3 ม.ค. เวลา 10:05 • ข่าวรอบโลก

“รัสเซีย” “ยูเครน” “ยุโรป” ใครได้ ใครเสีย

หลังท่อก๊าซรัสเซียเส้นใหญ่ที่ผ่านยูเครนเข้ายุโรปกลายเป็น “ท่อมืด” หลังหมดสัญญาและไม่ต่อ
3
การลำเลียงก๊าซธรรมชาติของรัสเซียผ่านยูเครนเข้ายุโรปได้ถูกยุติลงเมื่อ 1 มกราคม 2025 ตามที่ทราบกันแล้วบนหน้าข่าวในสื่อต่างๆ หลังจากการส่งก๊าซรัสเซียผ่านยูเครนไปยังลูกค้าในยุโรปอย่างต่อเนื่องมานานกว่าห้าทศวรรษ เริ่มตั้งแต่จากยุคสหภาพโซเวียตและต่อมาแปรสภาพเป็นของ “ก๊าซพรอม” (Gazprom) การส่งออกก็ไม่ได้หยุดชะงักแม้เกิดสงครามเต็มรูปแบบในยูเครนเมื่อปี 2022 และการรุกรานภูมิภาคเคิร์สก์ของกองทัพยูเครนในปี 2024
2
มาลองดูกันว่า “รัสเซีย” (คนขาย) “ยูเครน” (คนกลาง) และ “ยุโรป” (คนซื้อ) ใครได้ ใครเสีย จากการยุติส่งก๊าซผ่านท่อในยูเครน แล้วทางเลือกอื่นในการส่งก๊าซรัสเซียเข้ามาในยุโรปมีมากน้อยแค่ไหน ราคาต้นทุนก๊าซในยุโรปเพิ่มมากขนาดไหน
2
”อเล็กซานเดอร์ โนวัค” รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานรัสเซีย “กุนเธอร์ โอตทิงเกอร์” กรรมาธิการด้านพลังงานยุโรป และ “ยูริ โปรดาน” รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานยูเครน ร่วมกันลงนามต่อสัญญาข้อตกลงลำเลียงก๊าซรัสเซียผ่านยูเครนเข้ายุโรป ภาพถ่ายเมื่อปี 2014 เครดิตภาพ: AFP
1 มกราคม 2025: Gazprom และกระทรวงพลังงานของยูเครนประกาศว่าการลำเลียงส่งก๊าซผ่านยูเครนผ่านท่อหลักที่ชื่อ Urengoy-Pomary-Uzhgorod ได้ยุติลงแล้ว โดยในปี 2023 ก๊าซของรัสเซียมากกว่า 1.4 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรถูกส่งไปยังยุโรปเฉพาะที่ผ่านท่อเส้นนี้ นี่เป็นเพียงประมาณ 5% ของดีมานด์ในยุโรปเท่านั้น [1]
แต่เป็นเรื่องยากที่จะทดแทนปริมาณก๊าซขนาดนี้โดยไม่เจ็บปวด ประเทศในยุโรปต่างๆ จะต้องซื้อก๊าซที่มีราคาแพงขึ้นและพึ่งพา LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว) ที่จัดเก็บและขนส่งลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ และนี่เป็นสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ในการดึงคลังเก็บก๊าซใต้ดินออกมาใช้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลังเกิดวิกฤตพลังงานโดยรวมที่เกิดจากสงครามยูเครน
1
ในปีที่ผ่านมาเพียงปีเดียวราคาก๊าซในยุโรปเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% โดยอัตราการถีบของราคามีเร่งขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเย็น
เครดิตภาพ: Statista
  • ถึงขั้นล้มทั้งกระดานหรือไม่?
