5 ม.ค. เวลา 11:52 • สิ่งแวดล้อม

สร้างทรัพย์แท้ จากทรัพย์เทียม

สิ่งแรกที่แว้บเข้ามาในสมอง เมื่อเราลืมตาตื่นขึ้นมาในแต่ละวัน ไม่พ้นเรื่องงาน งาน และก็งาน เราใช้เวลาเกือบทั้งหมดในแต่ละวันตั้งแต่ลืมตาขึ้นมา จนกระทั่งหลับตาเมื่อล้มตัวลงนอนไปกับเรื่องงาน
เพื่อหาเงิน
หลายคนจึงมักติดปากปฏิเสธเมื่อเพื่อนชวนไปสังสรรค์ หรือทำกิจกรรมที่นอกเหนือไปจากงานด้วยคำว่า ไม่มีเวลา
ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด ที่ทุกคนต้องทำงาน เมื่อการใช้ชีวิตจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่าย การทำงานหาเงินเพื่อเลี้ยงตัวเอง เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้
อย่างน้อยก็เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเอง บางคนอาจมีภาระมากกว่านั้น ไหนจะดูแลครอบครัวลูกเมีย และอาจจะมีพ่อแม่รวมอยู่ด้วย หากท่านอายุยืน
แต่ละวันจึงมุ่งแต่ทำงานหาเงิน ได้เงินมาก็ถูกแปรรูปเป็นข้าวปลาอาหาร ค่างวดผ่อนรถผ่อนบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ โดยสรุปคือปัจจัยสี่นั่นเอง
ดูหนี้สินครัวเรือน ตามสถิติข้อมูลที่แบงค์ชาติสรุปออกมา น่าตกใจมากที่คนไทยมีหนี้ครัวเรือนมากถึงเกือบ 90% ของGDP
พูดง่ายๆก็คือ หาเงินมาได้ 100 บาท ต้องจ่ายหนี้ 90 บาท แล้วจะเอาอะไรกิน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยบอกว่า คนที่มีรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 15,000 บาท, 30,000 บาท 70,000 บาท 100,000 บาท และเกิน 100,000 บาท มีหนี้สินในสัดส่วนพอๆกัน ประมาณ 40% ของรายได้
สัดส่วนค่าใช้จ่ายของคนมีรายได้ต่ำเริ่มที่ 54% และค่อยๆลดลงสำหรับคนที่มีรายได้สูงขึ้น อยู่ที่ 41% สำหรับคนที่มีรายได้เกินหนึ่งแสน
สัดส่วนการออมเงินเริ่มจาก 10% จากคนรายได้ต่ำ ค่อยๆสูงขึ้นเป็น 20% สำหรับคนรายได้สูง
เฉลี่ยแต่ละคนเป็นหนี้ 2-3 สัญญา
สัดส่วนผู้ที่ก่อหนี้เพราะรายได้ไม่พอ และเงินหมุนเวียนระยะสั้นไม่ทัน เริ่มจาก 49% ในคนรายได้ต่ำ ค่อยๆลดลงเหลือ 17 % เมื่อรายได้สูงขึ้น
แปลความได้ว่า คนยิ่งจนยิ่งก่อหนี้มาก โอกาสที่จะหลุดจากกับดักหนี้สิน น้อย
แปลกไหม ที่ยิ่งดิ้นรน กลับยิ่งยากจนลงเรื่อยๆ แนวโน้มหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งยืนยัน
มีอะไรผิดพลาด แล้วจะแก้อย่างไร ..?
