3 ม.ค. เวลา 05:07 • ครอบครัว & เด็ก

เหตุเกิดในห้องฉุกเฉิน

๑. ลูกเอ๋ย..
ผมไม่ทันจะได้กินข้าวกลางวัน ต้องรีบเดินทางไปให้ทันบ่ายสองโมง เพื่อนำลูกชายออกจากโรงพยาบาลเอกชนซึ่งอยู่ตรงข้ามกับโรงแรมหรูใจกลางเมืองกาญจนบุรี
ลูกชายไปอบรมและล้มป่วยกระทันหัน มีไข้ขึ้นสูง หมอเจาะเลือดหลายครั้ง พบว่าเกล็ดเลือดต่ำ ผมแปลกใจว่าทำไมเข้าโรงพยาบาลตั้งแต่สามทุ่ม จนถึงบ่ายโมงของอีกวันหนึ่งก็ยังใช้คำว่า..รอดูอาการ
อาการที่ว่าก็คือไข้เลือดออกและมาลาเรีย เพราะเห็นว่าลูกของผมมีอาการหนาวสั่น
ผมบอกให้ลูกรีบออกจากโรงพยาบาลเถอะ เพื่อไปโรงพยาบาลประจำจังหวัด เงินสดที่ผมเตรียมไปสองหมื่นบาทไม่พอจ่ายให้หมอ ต้องแก้ปัญหาเดี๋ยวนั้น เพื่อออกจากโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
เพราะหมอจะมาตรวจตอนเย็น และเชื่อว่าจะต้องให้ลูกผมนอนอีกคืนหนึ่ง เรื่องอะไรที่ผมจะต้องเสียเงิน ทั้งที่เบิกค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ หน่วยงานที่จัดอบรมฯ ก็ไม่ได้มาดูแลช่วยเหลือค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
สี่โมงเย็น ถึงโรงพยาบาลพหลฯ เข้าห้องฉุกเฉิน พยาบาลรีบเจาะเลือด พบว่าเกล็ดเลือดดีขึ้น พบเชื้อไวรัสอ่อนๆของไข้หวัดใหญ่ ไม่พบไข้เลือดออกหรือมาลาเรียแต่อย่างใด ให้กลับบ้านได้
ต้นเหตุของการป่วย เกิดจากทำงานหนัก ขาดการพักผ่อน จึงอ่อนเพลียสะสมต่อเนื่องมาหลายวัน วันหยุดก็ไม่ได้หยุด ผมจึงสงสัยยิ่งนัก ไหนว่า สพฐ.ลดภาระงานครูแล้วมิใช่หรือ?
งานอบรมครั้งนี้ หากจัดโดยเขตพื้นที่ฯ ผมจะไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะเขตฯ มีบุญคุณกับครอบครัวผม แต่ครั้งนี้หน่วยงานอื่นจัด และหน่วยงานนี้ก็มักจะให้ลูกของผมออกนอกโรงเรียนอยู่เสมอ คนที่เป็นตัวตั้งตัวตี คือผอ.รร.คนเก่า แล้วผอ.รร.คนใหม่ จะรู้หรือไม่ ว่ามันเกินกำลังของครูไปแล้ว
ผมจะต้องบอกลูกอีกกี่ครั้ง ว่าลูกเอ๋ย เราเป็นเพียง”ครูผู้ช่วย”ที่เขาให้ทดลองงาน เอาแค่สะสมความดีก็พอ อย่าได้แคร์”ความชอบ”เลยหนา มิฉะนั้นชีวิตของลูกจะหาไม่ แล้วมันจะไม่คุ้มนะ
ลูกเอ๋ย..เวลาเราเดือดร้อน ไม่มีใครมาช่วยเหลือเราหรอกนะ มีแต่พ่อกับแม่เท่านั้น พวกเขามีแต่ป้อนคำหวาน สรรเสริญเยินยอ ในความเก่งกาจของลูก แท้ที่จริงแล้ว ลูกแค่เก่งเฉพาะทางคือนาฏศิลป์(โขน) เท่านั้น