ตามการประมาณการของบลูมเบิร์ก Gazprom จะสูญเสียรายได้จากการส่งออกก๊าซประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์ต่อปีอันเป็นผลจากการหยุดส่งผ่านท่อในยูเครน [2]
โดยในส่วนของ “เซอร์เกย์ วากูเลนโก” นักวิจัยอาวุโสที่ Carnegie Berlin Center for Russian and Eurasian Studies ประมาณการความเสียหายไว้ที่ 5 พันล้านดอลลาร์ต่อปี [3]
ในทางกลับกันยูเครนก็จะสูญเสียรายได้อย่างน้อยหลายร้อยล้านดอลลาร์จาก “ค่าต๋ง” การใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านการลำเลียงก๊าซในดินแดนของตน (ปูตินประกาศตัวเลขเรื่องนี้ไว้ที่ 7-8 ร้อยล้านดอลลาร์ ขณะที่รอยเตอร์ก็ประมาณการว่ายูเครนจะสูญเสียรายได้ 8 ล้านดอลลาร์) นอกจากนี้ยูเครนจะสูญเสียสถานะพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ของยุโรปในการเป็นตัวกลางขนส่งพลังงานราคาถูกจากรัสเซียให้กับภูมิภาคอีกด้วย [4][5]
3
“การหยุดชะงักของการลำเลียงส่งก๊าซจากรัสเซียเข้ายุโรปไม่ได้เป็นเพียงการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานจุดหนึ่งเพิ่มเท่านั้น แต่ยังเป็นความล้มเหลวเชิงสัญลักษณ์ของทั้งระบบในยุคปัจจุบันอีกด้วย” ทัตยานา มิโตรวา นักวิจัยจากศูนย์นโยบายพลังงานโลกแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวกับบลูมเบิร์ก “โครงข่ายการจัดส่งก๊าซของสหภาพโซเวียตจำนวนมากที่เคยส่งก๊าซจากไซบีเรียให้กับยุโรปได้นั้น ได้กลายเป็นเงาของอดีตไปแล้ว” [2]
2
แสตมป์ท่อก๊าซ Urengoy-Pomary-Uzhgorod ของยูเครน ปี 1983 เครดิตภาพ: Wikidata
ในขณะเดียวกันลูกค้าส่วนใหญ่ของ Gazprom ในยุโรปกลางต่างก็หันไปใช้แหล่งนำเข้าทางเลือกอื่นแล้วตอนนี้ถึงแม้ราคาต้นทุนจะสูงกว่า เช่น Slovensky Plynarensky Priemysel บริษัทน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ที่สุดของสโลวาเกียประเมิน “ต้นทุนเพิ่มเติม” เพื่อให้มั่นใจว่ามีซัพพลายคงที่ผ่านเส้นทางท่อต่างๆ อยู่ที่ 90 ล้านยูโร และเตือนว่าความเสี่ยงของการไม่มีเสถียรภาพในพลังงานของยุโรปจะเพิ่มขึ้นในกรณีที่ฤดูหนาวหนาวเย็นกว่าปกติ [2]
ในบทวิจารณ์ของบริษัทด้านพลังงานของสโลวาเกียแห่งนี้เกี่ยวกับการยุติส่งก๊าซของ Gazprom ระบุว่าบริษัทไม่มีศักยภาพ “ทางเทคนิคและกฎหมาย” ที่จะจัดส่งก๊าซได้ต่อไป และกล่าวโทษเคียฟว่าเป็นสาเหตุของการล้มเหลวของข้อตกลงกับรัสเซีย
กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกล่าวเสริมว่า ผู้ที่ได้รับประโยชน์หลักจากการยุติส่งก๊าซรัสเซียเข้ายุโรปคือ “สหรัฐอเมริกา” แต่ในทางกลับกันกระทรวงพลังงานของยูเครนเรียกความล้มเหลวของความร่วมมือนี้ว่าเป็น “เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์” และเซเลนสกีเรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็น “ความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่สุดของมอสโก” [4][6]