คงต้องมานั่งนิ่งๆ ตั้งสติแล้วคิดกันใหม่
ครั้นจะใช้เวทย์มนต์คาถามาเสกเป่าแก้หนี้สินให้หายไปในพริบตา ก็คงไม่ได้ผล การแก้ปัญหาต้องค้นหาสาเหตุให้พบก่อน แล้วจัดการแก้ไขที่ต้นเหตุ ผลลัพธ์ปลายทางจึงจะเปลี่ยนไป
เพราะทุกอย่างล้วนต้องมีที่มาที่ไป มีเหตุปัจจัยให้เกิดตามหลักปัจจยการ หรือในทางพุทธศาสนา เรียกว่า อิทัปปัจจยตา เป็นกฎธรรมชาติ หรือกฎธรรมดาที่มีอยู่เองโดยไม่มีใครสร้าง มีข้อสรุปยืนยันเป็นหลักสากลว่า
“เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อไม่มีสิ่งนี้ สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้จึงดับตามไปด้วย”
หนี้สินจะหมดไปได้ เหตุของการเป็นหนี้ต้องหมดไปก่อน เรื่องนี้ต้องรีบแก้ไข ชักช้าหนี้สินครัวเรือนที่ท่วมท้นมาถึงคอ และอีกไม่นานอาจท่วมจมูก หายใจไม่ได้ก็ตายลูกเดียว
ทำให้ต้องย้อนกลับไปพิจารณา ประโยคอมตะที่ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น พระบิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่ ท่านได้ทิ้งคำพูดเชิงปรัชญาประโยคสำคัญ ไว้ให้ได้ขบคิดมาจนถึงวันนี้ว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง”
เหมือนกับจะสะกิดเตือนสติ เหล่าปุถุชนคนไทยผู้มีกิเลสหนาทั้งหลายว่า อย่าได้หลงระเริงกับเกียรติยศชื่อเสียงเงินทองจนลืมไปว่า แท้ที่จริงแล้ว “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง”
ทั้งๆที่ท่านสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมเครื่องกลมาจากอังกฤษ นำความรู้มาสร้างความก้าวหน้าให้กับกรมกษาปณ์สิทธิการ ในสมัยนั้น ปัจจุบันคือกรมธนารักษ์ และกรมฝิ่น ปัจจุบันคือกรมสรรพสามิต ท่านดำรงตำแหน่งอธิบดี ที่มีเกียรติยศในงานราชการ
ท่านเล็งเห็นว่าอนาคตของชาติบ้านเมืองอยู่ที่การกสิกรรม ถ้าคนที่มีความรู้หันมาสนใจการกสิกรรม โดยทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว ก็อาจทำให้คนหันมายึดอาชีพกสิกรรมกันมากขึ้น จะลดปัญหาความยากจน เพิ่มความสมบูรณ์ทางด้านอาหารในทุกครัวเรือน เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองในวงกว้าง ถือเป็นความมั่นคงของประเทศ
จึงตัดสินใจละทิ้งลาภยศและตำแหน่งที่ถือว่ามีเกียรติในงานราชการ ลาออกมาทำไร่ใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรที่ ตำบลบางเบิด อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2463
เกษตรแผนใหม่สำหรับประเทศไทย จึงได้เริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันนั้น บนหลักคิดสำคัญ เกษตร “แบบไร่นาสวนผสม” ท่านเห็นถึงข้อด้อยของปลูกพืชเชิงเดี่ยว หากเกิดปัญหาขึ้นจะไม่มีทางหนีทีไล่ ราคาพืชอย่างหนึ่งตกต่ำ ก็จะมีรายได้จากพืชอีกชนิดอื่นแทน ศัตรูพืชระบาดทำลายพืชชนิดนี้ ยังเหลืออย่างอื่นให้กิน
