5 ม.ค. เวลา 01:41 • ความคิดเห็น

เมื่อเรามีแผลเป็น เราทำไง?

เราแต่ละคนอาจมีแผลเป็นบนร่างกายกันไม่มากก็น้อย บ้างก็แผลใหญ่ บ้างก็เล็ก ซึ่งแผลเป็นแต่ละคนก็ได้มาจากบาดแผลที่หลากหลายเหตุผลต่างกัน
บ้างก็มีมาตั้งแต่เกิด
บ้างก็มาจากอุบัติเหตุ
บ้างก็มาจากการใช้ชีวิตประจำวัน
บ้างก็มาจากการออกกำลังกาย
บ้างก็มาจากการต่อสู้
บาดแผลเหล่านี้แม้เราทำการรักษาแล้วก็ตาม แต่บางทีมันก็ทิ้งร่องรอยบาดแผลกลายเป็นแผลเป็นบนร่างกาย ซึ่งเมื่อมีแผลเป็นเกิดขึ้นบางคนรู้สึกไม่ชอบจึงหาทางปกปิด เพื่อไม่ให้ใครได้เห็นร่องรอยบาดแผล เพราะคิดว่ามันดูไม่สวยงาม ดูเป็นตำหนิกับร่างกาย ในขณะที่บางคนยอมรับจึงปล่อยโชว์บาดแผลให้คนอื่นเห็น และภูมิใจที่ผ่านมันมาได้
ที่ญี่ปุ่นเวลามีถ้วยชามแตกหรือบิ่นขึ้นมา เขาจะไม่นำไปทิ้ง เขาจะใช้เทคนิคที่เรียกว่า “คินสึงิ” ศิลปะการซ่อมแซมเครื่องปั้นดินเผาด้วยยางรักและผงทอง ผงเงิน เพื่อให้มันกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง การคินสึงิมันโชว์ร่องรอยการแตกการบิ่นของถ้วยชาม และเอายางรักสีทอง สีเงินมาเชื่อมต่อ ด้วยเพราะยารักมีความทนทานและปลอดภัยในการใช้งานที่เกี่ยวกับอาหาร อีกทั้งเวลาทำคินสึงิตัวรักที่เชื่อมถ้วยชามเข้าด้วยกันมันได้กลายเป็นลวดลายที่สวยงาม มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครขึ้นมา
1
การทำคินสึงิทางญี่ปุ่นมันยังได้แฝงปรัชญาในการใช้ชีวิตด้วยตรงที่มันไม่ได้ปกปิดบาดแผล แต่กลับโชว์ว่าถ้วยชามนี้มันผ่านอะไรมาบ้าง มีร่องรอยความเสียหายอย่างไร มันเคยตกแตกยังไง มันเคยถูกใช้งานแบบไหน เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเคยมีอยู่ของมัน การถูกใช้งาน และประวัติศาสตร์เรื่องราวถ้วยชามชิ้นนั้นๆ ซึ่งมันจะกลายเป็นของที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลกไม่มีอันไหนที่จะเหมือนได้อีก
กลับมาที่บาดแผลบนร่างกายเราก็เช่นกัน ไม่มีใครต้องการมีแผล แต่ในเมื่อมันมีขึ้นมาแล้ว เราจะจัดการมันอย่างไร เราควรรักษาเยียวยาแม้เมื่อมันหายเป็นแผลเป็นขึ้นมา เราก็ไม่ต้องเป็นกังวล เพราะมันเป็นสิ่งย้ำเตือนให้เรารู้ว่าเคยผ่านเรื่องอะไรมา เป็นสิ่งที่มีแค่เราคนเดียวเท่านั้นที่รู้จัก และทำให้เราได้เรียนรู้เพื่อที่จะป้องกันให้ไม่ต้องได้บาดแผลแบบนี้ได้อีกในอนาคต
การเยียวยาบาดแผลเราบางทีก็เหมือนศิลปะคินสึงิเช่นกันครับ
โฆษณา