4 ม.ค. เวลา 10:48 • สุขภาพ

หมอประจำบ้าน: ไข้หวัดใหญ่ (Influenza/Flu)

หมอประจำบ้าน: ไข้หวัดใหญ่ (Influenza/Flu)
ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย พบได้ตลอดทั้งปี แต่จะมีอุบัติการณ์สูงในช่วงฤดูฝน (มิถุนายนถึงตุลาคม) และฤดูหนาว (มกราคมถึงมีนาคม) บางปีอาจพบมีการระบาดใหญ่
พบเป็นสาเหตุอันดับแรก ๆ ของอาการไข้ที่เกิดขึ้นเฉียบพลันร่วมกับการปวดเมื่อยตามตัวที่พบในคนทั่วไป
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสอินฟลูเอนซา (influenza virus) เชื้อนี้จัดอยู่ในกลุ่มไวรัสที่เรียกว่า orthomyxovirus
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ เอ บี และ ซี
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ มักก่อให้เกิดอาการรุนแรง อาจพบระบาดได้กว้างขวาง และสามารถกลายพันธุ์แตกแขนงเป็นสายพันธุ์ย่อย ๆ ได้ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดบี ก่อความรุนแรงและการระบาดของโรคได้น้อยกว่าเอ สามารถกลายพันธุ์ได้แต่ไม่มากเท่าชนิดเอ ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดซี มักก่อให้เกิดอาการเพียงเล็กน้อยและไม่ค่อยพบระบาด
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ สามารถพบได้ทั้งในคนและสัตว์ (ส่วนอีก 2 ชนิดพบเฉพาะในคนเท่านั้น) แบ่งเป็นสายพันธุ์ย่อย ๆ โดยมีชื่อเรียกตามชนิดของโปรตีนที่พบบนผิวของเชื้อไวรัส โปรตีนดังกล่าวมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ฮีแม็กกลูตินิน (hemagglutinin เรียกย่อว่า H) ซึ่งมีอยู่ 16 ชนิดย่อย และนิวรามินิเดส (neuraminidase เรียกย่อว่า N) ซึ่งมีอยู่ 9 ชนิดย่อย ในการกำหนดชื่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ จึงใช้ตัวอักษร H ควบกับ N โดยมีตัวเลขกำกับท้ายตัวอักษรแต่ละตัว ตามชนิดของโปรตีน เช่น
ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 (สายพันธุ์เก่า) เป็นต้นเหตุของการระบาดใหญ่ทั่วโลกในปี พ.ศ. 2461-2462 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนราว 20-40 ล้านคน เนื่องจากมีต้นตอจากสเปน จึงมีชื่อว่า ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu) และกลับมาระบาดใหญ่อีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2520 เนื่องจากมีต้นตอจากรัสเซียจึงเรียกว่า ไข้หวัดใหญ่รัสเซีย
ในปี พ.ศ. 2552 มีการระบาดใหญ่ทั่วโลกของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 สายพันธุ์ใหม่ (สายพันธุ์ 2009)* ซึ่งมีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์เก่า มีต้นตอจากประเทศเม็กซิโก**
ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H2N2 เป็นต้นเหตุการระบาดของไข้หวัดใหญ่เอเชีย ในปี พ.ศ.2500-2501 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนราว 1 ล้านคน
ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H3N2 เป็นต้นเหตุการระบาดของไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง ในปี พ.ศ.2511-2512 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนราว 7 แสนคน
ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H5N1 เป็นต้นเหตุของไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก หรือไข้หวัดนก
วิธีการแพร่เชื้อ เชื้อไข้หวัดใหญ่จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด หรือโดยการสัมผัสถูกมือ สิ่งของเครื่องใช้ หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนเชื้อ แบบเดียวกับไข้หวัด