ทรงทดลองปลูกทั้งพืชสวน เช่นปาล์มน้ำมัน พืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยาสูบ ถั่วลิสง พืชผัก เช่น แคนตาลูป กะหล่ำปลี พืชผักสวนครัวต่างๆ ทำการทดลองจดบันทึกข้อมูลเพื่อปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์
ผลงานที่สร้างความฮือฮา เมื่อท่านได้นำเอาเมล็ดแตงโมพันธุ์ ทอม วัตสัน จากอเมริกามาทดลองปลูกที่ตำบลบางเบิด ได้ผลผลิตลูกใหญ่มาก น้ำหนักถึง 20 กิโลกรัม เนื้อแน่นหวานกรอบ มีชื่อเสียงโด่งดังจนชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “แตงโมบางเบิด” ตามชื่อสถานที่ปลูกที่ตำบลบางเบิดที่ปลูก
ผลผลิตจากฟาร์มบางเบิด มีหลากหลายทั้งพืชผัก ผลไม้ พืชสวน พืชไร่ ฯลฯ เป็นแหล่งริเริ่มที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมันแห่งแรกของประเทศไทย และยังได้นำไก่พันธุ์เล็กฮอร์นมาเลี้ยง เพื่อผลิตไข่ขายเป็นแห่งแรก จนเป็นต้นแบบของการเลี้ยงไก่ไข่ทั่วประเทศมาถึงปัจจุบัน
นอกจากนั้นยังมีการทำปศุสัตว์ เลี้ยงหมู แพะ โคนม นำมูลมาทำปุ๋ยคอก ใช้ทุกอย่างในฟาร์มให้เกิดประโยชน์ เป็นการเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างคุ้มค่า
เริ่มมีการนำเครื่องจักรกล ประเภทรถไถ และแทร็กเตอร์มาช่วยทุ่นแรง เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการฟาร์ม
คิดค้นวิธีแปรรูปพืชผักที่เหลือจากการจำหน่ายและบริโภค ให้อยู่ในรูปแบบการถนอมอาหาร แก้ปัญหาผลผลิตเน่าเสีย และสินค้าล้นตลาด
หัวใจสำคัญของฟาร์มบางเบิดไม่ได้คิดหวังเพื่อผลกำไรเป็นที่ตั้ง หากสิ่งใดเป็นประโยชน์แม้ขาดทุนก็ยังทำ หวังผลในการทดลองแล้วนำความรู้ออกเผยแพร่ โดยชักชวนอาจารย์จากโรงเรียนกสิกรรมบางสะพานออกหนังสือในชื่อ “กสิกร” หนังสือฉบับปฐมฤกษ์ ออกในเดือนเมษายน พ.ศ. 2470
ปัจจุบัน หนังสือพิมพ์ กสิกร ยังบริการให้ความรู้กับเกษรกร เป็นปีที่ 97 ออกเป็นราย 2 เดือน ปีละ 6 ฉบับ โดยกรมวิชาการเกษตร หาอ่านได้ฟรีในรูปแบบ e-book ทาง https://info.doa.go.th/kasikorn
ในช่วงปลายชีวิตของ ม.จ.สิทธิพร ท่านถูกเรียกตัวขอให้กลับมารับราชการในตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตร ช่วงสมัยรัชกาลพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ท่านชายบอกว่ามีเวลาไม่มากพอที่จะบริหารราชการระดับกระทรวงได้ ขอรับเพียงตำแหน่งอธิบดีกรมตรวจกสิกรรม ซึ่งจะทรงทำหน้าที่ทดลองการเกษตรแผนใหม่ขึ้นตามที่ต่างๆ ให้มีการทำไร่นาสวนผสมประกอบการเลี้ยงสัตว์ขึ้น โดยเปิดสถานีทดลองขึ้นทางภาคเหนือที่แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ภาคอีสานที่สูงเนิน จ.นครราชสีมา และภาคใต้ที่ควนเนียง จ.สงขลา ลักษณะเช่นเดียวกับที่บางเบิด
