4 ม.ค. เวลา 01:01 • ธุรกิจ

บางสถานการณ์ ลูกน้องต้องการ “คำตอบ” มากกว่า “คำคม”

HR ไร้พรมแดน
4 มกราคม 2568
การเป็นหัวหน้ามีความยากเรื่องหนึ่งในการรับฟังปัญหาของลูกน้องคือ การจะต้องตัดสินใจว่า
เมื่อไหร่ควรจะ “ช่วยคิด” คือ ให้ข้อแนะนำ ใก้แนวทางแก้ปัญหา
หรือ
เมื่อไหร่ควรจะ “ชวนคิด” คือ การโค้ช การให้ลูกน้องค่อยๆคิด หาทางออก หาแนวทางแก้ปัญหาด้วยตนเอง
เพราะธรรมชาติของการบริหารคนของหัวหน้าแต่ละคน จะมีสไตล์ มีความเชื่อของตนเองว่า แนวทางการบริหารทีมแบบนี้แหละที่ทำให้ตนเองประสบความสำเร็จในการบริหารทีม ช่วยให้ทีมทำงานได้อย่างบรรลุผลสำเร็จ แล้วจะยึดอยู่กับแนวทางเดียวกับทุกปัญหาที่ลูกน้องนำมาปรึกษาหารือ คือ
ถ้าเชื่อในเรื่องการ “ช่วยคิด” ก็จะตัดสินใจ จะให้ทางออกกับลูกน้องในทุกครั้ง
แต่หากหัวหน้าชอบแนวทางการ “ชวนคิด” ก็จะไม่ให้ทางออก ไม่มีความเห็น ไม่ฟันธง แม้จะเป็นปัญหาที่จะต้องการแก้ปัญหาแบบเร่งด่วนมากก็ตาม
และด้วยเจตนาดีที่อยากจะ”ชวนคิด” เพื่อให้ลูกน้องได้เติบโต ได้ฝึกคิด ฝึกแก้ปัญหาด้วยตนเอง หัวหน้าบางคนก็จะมีคำพูดที่โน้มน้าว ทึ่กระตุ้นให้คิดเป็น “คำคม”
แต่ในบางสถานการณ์ ปัญหาที่ลูกน้องนำมาปรึกษา อาจจะเกินกำลัง เกินประสบการณ์ที่ลูกน้องจะคิดเองได้ เขาต้องการ “คำตอบ” มากกว่า “คำคม” เพราะปัญหาที่เขาเจอเวลานั้น มันรุมเร้าเกินกว่าที่เขาจะคิดเองได้
และหากการที่ลูกน้องนำปัญหามาปรึกษาหัวหน้าหลายต่อหลายครั้งแล้วได้ “คำคม” มากกว่า “คำตอบ” สุดท้าย ความเชื่อมั่นในหัวหน้า ความรู้สึกพึ่งพาได้ จะหายไปโดยหัวหน้าเองอาจจะไม่รู้ตัว
เมื่อความเชื่อมั่นในหัวหน้าหายไป ความผูกพันที่จะอยากทำงาน อยากทุ่มเทให้องค์กรก็จะค่อยๆหมดไป กลายเป็นคนหมดไฟ หรือ ไปจากองค์กรได้ในท้ายที่สุด
เพราะเวลาที่ลูกน้องนำปัญหาเข้ามาปรึกษาหัวหน้านั้น ในบางสถานการณ์ เขาต้องการ “คำตอบ” มากกว่า “คำคม”
Credit photo Freepik
#leadership
โฆษณา