4 ม.ค. เวลา 08:32 • การศึกษา
คริสตจักรบ้านแม่กานาไร่เดียว

ความรู้สึกและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเป็นสื่อพลเมือง

สวัสดีครับ ผมนายภัสพงษ์ สุทธศาสตร เป็นนิสิตสาขาวิชาการสื่อสารสื่อใหม่จากมหาวิทยาลัยพะเยา ในเทอมนี้ผมได้รับบทบาทหน้าที่ในการเป็นสื่อพลเมืองให้กับคนในชุมชนบ้านแม่กานาไร่เดียว และนี่คือเรื่องราวจากประสบการณ์ของผมในฐานะนักสื่อสารแบบ Citizen Journalist หรือ "นักข่าวพลเมือง" บทบาทที่เปิดโอกาสให้คนธรรมดานอกพื้นที่อย่างเรามีพื้นที่ในการเล่าเรื่องราวที่สำคัญในชน ผ่านมุมมองที่ใกล้ชิด
การได้เป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ไม่เพียงแค่ทำให้ผมได้เรียนรู้ทักษะการเล่าเรื่องหรือการวิเคราะห์ข้อมูลเท่านั้น แต่ยังทำให้ผมได้เข้าใจถึงพลังของคำพูดและบทบาทของการสื่อสารที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง
ในความรู้สึกของผมตอนแรกนั้นการเป็นสื่อพลเมืองคือการเป็นเพียงแค่นักข่าวให้กับชุมชนเล็กๆ เป็นคนกลางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นภายในชุมชนให้กับหมู่บ้านไปสู่โลกภายนอก ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่เมื่อผมได้เริ่มต้นลงมือทำจึงได้ทำให้ได้เข้าใจว่า สื่อที่เราทำนั้นไม่ใช่เพียงแค่ให้ผู้คนภายนอกดูเท่านั้น แต่ในบางเรื่อง บางกรณี เราจำเป็นต้องให้ผู้คนในหมู่บ้านเป็นผู้รับสารเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนในชุมชนทีละเล็กน้อย
Citizen Journalism สำหรับผมจึงไม่ใช่แค่การรายงานข่าวเพียงเท่านั้น แต่คือการสร้างความเข้าใจระหว่างผู้คน และเป็นก้าวเล็กๆ ในการขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ในช่วงเริ่มต้นนั้น ทีมของผมได้เลือกชุมชนเพื่อที่จะลงมือทำในส่วนหนึ่งของรายวิชา แต่การเลือกนั้นเราไม่สามารถเลือกได้เลย แต่เราจำเป็นต้องลงชุมชนจริงๆ เพื่อสำรวจสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ของคนในชุมชน เราสามารถหาข้อมูลของชุมชนผ่านอินเตอร์เน็ตได้ แต่การที่เราได้เห็นทุกอย่างด้วยสายตาของตัวเองนั้นทำให้เรารู้จักและเข้าใจชุมชนมากกว่า หลังจากที่ทีมของผมได้เลือกชุมชนแล้ว เราจะนำข้อมูลที่เราได้มาจากการลงชุมชนมาวิเคราะห์สิ่งที่ชุมชนขาด สิ่งที่ชุมชนต้องการ และปัญหาที่ชุมชนกำลังพบเจออยู่
ปัญหาที่ผมเจอต่อมานั้นคือ ข้อมลที่เรานำมาวิเคราะห์นั้น ไม่สามารถนำมาสรุปเป็นความต้องการของชุมชนได้ ทำให้ทีมของผมไปต่อไม่ได้ เนื่องจากว่าข้อมูลที่เก็บมานั้นไม่มากพอ ถ้าหากว่าเราฝืนไปต่อนั้น สื่อที่เราต้องการที่จะทำอาจจะไม่ตรงกับความต้องการของชุมชน ในขั้นตอนนี้นั้นทำให้ผมได้เรียนรู้สิ่งนึงว่า ในการที่เราทำจะทำสื่อชุมชนได้ เราจำเป็นต้องเข้าใจชุมชนมากๆให้เปรียบเสมือนเราเป็น 1 ในชุมชนนั้นๆ เพื่อให้ชุมชนได้รับสิ่งที่เหมาะสมที่สุด
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เราต้องไปลงชุมชนอีกครั้ง แต่การลงชุมชนในครั้งนี้เรามีความตั้งใจและหัวข้อที่ชัดเจน ทำให้การลงชุมชนครั้งนี้เราได้ข้อมูลที่จำเป็นและได้รับรู้ความต้องการของคนในชุมชนจริงๆ ทำให้เราเข้าใจชุมชนมากขึ้น การที่เราจะลงพื้นที่ให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและจำเป็นนั้น เราต้องวางแผนให้ดี และต้องทราบว่าข้อมูลที่เราต้องการนั้นใครจะสามารถให้ข้อมูลได้บ้าง
หลังจากนั้นจึงได้เริ่มต้นการทำสื่อให้กับชุมชน ซึ่งสิ่งที่ยากกว่าคือการทำให้คนในชุมชนนั้นมีส่วนร่วมในการสร้างสื่อ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับสื่อ เพิ่มความน่าเชื่อถือและเพื่อสร้างพฤติกรรมการเป็นสื่อชุมชนให้กับชาวบ้าน เราจะต้องติดต่อกับชาวบ้าน วางแผนหาช่วงเวลาที่ตรงกันเพื่อร่วมกันผลิตสื่อ แต่นั้นก็ทำให้ผมได้เรียนรู้และฝึกสกิลเกี่ยวกับการทำงานร่วมกับผู้อื่น ถึงแม้สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ยากแต่ในความคิดของผมนี่ยังไม่ใช่สิ่งที่ยากที่สุด
สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับผม คือการค่อยๆปลูกฝังพฤติกรรมการเป็นสื่อพลเมืองให้กับคนในชุมชน เนื่องจากในหมู่บ้านแม่กานาไร่เดียวนั้นไม่มีแฟนเพจเฟซบุ๊กหรือสื่อออนไลน์ต่างๆของหมู่บ้าน ทำให้บุคคลภายนอกไม่สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของหมู่บ้าน ถึงแม้จะมีบุคคลภายนอกเป็นสื่อกลาง แต่การที่ชาวบ้านที่มีความรู้ ความเข้าใจ เป็นคนในพื้นที่ทำให้มีความน่าเชื่อถือ และข้อมูลที่ถูกต้องมากกว่าบุคคลภายนอก นี่เป็นสาเหตุที่จำเป็นต้องให้ชาวบ้านสามารถสร้างสื่อและเผยแพร่ด้วยตนเอง
ผมตั้งใจที่จะทำหน้าที่นี้ต่อไปอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ และหวังว่าจะสามารถส่งต่อความรู้ ทักษะ และแรงบันดาลใจให้กับคนในชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนสามารถลุกขึ้นมาเล่าเรื่องราวของตนเอง ถ่ายทอดความจริง และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมไปพร้อมกันครับ
โฆษณา