เมื่อปี 2504 ระหว่างรับราชการอยู่นั้น ท่านพยายามเรียกร้อง ให้มีการยกเลิกพรีเมียมข้าว เพื่อให้ชาวนาขายในราคาที่สูงขึ้น และปี 2510 ก็ได้รับรางวัลแมกไซไซ จากมูลนิธิรามอนแมกไซไซ ด้านบริการสาธารณะ สาขาการเกษตรแผนใหม่
ม.จ.สิทธิพร กฤดากร สิ้นชีพิตักษัย ในวันที่ 22 มิถุนายน 2514 สิริพระชันษา 88 ปี ฟาร์มบางเบิด ที่ท่านได้ทุ่มเทแรงใจแรงกายได้กลายเป็นสถานีวิจัยสิทธิพร กฤดากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เขียนไว้อาลัยไว้ว่า
“ในที่สุดวาระที่พวกเราหวาดหวั่นอยู่ก็มาถึง คือวันที่ท่านสิทธิพรสิ้นชีพิตักษัย
ผมหวาดเกรงวาระนี้อยู่แล้วเป็นเวลานานเพราะเหตุหลายประการ
ประการแรก ท่านทรงชราและพระสรีร่างก็แบบบาง ไม่สมดุลกับความบากบั่นทรหดต่องานที่ท่านทรงถือเป็นหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณชนจนถึงวันสิ้นพระชนม์ชีพ
ประการที่ 2 สำหรับนักเศรษฐศาสตร์อย่างผม ผู้มีหน้าที่ในเรื่องเศรษฐกิจการเงินเบื้องต้น เราได้รับประโยชน์เหลือล้นจากข้อสะกิดใจจากท่านสิทธิพร นักบุกเบิกเกษตรว่า “เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” อนาคตของเกษตรกรไทยเป็นเรื่องที่จะต้องทะนุถนอมอย่างระมัดระวัง
อีกเหตุหนึ่ง ท่านสิทธิพร ทรงเป็นปากเสียงให้แก่ชาวไร่ชาวนาสามัญชน เพื่อประโยชน์ของสามัญชนส่วนใหญ่ในประชาชาติไทย และเพื่อความชอบธรรมในสังคม สมดังคำกล่าวของประธานาธิบดีรามอน แมกไซไซ ที่ว่า “ใครเกิดมามีน้อย กฎหมายบ้านเมืองต้องยื่นสิทธิให้มากเข้าไว้”
ในปี พ.ศ.2482 สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ช่วงเวลาไฟสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มคุกรุ่น คาดการณ์ว่าอีกไม่ไกลในในอนาคตข้าวหน้า สงครามจะเปิดฉากขึ้นในยุโรป แล้วอาจลุกลามมาถึงเอเชียได้
รัฐบาลจึงรณรงค์ให้ประชาชนเตรียมปลูกผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ไว้ หากเกิดสงครามจะได้ไม่ขาดแคลนอาหาร ด้วยเวลากระชั้นชิดการชักชวนอาจ จึงต้องออกเป็นกฎหมาย “พระราชบัญญัติการสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ เพื่อประโยชน์แห่งครัวเรือน พุทธศักราช 2482” เป็นการบังคับให้ทำ ใครฝ่าฝืนมีโทษ
ผู้คนจำนวนมากไม่พอใจ แต่ฝ่ายที่เห็นประโยชน์ก็ไม่น้อย ต่อมาในปี 2484 สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มาถึงไทย เมื่อกองทัพลูกพระอาทิตย์จากญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ประเทศไทย จึงเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นถึงความสำคัญของการทำกสิกรรม