5
เครดิตภาพ: Times New World
  • ยุโรปว่ายังไง? “ของขึ้นราคา” “ทรัมป์ว่าไง” “คำขาดของฟิโก (นายกสโลวาเกียผู้เสียประโยชน์รายหลัก)”
1
ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานยังไม่เห็นความเสี่ยงใดๆ ที่จะเกิดแรงกระเพื่อมอย่างรุนแรงต่อตลาดก๊าซในยุโรปในตอนนี้ แต่ทว่าเมื่อมองจากศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซ TTF เมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้ารายเดือนเมื่อเวลา 18:00 น. ตามเวลามอสโกเพิ่มขึ้น 3.7% เป็น 50.7 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง ยังไม่เคยเห็นราคาในตลาดที่สูงเช่นนี้มาตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงปี 2023 [7][8]
2
ปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลให้ราคาก๊าซเพิ่มขึ้นน่าจะเกิดจากการนำก๊าซสำรองจากสถานที่จัดเก็บใต้ดินของยุโรป (UGS) มาใช้อย่างมาก ซึ่งขณะนี้ยุโรปได้ระบายออกมาใช้แล้วจนเหลือต่ำกว่า 75% ถึงแม้ว่าจะไม่จำเป็นต้องกังวลจนถึงฤดูร้อนในปี 2025 แต่แผนการเติม UGS สำหรับฤดูหนาวปี 2025/2026 นั้นน่าตกใจมากเมื่อเทียบกับการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานก๊าซครั้งใหญ่นี้ [2]
1
ตามการคาดการณ์ของบลูมเบิร์ก ส่วนแบ่งตลาดของ LNG จากรัสเซียในตลาดยุโรปอาจเพิ่มขึ้น แม้ว่านักการเมืองบางคนจะเรียกร้องให้คว่ำบาตร LNG จากรัสเซียด้วยเช่นกัน แต่ปัจจุบันการซื้อ LNG จากรัสเซียก็อยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตามมันก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของทรัมป์ที่มีต่อยูเครนด้วย โดยทรัมป์อาจเลือกผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพื่อแลกกับหยุดยิง หรืออาจเข้มงวดมาตรการคว่ำบาตรมากขึ้นไปอีก หากเครมลินปฏิเสธที่จะผ่อนปรนมาตรการในสนามรบ [2]
3
แต่นักวิเคราะห์ยังคงคาดการณ์ว่าราคาก๊าซสำหรับครัวเรือนและสถานประกอบการอุตสาหกรรมในยุโรปจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2025 [9]
เครดิตภาพ: Mikhail Klimentyev/AFP via Getty Images
“โรเบิร์ต ฟิโก” นายกรัฐมนตรีสโลวาเกียยังประกาศว่า “ผลกระทบที่รุนแรง” จะเกิดขึ้นกับสหภาพยุโรปในภาพรวมหลังจากการแตกหักเรื่องก๊าซรอบใหม่กับรัสเซีย ประเทศของเขาได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการยุติการขนส่งก๊าซเข้ายุโรป เพราะว่าการสูบจ่ายหรือเพิ่มแรงดันที่สถานีในสโลวาเกียเพียงอย่างเดียวก็ทำให้ประเทศมีรายได้กว่า 5 ร้อยล้านดอลลาร์ต่อปี ฟิโกยังขู่ยูเครนด้วยมาตรการตอบโต้ในรูปแบบของการหยุดจ่ายไฟฟ้าให้อีกด้วย [10]
2
คำถามใหญ่ในขณะนี้คือว่า ประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะ “สโลวาเกีย” จะสามารถบรรลุข้อตกลงกับรัสเซียเพื่อดำเนินการต่อในเรื่องส่งก๊าซเข้ายุโรปผ่านวิธีหรือเส้นทางอื่นอย่างน้อยบางส่วนของปริมาณที่สูญเสียไปในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งได้หรือไม่ โจนาธาน สเติร์น นักวิจัยชั้นนำจากสถาบันออกซ์ฟอร์ดเพื่อการศึกษาด้านพลังงาน กล่าวในการแสดงความคิดเห็นต่อบลูมเบิร์ก
1
ในขณะเดียวกันผู้แทนของคณะกรรมาธิการยุโรปยืนยันกับสื่อดังกล่าวว่า การหยุดส่งก๊าซรัสเซียผ่านยูเครนไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับทางการสหภาพยุโรป และ “สหภาพยุโรปได้เตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ดังกล่าวไว้แล้ว” ก่อนหน้านี้ อัวร์ซูลา ฟ็อน เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้กล่าวเช่นเดียวกัน โดยเธอตั้งเป้าหมายให้สหภาพยุโรปหยุดการนำเข้าแร่จากรัสเซียทั้งหมดภายในปี 2027
3
ลูกค้าของ Gazprom ในยุโรปยังรวมถึง “เซอร์เบีย” และ “ฮังการี” โดยพวกเขารับก๊าซผ่านท่อส่งอีกเส้นหนึ่งคือ TurkStream ซึ่งเลี่ยงผ่านยูเครน แต่ก๊าซรัสเซียผ่านเส้นนี้ที่ลอดทะเลดำเข้าตุรกีในปริมาณที่ไม่เยอะมากเท่าบนบกผ่านยูเครน ปริมาณมันไม่เพียงพอต่อดีมานด์ที่สูงขึ้นในหน้าหนาว (จริงแล้วมีท่ออีกเส้นหนึ่งลอดผ่านทะเลดำแต่สายสั้นกว่าเข้าตุรกีชื่อ Blue Stream แต่เส้นนี้เหมือนเน้นส่งให้ใช้ภายในตุรกีมากกว่า)
1
แต่อย่างไรก็มองได้ว่า “ตุรกีก็กลายเป็นผู้ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นมากหลังก๊าซรัสเซียถูกหยุดส่งเข้ายุโรปผ่านยูเครนแล้ว”
ส่วนท่อก๊าซอีกท่อหนึ่งจากรัสเซียผ่านเบลารุสและโปแลนด์ (Yamal) ถูกปิดลงหลังจากที่สงครามเต็มรูปแบบในยูเครนเริ่มขึ้นในปี 2022 ส่วนท่อก๊าซยุทธศาสตร์ที่ปริมาณส่งเยอะสุดด้วยข้อตกลงกับเยอรมนีคือ Nord Stream 1 และ 2 ผ่านทะเลบอลติก ก็ถูกระเบิดทิ้ง 3 ใน 4 เส้น โดยไอโม้งที่ไหนก็ไม่รู้ ทำให้ทราฟฟิกขนส่งก๊าซรัสเซียเข้ายุโรปเป็นง่อยไปแล้วทีหนึ่ง
5
เครดิตภาพ: RFE/RL
เมื่อปลายปี 2024 Gazprom ยังสูญเสียลูกค้าเก่าแก่ในยุโรปอีกราย นั่นคือบริษัท OMV ของออสเตรียได้ระงับสัญญากับบริษัทพลังงานของรัสเซียเนื่องจากปัญหาการฟ้องร้อง การยุติส่งก๊าซผ่านยูเครนทำให้การกลับมาร่วมมือกันด้านก๊าซระหว่างมอสโกและเวียนนายิ่งมีโอกาสกลับมาสานกันต่อได้ยากขึ้นไปอีก เพราะออสเตรียรับก๊าซที่ถูกส่งต่อมาจากสถานีเพิ่มแรงดันในสโลวาเกียที่เป็นด่านหน้าจากยูเครนอีกทีหนึ่ง (ลองดูภาพรวมในรูปไดอะแกรมข้างบน)
1
ยังไม่ได้พูดถึงเมื่อช่วงปีก่อน 2024 ที่ยูเครนบุกเข้าไปใน “ภูมิภาคเคิร์สก์” ชายแดนของรัสเซียติดกับยูเครน เพื่อไปยึดสถานีชุมสายท่อก๊าซซูดจาที่นี่ ซึ่งตอนนั้นก็ส่งผลกระทบไปบ้างแล้วทีหนึ่ง สามารถอ่านเพิ่มเติมบทความก่อนหน้าที่ทางเพจได้ลงไว้ตามลิงก์ด้านล่างนี้
เรียบเรียงโดย Right Style
3rd Jan 2025
  • เชิงอรรถ:
<เครดิตภาพปก: The Economist>
โฆษณา