นอกจากนี้ เชื้อไข้หวัดใหญ่ยังสามารถแพร่กระจายทางอากาศ (airborne transmission) กล่าวคือ เชื้อจะติดอยู่ในฝอยละอองขนาดเล็ก (ขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน) เมื่อผู้ป่วยไอหรือจาม เชื้อสามารถกระจายออกไประยะไกลและแขวนลอยอยู่ในอากาศได้นาน เมื่อคนอื่นสูดเอาอากาศที่มีฝอยละอองนี้เข้าไปโดยไม่จำเป็นต้องไอหรือจามรดใส่กันตรง ๆ ก็สามารถติดโรคได้ ดังนั้น โรคนี้จึงสามารถระบาดได้รวดเร็ว
ระยะฟักตัว 1-4 วัน (ส่วนน้อยอาจนานเกิน 7 วัน)
*เป็นสายพันธุ์ H1N1 ที่กลายพันธุ์ ประกอบด้วยสารพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่พบในหมู สัตว์ปีกและคน
**เชื้อสามารถแพร่กระจายตั้งแต่ 1 วัน ก่อนมีอาการ แพร่ได้มากสุดใน 3 วันแรกของการเจ็บป่วย และอาจแพร่ได้ถึงวันที่ 7 ของการเจ็บป่วย
อาการ
มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการไข้สูง หนาว ๆ ร้อน ๆ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก (โดยเฉพาะที่กระเบนเหน็บ ต้นแขนต้นขา) ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ขมในคอ อาจมีอาการเจ็บในคอ คัดจมูก น้ำมูกใส ไอแห้ง ๆ จุกแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน
แต่บางรายก็อาจไม่มีอาการคัดจมูก หรือเป็นหวัดเลยก็ได้ มีข้อสังเกตว่า ไข้หวัดใหญ่มักเป็นหวัดน้อย แต่ไข้หวัดน้อยมักเป็นหวัดมาก
อาการไข้จะเป็นอยู่ประมาณ 1-7 วัน (ที่พบบ่อยคือ 3-5 วัน)
อาการไอ และอ่อนเพลีย อาจเป็นอยู่ 1-4 สัปดาห์ แม้ว่าอาการอื่น ๆ จะทุเลาแล้วก็ตาม
บางรายเมื่อหายจากไข้หวัดใหญ่แล้วอาจมีอาการบ้านหมุน เนื่องจากอาการอักเสบของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน
ในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการแสดงของภาวะแทรกซ้อน เช่น มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว ปวดหู หูอื้อ หายใจหอบเหนื่อย เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อน
ส่วนมากจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ส่วนน้อยอาจมีภาวะแทรกซ้อน ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หูชั้นในอักเสบ หลอดลมอักเสบ หลอดลมพอง
ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ปอดอักเสบ ซึ่งมักจะเกิดจากแบคทีเรียพวกนิวโมค็อกคัส หรือสแตฟีโลค็อกคัส (เชื้อชนิดหลังนี้ มักจะทำให้เป็นปอดอักเสบร้ายแรงถึงตายได้) บางรายก็อาจจะเกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่
นอกจากนี้ยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) สมองอักเสบ หลอดเลือดดำอักเสบร่วมกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (thrombophlebitis) เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง (เช่น ปอดอักเสบ) มักจะเกิดในผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก (ต่ำกว่า 2 ปี), ผู้สูงอายุ (มากกว่า 60 ปี), หญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอดไม่เกิน 14 วัน, คนอ้วน (มีดัชนีมวลกายมากกว่า 30 กก./เมตร2), เด็กที่มีพัฒนาการช้าหรือมีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง, ผู้ที่เป็นเบาหวาน มะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคตับเรื้อรัง หรือโรคไตเรื้อรัง, ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก
มักตรวจพบไข้ 38.5-40 องศาเซลเซียส หน้าแดง เปลือกตาแดง อาจมีน้ำมูกใส คอแดงเล็กน้อยหรือไม่แดงเลย (ทั้ง ๆ ที่ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บคอ)
ส่วนมากมักตรวจไม่พบอาการผิดปกติอื่น ๆ ยกเว้นในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน ก็อาจตรวจพบอาการของภาวะแทรกซ้อน เช่น แพทย์ทำการฟังปอดได้ยินเสียงกรอบแกรบ (crepitation) ในผู้ที่เป็นปอดอักเสบ เสียงอึ๊ด (rhonchi) ในผู้ที่เป็นหลอดลมอักเสบ เป็นต้น