ตอนนี้กลิ่นควันไฟสงครามโลกครั้งที่ 3 ทั้งจากยูเครน อิสราเอล และไต้หวัน เริ่มโชยมาเข้าจมูกอีกครั้งหนึ่งแล้ว ทำให้นึกย้อนกลับไปถึงยุคที่ ม.จ.สิทธิพร ที่ท่านได้ทรงบุกเบิกงานเกษตรแผนใหม่รองรับเอาไว้ ทำให้คนไทยรอดพ้นจากความอดอยาก
ย้อนกลับมาดูสังคมปัจจุบัน คนหนุ่มคนสาวยุคใหม่ ละทิ้งถิ่นฐานจากชนบท อพยพเข้าสู่เมืองใหญ่ เปลี่ยนวิถีชีวิตเกษตรกรสู่ภาคอุตสาหกรรม หวังว่าชีวิตความเป็นจะดีขึ้น จากรายได้ที่มากขึ้น แต่ผลลัพธ์กลับตรงกันข้าม ยืนยันได้จากภาพรวมของหนี้สินครัวเรือนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากค่าครองชีพในเมืองใหญ่สูงกว่าในชนบทมาก ยิ่งอยู่นานไปยิ่งจนลง
รายได้จากการขายเวลาแลกเงินเป็นช่องทางรับเพียงแค่ทางเดียว แต่รายจ่ายมีเป็นสิบ ตั้งแต่ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอาหาร ค่าซักรีดเสื้อผ้า แม้แต่ผักสวนครัวต้องซื้อทุกอย่าง แค่ค่ากาแฟแก้วเดียวก็ปาเข้าไป 50 บาท เท่ากับข้าวราดแกง 1 จาน
รับเงินเดือนมา 2-3 หมื่น ดูเหมือนเยอะ แต่พอรวมรายจ่ายแล้วก็ 2-3 หมื่นเหมือนกัน ไม่เหลือเงินให้เก็บออม ทำงานเหมือนหมาล่าเนื้อ อายุมากขึ้นร่างกายทรุดโทรมเรี่ยวแรงร่วงโรย เจ้านายก็เลิกจ้าง
ไม่มีนายพรานคนไหนใจดี เลี้ยงหมาแก่ๆที่ฟันหักล่าสัตว์ไม่ได้ เอาไว้ดูเล่น เขาบอกไม่คุ้มค่าข้าว
ปัญหาปากท้องพี่น้องชาวบ้าน ที่เป็นสาเหตุให้หนี้ครัวเรือนพอกพูนทับถม กองโตเท่าภูเขา และยิ่งนับวันแต่จะสูงขึ้นเรื่อยๆนั้น ก็มาจากแนวคิดการไล่ล่าหาเงินอย่างที่คนจำนวนมากในหลายอาชีพกำลังวิ่งกวดกันอยู่ในลู่วิ่ง อย่างที่เห็นในวันนี้
พ่อคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้าน ต.หัวฝาย อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ ก็เป็นคนหนึ่งที่ตกอยู่ในเกมวิ่งไล่จับเงิน หวังว่าสักวันฉันต้องรวย
"ตอนนั้นเป็นหนี้ ธกส. ในระดับใกล้จบแล้ว เข้าสู่กระบวนการจำนอง ทั้งๆ ที่ก่อนจะมีหนี้ ชีวิตก็มีแต่ธรรมชาติ แต่พอไม่เห็นความสำคัญธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เราก็ทำลายรังของเราเอง"
คำบอกเล่าถึงที่มาของคำว่าหนี้ ในทุกๆเวทีพ่อคำเดื่องเล่าให้ฟัง เหมือนเดิมเป๊ะทุกพยางค์ ราวกับแผ่นเสียงตกร่อง
ก่อนที่จะมาเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ตัวอย่างต้นแบบความอยู่รอดของเกษตรกรในวันนี้ พ่อคำเดื่อง ภาษี เคยถูกเรียกว่าเถ้าแก่มาก่อน เพราะความอยากรวย จึงเอาที่ดินไปจำนองกับธนาคาร กู้เงินมาลงทุนขยายพื้นที่ทำเกษตรเป็นร้อยๆไร่ แต่แทนที่จะร่ำรวย กลับมีหนี้สินมากมาย จนแทบเอาตัวไม่รอด
สุดท้ายพลิกฟื้นชีวิตกลับมาได้ด้วยหลักปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" ตามพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทของในหลวง ร.๙
2
เรื่องราวการเดินทางในชีวิตที่หักเหยิ่งกว่าละครของพ่อคำเดื่อง ถูกถ่ายทอดด้วยปากของพ่อคำเดื่องเอง บนเวทีมหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ชื่องาน “Sustainability Expo 2022” (26 กันยายน - 2 ตุลาคม 2565) ณ ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ในหัวข้อ เปลี่ยนชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
พ่อคำเดื่องในวัยเกิน 70 ปี ย้อนเวลา พาไปดูชีวิตในอดีตว่าเป็นอย่างไร
“ตอนนั้นทางการสั่งมาว่าให้ปลูกนั่นนี่ขาย เมื่อไม่มีที่ปลูกก็เผาป่า ปลูกทุกอย่างที่ขวางหน้า ใครบอกว่าปลูกอะไรรวยก็ปลูกอันนั้น”
ปลูกอ้อยแค่ 50 ไร่ไม่พอ จึงไปกู้เงินเอาที่ดินไปจำนอง สะสมที่ดินไว้เยอะ ทั้งซื้อและเช่า เพื่อยืนยันว่าเป็นคนมีเครดิตดี และรวมๆ แล้วต้องทำการเกษตรบนที่ดิน 100-200 ไร่ ทำคนเดียวไม่ไหว ก็ต้องจ้างแรงงาน สุดท้ายเจ๊ง
เมื่อหมดหนทาง จึงมานั่งทบทวนตัวเอง ได้สติแล้วเปลี่ยนวิธีคิดใหม่
"ผมทำการเกษตรจนเป็นหนี้ ผมก็ต้องทบทวนตัวเอง เราปลูกอ้อย 500 ไร่เป็นหนี้ เมื่อสงสัยก็ไปดูเกษตรกรที่สกลนคร มุกดาหาร ขอนแก่น หรือว่าเราไม่ขยัน ก็เห็นเพื่อนเกษตรไม่หลับไม่นอนปลูกแบบนี้ก็เป็นหนี้ ถ้าถามว่าเราไม่ประหยัด อ้าว เพื่อนเกษตรกินปลาร้าดองทั้งปี ทำเกษตร 500 ไร่ก็เป็นหนี้ แบบนี้ไม่บังเอิญ"
“จึงหวนคืนสู่เกษตรวิถีดั้งเดิม อยากได้บ้านไม้สัก ก็ปลูกไม้สัก อยากได้ฝาบ้านมะค่าโมง ก็ปลูกมะค่าโมง”
ถ้าถามว่า ต้องปลูกกี่ปี เรื่องนี้พ่อคำเดื่อง บอกว่า “ไม่ต้องถามเรื่องจำนวนปี ปลูกก็คือปลูก ปลูกป่าแค่ 3 นาที ผ่านไป 20 ปี ต้นไม้สูง ถ้าไม่ปลูกก็ไม่มีอะไรเลย ไม่เกี่ยวกับจำนวนปี”
"ผมไปซื้อกล้าไม้สักมา 50 ต้นๆ ละ 10 บาท ผ่านไป 20 ปี มีต้นทุนแค่ 500 บาท ถ้าผมเอาไม้ยูคาลิปตัสมาทำเล้าหมู ก็ไม่มีใครพูด แต่ผมเอาไม้สักมาทำเล้าหมู มีคนอยากเอาบ้านมาแลกเล้าหมูผม ที่ผมทำแบบนี้เพราะเราดูที่คุณค่าและการใช้ประโยชน์ เรื่องราคาไม่มีเราอยากทำอะไรทำได้หมด"
พ่อคำเดื่อง เล่าให้ฟังว่า แปลงเกษตรที่ปลูกชื่อ “ดาวดวงใหม่ บนโลกใบเดิม” เพราะคนส่วนใหญ่ใช้ทรัพยากรโดยไม่ใส่คืน เอาปลาจากทะเล กบเขียด แมงดา น้ำมัน ก๊าซ ก็ไม่มีใครใส่คืน
ถ้าคน 7 พันล้านคนเอาทรัพยากรมาใช้ แล้วไม่ใส่คืน ถ้าหวังว่าจะอยู่ในโลกนี้ต่อไปอย่างมีความสุข ถือคิดผิด
คนรวยบางคนเห็นโลกใบนี้เสื่อมโทรม ก็คิดจะย้ายไปอยู่ดาวอังคาร ถ้าจะไปสร้างดาวดวงใหม่ ต้องทำฝน ทำอากาศใหม่ อย่ากระนั้นเลยมาทำโลกให้ดีขึ้นดีกว่า สำหรับผมที่นาแปลงเก่า 270 ไร่ทำมาสามสิบปี ตอนนี้ให้นกยูงอยู่ ตอนนี้ทำเกษตรแค่ 10 ไร่
ส่วนเรื่องเวลา พ่อคำเดื่อง บอกว่า “รอช้าไม่ได้ คิดอะไรได้ต้องรีบทำ เมื่อไม่นานเจ้าหน้าที่ยูเอ็นแวะมาถามว่า ทำไมให้ความสำคัญกับต้นไม้ ให้พูดแค่สามนาที”
คำตอบของพ่อคำเดื่องที่คิดไม่เหมือนใคร เป็นดังนี้
"ถ้าผมมีชีวิตในโลกนี้แค่ 3 นาที ถ้ามีเวลาน้อยขนาดนี้ ผมขอปลูกต้นไม้ ปลูกเสร็จผมตาย ต้นไม้ต้นนั้นรอด เมื่อต้นไม้โตขึ้น มันยังช่วยลดโลกร้อน กรองอากาศ เราได้เวลามา ถ้าเราปลูกต้นไม้วันนี้เป็นโอกาส ถ้าไม่ทำเป็นอวกาศ ผมปลูกต้นไม้ทุกวัน ปลูกครั้งเดียวได้ทั้งชาตินี้และชาติหน้า ไม่ต้องเฝ้าดู มีคนถามว่าปลูกต้นไม้เมื่อไรจะโต ผมถามว่าแล้วเมื่อไรจะปลูก ไม่ปลูกก็ไม่โต"
ทั้งหมดนั้นเป็นการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับชีวิตตัวเอง ของพ่อคำเดื่อง เมื่อจัดการตัวเองได้และ ทำได้จริง ก็จะเป็นบทเรียนให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้
บุคคลต้นแบบ ได้ให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าเรามีเงิน 10 บาท เราก็ได้ประโยชน์คนเดียวด้วยการซื้อของ จากราคาของเงิน 10 บาท ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินเทียมที่ใช้แล้วก็หมดสิ้นไป
แต่ถ้าเอาเงิน 10 บาท ซื้อกล้าไม้มาปลูก ต้นไม้เป็นทรัพย์แท้ที่ให้ประโยชน์ด้วยอ็อกซิเจนที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศ ช่วยลดภาวะโลกร้อนต่อคนทั้งโลก ยิ่งต้นไม้โตขึ้น ออกดอกออกผลให้ได้กินได้ใช้มากขึ้น มูลค่าของต้นไม้ก็ยิ่งมากขึ้นไม่มีวันหมด
คำอธิบายของพ่อคำเดื่อง เรื่องทรัพย์จริง หรือทรัพย์แท้กับทรัพย์เทียม ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้
ลองคิดดูหากคนทั้งโลกเอาแต่สะสมเงินทอง โดยไม่มีคนปลูกต้นไม้ ไม่มีคนปลูกผัก ไม่มีใครเลี้ยงไก่เลี้ยงปลา ถึงตอนนั้นอาหารจะขาดแคลน ผู้คนจะอดอยาก เกิดการแย่งชิงอาหารเป็นสงครามกลางเมือง เงินทองที่มีก็ไร้ค่า เพราะกินเงินทองแทนข้าวปลาไม่ได้
อย่าหลงแต่สะสมเงินทองซึ่งเป็นทรัพย์เทียมแต่เพียงอย่างเดียว จนลืมทรัพย์แท้ที่ใช้ประโยชน์ได้โดยตรง ทั้งกินเป็นอาหาร และใช้อุปโภคในชีวิตประจำวัน
ต้องยอมรับว่าประเทศตะวันตก เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ประเทศไทยสู้เขาไม่ได้ แต่เรื่องอาหาร หนึ่งในปัจจัยสี่ที่คนเราขาดไม่ได้ ประเทศไทยถือเป็นผู้นำทางด้านนี้ ด้วยความเหมาะสมของภูมิประเทศ สภาพอากาศสำหรับเพระปลูก ประมง และทำปศุสัตว์ ถ้าจะแข่งขันกันเราต้องใช้จุดแข็งที่เรามีมาใช้ประโยชน์ เงินทองเป็นทรัพย์เทียม มีหน้าที่เป็นแค่ตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า แต่ข้าวปลาเป็นทรัพย์แท้ที่มีค่าและมีราคาในตัวมันเอง
“เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” มาเริ่ม สร้างทรัพย์แท้ จากทรัพย์เทียม กันเถอะก่อนที่สงครามโลกรอบใหม่จะมาถึง
โฆษณา