ลูกไม่ได้รอบรู้ด้านวิทยาศาสตร์หรือนวัตกรรมฯ เพียงแต่ลูกมีความรับผิดชอบ และต้องการให้ความร่วมมือ แบบที่ปฏิเสธใครไม่ได้ พ่อเตือนลูกแล้ว ให้ระวังอาจตกเป็นเครื่องมือ พวกเขาอยากได้หน้าได้ตาและมีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง
๒. เด็กน้อยเอ๋ย
เด็กชายป.๖ ในห้องฉุกเฉิน นอนอยู่บนเตียงข้างๆลูกชายผม แขนซ้ายหักเพราะเล่นฟุตบอลจึงต้องเข้าเฝือก หมอให้นอนเพื่อรอดูอาการ มีแม่ยืนใกล้ๆพูดคุยคอยให้กำลังใจ ทั้งสองคนส่งภาษากระเหรี่ยงอย่างชัดเจน
ผมถามว่ามาจากไหนกัน คำตอบคืออำเภอสังขละบุรี ผมรู้สึกแปลกใจระคนสงสาร ว่าทำไมมาได้ไกลจัง ตั้ง ๒๐๐ กม. ผ่านโรงพยาบาลอำเภอทองผาภูมิและไทรโยคมาได้อย่างไร? แต่ช่างเถอะ...
“ลุงครับ แม่ให้ถามว่าห้องน้ำไปทางไหน?ครับ” ผมจึงบอกให้เดินออกไป แล้วเลี้ยวขวา เดินตรงไปสุดทางก็จะถึงห้องน้ำ
“ลุงครับ คืนนี้แม่จะนอนอยู่กับผมในห้องนี้ได้ไหม?ครับ” ผมรีบบอกว่า “ไม่ได้หรอกนะ เพราะนี่คือห้องฉุกเฉินเขาไม่ให้ใครนอน เดี๋ยวหมอเขาจะส่งหนูไปพักที่ชั้นบน แม่ค่อยตามขึ้นไปเพื่อดูแลหนูนะครับ”
เด็กน้อยส่งภาษากระเหรี่ยงให้ผู้เป็นแม่ที่พูดไทยไม่ได้ ทั้งสองคนต่างมีรอยยิ้มให้แก่กัน
“ลุงครับ แม่ผมหิว ร้านอาหารอยู่ตรงไหนครับ?” อ๋อ วันนี้วันอาทิตย์ร้านสวัสดิการของโรงพยาบาลเขาปิดแล้ว เมื่อกี้ลุงซื้อข้าวมาจากเซเว่นต์ ๒ กล่อง ลุงแบ่งให้แม่หนูกล่องนึงนะ จะได้ไม่ต้องข้ามถนนไปฝั่งโน้น
ผมส่งถุงข้าวกล่อง พร้อมขนมปัง ๑ ชิ้นและนมอีก ๑ กล่อง เด็กน้อยยกมือไหว้ขอบคุณแล้วส่งข้าวกล่องให้แม่ ผู้เป็นแม่ยิ้มรับและขอบคุณเป็นภาษากระเหรี่ยง ฟังแล้วผมรู้สึกว่าไพเราะจับใจเหลือเกิน ทั้งที่ผมเองก็ฟังไม่ออก แต่รับรู้ได้จากสีหน้าและน้ำเสียงของแม่
เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล เข็นรถพาเด็กน้อยขึ้นตึกผู้ป้วยชาย ผมพาลูกชายคนเล็กกลับบ้าน
บทเรียนในห้องฉุกเฉิน คงสอนให้ลูกชายของผมมีทักษะชีวิตมากขึ้น และทำให้ผมพยายามทำใจในสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็มีคำถามคาใจ ที่ผมมักจะสงสารลูกคนอื่น แล้วคนอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ รู้สึกสงสารและเห็นใจลูกของผมบ้างไหม? หรือผมต้องคิดเหมือนเดิม คือไม่ต้องคาดหวัง ในสังคมที่โหดร้ายมากขึ้นทุกๆวัน
ชยันต์ เพชรศรีจันทร์
โฆษณา