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคนี้ให้แน่ชัดด้วยการตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในน้ำมูก หรือเสมหะในจมูกหรือคอหอย
ในรายที่จำเป็นต้องทำการวินิจฉัยโรคนี้ให้แน่ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง จะทำการตรวจพิเศษ เช่น ตรวจเลือด ตรวจหาเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากสารคัดหลั่งที่จมูกหรือในลำคอ ซึ่งเก็บตัวอย่างโดยการใช้ไม้ป้ายจมูก/คอ (nasal/throat swab)
การรักษาโดยแพทย์
1. สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ (มีอาการหายใจหอบ หรือเจ็บหน้าอกมาก), ค่าระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 95%, กินได้น้อยจนมีภาวะขาดน้ำ, ซึมมากหรือมีอาการทางระบบประสาท เป็นต้น แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล
2. ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เพื่อลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะให้ยาต้านไวรัส-โอเซลทามีเวียร์ทุกรายในทุกระยะของโรค รวมทั้งผู้ที่มีอาการมานานกว่า 48 ชั่วโมง ถ้าหลังให้ยารักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นใน 48 ชั่วโมง หรือมีอาการรุนแรงขึ้น แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล
3. สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง (ยังกินอาหาร ดื่มน้ำ และเดินเหินได้เป็นปกติ) ซึ่งมักหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะให้การรักษาดังนี้
ให้ยาบรรเทาตามอาการ เช่น พาราเซตามอลบรรเทาไข้ ยาแก้ไอ
ในรายที่มีอาการไข้มานานไม่เกิน 48 ชั่วโมง (โดยแพทย์ตรวจพบเชื้อไข้หวัดใหญ่ หรือวินิจฉัยจากอาการและจากประวัติการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่) แพทย์จะพิจารณาให้ยาโอเซลทามีเวียร์เพื่อขจัดเชื้อไวรัส ช่วยให้อาการหายเร็วขึ้น แต่ถ้ามีอาการนานเกิน 48 ชั่วโมง ก็จะให้ยาบรรเทาตามอาการเท่านั้น เพราะการให้ยาต้านไวรัสไม่ได้ช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น
ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ (มีอาการปวดหัวคิ้วหรือโหนกแก้ม) หูชั้นกลางอักเสบ (มีอาการปวดหู หูอื้อ) เป็นต้น แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ (โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ เนื่องจากโรคนี้เกิดจากไวรัส ยาปฏิชีวนะซึ่งใช้ขจัดเชื้อแบคทีเรีย นอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้ว ยังอาจเกิดโทษจากผลข้างเคียงของยาได้อีกด้วย)
ถ้ามีไข้เกิน 4 วัน หรือหลังให้ยาต้านไวรัสแล้วอาการไม่ดีขึ้นใน 48 ชั่วโมง หรือมีอาการเจ็บหน้าอกมาก หอบหรือหายใจเร็ว* หรือสงสัยปอดอักเสบ โดยเฉพาะถ้าพบในผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ เป็นต้น ถ้าพบว่าเป็นปอดอักเสบก็ให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่ตรวจพบ และรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล
4. ถ้าสงสัยเป็นโรคอุบัติใหม่ (เช่น โรคโควิด-19 ไข้หวัดนก) แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ถ้าเป็นจริงก็ให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ บางกรณีอาจต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล
ผลการรักษา ส่วนใหญ่ให้การรักษาตามอาการ หรือให้ยาต้านไวรัสสำหรับกลุ่มเสี่ยง มักหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ส่วนน้อยที่อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งเมื่อให้ยาปฏิชีวนะรักษาก็หายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ มีน้อยรายที่อาจเป็นปอดอักเสบ หรือมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงอื่น ๆ ซึ่งจำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
*มีเกณฑ์ที่บ่งบอกว่าผู้ป่วยมีอาการหอบหรือหายใจเร็ว ดังนี้ เด็กอายุ 0-2 เดือนหายใจมากกว่า 60 ครั้งต่อนาที, 2 เดือน-1 ปี มากกว่า 50 ครั้งต่อนาที, 1-5 ปี มากกว่า 40 ครั้งต่อนาที, > 5 ปี มากกว่า 30 ครั้งต่อนาที, เด็กโตและผู้ใหญ่มากกว่า 24 ครั้งต่อนาที
การดูแลตนเอง
ผู้ที่มีอาการไข้หรือไข้หวัด แต่มีไข้สูง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัวมาก ต้องนอนพัก หรือมีคนข้างเคียงเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือสงสัยเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัดนก ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรดูแลรักษา ปฏิบัติตัว และติดตามการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ ดังนี้
นอนพักมาก ๆ ห้ามตรากตรำงานหนัก
ห้ามอาบน้ำเย็น
ดื่มน้ำมาก ๆ
ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้สูง
กินอาหารอ่อน (ข้าวต้ม โจ๊ก) ดื่มนม น้ำหวาน หรือน้ำผลไม้มาก ๆ
ดูแลรักษาและใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ
ควรกลับไปพบแพทย์ เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
มีไข้เกิน 4 วัน ไข้สูงตลอดเวลา หรือมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย
มีน้ำมูกหรือเสมหะสีเหลืองหรือเขียว
มีอาการปวดไซนัส (บริเวณโหนกแก้ม หรือหัวคิ้ว) หรือปวดหู หูอื้อ
เจ็บหน้าอกมาก หรือหายใจหอบเหนื่อย
เบื่ออาหาร ดื่มน้ำได้น้อย อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดินมาก หรือตาเหลืองตัวเหลือง
มีจุดแดงจ้ำเขียวตามตัว หรือมีเลือดออก หรือสงสัยเป็นไข้เลือดออก
หลังกินยา มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
มีความวิตกกังวล
การป้องกัน
1. ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ 3-4 สายพันธุ์ที่พบบ่อยในบ้านเรา ได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (H1N1 และ H3N2) และชนิดบี 1-2 สายพันธุ์ มักจะฉีดในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของเชื้อเหล่านี้
โดยทั่วไป ถ้าไม่มีการระบาดก็ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนแก่คนทั่วไป ยกเว้นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่จะเดินทางไปในถิ่นที่มีการระบาดของโรค ผู้ที่มีกิจกรรมจำเป็นที่ไม่อาจจะหยุดงานได้ (เช่น ตำรวจ นักแสดง นักกีฬา นักเดินทาง) ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปีที่ต้องกินแอสไพรินเป็นประจำ
การฉีดวัคซีนแต่ละครั้ง สามารถป้องกันได้นาน 1 ปี ถ้าจำเป็นควรฉีดปีละครั้งในช่วงก่อนเข้าฤดูฝน
2. หมั่นดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าตรากตรำงานหนักเกินไป ระวังรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลาที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ไม่ควรอาบน้ำหรือสระผมด้วยน้ำที่เย็นเกินไป โดยเฉพาะในเวลาที่มีอากาศเย็น
3. ในช่วงที่มีการระบาดของโรคนี้ หรือมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรปฏิบัติดังนี้
หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด เช่น สถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า งานมหรสพ ห้องประชุม โรงพยาบาล เป็นต้น ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย
อยู่ห่างจากผู้ที่มีไข้ ไอ จาม หรือน้ำมูกไหล มากกว่า 1-2 เมตร
หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่นาน 20 วินาที แล้วใช้กระดาษเช็ดให้แห้ง หรือชโลมมือด้วยแอลกอฮอล์ เจลแอลกอฮอล์ หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ (ที่มีแอลกอฮอล์เข้มข้นมากกว่าร้อยละ 70) แล้วปล่อยให้ระเหยแห้งเอง โดยไม่ต้องใช้กระดาษเช็ด
หลีกเลี่ยงการใช้มือจับตามใบหน้า ขยี้ตา แคะไชจมูก ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรล้างมือให้สะอาดเสียก่อน
อย่าเข้าใกล้หรือนอนรวมกับผู้ป่วย ถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ควรสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ หรือชโลมมือด้วยเจลแอลกอฮอล์
อย่าใช้สิ่งของเครื่องใช้ (เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ เครื่องใช้ โทรศัพท์ ของเล่น เป็นต้น) ร่วมกับผู้ป่วย และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสมือผู้ป่วย
ผู้ป่วยควรแยกตัวออกห่างจากผู้อื่น เวลาเข้าไปในที่ที่มีคนอยู่กันมาก ๆ ควรสวมหน้ากากอนามัย อย่านอนปะปนหรือคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น เวลาไอหรือจามควรใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชู หรือใช้ข้อศอกปิดปากและจมูก
ข้อแนะนำ
1. สำหรับบุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง ส่วนมากให้การดูแลรักษาตามอาการ ไข้มักหายได้เองภายใน 3-5 วัน หรือไม่เกิน 7 วัน ข้อสำคัญต้องนอนพัก ดื่มน้ำมาก ๆ และห้ามอาบน้ำเย็น ถ้าไข้ลดลงแล้วควรอาบน้ำอุ่นอีก 3-5 วัน
ผู้ป่วยบางรายหลังจากหายตัวร้อนแล้ว อาจมีอาการไอแห้ง ๆ หรือมีเสมหะเล็กน้อยเป็นสีขาวอยู่เรื่อย ๆ อาจนานถึง 7-8 สัปดาห์ เนื่องจากเยื่อบุทางเดินหายใจถูกทำลายชั่วคราว ทำให้ไวต่อสิ่งระคายเคือง (เช่น ฝุ่น ควัน) ให้ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ จะค่อย ๆ ทุเลาไปได้เอง
สำหรับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ที่สำคัญได้แก่ ปอดอักเสบ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้
2. อาการไข้สูงและปวดเมื่อย โดยไม่มีอาการอื่น ๆ ชัดเจน อาจมีสาเหตุจากโรคอื่น ๆ ในระยะเริ่มแรกก็ได้ เช่น ไทฟอยด์ สครับไทฟัส ตับอักเสบจากไวรัส ไข้เลือดออก หัด มาลาเรีย เล็ปโตสไปโรซิส เป็นต้น จึงควรสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด ถ้ามีอาการอื่น ๆ ปรากฏให้เห็น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจรักษาที่เหมาะสม
3. ผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่มักมีไข้ไม่เกิน 7 วัน ผู้ป่วยที่สงสัยเป็นไข้หวัดใหญ่หากมีไข้เกิน 7 วัน แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อค้นหาสาเหตุจากโรคอื่น เช่น ไทฟอยด์ สครับไทฟัส มาลาเรีย วัณโรคปอด เป็นต้น (ตรวจอาการไข้ และไข้ร่วมกับน้ำมูกหรือไอ ประกอบ)
4. ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ บางครั้งอาจมีอาการคล้ายกันมาก แต่ไข้หวัดใหญ่มักมีไข้สูง ปวดเมื่อยมาก นอนซม เบื่ออาหาร หากสงสัยเป็นไข้หวัดใหญ่ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง
5. ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยโรคนี้ หากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ (เช่น ไข้ เจ็บคอ เสียงแหบ น้ำมูกไหล ไอ ท้องเดิน หายใจเหนื่อยหอบ) หรือทำการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน (ATK) ด้วยตนเองให้ผลเป็นบวก ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
โฆษณา