4 ม.ค. เวลา 08:26 • หุ้น & เศรษฐกิจ

รับเงิน 100,000 บาทจากประกัน 48 โรคร้ายยากมาก...จริงหรอ

ก่อนทุกท่านจะอ่าน อยากให้ทราบว่าผู้เขียนไม่ได้มีอาชีพขายประกัน แค่เป็นผู้ที่มีความคิดจะเกษียณสบาย มาตั้งแต่วัยรุ่น และพอทำได้แล้วจึงอยากแบ่งปันประสบการณ์
เริ่มมาจากต้นปี 2567 นี้ (ราวเดือนมีนาคม) ผู้เขียนมีอาการแน่นที่หน้าอก หายใจหอบ จะเป็นลม เวลายกของหนัก หรือเดินขึ้นสะพานลอย หลังจากวินิจฉัยแล้ว คุณหมอวินิจฉัยว่าผู้เขียนมีสภาวะหัวใจขาดเลือด อันเนื่องมาจากเส้นเลือดตีบ
วันที่เข้าพบแพทย์ (รพ. ย่านบางแค) คุณหมอจะให้แอดมิททันที แต่ผู้เขียนปฏิเสธและขอเข้าแอดมิทในวันรุ่งขึ้นเนื่องจากมีงานด่วนติดพลัน คุณหมอจึงให้ทานยาสลายลิ่มเลือด ยาลดไขมันในเส้นเลือด และ ฯลฯ ภายในตอนนั้น
เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นแล้ว เช่น สายชาร์จ โทรศัพท์มือถือแล้วผู้เขียนจึงเดินทางไปที่รพ. คุณหมอก็จับให้เข้าห้อง CCU และก็ติดเครื่องวัดคลื่นหัวใจ ติดเครื่องวัดความดัน ระโยงระยาง และฉีดยาสลายลิ่มเลือดทันที
ช่วงสายของวันเดียวกัน คุณหมอแจ้งว่า วันรุ่งขึ้นจะทำการฉีดสี และทำบอลลูน (หากจำเป็น) ผู้เขียนมีความกังวลมาก เพราะมีคนรู้จักเคยเสียชีวิตหลังจากการฉีดสี (แม้ว่าในทางการแพทย์แล้วจะไม่อันตราย หากคนไข้ไม่แพ้อาหารทะเล) จึงทำการปรึกษากับคนในครอบครัว และสรุปว่าจะให้แพทย์ทำการรักษาแบบ Non-Intrusive (ไม่บุกรุก ไม่ฉีดสี ไม่สวนสาย) กล่าวคือ ทานยา และดูแลรักษาสุขภาพอย่างดี
หลังจากอธิบายให้ทางคุณหมอที่ดูแลเคสเป็นเวลาหลายนาทีแล้ว คุณหมอยอมให้กลับบ้านได้ แต่ต้องให้ตรวจติดตามตามนัด โดยหลังจากเห็นบิลเรียกเก็บเงินแล้ว ผู้เขียนไม่ตกใจมากเพราะมีประกันสุขภาพ ค่าใช้จ่ายคิดเป็นเงินแล้ว 50,000 กว่าบาท แต่เนื่องจากประกันดังกล่าว ผู้เขียนจึงเสียแค่เวลาในการรอทางรพ. ตรวจเช็คสิทธิ์ในการรักษาพยาบาล ตรงนี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าตนเองโชคดีมาก ที่มีประกันสุขภาพ รวมถึงได้เงินพิเศษจากการประกัน 48 โรคร้าย จึงมีแนวคิดอยากจะแบ่งปันเรื่องราวเพื่อเป็นวิทยาทาน
เริ่มประกัน 48 โรคร้าย
ผู้เขียนทำประกันชีวิต และมีสัญญาเพิ่มเติมคือ ประกันสุขภาพ, ประกัน 48 โรคร้าย, และประกันอุบัติเหตุกับบริษัทประกันกรุงเก่าตั้งแต่เพิ่งเรียนจบใหม่ ๆ คำนวณแล้วตกปีละหมื่นกว่าบาท โดยเป็นประกันชีวิต 6,000 กว่าบาท
ประกันดังกล่าวมีวิธีการจ่ายแบ่งเป็น 3 ระดับตามระดับความหนักเบาของอาการ โดยกระบวนการตั้งแต่ตอนที่ผมติดต่อบริษัทประกันจนได้รับเช็คคิดแล้วเป็นเวลา 80 วัน เรียงลำดับตามไทม์ไลน์ดังนี้
ราวเดือนสิงหาคม เริ่มส่งอีเมลล์หาเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ประกันหลังจากแพทย์วินิจฉัยว่ามีสภาวะหัวใจขาดเลือดตอนเดือนมีนาคมปีเดียวกัน พร้อมแนบหลักฐานพื้นฐานเช่น ผล Echo, ECG, ผลเลือด, และ ฯลฯ
ภายใน 1 วันให้หลังเจ้าหน้าที่ก็ตอบอีเมลล์กลับพร้อมสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ถัดมาอีก 1 อาทิตย์เจ้าหน้าที่ก็มีเอกสารให้กรอกเช่น เอกสารเคลม รวมถึงเอกสารให้แพทย์กรอก พร้อมให้ส่งเอกสารทั้งหมดกลับทาง EMS (ในส่วนของบริษัทประกันใช้เวลาทั้งหมดช่วงนี้ประมาณ 1 อาทิตย์)
สลับมาทางด้านรพ. เนื่องจากต้องให้แพทย์ช่วยกรอกเอกสารจึงใช้เวลาอีกเกือบ 1 เดือน เพราะรอผู้เขียนว่าง และรอแพทย์กรอกเอกสาร (ตรงนี้ทางรพ. มีเก็บค่าบริการในการให้คุณหมอกรอก 500 บาท) โดยผู้เขียนต้องชำระเอง (ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 40 วัน)
ราวปลายเดือนกันยายน ผู้เขียนได้ทำการส่ง EMS ให้บริษัทประกันและได้รับเช็คเคลมเต็มจำนวนวงเงินตามวงเงินที่ทำประกันภายในไม่เกิน 2 อาทิตย์จากวันที่บริษัทประกันได้รับเอกสาร
ข้อสังเกตุ
ในอนาคตบริษัทฯ ประกันควรจะขอเอกสารโดยตรงกับทางรพ. โดยทางผู้ทำประกันควรจะแจ้งบริษัทฯ ผ่านจดหมายเคลม และอาจจะอนุญาตให้บริษัทประกันมีสิทธิ์ในการสอบถามอาการของผู้ช่วย ที่สำคัญผู้เคลมไม่ควรต้องเสียเงินเพิ่มเติมจากค่าบริการแพทย์ในการกรอกเอกสารใด ๆ
หลังจากได้รับเช็คเงินเคลมแล้ว ทางบริษัทประกันทำการแจ้งว่ากรมธรรม์ในส่วนของ 48 โรคร้ายถูกยกเลิกทันที ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า ควรจะยกเว้นเฉพาะโรคที่ผู้เคลมประกันเป็นเท่านั้น
โฆษณา