด่นในการใช้กระจกสีเพื่อเล่นกับความงามของแสงแดดในตอนกลางวัน ให้เกิดความรู้สึกตระการตาตระการใจแก่ผู้พบเห็น
ภายในพระอุโบสถมีลักษณะเป็นโถงยาวเหมือนกับโบสถ์ แต่คานด้านบนกลับมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมคล้ายกับหลังคาวัด ที่บริเวณด้านในสุดมีลักษณะเป็นแท่นบูชาสีดำขลิบทองตัดกันกับสีพื้นหลังที่ออกขาวชมพูได้อย่างลงตัว บนแท่นบูชาประดิษฐาน “พระพุทธนฤมลธรรโมภาส” ซึ่งเป็นพระประธานของวัด
ที่ฝั่งตรงข้ามกับพระประธานจะเห็นกระจกสีอยู่ด้านบน ที่อยู่ใต้กระจกสีทรงกลมด้านบนสุด เป็นภาพกระจกสีในซุ้มโค้งยอดแหลมเป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับนั่งบนบัลลังก์ มีจารึกภาษาละตินกำกับไว้ว่า Chulalongkorn Rex Siamensis
หน้าต่างของพระอุโบสถมีลักษณะเป็นหน้าต่างสองชั้น เป็นชั้นกระจกสีชั้นหนึ่ง และชั้นหน้าต่างไม้อีกชั้นหนึ่ง ที่ด้านบนสุดของซุ้มหน้าต่างวงโค้งปลายแหลมเองก็มีกระจกสีประดับอยู่ด้วย ซึ่งตามลักษณะของโบสถ์กอธิคในยุคแรกนั้นมักจะเป็นโบสถ์ทึบและมืด ซึ่งในสมัยหลังก็ได้มีการเพิ่มกระจกสีเข้ามาเพื่อสร้างความสว่างเข้ามาในตัวโถงโบสถ์
โดยมีความเชื่อทางประติมานวิทยาว่าแสงคือสัญลักษณ์ของพระเจ้า แต่เมื่อมาอยู่ในบริบทของวัดไทย สัญญะของแสงนี้อาจจะยังคงอยู่ในฐานะความสว่างไสวของปัญญาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็เป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ชม
#วัด #สถาปัตยกรรม #ที่เที่ยวอยุธยา #อยุธยา #ที่โปรด #ท่องเที่ยว
Ref:
https://readthecloud.co/niwet-dhamma-prawat-temple/
ท่องเที่ยว
ท่องเที่ยวไทย
สถานที่ท่องเที่ยว
บันทึก
1
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย