Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bank of Thailand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
6 ม.ค. เวลา 10:00 • ธุรกิจ
ค้าปลีกท้องถิ่นใต้ปรับรับความท้าทาย
มองภาพธุรกิจค้าปลีกภาคใต้ในปี 68 ธุรกิจจะยังคงเผชิญกับ 3 ความท้าทายเดิม คือ การแข่งขันรุนแรงขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น และกำลังซื้อครัวเรือนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยเฉพาะจำนวนธุรกิจค้าปลีกรายเล็กที่โตน้อยกว่าธุรกิจค้าปลีกรายกลางและใหญ่ เนื่องจากรายกลางและใหญ่สามารถปรับตัวเพื่อความอยู่รอด บทความนี้ จึงอยากชวนทุกท่านทำความเข้าใจถึงความท้าทายที่เกิดขึ้น และสำรวจกลยุทธ์การปรับตัวที่น่าสนใจของธุรกิจค้าปลีกในพื้นที่ที่เกิดขึ้นจริง
หมายเหตุ 1.สถิติ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ปี 66 รายเล็กเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ขณะที่รายกลางและใหญ่เพิ่มขึ้น 9.4% 2.ธุรกิจค้าปลีก หมายถึง ร้านขายปลีกสินค้าทั่วไป ร้านขายปลีกอาหารเครื่องดื่ม ยาสูบ และประเภทอื่น ๆ ทั้งที่เป็นนิติบุคคลและส่วนบุคคล
3 ความท้าทายที่ธุรกิจค้าปลีกภาคใต้ต้องเผชิญ
1. การแข่งขันรุนแรงขึ้น
61% ของส่วนแบ่งตลาดค้าปลีกไทยในปัจจุบันมาจากผู้ประกอบการค้าปลีกส่วนกลาง (Modern Trade) ที่เพิ่มขึ้นจากก่อนโควิด (ปี 62) ถึง 5% เนื่องจากผู้ประกอบการค้าปลีกส่วนกลางขยายสาขารุกภูมิภาคหนักขึ้น โดยมีแนวโน้มกินส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนให้เห็นการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทั้งนี้ การแข่งขันตลาดค้าปลีกภาคใต้ไม่ต่างจากทั้งประเทศ โดยภาคใต้มีการแข่งขันรุนแรงกว่าภูมิภาคอื่น จากจำนวนสาขาของ Modern Trade ต่อประชากรแสนคน (26 สาขา) มากกว่าภาคเหนือ (19 สาขา) และภาคอีสาน (20 สาขา)
อีกทั้งยังเผชิญกับการแข่งขันระหว่างรายใหญ่ในท้องถิ่นที่ขยายสาขาจากความได้เปรียบด้านเงินทุน ยังไม่นับรวมการแข่งขันกับช่องทางออนไลน์และอื่น ๆ
2. ต้นทุนสูงขึ้น
ต้นทุนที่สูงขึ้นเป็นอีกตัวแปรที่ธุรกิจค้าปลีกกำลังเผชิญ จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการค้าปลีกภาคใต้พบว่า ในปี 67 ผู้ประกอบการเกือบทั้งหมดตอบว่าเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้น โดยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ต้นทุนสินค้า ต้นทุนพลังงาน และค่าแรง โดยเฉพาะรายเล็กที่เผชิญภาระต้นทุนสูงกว่ารายใหญ่ จากข้อจำกัดด้าน Economy of scale และสายป่านสั้นกว่า
รวมถึงการปรับราคาขายสินค้าทำได้ช้ากว่ารายใหญ่ เนื่องจากการแข่งขันสูงและกำลังซื้อของผู้บริโภคยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการคาดว่าต้นทุนในปี 68 จะยังมีแนวโน้มสูงขึ้น
3. กำลังซื้อครัวเรือนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
ปัจจุบันการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชาวใต้ยังคงต่ำกว่าก่อนโควิด 5% (ประเทศสูงกว่าก่อนโควิดแล้ว 15%) โดยกำลังซื้อครัวเรือนภาคใต้ฟื้นตัวไม่เต็มที่ เนื่องจากมีปัจจัยฉุดรั้งสำคัญ คือ ค่าใช้จ่าย (ไม่รวมภาระหนี้) ที่โตแซงหน้ารายได้ สะท้อนจากปี 66 มี 64% ของครัวเรือนภาคใต้ทั้งหมดที่รายได้ไม่พอรายจ่าย
อีกด้านก็พบว่า ภาระหนี้สินของครัวเรือนภาคใต้สูงขึ้นเช่นกัน โดยหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงกว่าก่อนโควิดถึง 1.2 เท่า ทำให้รายได้คงเหลือเฉลี่ยต่อเดือนลดลง 31% จาก 4,507 บาท เหลือ 3,097 บาท ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยลดการใช้จ่ายต่อครั้งลงเมื่อเทียบกับก่อนโควิด
แล้วธุรกิจค้าปลีกภาคใต้ปรับตัวรับความท้าทายนี้อย่างไร ?
3 กลยุทธ์การปรับตัวของธุรกิจค้าปลีกภาคใต้
การปรับตัวรับความท้าทายคือทางรอดของธุรกิจ จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการค้าปลีกภาคใต้พบกลยุทธ์การปรับตัวที่น่าสนใจและแตกต่างกันทั้งในเชิงพื้นที่ตั้งและขนาดธุรกิจ จึงขอเล่าตัวอย่างการปรับตัวที่เห็นจริงในพื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการนำไปปรับใช้และต่อยอดธุรกิจต่อไป
...........
ค้าปลีกขนาดใหญ่และกลาง ในพื้นที่ท่องเที่ยว
...........
1. รู้เขา รู้เรา เข้าใจลูกค้า
●
สินค้าตอบโจทย์นักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น สินค้าไทยยอดฮิต และลูกค้าไทยกลุ่มบน-กลาง เช่น สินค้าพรีเมียมนำเข้าจากต่างประเทศ เครื่องสำอาง และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
●
รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เพิ่มโซนคาเฟ่ให้ลูกค้านั่งพักผ่อนระหว่างรอซื้อสินค้า
●
พนักงานพูดภาษาต่างประเทศได้
●
โปรโมชันไม่เน้นลดราคาเพราะลูกค้ามีกำลังซื้อ แต่ใช้การสะสมแต้มแทน
2. ทำเลที่ตั้งดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
●
ตั้งใกล้กับโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยว
3. เทคโนโลยี เปิดรับและปรับใช้
●
ใช้ระบบจัดการสินค้าคงคลังเพื่อบริหารต้นทุน
●
เพิ่มช่องทางการขายผ่าน Platform e-commerce
●
มีช่องทางการชำระเงินหลากหลายรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น Alipay และ Cross-border QR payment
...........
ค้าปลีกขนาดใหญ่และกลาง นอกพื้นที่ท่องเที่ยว
...........
1. รู้เขา รู้เรา เข้าใจลูกค้า
●
สินค้ามีความหลากหลาย และราคาไม่แพง เช่น ของใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้า และอาหารพร้อมทาน
●
แบ่งขายสินค้าเป็นแพ็กเล็ก
●
ขยายพื้นที่ทางเดินสร้างความสะดวกสบายให้ลูกค้า
●
โปรโมชันลด แลก แจก แถม ในช่วงเทศกาลสำคัญ
●
จัดกิจกรรมพิเศษ เช่น งานแฟร์ขายสินค้าไตรมาสละครั้ง
2. ทำเลที่ตั้งดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
●
ตั้งใกล้แหล่งชุมชน ติดถนนเส้นหลัก และมีพื้นที่จอดรถ
3. เทคโนโลยี เปิดรับและปรับใช้
●
ใช้ระบบจัดการสินค้าคงคลังเพื่อบริหารต้นทุน
●
เพิ่มช่องทางการขายผ่าน Platform e-commerce
...........
ค้าปลีกขนาดเล็ก (โชห่วย) ในและนอกพื้นที่ท่องเที่ยว
...........
1. รู้เขา รู้เรา เข้าใจลูกค้า
●
สินค้าเป็นที่นิยมในย่านนั้น เช่น ขายเยลลีในย่านโรงเรียน และเครื่องดื่มชูกำลังในย่านโรงงาน
●
แบ่งพื้นที่หารายได้เสริม เช่น บริการเติมน้ำมันแบบหลอด และตู้ซักผ้าหยอดเหรียญ
●
ขายเป็นเงินเชื่อแก่ลูกค้าประจำ โดยกำหนดวงเงินและระยะเวลาชำระเงินคืนที่ชัดเจน
●
บริการเป็นกันเอง จดจำพฤติกรรมการซื้อสินค้าของลูกค้าประจำได้
●
โปรโมชันปรับได้ไวตามกลุ่มลูกค้า เช่น ของแถม
2. ทำเลที่ตั้งดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
●
ตั้งอยู่ในซอย ในหมู่บ้าน ใกล้โรงเรียนและโรงงาน
3. เทคโนโลยี เปิดรับและปรับใช้
●
ใช้ social media เช่น TikTok และ Facebook สร้างการรับรู้และเพิ่มยอดขาย
รู้หรือไม่? ผู้ประกอบการค้าปลีกภาคใต้ขนาดใหญ่บางแห่งให้การสนับสนุนร้านค้าปลีกขนาดเล็กให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ เช่น ด้านการบริหารจัดการร้านค้า ช่วยวางแผนตั้งแต่การเลือกสินค้า การจัดการสินค้าคงคลัง และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย รวมทั้งสนับสนุนด้านการให้ credit term ในการสั่งซื้อสินค้า เพื่อให้ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่และเล็กได้รับประโยชน์และเติบโตไปพร้อมกัน
ธุรกิจสามารถเลือกใช้กลยุทธ์ที่ผสมผสานกันบนความเข้าใจพื้นที่และลูกค้าเป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจมีข้อได้เปรียบและอยู่รอดได้ท่ามกลางความท้าทายที่ต้องเผชิญ
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
ผู้เขียน
รัชณภัค อินนุกูล และเพชรไพลิณ จุลสัตย์
ธนาคารแห่งประเทศไทย
การลงทุน
ธุรกิจ
เศรษฐกิจ
1 บันทึก
4
3
1
4
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย